วันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๔ สิงหาคม ๒๔๘๒

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์เวร ลงวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ได้รับประทานแล้ว จะทูลสนองข้อความในลายพระหัตถ์แต่ลางข้อ เท่าที่จะพึงกราบทูลได้ ต่อไปนี้

เรื่องพระราชลัญจกร ตามที่ทรงรจนากล่าวถึงพระราชลัญจกรสยามโลกัคคราชว่าข้างบนตรงที่ถือเป็นรูปตัวอูฐหมอบนั้นคลาดเคลื่อนทรงระลึกเอาพระราชลัญจกรมหาโลโต (เสี้ยม-โล-ก๊ก-อ๋อง) เข้ามาปน ที่แท้ได้ทำยักย้ายไปเป็นรูปช้างหมอบ เพราะเหตุนั้นจึงได้สมยาเรียกกันว่า “ช้างหมอบ” คาถาในนั้นก็สามารถจะกราบทูลได้ว่าเป็นดังนี้

สฺยามโลกคคฺราชสฺส

สนฺเทสลญฺจนํอิทํ

อชฺฌาวาสฺสานุสาสกสฺส

วิชิเตสพฺพชนฺตุนํ ฯ

แต่จะแปลว่ากระไรนั้น ขอประทานระงับไว้ปรึกษาสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เสียก่อน จะจดที่คนอื่นแปลมาถวายกลัวจะผิด มีอีกองค์หนึ่งคู่กัน มีสมยาเรียกว่า “ช้างยืน” เพราะมีรูปช้างยืนอยู่บนนั้น องค์พระราชลัญจกรเหมือนเป็นแท่นช้าง รูปสีเหลี่ยมรี มีอักษรขอมอยู่ในกรอบลายดอกไม้ แต่อักษรจะว่ากระไรนั้นทูลลา ชื่อว่าพระราชลัญจกร “นามกรุง” เป็นที่น่าสงสัยอยู่เหมือนกันว่าทำขึ้นทำไม เมื่อแต่ก่อนเคยใช้ประทับใบพระราชทานที่วิงสุงคามสีมา อันใบพระราชทานที่แก่วัดนั้น แต่ก่อนมาหาใช่เป็นการของพระมหากษัตริย์ไม่ เพิ่งโอนมาในรัชกาลที่ ๔ ปรากฏในพระธรรมนูญเป็นหน้าที่กรมเกษตรออกหนังสือประทับตราพระไพสภ อันพระราชลัญจกรนั้นของเก่ามีน้อยเป็นแน่ เพราะต้องใช้น้อย มาเพิ่มมากขึ้นในรัชกาลที่ ๔ เพราะทรงจัดให้มีการใช้หนังสือในหน้าที่พระมหากษัตริย์มากขึ้น เป็นต้นว่าสัญญาบัตรแต่ก่อนก็ไม่มี จะโปรดให้ใครเป็นอะไรก็ออกหมายเท่านั้น พระราชลัญจกรซึ่งเปลี่ยนเป็นรูปต่างๆ แตกไปจากรูปกลมแบบเก่าและทำด้วยวัตถุอย่างอื่นนอกไปจากงานั้น เกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๔ ทั้งนั้น เพราะแบบอย่างต่างประเทศนำไป แม้ดวงขนาดใหญ่ขนาดเล็กเหมือนกัน แต่ก่อนเห็นจะถือว่าดวงใหญ่เป็นผู้มียศใหญ่ ดวงเล็กเป็นผู้มียศน้อย การก็ควรเป็นเช่นนั้น เพราะผู้มียศน้อยจะหางาขนาดใหญ่มาทำตราก็ยากเต็มที

