วันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๘ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๒

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๓ มิถุนายน ตามกำหนดซึ่งคาดและคอยอยู่แล้ว รู้สึกรื่นรมย์

จะทูลความเห็นในเรื่องเสด็จไปเที่ยวลอยละล่อง ตอนที่ตรัสเล่ามาในลายพระหัตถ์ฉบับนี้

๑) หม่อมฉันยินดีที่การเสด็จประพาสได้เป็นไปโดยเรียบร้อยตลอดทาง ทั้งเป็นปัจจัยให้ฟื้นพระองค์กลับทรงเป็นสุขสบายได้ดังพระประสงค์ด้วย ส่วนผู้อื่นที่โดยเสด็จนั้นหม่อมฉันก็หวังว่าคงชื่นมื่นด้วยกันหมด

๒) แต่พิเคราะห์ในรายการประพาสที่ตรัสเล่ามาดูจะไม่สู้สนุกนัก เพราะซ้ำทางที่เคยเสด็จไปแล้ว มีแปลกแต่เมืองปะเลมบังแห่งเดียว แม้เมืองปะเลมบังก็ “ชิดดิฐ” กับภูมิลำเนากรุงเทพฯ ไม่แปลกประหลาดถึงน่าถ่อกายไปดู

๓) หม่อมฉันเกรงอีกอย่างหนึ่งว่าบางทีจะได้ทรงรับความรำคาญด้วยการที่เขาขนถ่านหิน ด้วยละอองถ่านมันปลิวไปเที่ยวตกหล่นทำให้เรือเปื้อนเปรอะไปแทบทั้งลำเรือ เมื่อหม่อมฉันไปยุโรปครั้งแรก เวลาเรือบรรทุกถ่านที่เมืองโคลัมโบ เขาเชิญให้หม่อมฉันขึ้นอยู่เสียบนบกวัน ๑ ด้วยว่าต้องปิดประตูหน้าต่างหมด หม่อมฉันจะต้องอยู่แต่ในห้อง ถ้าออกไปดาดฟ้าก็จะถูกเปื้อนเปรอะขะมุกขะมอม จะนั่งหรือจะเดินตามสบายไม่ได้ เมื่อเรือไปถึงเมืองปอตเสตปากกลองสุเอซต้องบรรทุกถ่านอีก แต่เขารอจนให้คนโดยสารเข้านอนหมดแล้วจึงลงมือ บรรทุกเสร็จก็เร่งให้ล้างดาดฟ้าแต่เวลาดึก รุ่งเช้าเมื่อตื่นนอนเห็นเรือสะอาดแล้ว แต่เมื่อหม่อมฉันไปยุโรปครั้งหลัง ไปเรือกำปั่นยนต์ใช้น้ำมันไม่ต้องรับถ่านเหมือนเมื่อไปครั้งแรก สะดวกขึ้นมาก สังเกตในลายพระหัตถ์ท่านเสด็จไปประจวบเวลาเขาขนถ่านหินลงเรือที่เมืองปะเลมบัง และขนขึ้นที่ปากพนัง ในเวลาประทมอยู่ในเรือทั้ง ๒ ครั้ง จะถูกรำคาญด้วยละอองถ่าน หรือว่าเดี๋ยวนี้เขามีวิธีขนดีขึ้นกว่าแต่ก่อน หม่อมฉันไม่ทราบเพราะที่หม่อมฉันเคยแก่ตัวมากว่า ๕๐ ปี มาแล้ว

