วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๔๘๒

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

เมื่อวันที่ ๒๓ นี้ ได้รับลายพระหัตถ์เวร ซึ่งลงวันที่ ๑๙ มีนาคม ตามกำหนดที่มุ่งหมายโดยเรียบร้อยทุกประการ จะกราบทูลสนองความในลายพระหัตถ์นั้นลางข้อดังต่อไปนี้

สนองความในลายพระหัตถ์

คำ “เตร็ด” ได้เคยเข้าสู่ความสงสัย และยังได้เคยเสาะหาคำนั้นสอบมาแล้ว พบภาษามลายูมี “กเล็ต” หมายความว่าคลองเล็ก ก็ทำให้พอใจเห็นเป็นคำนั้นเอง คำว่า “เตร็จ” ตามตัวอย่างซึ่งยกประทานไปนึกต่อก็ได้คำ “เหาะระเห็ดเตร็ดฟ้าด้วยว่องไว” นั่นก็เป็นรูปเดียวกัน แต่ครั้นถึงคำ “พาหุรัตน์ตรัดเตร็ด” เข้าก็ต่างรูปไปทำให้นึกพิจารณาเห็นว่าจะเป็น “พาหุรัดตรัสเก็จ” “เก็จ” หมายความว่า แก้ว รัดแขนอันแจ่มด้วยแก้ว แต่นี่ก็เป็นกราบทูลเพ้อเจ้อเหตุด้วยเรื่องพาไป ที่จริงมั่นใจว่าจะเป็น “กเล็ต” ทางภาษามลายูนั่นเอง ตามพระดำริที่ทรงสงสัยว่าทำไมจึงเรียก “เตร็ด” จำเพาะแต่เตร็ดใหญ่ เตร็ตน้อยนั้น เป็นหลักที่ดีมากถ้าหากภาษามอญจะเรียกคลองเล็กว่า เกล็ดหรือเตร็ดหรืออะไรที่คล้ายอย่างนั้นและไปใกล้เข้ากับภาษามลายูก็จะไม่ประหลาดเลย แม้ในแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรมจะไม่มีมอญตั้งอยู่ที่เตร็ด พวกมอญจะมาเรียกเอาทีหลังก็ได้ และคลองเตร็ดนั้นก็ไม่จำจะต้องลึกใหญ่ หากน้ำจะกัดให้เป็นคลองใหญ่ในภายหลัง เพราะเป็นทางสั้นตรงก็ได้ ส่วนทางสำหรับเรือใหญ่ เช่นเรือกำปั่นจะเดินก็มีทางแม่น้ำอ้อมเดินอยู่แล้ว

เรื่องพระแท่นดงรังนั้น จริงอย่างพระดำรัสทีเดียว คนตื่นกันที่กองผ้าทรงจัดไว้ให้เหมือนพระพุทธสรีร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ตรัสทัก ว่าแกล้งหยักให้เป็นพระสอพระเศียรเสียด้วย ซ้ำมาได้ทราบจากพระดำรัสของฝ่าพระบาทในคราวนี้ ว่าเวลาที่ไม่ใช่สัปปุรุษขึ้น เขาเอาผ้าเหล่านั้นชักขึ้นแขวนไว้กับเพดาน นี่เป็นความรู้ที่ใหม่ยิ่งทำให้อ่อนใจมากขึ้น นัยว่าๆ เทวดาจัดไว้ให้เป็นเช่นนั้น ที่แท้ก็คนเรานี่เองจัด พระแท่นดงรังเห็นจะเกิดมีขึ้นไม่นานนัก ในพระราชพงศาวดารก็มีกล่าวแต่ว่าพม่ายกมาตั้งทัพอยู่ที่หนองขาวดงรัง ถ้ามีพระแท่นดงรังเป็นของสำคัญอยู่ในครั้งนั้นจะเว้นที่ไหนได้ที่จะไม่ออกชื่อพระแท่น