พระราชลัญจกรเก่านั้นก็ประหลาดอยู่ ลางชนิดก็มีมาก ลางชนิดก็มีน้อย ลางชนิดก็มีแต่ชื่อ ดวงพระราชลัญจกรหายไปไหนก็ไม่ทราบ เช่น สังขพิมาน เป็นต้น รูปพรรณสัณฐานจะเป็นอย่างไร มาแต่ไหน ใช้อะไรเป็นพระราชลัญจกรหรือมิใช่ก็ไม่ทราบ หงสพิมาน มีตราเป็นรูปเทวราชทรงหงส์อยู่ดวงหนึ่ง ตราดวนั้นจะเป็นหงสพิมานหรือมิใช่ก็ไม่ทราบ โปรดให้เกล้ากระหม่อมเขียนพระราชลัญจกรหงส์พิมาน ถวายองค์หนึ่งเป็นรูปไข่ เพื่อให้เข้ากับชุดไอยราพตองค์ที่ทำด้วยโมรา เกล้ากระหม่อมก็ดิ้นอึกอักไม่รู้จะเขียนอย่างไร ทีแรกก็นึกถึงอ้ายแดงคน แล้วไปเปิดพจนานุกรมสํสกฤตดู เขาบอกว่าเป็นชื่อพาหนะลงกัน เกล้ากระหม่อมก็เขียนเป็นหงส์มีบุษบกเปล่าตั้งบนหลัง เผอิญก็โปรดเป็นอันใช้ได้ ที่จริงตราสังขพิมาน และ หงสพิมาน ก็มีเขียนไว้ที่บานแผละพระทวารพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ดูเหมือนเป็นรูปสังข์รูปหงส์อยู่ในวิมาน เกล้ากระหม่อมกลัวจะเขียนเดาไปตามชื่อ ไม่มีถูกอยู่ในนั้นจึงไม่เอาอย่างมาเขียน พระราชลัญจกรมหาโองการ หรือ มหาอุณาโลม มีอยู่องค์เดียว โปรดให้เกล้ากระหม่อมเขียนลงเป็นพระราชลัญจกรรูปไข่เหมือนกัน เกล้ากระหม่อมก็ถ่ายเอาสำเนานั้น พระราชลัญจกรมหาโองการนี้ มีทำไว้ที่นมกลางอกเลาประตูมุก ทั้งที่พระพุทธบาทและวิหารยอดในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทำให้รู้ได้ว่าใช้เป็นตราประจำพระองค์พระเจ้าแผ่นดินในรัชกาลพระเจ้าบรมโกศมาเป็นแน่นอน พระครุฑพ่าห์ได้พบสององค์ เป็นตราประจำชาดองค์หนึ่ง ประจำครั่งองค์หนึ่ง โปรดให้เกล้ากระหม่อมเขียนถวายเป็นรูปไข่องค์หนึ่ง แต่องค์นี้ไม่สำคัญ ด้วยรู้อยู่แล้วควรจะเขียนอย่างไร แม้ไม่ได้เห็นดวงเดิมก็เขียนไม่ผิด ไอยราพต พบมีอยู่ตั้งครึ่งโหล ไม่ทราบว่าทำขึ้นไว้ทำไมจึงมีมากมายเช่นนั้น มีองค์พระอินทร์ทรงก็มี ไม่มีก็มี มีวิมานบนกระพองก็มี ไม่มีก็มี แต่ดวงนี้เกล้ากระหม่อมไม่ต้องเขียน เพราะใช้องค์ที่ทำด้วยโมรายืนเป็นหลัก

ตรานารายณ์ทรงปืนนั้น สามารถที่จะทูลถวายอรรถาธิบายให้กว้างออกไปได้บ้างด้วยเคยเห็นตราประจำตำแหน่งวังหน้าของเก่าดวงหนึ่งเป็นตราประจำครั่ง แต่โตเกือบเท่าพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ที่ทำงบลายในตราเป็นรูปมนุษย์ทรงหณุมาน จะสี่กรหรือสองกรจำไม่ได้แน่ แต่ถือธนูก่งกำลังยิงนั้นแน่ เขาเรียกกันว่าตราพระลักษณ์ทรงหณุมาน ไม่ได้เรียกว่านารายณ์ทรงปืน จะมาเรียกเปลี่ยนเสียทีหลัง เมื่อสร้างตรานารายณ์เหยียบปืนใหญ่ขึ้นแล้วหรืออย่างไรไม่ทราบ ถ้าเทียบด้วยรูปภาพที่จำหลักไว้ ณ ระเบียงพระนครวัด ก็เป็นพระรามไม่ใช่พระลักษณ์ และถ้าเป็นพระรามก็ควรเป็นพระราชลัญจกรสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน ไม่ควรเป็นตราตำแหน่งวังหน้า แต่ถ้าเลื่อนพระราชทานไปใช้ก็ใช้ได้ ตรานารายณ์ทรงปืนซึ่งเป็นรูปนารายณ์เหยียบปืนใหญ่นั้น ทราบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ ทรงสร้างพระราชทานพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ปืนใหญ่นั้นหมายความว่าทรงบัญชาการทหารปืนใหญ่ ในตอนปลายแห่งรัชกาลที่ ๕ ได้ทรงสร้างตรานารายณ์ทรงปืนขึ้นอีกดวงหนึ่ง พระราชทานแก่ผู้บัญชาการทหารบก โปรดให้เกล้ากระหม่อมเขียนถวาย เป็นรูปนารายณ์แผลงศรอยู่่บนรถ รถนั้นเห็นนิดเดียว องค์นารายณ์ใหญ่เต็มดวงตรา

