วันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๘ ดร

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๗๘

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๖ พฤศจิกายน ได้รับประทานแล้ว

เรื่องวิธีจัดศพนั้นสันนิษฐานยากเต็มที จะทูลถวายเรื่องศพใส่ลุ้ง ครั้งแรกได้ไปเห็นศพพระอาจารย์จีนวัดเล่งเนยยี่ คืออาจารย์ของพระอาจารย์แมวอีกทีหนึ่ง เพราะเที่ยวเดินดูหาทางตัดถนนพลับพลาไชยเดี๋ยวนี้ บุกเฃ้าไปในตรอกวัดโคก เห็นมีงานอึกทึกที่หลังวัดเล่งเนยยี่ จึ่งแวะเฃ้าไปดู เห็นปลูกเมรุสูงใหญ่ ในนั้นตั้งชั้น บนชั้นมีลุ้งสี่เหลี่ยมตั้ง หมดนั้นประดับด้วยกระดาษและดอกไม้จีนอย่างเครื่องกงเต๊ก ถามได้ความว่าศพท่านสมภาร ทำให้สดุดใจว่า อ่อ จีนก็ใช้โกศเหมือนกัน

ครั้นเมื่อถึงคราวช่วยฝ่าพระบาทแต่งตำนานโกศหีบ นึกขึ้นมาว่าทางฃ้างจีนเฃาจะอย่างไรในการจัดศพใส่โกศใส่หีบ จึ่งแล่นไปหาพระอาจารย์แมวเรียนถามท่านว่า ฃ้างจีนจัดแบ่งชั้นในการใส่ลุ้งใส่หีบเปนลำดับศักดิอย่างไร ท่านชี้แจงว่าหาได้อยู่ที่ศักดิไม่ อยู่ที่นั่งตายหรือนอนตาย ถ้านั่งตายก็ทำลุ้งใส่ ถ้านอนตายก็ทำหีบใส่ ด้วยเฃาไม่อยากจะถูกต้องแผ้วพานกับศพมากนัก ตายท่าไหนก็เอาไว้ท่านั้น อรรถาธิบายถึงการนั่งตายนั้นคือทำสมาธิไปจนตาย ซึ่งทางจีนนับถือหนักว่าเปนทางเลิศของบรรพชิต ฝ่าพระบาทคงได้ทรงทราบอยู่แล้ว ทางเมืองจีนถึงกระทำความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ ปิดประตูทำสมาธิในกุฏจนตายไปคาที่ ในเมืองเราก็มีทำกัน เลยวิเศษไปถึงร่างกายไม่เน่าเปื่อย ตั้งไว้อวดไม่ใส่อะไรให้บูชากันอยู่ช้านานก็มี แต่ที่พระอาจารย์แมวว่านั้นไม่ถึงทำความเพียรอย่างอุกฤษฏ์เช่นนั้น เปนแต่ว่าท่านผู้ที่ยิ่งในทางวิปสัสนา เมื่อรู้ตัวว่าจะตายก็ไม่ปล่อยใจให้ตายไปด้วยใจกระสับกระส่าย ตั้งตัวพิงทำสมาธิไปจนถึงแก่ความตาย แต่ใครจะรับประกันได้ เมื่อถือกันว่าอย่างนั้นเปนดี แม้จะนอนตายจับนั่งขึ้นทีหลังก็ได้ สมภารวัดประดู่โรงธรรมก็เปนตำแหน่งที่ขลังในทางวิปสัสนา จะเอาอย่างจีนมาทำใส่ลุ้งบ้าง เพื่อไม่ให้น้อยหน้าแก่จีนก็ได้ ทางพราหมณ์เฃาก็มีนักบวชผู้ทรงสิทธิศักดิเรียกว่าฤษี มีทางดำเนินไปในฌานสมาบัติเหมือนกัน พราหมณ์ผู้ใหญ่ในเมืองเขมร ได้ราชทินนามก็มีคำอิสีอยู่ในนั้น เพราะฉะนั้นศพพราหมณ์ผู้ใหญ่จะใส่ลุ้งนั่งอย่างศพพระจีนด้วยก็ตามที แต่ที่ลามมาถึงขัตติยด้วยยังแลไม่เห็นทาง เพราะฉะนั้นศพโกศของเราน่าจะมาทางอื่นกระมัง

การแต่งศพใส่โกศของเราด้วยเครื่องแต่งตัวอย่างประณีตมีทองปิดหน้า เปนไปใกล้ทางฃ้างศพอิยิปต์ อันศพอิยิปต์นั้นได้ทราบอย่างหยาบๆ ว่า แต่งนอนก็มี แต่งนั่งก็มี แต่งยืนก็มี แต่จะอาศัยเหตุผลกลใดหาทราบไม่

