อธิบายการค้าสำเภา

การใช้เรือสำเภาไปมาค้าขายในระหว่างเมืองไทยกับเมืองจีน เป็นประเพณีมีสืบมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ถึงในกฎหมายทำเนียบศักดินา พลเรือนวางกำหนดศักดินาชาวเรือสำเภาที่มีตำแหน่งหน้าที่ต่าง ๆ ไว้ในกรมท่าซ้าย พิเคราะห์ตามจำนวนศักดินาดูต่างกันเป็น ๖ ชั้นดังนี้

ชั้นที่ ๑

จุ้นจู๊ นายสำเภา ถือศักดินา ๔๐๐ ไร่

ชั้นที่ ๒

ต้นหน ดูทาง (ชื่อเป็นภาษาไทยมีตำแหน่งเดียว) ถือศักดินา ๒๐๐ ไร่

ล้าต้า บัญชีใหญ่ ถือศักดินา ๒๐๐ ไร่

ชั้นที่ ๓

บั้นจู๊ ซ่อมแปลงสำเภา ถือศักดินา ๘๐ ไร่

ไต้ก๋ง นายท้าย ถือศักดินา ๘๐ ไร่

ชั้นที่ ๔ ถือศักดินา ๕๐ ไร่

ชินเต็งเถา บัญชีกลาง

อาบั๋น กระโดงกลาง

จงกว้า ใช้คนทั้งนั้น

เต็กข้อ ได้ว่าระวางบรรทุก

อากึ่ง ช่างไม้สำเภา

ชั้นที่ ๕ ถือศักดินา ๓๐ ไร่

เอียวก๋ง บูชาพระ

ตั๋วเลีย ว่าสายเลียว (กำ) กับเสาท้าย

สำปั้น (กำ) กับเสาหน้า

ชมภู่ (ทำครัว)

เท่าเต้ง ว่าสมอ

ฮู้เตี้ยว ทอดดิ่ง

ชั้นที่ ๖ ถือศักดินา ๒๕ ไร่

อด (หรืออิด) เซีย ลดใบ

ยี่เซีย ลดใบ

สามเซีย ลดใบ

จับกะ (หรือกัง) เถา กวาดสำเภา

ชินเต็ง ทนาย (คือคนรับใช้)

ตำแหน่ง และหน้าที่ชาวสำภาที่มีในกฎหมายทำเนียบศักดินา ว่าแต่โดยย่อดังคัดมา บัดนี้มาพบอธิบายโดยพิสดาร มีอยู่ในบันทึกของมิชชันนารีอเมริกันคน ๑ ชื่อ Guizlaff (เจ้าพระยาทิพากรวงศ์เรียกในหนังสือ “แสดงกิจจานุกิจ” ว่า “หมอกิสลับ”) ซึ่งเคยโดยสารเรือสำเภาจากเมืองจีนเข้ามายังกรุงเทพฯ เมื่อรัชกาลที่ ๓ และเมื่ออยู่ในกรุงเทพฯ มารู้ลักษณะการค้าสำเภาในระหว่างเมืองไทยกับเมืองจีน จึงเขียนบันทึกอธิบายลักษณะการค้าสำเภาไว้เป็นภาษาอังกฤษ เซอร์จอนเบาริง แต่งหนังสือเรื่องสยาม Siam ได้คัดคำอธิบายนั้นพิมพ์ไว้ในเล่ม ๑ หน้า ๒๔๖ อ่านดูได้ความรู้เรื่องค้าสำเภาพิสดารดีขึ้น จึงคัดเนื้อความที่คุสลัฟกล่าวมาประกอบกับความรู้ที่ได้มาจากทางอื่น แต่งเรื่องลักษณะการค้าเรือสำเภา ที่จะกล่าวต่อไปนี้

ว่าด้วยเรือสำเภา

๑) เรือสำเภาที่ไปมาค้าขายในระหว่างเมืองไทยกับเมืองจีน (พวกจีนในเมืองจีน) เรียกกันว่า “ปักเตาซุน” Pak tow sun แปลว่า “เรือหัวขาว” มีจำนวนรากสัก ๘๐ ลำ ขนาดระวางบรรทุกน้ำหนักได้ ๒๖๐ จน ๓๐๐ ตัน (ว่าโดยย่อ รูปและขนาดเท่าสำเภาเจดีย์ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างไว้ ณ วัดยานนาวาในกรุงเทพ ฯ) เป็นเรือต่อในกรุงเทพฯ โดยมาก เพราะชาวต่างประเทศนับถือว่าในเมืองไทยมีไม้สำหรับต่อเรือเนื้อดีกว่าที่อื่น ชาวต่างประเทศเข้ามาขอต่อเรือไปใช้ในประเทศอื่นก็มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เรือสำเภาที่ค้าขายในรัชกาลที่ ๓ มักเป็นเรือของเจ้านายและขุนนางไทย หรือเป็นของจีนพ่อค้าที่เข้ามาตั้งภูมิลำเนาอยู่ในเมืองไทยเป็นพื้น เป็นเรือเมืองจีนน้อย

