วันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๘ ดร

Cinnamon Hall,

206 Kelawei Road, Penang. S.S.

วันที่ ๑๒ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๗๘

ทูล สมเด็จกรมพระนริศร ฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๗ กันยายน สังเกตเห็นโดยเนื้อความว่าเมื่อทรงเขียนลายพระหัตถ์ฉะบับนี้จะยังไม่ได้รับจดหมาย “นอกเกณฑ์” ซึ่งหม่อมฉันส่งไปถวาย ๒ ฉะบับ แต่เชื่อว่าคงจะได้ทรงรับก่อนมีลายพระหัตถ์คราวสัปดาหะหน้า

เรื่องเมืองโบราณที่ชุมพรนั้น ถ้ามีก็คงอยู่ที่ตำบลคะเงาะหรือตะเงาะนั้น ที่อื่นทางแถวชายทะเลหม่อมฉันเคยให้ตรวจแล้วทั่วทุกแห่งหาพบร่องรอยไม่

หม่อมฉันมีเรื่องวินิจฉัยที่จะทูลในสัปดาหะนี้ ว่าด้วยชื่อที่เรียกเคหะสถานต่าง ๆ ตามลักษณซึ่งได้เคยปรึกษากันมาบ้างแล้วแต่กาลก่อนดังเช่นลักษณเคหะสถานที่เรียกว่า “โรง” พื้นต้องอยู่กับแผ่นดินเปนต้น หม่อมฉันคิดค้นต่อไปถึงลักษณของเคหะที่เรียกอย่างอื่นๆ แล้วรวมความเขียนอธิบายในจดหมายฉะบับนี้ ส่งมาทูลเสนอให้ทรงพิจารณาหายุติพอสำราญพระหฤทัย

๑. โรง คือ เคหะอย่างที่พื้นอยู่ติดกับแผ่นดิน โรงมีทั้งเปนที่ประชุมชน เช่น โรงงานและท้องพระโรงเปนต้น และเปนที่อยู่เช่นโรงนาและโรงทหารเปนต้น

๒. เรือน คือเคหะอันพื้นสูงพ้นแผ่นดินและเปนที่อยู่ประจำ (ถ้าเปนเรือนสำหรับอยู่ชั่วคราวเรียกว่า ทับ จะมีอธิบายอยู่ที่อื่นต่อไป)

๓. หอ คือเรือนปลูกต่างหากจากเรือนที่อยู่ เช่น หอนั่ง หอนก หอพระ เปนต้น เรือนเขยสู่ก็เรียกว่า หอ เห็นจะเปนเพราะปลูกต่างหากจากหมู่เรือนเจ้าของบ้าน

๔. กะท่อม คือเรือนขนาดเล็ก คนอนาถาทำแต่พออยู่ได้ แต่เปนเรือนประจำ

๕. ทิม คือโรงยาว ที่ประชุมชนเช่น ทิมดาบ ทิมสงฆ์ ทิมขังคนโทษ

๖. เพิง คือโรงที่ปลูกอาศัยสิ่งอื่นหลังคาลาดลงด้านเดียว เช่นเพิงพลที่ปลูกริมกำแพง และเพิงที่ปลูกต่อฝาเรือน

๗. ทับ คือเรือนทำอยู่อาศัยแต่ชั่วคราวหรือชั่วระดู เช่นที่อยู่อาศัยในเวลาไปตั้งทำไร่ตามระดู จึงเลยเรียกนามตำบลว่า ทับกวาง ทับตะโก เช่นที่อยู่ของนักโทษอันได้รับอนุญาตให้อยู่นอกคุก มีคำอุทาหรณ์ในเสภาเมื่อขุนแผนติดคุก ว่า

“มารดามาถึงทับรับเข้าห้อง ทั้งเข้าของข้าคนขนมาให้” แล้วพูดกับพลายงามว่า

“แต่พ่อนี้ท่านเจ้ากรมยมราช อนุญาตให้อยู่ทับริมหับเผย”

๘. ห้าง คือที่อาศัยชั่วเวลา เช่นห้างนา ห้างยิงสัตว์ (สถานการค้าที่เรียกว่า “ห้าง” เห็นจะมาแต่คำ ฮ่อง Hong ภาษาจีนอีกทางหนึ่งต่างหาก เปนแต่เสียงคล้ายกันก็เอามาเรียกเปนคำเดียวกันกับห้าง)