พระแท่นศิลาอาสน์นั้นจะต้องเป็นของมีมาช้านาน เห็นรูปร่างลวดลายอะไรในที่นั้นล้วนเก่าดูหูผึ่งไปทั้งนั้น ในการที่ว่าพระพุทธเจ้าเสด็จไปที่ไหนแล้วตรัสทำนายอะไรต่าง ๆ นั้น มีตัวอย่างในคัมภีร์ทางมหายานอันชื่อว่า “สุขาวดีวยูห” ดังได้กราบทูลมาก่อนแล้วนั้นทีเดียว ไม่ใช่ชั้นลังกามิได้ เป็นเรื่องแยกไม่ออกอย่างเช่นพระดำรัส

พระพุทธเจ้านั้น คนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นไทย ประสูติในเมืองไทย ตรัสรู้ในเมืองไทย เสด็จจารึกไปในเมืองไทย ตลอดเข้าสู่พระปรินิพพานก็ในเมืองไทย ผู้ที่ทราบความจริงว่าพระพุทธเจ้าเป็นแขกอยู่ในประเทศอินเดียนั้นน้อยนัก หนังสือของพระราชาคณะซึ่งตรัสอ้างถึงนั้นเกี่ยวแก่เกล้ากระหม่อมอยู่มาก ลูกศิษย์ของท่านเขาเอาหนังสือนั้นมาให้เกล้ากระหม่อมดู เกล้ากระหม่อมพูดขึ้นว่ามีความอย่างไรฝ่าพระบาทจึงได้ทรงทราบ

ข้อความใดๆ ในเรื่องพิธีตรุษ ซึ่งเกล้ากระหม่อมกราบทูลได้ทรงทราบอยู่แล้วก็ดีแล้ว แม้ว่าสมควรที่จะกล่าวจะได้ไม่ตกข้อความนั้นไปเสีย ในการที่เจ้านายเลิกโยงสายสิญจน์กับตะพานนั้น อาจเป็นด้วยขัดขวาง เพราะมาหมอบเฝ้าอยู่ทางมุขเหนือนั้นอาจเป็นได้ แต่ครั้งที่ยังโยงสายสิญจน์กันอยู่เจ้านายอาจหมอบเฝ้าอยู่ทางอื่นที่ใกล้กับตะพาน ก็อาจเป็นได้เหมือนกัน ขออย่าได้ท้อพระทัยในการที่ทรงแต่งเรื่องพิธีตรุษ ว่าจะเป็นประโยชน์อยู่แต่เกล้ากระหม่อมคนเดียวเท่านั้น หนังสือต่างๆ ซึ่งเขาแต่งขึ้นใหม่ๆ เขาอ้างถึงพระนิพนธ์ของฝ่าพระบาทมีอยู่ไม่ขาด ลางทีก็คัดเอาพระนิพนธ์ใส่เข้าไปด้วย ยังจะเห็นได้อีกที่คนมารบกวนฝ่าพระบาทให้ทรงแต่งหนังสือแจกงานศพอยู่เนืองๆ นั่นแปลว่ากระไร แปลว่าเขาเห็นดีในพระดำริพระดำรัสอันได้ทรงค้นคว้าอะไรมาต่างๆ หรือมิใช่ การที่ทรงกระทำของฝ่าพระบาทยังไม่พ้นสมัยไปเลย สำคัญแต่การกระทำของฝ่าพระบาทควรระวังอย่าให้เป็นหมันไปเสีย คือประทานแต่เกล้ากระหม่อมคนเดียวเท่านั้น ควรประทานไปในที่อันจะพึงเป็นสาธารณะได้ด้วยมีหอสมุดเป็นต้น อยากจะกราบทูลบ่นอย่างเพลงที่ชื่อ “บ้าบ่น” ว่าวิชาแต่งหนังสือนั้นดี ถ้าผู้ได้วิชานั้นไว้ไม่เป็นบ้าไปเสีย ถึงจะอยู่แก่เฒ่าจนลายมือเป็นตีนกุ้งตีนปลาไปอย่างไร เสมียนเขาก็เอาไปทำเรี่ยม เป็นวิชาที่ไม่รู้จักตาย ส่วนวิชาช่างเขียนนั้นไม่ได้ พอตาเสียก็เจ๊ง เขียนเส้นจะให้ลงตามที่ใจนึกไม่ได้ จะยืมมือใครเขียนก็น้อยนักที่จะได้อย่างใจ เว้นแต่ที่ทันกันจึงจะช่วยกันได้