ว่าด้วยฤดูค้าสำเภา

๒) เรือสำเภาไปค้าขายที่เมืองจีนไปเป็นฤดู มีกำหนดออกจากกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมไปจนสิ้นเดือนกรกฎาคม คือเมื่อฤดูมรสุมลมพัดมาทางตะวันตกเฉียงใต้ แล่นใบไปค้าตามหัวเมืองจีน เช่น เมืองใหหลำ เมืองกึงตั๊ง เมืองซัวเถา เมืองเอหมึง เมืองเซี่ยงไฮ้ และเมืองอื่นๆ ที่ไปยังเกาะชวามะลายูก็มี บรรทุกสินค้าที่เกิดในเมืองไทยไปขาย เมื่อขายสินค้าที่พาไปหมดแล้ว ก็เอาเงินที่ขายของได้ซื้อสินค้าต่างๆ ในเมืองจีน เช่น แพรแลถ้วยชามเป็นต้น กับทั้งเนื้อเงินแลทองบรรทุกสำเภาเอามาขายในเมืองไทย แต่ต้องรออยู่ในเมืองจีนจนถึงฤดูมรสุมลมพัดมาทางตะวันออกเฉียงใต้ (ที่เราเรียกกันว่า “ลมสำเภา”) จึงแล่นกลับมา มาถึงกรุงเทพฯ แต่เดือนกุมภาพันธ์ จนเดือนเมษายน เราเรียกกันว่า “ฤดูสำเภาเข้า” เรือสำเภาไปมาค้าขายเป็นยุติอย่างนี้เสมอทุกปี.

ว่าด้วยชาวเรือสำเภา

๓) ในบันทึกของคุสลัฟบอกอธิบายหน้าที่ของชาวเรือสำเภาตำแหน่งต่างๆ ที่มีชื่อในทำเนียบศักดินาโดยพิสดารดีมาก แต่พรรณนาเฉพาะบางตำแหน่ง ดังนี้

จุ้นจู๊ คุสลัฟ เรียกเป็นภาษาฝรั่งว่า “กัปตัน” แต่บอกอธิบายว่าถึงเป็นนายเรือก็มิได้มีหน้าที่ในการเดินเรือ มีหน้าที่แต่ในการขายและซื้อสินค้าตามเมืองต่างประเทศ ผู้ที่เป็นจุ้นจู๊นั้นบางทีเจ้าของเรือก็เป็นเอง หรือให้ลูกชายไปต่างตัว ถ้ามิฉะนั้นก็ต้องหาคนที่ไว้ใจได้ตั้งให้เป็นจุ้นจู๊ แต่ถ้าเป็นคนอื่นนอกจากลูกเจ้าของสำเภา ต้องมีผู้รับประกันค่าเรือและค่าสินค้าแล้วจึงตั้งให้เป็นจุ้นจู๊

“ต้นหน ดูทาง” คุสลัฟเรียกว่า “โฮชัง” Hochang และแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า pilot อธิบายหน้าที่ของต้นหน ว่าบรรดาเรือสำเภาใช้แต่เข็มทิศไม่ใช้แผนที่ เพราะโดยปกติย่อมแล่นห่างจากฝั่งพอเห็นเทือกภูเขา หรืออะไรเป็นที่สังเกตอยู่เสมอ ต่อเมื่อต้องข้ามท้องทะเลบางแห่งไม่แลเห็นฝั่ง จึงใช้เข็มทิศ เพราะฉะนั้นต้นหนต้องเป็นคนเคยเดินเรือจนชำนาญทาง จึงทำการตามหน้าที่ได้ ที่ของต้นหนอยู่กลางลำเรือ เวลาเรือแล่นต้องประจำดูทางและคอยบอกคนถือท้ายเรือ ถ้ามิใช่เป็นที่สำคัญใช้ผู้ช่วยได้ ถ้าแล่นไปในที่สำคัญหรือเวลากลางคืนตัวต้นหนต้องนำทางเอง บางทีก็ถึงยืนหลับอยู่กับแคมเรือ

“ไต้ก๋ง นายท้าย” เป็นผู้ใช้ใบและถือท้ายเรือ มีผู้ช่วยตำแหน่งต่างๆ หลายคน คุสลัฟไม่ได้ระบุชื่อตำแหน่งไว้ แต่มีอยู่ในทำเนียบศักดินา คือ