๙. ร้าน ดูเปนแต่ที่ไว้วางสิ่งของ เช่นร้านชำ ร้านแผงลอยเปนที่วางสินค้า ร้านดอกไม้ ร้านแตง สำหรับผลไม้นั้นห้อยอาศัย หาใช่ที่คนอาศัยไม่

มีคำภาษามคธว่า “สาลา” ซึ่งในอภิธาน Childers อ้าง กมมารสาลา Workshop (โรงงาน) และ อสฺส สาลา Stable (โรงม้า) เปนอุทาหรณ์ ส่อให้เห็นว่าตัวศัพท์ สาลา จะตรงกับ โรง แต่ไทยเราเอามาแยกออกเปน ศาลา-คำ ๑ ศาล-คำ ๑ และใช้ในที่ต่างกัน

๑๐. ศาลา ใช้หมายความอย่างหนึ่งว่าเปนที่พักเช่น ศาลากลางย่าน ศาลาราย หรืออีกอย่างหนึ่งหมายความว่าที่ประชุมเช่น ศาลาโรงธรรม ศาลาการเปรียญ แต่เห็นได้ว่าศาลาโรงธรรมเดิม พื้นก็คงอยู่กับแผ่นดิน ศาลาทุกอย่างที่ยกพื้นสูงมามีต่อภายหลัง แต่คงเรียกว่าศาลาตามเดิม

๑๑. ศาล (นึกได้ในเวลานี้ว่า) ใช้ต่างกันเปน ๒ อย่าง คือศาลเจ้าอย่าง ๑ ศาลชำระความอย่าง ๑ พิเคราะห์ความหมายว่า “สถาน” เพราะสถานเทวาลัย ถึงจะสร้างเปนลักษณอย่างไร ก็เรียกกันในภาษาไทยว่า “ศาลเจ้า” ทั้งนั้น ศาลชำระความชำระที่ไหนก็เรียกว่า “ศาล” เหมือนกัน สำนวนในกฎหมายเก่าก็มักชอบใช้ว่า “ร้องฟ้องในโรงศาล” ส่อให้เห็นว่าคำ “ศาล” หมายความว่า-สถาน แต่เหตุใดจึงเอาคำ “ศาล” มาใช้ คิดยังไม่เห็น

มีคำต่าง ๆ ที่ใช้เรียกเคหะดังจารนัยมา สังเกตตามถิ่นที่ใช้ หอ เรือน โรง ๓ อย่างนี้เปนภาษาไทย และไทยทุกจำพวกใช้เหมือนกัน นอกจากนั้นเห็นจะใช้ต่างกันตามถิ่น แต่ยังไม่ได้พิจารณา

ข่าวคราวที่จะทูลในสัปดาหะนี้ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๘ เดือนนี้ พระยาภิรมยภักดีออกมาส่งลูกชายที่จะไปหัดทำเบียร์ณประเทศเยอรมันและเลยมาหาหม่อมฉันโดยฐานที่คุ้นเคยชอบพอกันมาแต่ก่อน แต่แกมีกิจธุระอีกอย่างหนึ่งซึ่งเปนเหตุให้มาปินังครั้งนี้ คือจะมาหาคนรับเบียร์ไทยออกมาขายในแหลมมลายู จึงเอาเบียร์ไทยออกมาเปนตัวอย่างด้วย แกมาเชิญหม่อมฉันให้ไปกินเลี้ยงที่โรงภัตตาคาร Teang Namlow ของจีนตั้งใช้ (ผู้ซึ่งหม่อมฉันได้เคยทูลเรื่องประวัติไปให้ทรงทราบนั้น) เพื่อจะให้ลองชิมเบียร์ไทย หม่อมฉันยังไม่เคยพบก็พอใจแต่ไม่อยากไปกินเลี้ยงที่ภัตตาคาร จึงขอเปลี่ยนเปนเชิญแกมากินอาหารเย็นกับหม่อมฉันณะ Cinnamon Hall เมื่อวันอังคารที่ ๑๐ แกเอาเบียร์ไทยมาเลี้ยงด้วย ดูสอาดน่ากิน ลองชิมรสชาติก็ไม่เลว (ทูลตามประสาไม่ชอบเสพสุรา) หม่อมฉันชวนสมาคมดื่มเบียร์นั้นอำนวยพรแก่บริษัทบุญรอดตามประเพณี.

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