เรื่องลูกประคำ เกล้ากระหม่อมมาดูทางพระพุทธศาสนาของเรา คือหีนยานนั้นเป็นทางดูผิดไปถนัดใจ ต่อได้ฟังกระแสรับสั่งจึงได้สติ เห็นจะเป็นแน่ว่ามาทางศาสนามหายานทีเดียว เพราะทางนั้นขนเอาเทวดาทางไสยศาสตร์เข้าไปผสมไว้มาก การใช้ลูกประคำก็เห็นทำมีเทวรูปถือ กับพวกลามาก็ถือ ตลอดจนพวกบาดหลวงและนางชีทางคริสตังก็ได้ ในทางพระพุทธศาสนาของเราไม่มีเลย จะถามพวกพระญาณดู ถ้าได้ความอย่างไรที่เป็นหลักฐานก็จะกราบทูลมาให้ทรงทราบ

รายงานข่าวในกรุงเทพ ฯ

เมื่อวันที่ ๑๗ เดือนนี้ พระยาอรรถศาสตร์โสภณเขาทำการปลงศพนางเชย วิฏฐานวินิจฉัย ซึ่งเป็นแม่ยาย ที่วัดมกุฎกษัตริย์ พระยาอรรถศาสตร์เขาชอบกับชายถึก ด้วยทำราชการอยู่กรมเดียวกัน เขาจึงให้ “ใบดำ” บอกกำหนดมา ได้ส่งเครื่องขมาศพไปก็ได้หนังสือแจกมามัดหนึ่ง

๑. เรื่องประเทศอเมริกา สมุดเล่มนี้ตีพิมพ์สำหรับงานศพ ออกจากหอสมุด เป็นหนังสือซึ่งเคยตีพิมพ์มาแล้วเมื่อคราวงานพระศพกรมพระนเรศวรฤทธิ์ เพราะพระองค์ได้ทรงเรียบเรียง ในคำนำบอกความว่าเพราะผู้ตายชอบเรื่องประเทศซึ่งไม่เคยไปเห็น ทั้งหนังสือนั้นก็มีเหลืออยู่น้อยแล้วด้วย

๒. “ปกิณกกถา” เป็นของสมาคมบพิตมพิมุขพิมพ์ช่วย เป็นข้อเบ็ดเตล็ดซึ่งคัดมาจากหนังสือของสมาคมอันได้ตีพิมพ์แล้ว

๓. “ศิลปกรรมของจีนทุกสมัย” พระยาเมธาธิบดีแต่ง พระโสภณอักษรกิจตีพิมพ์ช่วย มีรูปมาก ควรแก่ผู้เรียนของเก่าจะพึงรู้

๔. “พระเป็นเจ้าและผู้มีชื่อเสียง” ใบปกมีรูปพระอิศวรทรงโคฝรั่ง ขุนสุนทรภาษิตแต่ง นายกิม จุลมกร ตีพิมพ์ช่วย ได้ตีพิมพ์เป็นครั้งที่ ๓ เข้าครั้งนี้ ในเรื่องมีกล่าวถึงพระเจ้าทั้ง ๓ กับคนที่ร่ำลือ มีขุนรามคำแหงและศรีปราชญ์เป็นต้น

หนังสือเหล่านี้ แม้ที่สำคัญก็เป็นหนังสือเก่าอันได้ทรงทราบแล้วจึงไม่ได้จัดส่งมาถวาย แต่ถ้ามีพระประสงค์จะทอดพระเนตรฉบับใดก็จะจัดส่งมาถวายได้