“อาบั๊น” กำกับเสากระโดงกลาง

“ตั้วเลีย” ว่าสายเลียว กำกับเสาท้าย

“เท้าเต้ง” พนักงานสมอ

“ฮู้เตี้ยว” พนักงานหยั่งน้ำ

“อิดเซียน” พนักงานลดใบ (เสาหน้า)

“ยี่เซียน” พนักงานลดใบ (เสากลาง)

“สามเซียน” พนักงานลดใบ (เสาท้าย)

พนักงานชั้นสูงสำหรับหน้าที่อื่นยังมีอีก คือ

“ล้าต้า บัญชีใหญ่” คุสลัฟเรียกว่าเสมียน Clerk ทำบัญชีเงิน

“ชินเต็งเถา บัญชีกลาง” คุสลัฟเรียกว่าเสมียนทำบัญชีสินค้า

“เต๊กข้อ ว่าระวางบรรทุก” คุสลัฟเรียก (น่าจะเป็นในภาษาโปรตุเกส) ว่าคอมประดอ Compradore และว่าเป็นพนักงานซื้อหาอาหารก็เห็นจะผิด ที่จริงน่าจะเป็นหนักงานบรรทุกสินค้าลงระวางอย่างว่าในทำเนียบศักดินา

“จงกว้า ใช้คนทั้งนั้น” คุสลัฟเรียก (นาย) กรรมกร Menial works

“เอียวก๋ง บูชาพระ” คือเฮียกงผู้นำไหว้เจ้า คุสลัฟเรียกว่า “พระ” Priest (จะพรรณนาหน้าที่ต่อไปข้างหน้า)

“ชมภู่” คนทำครัว

พวกชาวเรือสำเภาต่างกันเป็น ๒ พวก คือผู้ที่มีความชำนิชำนาญการในหน้าที่ เป็นตำแหน่งในทำเนียบพวก ๑ พวกกะลาสีแล้วแต่เขาใช้อย่าง ๑ พวกที่อยู่ในตำแหน่งต่าง ๆ ดังกล่าวมามีห้องอยู่ในสำเภาเฉพาะตัวทุกคน ตำแหน่งชั้นสูงก็ได้ห้องขนาดใหญ่หน่อย ตำแหน่งชั้นต่ำก็มีห้องขนาดน้อยแต่พอนอน แม้จะลุกขึ้นนั่งก็ไม่ได้ พวกลูกเรือนั้นไม่มีห้องแล้วแต่จะนอนตามดาดฟ้าหรือที่ไหนได้ก็นอนที่นั้น คนที่จะโดยสารเรือสำเภาต้องว่าเช่าห้องเช่นกล่าวมา เช่าห้องดีเสียค่าเช่ามาก เช่าห้องเลวเสียค่าเช่าน้อย แล้วแต่จะตกลงกัน ชาวเรือชั้นกะลาสีและกรรมกรเป็นจีนกวางตุ้งเป็นพื้น โดยมากไม่เคยเดินเรือเป็นแต่ยากจนหรือหลบหลี้หนีภัยจึงมารับเป็นกะลาสี เพราะฉะนั้นในเรือสำเภาจึงไม่มีวินัยในพวกกะลาสี ใครชอบอย่างไรก็ทำตามใจ พวกนายเรือก็ไม่มีอำนาจสิทธิขาด ได้แต่บังคับด้วยโลมเล้าเอาใจ

ผลประโยชน์ในการคำสำเภา

๔) คุสลัฟว่า ชาวสำเภาเหมือนเป็นบริษัทมีหุ้นส่วนในการค้าด้วยกันทุกคน เพราะประเพณีการค้าสำเภาเจ้าของเรือต้องอนุญาตให้ชาวสำเภาเอาสินค้าของตนเอง บรรทุกได้มากหรือน้อยต่างกันตามชั้นตำแหน่ง เรือไปถึงไหนขายสินค้าที่บรรทุกไปแล้ว เอาเงินซื้อสินค้าเมืองนั้นกลับมาขายในกรุงเทพ ฯ ได้เหมือนกันทุกคน ตามคำคุสลัฟดูเหมือนเจ้าของเรือจะต้องให้แต่เสบียงอาหาร กับให้ระวางเรือบรรทุกสินค้าหากำไรแทนเงินเดือน เพราะฉะนั้นพวกชาวเรือสำเภาจึงขวนขวายในการขายซื้อสินค้ายิ่งกว่าการในเรือ เช่น รักษาวินัยและความสะอาดเป็นต้น