หม่อมฉันออกเสียใจด้วยมิวเซียมที่เมืองปะเลมบังไม่วิเศษจริงดังเข้าใจ เหตุที่จะสำคัญว่าดีนั้นเกิดแต่มีพระพุทธรูปหล่อของโบราณแบบหนึ่งทำห่มจีวรจีบแปลกกับพระพุทธรูปอื่นๆ หม่อมฉันได้มาจากเมืองนครราชสีมาแต่ในรัชกาลที่ ๕ แต่เป็นของชำรุด พระกรขาดข้างหนึ่งและพระบาทก็หักหายหมด หม่อมฉันจึงเก็บเอาไว้ไม่ได้นำขึ้นถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ถึงรัชกาลที่ ๗ หม่อมฉันได้เห็นรูปพระแบบนั้นในหนังสือพิมพ์มีพระกรและพระบาทบริบูรณ์ ได้หลักฐานหม่อมฉันจึงให้เวนิงช่างปั้นหล่อพระกรและพระบาทต่อให้ตรงตามแบบ แล้วตั้งไว้ที่บ้าน แล้วให้ยืมไปตั้งอวดที่พิพิธภัณฑสถาน ศาสตราจารย์เซเดส์เห็นเข้าบอกว่าพระพุทธรูปแบบนั้น พวกนักปราชญ์ฝรั่งเขาสมมตเรียกว่า “แบบสมัยอมรวดี” หมายความว่าประดิษฐ์ขึ้นเมื่อพระพุทธศาสนารุ่งเรือง ณ เมืองอมรวดี (อยู่เหนือเมืองมัทราฐ) และว่าพระพุทธรูปแบบนั้นหายากยิ่งนัก ฝรั่งเศสเขาขุดพบที่ตังเกี๋ยองค์ ๑ ตั้งอวดไว้ในมิวเซียมที่เมืองฮานอย ต่อมาเมื่อหม่อมฉันไปยุโรปใน พ.ศ. ๒๔๗๓ ไปที่บ้านมองสิเออร์ บอ. ดุแองผู้เคยรับรองหม่อมฉันเมื่อเขายังเป็น เรสิดองสุพีเรียเมืองเขมร ไปเห็นพระพุทธรูปยืนแบบอมรวดีมีอยู่ที่นั่น ถามได้ความว่าจำลองจากองค์ที่อยู่ในมิวเซียม ณ เมืองฮานอย ก็เป็นอันเหมือนรู้ว่าองค์เดิมเป็นอย่างไร ขากลับจากยุโรปคราวนั้นเรือหยุดที่โคลมโบหลายชั่วโมง หม่อมฉันมีเวลาไปดูมิวเซียมฝรั่งภัณฑารักษ์ เขาพาไปดูพระพุทธรูปทองสัมฤทธิองค์ ๑ ว่าเพิ่งพบที่เมืองอนุราฐบุรีไม่ช้านัก ถือกันว่าเป็นของแปลกจึงตั้งอวดไว้โดยเฉพาะ หม่อมฉันไปดูก็เห็นเป็นพระพุทธรูปแบบอมรวดีอย่างของหม่อมฉันนั่นเอง ผิดกันแต่เป็นพระนั่ง ต่อนั้นมาอีก ๒ ปี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ หม่อมฉันไปชวาไปดูมิวเซียมที่เมืองบะเตเวีย เขาอวดว่าได้พระพุทธรูปแปลกอันพบที่เกาะคาลีปมาใหม่องค์ ๑ ตั้งอวดไว้ โดยเฉพาะหม่อมฉันเข้าใจว่าท่านก็คงได้ทอดพระเนตรเห็นพระองค์นั้นเมื่อเสด็จไปชวา หม่อมฉันไปดูก็เห็นเป็นแบบอมรวดี และเป็นพระนั่งขนาดเดียวกับองค์ที่โคลมโบ จึงออกพิศวงว่าต่างประเทศพบพระพุทธรูปแบบอมรวดีมีแต่ประเทศละองค์เดียวเช่นเดียวกัน หม่อมฉันปรารภความพิศวงแก่ดอกเตอร์คาเลนเฟลล์ แกบอกว่าที่เมืองปะเลมบังเขาก็พบอีกองค์ ๑ ตั้งอวดไว้ในมิวเซียมที่เมืองนั้น หม่อมฉันจึงเข้าใจว่ามิวเซียมที่เมืองปะเลมบังจะเป็นมิวเซียมใหญ่ แต่ตัวเมืองศริวิชัยเดิมนั้นหม่อมฉันได้เห็นในหนังสือพิมพ์ว่า กรมตรวจโบราณคดีฮอลันดาเขาพบแล้ว อยู่บนเนินเขาลึกเข้าไป ตรวจพบโบราณวัตถุ เช่น พระสถูปเป็นต้นหลายแห่ง ก็ตรงอย่างท่านทรงพระดำริว่าในสมัยศรีวิชัยที่ตั้งเมืองปะเลมบังเดี๋ยวนี้คงยังเป็นทะเล