ปราสาทปักษีจำกรงซึ่งตรัสถึงนั้น เกล้ากระหม่อมได้เห็นเหมือนกัน แต่เห็นว่าสิ่งนั้นเปนไปในทางฃ้างเจดีย์ จึ่งไม่ได้อ้างมากล่าวเปนตัวอย่าง เมื่อวันที่ ๘ เดือนนี้ได้ไปทำบุญให้กรมหมื่นอนุวัตน์ นั่งดูลองกุดั่นเกิดญาณหยั่งเห็นขึ้นว่า ลองซึ่งมีผ้าเปนหลังคา ถ้าไม่ทำเปนแปดเหลี่ยมแล้ว จะไม่มีมุมที่ปักนาคปกได้เลย ลองแปดเหลี่ยมคงคิดแก้มาจากกลมพร้อมกับทำผ้าเปนหลังคานั้นเอง

การเผาศพทั้งเมรุนั้นเปนแบบโบราณ เฃาทำพนมศพบนตะเฆ่ (ดั่งปรากฎในเรื่องพระลอ ถ้าจะแปลคำนั้นก็ว่าภูเฃาศพ) อันพนมศพนั้นคือว่าศพวางบนกองพื้น แต่แต่งปิดให้เห็นวิจิตรเปนอย่างอื่น แล้วญาตช่วยกันชักตะเฆ่ไปเฃ้าเมรุซึ่งทำขึ้นในทุ่ง จึ่งเรียกว่าชักศพ เมรุนั้นไม่วิจิตรพิสดารอะไร มีไม้สี่ต้นเปนเสา มีหลังคาและบังเงาเพื่อกันแดดเวลาทำบุญเท่านั้น แล้วก็จุดไฟเผาศพ อะไรๆ ก็ไหม้ไปจนหมด แล้วกวาดเท่าไปก่อพระเจดีย์บัญจุไว้เปนจบ การเผาศพทางเหนือเฃายังใช้พื้นกองใหญ่ พระยาประทุมเทวาลงมากรุงเทพฯ กาลนั้นได้ไปเผาศพนายโหมด กระษาปน์ กลับมาบ่นอู้ว่าที่นี่เฃาปิ้งผี ไม่ใช่เผาผี เหม็นจะตาย

ขอบพระเดชพระคุณที่ประทานอธิบายในเรื่องพระยาไชยาซุย ทั้งได้ความรู้พิเศษว่า “ซิวเยีย” ก็เปนหลานพระยาไชยาคนนั้นด้วย เปนผู้มีสกุลเหล่าไชยามาแต่ดั้งเดิม พระยาเพชรกำแหงมลิรู้จักดี เมื่อเร็วๆ นี้ไปรดน้ำแต่งงานก็ยังได้พบ พระยาวรสิทธิไต้ฮักเปนเทศาภิบาลระหวางไหน ต่อพระยาดำรงสุจริตหรือมิใช่

เมื่อวันที่ ๑๓ นายห้างมารเกรตต์มาเผาจะเอาตำนานการทำเครื่องถม เกล้ากระหม่อมก็ทราบน้อยเต็มที แต่แน่ใจว่าเปนของมีมาแต่ครั้งกรุงเก่าแล้ว ทราบโดยสังเกตเหนขะบวรลายและรูปภาพมีชั้นฝีมือช่างกรุงเก่า แต่เรื่องราวในชั้นกรุงเก่าไม่เคยได้ฟังที่ไหนเลย มาทราบเอาชั้นกรุงเทพฯ มีช่างตั้งทำอยู่ที่หมู่บ้านพานถมตำบลบางขุนพรหม แล้วก็ไปเกิดขึ้นในครศรีธรรมราชอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งฝ่าพระบาทเฃ้าพระทัยว่าเจ้าพระยานครศรีธรรมราชบำรุงขึ้นในรัชชกาลที่ ๓ เอาช่างบ้านพานถมกรุงเทพฯ นี้เอง ไปเปนครูฝึกหัดชาวนครศรีธรรมราชทำ ทราบเพียงเท่านี้

ทราบว่าที่หัวหินฝนตกน้ำท่วม น้ำพัดเอาบ้านเรือนเสียหายไปหลายหลัง ว่าที่บ้านคุณหญิงโชดึก ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับตำหนักสำนักดิศกุลก็เสียหายมาก น้ำพัดเอาพื้นชั้นล่างไหลลงทะเลไป จนชั้นล่างกลายเปนสระเสาลอยหมด แต่ยังไม่พัง ส่วนที่ตำหนักไม่ได้ยินว่ามีภยันตรายอย่างใด

หญิงอามเจ็บยังไม่หาย เปนไข้จับวันเว้นวัน คราวก่อนไม่ได้กราบทูลว่าเจ็บอะไร เพราะอาการยังไม่ปรากฎเห็นชัด กลัวจะเปนเหตุให้เกิดหนักพระทัย จึ่งกราบทูลให้ทรงทราบ ไม่หนักหนาอะไร แต่เห็นจะยาวเวลา

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