ข้อนี้เคยได้ยินคนแต่ก่อนเล่ากันมา ว่าเมื่อเรือสำเภาเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ทอดสมออยู่กลางแม่น้ำ พวกชาวสำเภาเอาสินค้าของต่างๆ ออกวางตามดาดฟ้า พวกชาวกรุงลงเรือไปซื้อของที่ในสำเภา คงเป็นสินค้าส่วนของพวกชาวสำเภานั้นเอง สินค้าส่วนเจ้าของสำเภาคงขนขึ้นไปไว้ในคลังต่างหาก แล้วขายย่อยไปแก่ชาวร้านหรือลูกช่วงที่รับเอาไปเที่ยวขาย ณ ที่ต่างๆ

วิธีแล่นสำเภา

๕) ในลำสำเภาทุกลำต้องมีศาลเจ้า ไว้รูปนางเทพธิดาชื่อ “มาเสียวโป” แต่เรียกกันเป็นสามัญว่า “เทียนเฮา” แปลว่า ราชินีสวรรค์ มีเรื่องตำนานว่า นางนั้นเมื่อเป็นมนุษย์เป็นสาวพรหมจารีอยู่ที่เมืองฟูเจา นางนั้นมีความกตัญญูต่อพี่ชาย (ชะรอยจะเอาชีวิตแลก) ช่วยพี่ชายซึ่งตกน้ำอยู่ในทะเลให้รอดชีวิตได้ พวกจีนจึงนับถือว่านางเทพธิดาองค์นั้นอาจจะป้องกันอันตรายแก่เรือที่แล่นไปทางทะเล จึงทำรูปเป็นภาพนั่งตั้งไว้ด้วยกันกับรูปเทพารักษ์บริวาร สำหรับบนบานบวงสรวงที่ในเรือสำเภาทุกลำ เฮียกงเป็นผู้ปฏิบัติบูชาและบนบวงนางเทพธิดานั้น คือ จุดโคมไว้ที่ศาล (ไฟเป็นชะนวนสำหรับจุดธูปบูชา) ดวง ๑ โดยปกติเวลาเช้าเฮียกงต้องชำระตัวให้สะอาดแล้วเข้าไปจุดรูปบูชาและเซ่นด้วยน้ำชาทุกวัน

เมื่อแต่งเรือสำเภาแลบรรทุกสินค้าเสร็จแล้ว มีงานส่งสำเภาเชิญรูปนางเทพธิดาเทียนเฮาแห่ขึ้นไปยังศาลเจ้าที่บนบก ตั้งไว้บนที่บูชา พวกชาวเรือตั้งแต่ตัวไต้ก๋งนายสำเภาเป็นต้น พร้อมกันไปทำสักการะบูชาเซ่นสรวงอธิษฐานขอพร แล้วเชิญรูปนางเทพธิดาออกมาตั้งข้างหน้าศาลมีงิ้วทำขวัญ แล้วจึงแห่กลับลงไปตั้งไว้ที่ศาลในเรือสำเภา (เมื่อจะออกสำเภา) มีการประโคมครึกครื้น (การประโคมเมื่อออกเรือสำเภาพรรณนาไว้ในเทศน์มหาชาติกัณฑ์กุมารแลยานนาวาพิสดาร)

เวลาเรือสำเภาแล่นไปในทะเล โดยปกติเวลาเช้าเฮียกงต้องบูชาที่ศาลนางเทพธิดาดังว่ามาแล้วก่อน แล้วจุดธูปเที่ยวบูชาตามที่สำคัญของเรือสำเภาทุกแห่ง เวลาเรือสำเภาเข้าอ่าวหรือเกิดลมโต้หน้า เฮียกงต้องเซ่นเทพเจ้าภูมิบดีและอากาศบดี การเซ่นพิเซษเช่นนี้ต้องฆ่าหมูหรือไก่กับมีสุราทั้งผลไม้เป็นเครื่องเซ่น (จุดประทัด) แลเผากระดาษเงินกระดาษทอง เฮียกงเป็นผู้เซ่นต้องลงกราบไหว้ แล้วร้องบอกพวกชาวสำเภาว่า “ตามเทวดาไปเถิด” Follow the Spirit เวลาเรือแล่นออกจากแม่น้ำ ไต้ก๋งก็ทิ้งกระดาษทองกระดาษเงินทำเป็นรูปเรือ (ที่จริงเป็นรูปเงินมุ่น) ทิ้งน้ำขอลม

ที่บูชานั้นนอกจากที่ศาลนางเทพธิดาเทียนเฮา ยังมีสิ่งอื่นคือ เข็มทิศ หางเสือ และสายสมอ ก็ถือว่าเป็นของสำคัญ ผูกผ้าแดงบูชาด้วย

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