ข้อที่ติดรูปศาสตราจารย์ เซเดส์ ไว้ในมิวเซียมนั้นหม่อมฉันพอจะทูลเหตุได้ คือแต่ก่อนเป็นแต่รู้กันว่าเกาะสุมาตราเคยเป็นที่ตั้งประเทศใหญ่แห่ง ๑ ศาสตราจารย์เซเดส์เป็นผู้พากเพียรค้นเรื่องตำนาน ได้เรื่องราวเป็นหลักฐาน พวกนักปราชญ์จึงยกย่องศาสตราจารย์ เซเดส์ ว่าเป็นผู้ทำให้เรื่องเมืองศรีวิชัยแจ่มแจ้ง ติตรูปเฉลิมเกียรติไว้ที่มิวเซียมเมืองปะเลมบังเพราะเหตุนั้น

หนังสือประชุมพงศาวดารภาคที่ ๗๑ ซึ่งพิมพ์แจกในงานพระศพพระองค์หญิงอาภาพรรณีนั้นหม่อมฉันไม่ได้รับ มีเรื่องพิธีตรุษด้วยดูชอบกลอยู่ ถ้าท่านทรงพระกรุณาหาประทานมาสักเล่ม จะขอบพระคุณเป็นอันมาก

ที่พระองค์หญิงบุษบัณสิ้นพระชนม์นั้นก็ทำให้รู้สึกเศร้าใจและว้าเหว่หนักขึ้นตามธรรมดา แต่ดับความอาดูรได้ด้วยระลึกถึงพระชันษาที่เธอเสด็จอยู่มาได้นานถึงเพียงนั้น เปรียบเหมือนหมู่ต้นไม้ริมฝั่งต้น ๑ โค่นล้มลงน้ำไปเพราะตลิ่งตรงนั้นพังก่อนเท่านั้นเอง

เมื่อเร็วๆ นี้ดอกเตอร์แลงกาต์ Lingat ฝรั่งเศสผู้ชำระ “ประมวลกฎหมายรัชกาลที่ ๑” เป็นผู้ชอบกับหม่อมฉันมาแต่ก่อนเขียนจดหมายมาถามอธิบายคำว่า “กู้” หม่อมฉันได้เขียนวินิจฉัยให้ไป ได้คัดสำเนาวินิจฉัยส่งมาถวายพร้อมกับจดหมายฉบับนี้ เพื่อจะได้ทรงพิจารณาดูด้วย

วันพฤหัสบดีที่ ๘ นี้ ที่ปีนังมีการเฉลิมพระชันษาพระเจ้ายอชที่ ๖ ตามเคย ตอนเช้ามีการสวนสนามทหารหลวง ทหารสมัคร โปลิศ และพวกนักเรียนโรงเรียนต่างๆ บรรดาที่สมัครฝึกหัดเป็นนายร้อยทหารรวมกัน ตอนบ่ายมีการประชุมสโมสรที่บ้านเจ้าเมือง เขาเชิญหม่อมฉันในการสโมสรทุกปี แต่หม่อมฉันขอตัวเพราะหูหนัก จะพูดกับใครหรือใครจะพูดด้วยก็ลำบากทั้ง ๒ ฝ่าย เปลี่ยนเป็นหม่อมฉันหาเจ้าเมืองแต่ตัวในตอนเช้าถวายพรพระเจ้ายอชต่อเจ้าเมืองเปนผู้รับแทนพระองค์

อนึ่ง พระองค์หญิงประเวศเธอหาตำหนักได้ใหม่ เป็นเรือน ๒ ชั้น อยู่สบายดีและใกล้กับซินนามอนฮอลกว่าตำหนักหลังก่อน จะเสด็จย้ายมาอยู่ตำหนักใหม่ในวันพฤหัสบดีที่ ๘ ด้วยเหมือนกัน

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