เมื่อวันที่ ๒๒ หญิงมารยาตร กับหญิงเป้าพากันมาลาไปหัวหิน หญิงมารยาตรจะไป ๙ วัน หญิงเป้าจะไป ๔๕ วัน ดูก็สมควรแล้ว เพราะหญิงมารยาตรเธอมีงานติดตัว จำต้องไปน้อยวันอยู่เอง ส่วนหญิงเป้านั้นอยู่เปล่า ไปหลายวันได้

เมื่อวันที่ ๒๔ ไปเผาศพหญิงอักษรที่วัดราชาธิวาส พวกลูกๆ เขาทำเมรุเล็กๆ กันขึ้นในที่แปลงขวาตอนหน้าโบสถ์ ไม่มีเสด็จพระราชดำเนิน แต่มีญาติไปอยู่ข้างคับคั่ง ในงานนั้นมีหนังสือแจก ๔ เล่ม

๑. “พระราชวิจารณ์” ตีพิมพ์สำหรับงานนี้ ออกจากหอสมุด

๒. “หัวใจกัมมัฏฐาน” สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเรียบเรียง มหามกุฎราชวิทยาลัยตีพิมพ์ช่วย

๓. “ปกิณกธรรม” คณะภิกษุในพระอุปถัมภ์กรมพระจันทบุรี ตีพิมพ์ช่วย

๔. “พระพุทธปัจฉิมวาจา” พระมหาทองสุก (วัดไหนไม่ทราบ) เรียบเรียงตามเทศนาตีพิมพ์ช่วย

หนังสือเหล่านี้ไม่ได้จัดส่งมาถวาย ที่สำคัญก็เป็นหนังสือเก่าซึ่งได้ทรงแล้ว

เมื่อวันที่ ๒๕ เขาทำการปลงศพพระยาวิเชียรคิรี (ชม ณ สงขลา) กับคุณหญิงสมบุญ และพระยาราชพัสดุอภิมัณฑน์ (อั้น ณ สงขลา) ที่สุสานวัดเทพศิรินทร์ เกล้ากระหม่อมไปส่งสักการศพเห็นใช้เมรุที่หน้าพลับพลา แต่ปลูกปะรำเติมขึ้นสองข้าง ใช้เป็นที่ตั้งที่เผาสามศพ มีแขกไปมากเพราะเป็นวงศ์ใหญ่ เกล้ากระหม่อมมีความเขลาไปถึงสองประการ ไม่ทราบว่าภรรยาพระยาพจนวิลาศเป็นบุตรีพระยาวิเชียรคิรี นั้นประการหนึ่ง กับไม่ทราบว่าพระยาราชพัสดุอภิมัณฑน์เป็นน้องพระยาวิเชียรคิรีก็อีกประการหนึ่ง หนังสือซึ่งเขาแจกในงานนี้มี ๒ เล่ม

๑. “เรื่องเที่ยวที่ต่าง ๆ ภาคที่ ๖” กล่าวถึงระยะทางเสด็จประพาสแหลมมลายูในรัชกาลที่ ๕ สามคราว เป็นหนังสือเก่าตีพิมพ์ซ้ำ

๒. “พงศาวดารเมืองสงขลา” ตอนต้นเป็นของพระยาวิเชียรคิรีแต่ง และได้ตีพิมพ์แล้ว มีของเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร์แต่งต่อในตอนปลายเติมใหม่

ในเล่มหลังตอนที่แต่งต่อนั้นดูสมควรที่จะพึงทรง หวังว่าเขาจะได้จัดส่งมาถวาย ถ้าหากไม่ได้ทรงรับจะจัดส่งมาถวายได้

วันที่ ๒๖ เขาบอกจะมีการพระราชทานเพลิงศพพระองค์เจ้าพร้อมที่เมรุวัดเทพศิรินทร์เหมือนกัน เมื่อได้ไปเห็นอยางไร จะกราบทูลเป็นรายงานมาให้ทรงทราบในคราวหน้า

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