นิทานเรื่องพระร่วงลูกนางนาคนั้นดีมาก ทราบความต่อมาภายหลังว่าได้มาแต่อินเดียทีเดียว สำเนาเรื่องมีว่ากษัตริย์ในองค์ปาณฑวะองค์หนึ่งไปได้นางนาคเป็นชายา มีพระโอรสเป็นผู้มีบุญต้นวงศ์ต้นกษัตริย์ปัลลวะกษัตริย์ในวงศ์นั้นแหละที่เข้ามาครองเมืองจาม เมืองเขมร เรื่องราวทั้งนั้นก็ติดมา ฟังว่าก็เข้าที อันการพูด ๆ เล่า ๆ กันนั้นแหละเป็นใหญ่มีมาก่อน หนังสือเกิดขึ้นต่อภายหลัง การเขียนหนังสือก็เขียนไปตามความที่รู้จากพูด ๆ เล่า ๆ กันนั้นเอง ทั้งหนังสือแต่ก่อนก็ไม่มีทางที่แพร่หลายไปได้ ถึงจะจารึกไว้ที่หลักศิลาก็แจ้งอยู่แต่ที่หลักศิลาเท่านั้น แม้คำที่จารึกก็น่าพิศวง เช่นหลักศิลาครั้งขุนรามคำแหง สังเกตเห็นเป็นคำขุนรามคำแหงเองก็มี เป็นคำคนอื่นก็มี ปะปนกันอยู่ และถ้าจารึกเมื่อบ้านเมืองดี บอกว่าบ้านเมืองมีอะไรบ้างจะมีประโยชน์อะไร อีกอย่างหนึ่ง หลักศิลาครั้งพญาลิไทย จารึกเป็นหนังสือขอมรัชกาลของพญาลิไทยก็ทีหลังรัชกาลขุนรามคำแหง จะเป็นการแสดงว่าในเวลานั้น คนอ่านหนังสือไทยของขุนรามคำแหงไม่ออกกี่คน จะเป็นได้กระมัง

อันฝีมือช่างนั้นดูจะเป็นข้าศึกกับตำนานอยู่มาก ดูเหมือนจะยังไม่ได้ทูลเรื่องพระเหลือถวาย เมื่อเกล้ากระหม่อมขึ้นไปพิษณุโลก พอเห็นพระเหลือเข้าก็สะดุ้งทั้งตัว เพราะเห็นเป็นว่าพระเหลือเก่ากว่าพระชินราชพระชินสีห์เป็นไหน ๆ อาจเป็นว่าใครเชิญเอาพระเหลือองค์เดิมไปไว้เสียที่ไหน แล้วคนชั้นหลังไปฉวยเอาพระอะไรมาตั้งไว้แทนก็เป็นได้ หรือไม่มีความจริงในตำนานเลย หากมีตำนานอยู่ก็จัดการขึ้นให้สมกับตำนานก็เป็นได้เหมือนกัน

ในการสงสัยเหลวๆ เช่นนี้บ่อยๆ เป็นต้นว่าท่านอาจารย์ผู้รู้วินิจฉัยโบราณสถานในเกาะชวา ท่านวินิจฉัยสถานอันหนึ่งว่าเป็นพุทธสถาน ไม่ใช่สถานทางศาสนาพราหมณ์ ด้วยเหตุว่ารูปภาพที่ฉลักไว้ไม่ได้สวมอุปวีตะ (สังวาลด้วยพวกสายธุรัม) เกล้ากระหม่อมก็นึกถามในใจว่าช่างมันจะทำไปตามที่เคยทำมาเป็นเครื่องจักร ไม่ได้ประกอบด้วยความรู้ได้หรือไม่ ทางเมืองเขมรก็มีเหมือนกัน ท่านอาจารย์คนหนึ่งเห็นว่าสิ่งใด ๆ ในพระนครธมต้องเป็นเครื่องหมายในทางพระพุทธศาสนา จะเป็นเครื่องหมายทางศาสนาพราหมณ์หาได้ไม่ ด้วยพระเจ้าชัยวรมันผู้สร้างนครธม พระองค์เป็นกษัตริย์ผู้ทรงนับถือพระพุทธศาสนา เกล้ากระหม่อมก็นึกถามตัวเองว่า พระนครธมนั้นใหญ่โตมากและตั้งอยู่ช้านาน สิ่งใด ๆ ซึ่งเห็นอยู่ในพระนครนั้นจะสร้างขึ้นสำเร็จในรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันหมดทีเดียวหรือ จะสร้างเติมเข้าทีหลังมาบ้างได้หรือไม่ และในยุคหลังๆ ลงมาจะมีความเปลี่ยนแปลงอะไรไปบ้างหรือไม่

ตามที่ทรงพระเมตตาโปรด เอาชายไสกับทั้งครอบครัวไปเลี้ยงที่ตำหนักนั้น เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้า ตัวชายไสกลับเข้าไปถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคมแล้ว กลับทางรถไฟนั่นเอง ไม่ได้กลับทางเรือว่าหาเรือไม่ได้

ได้รับหนังสือสำนักงานราชเลขานุการในพระองค์ บอกมาเมื่อวันที่ ๓ ว่า พระองค์หญิงอดิศัยกับเจ้าจอมมารดาอ่อนกราบถวายบังคมลาไปตากอากาศที่สิงคโปร์ จะออกมาในวันที่ ๕ อันเป็นวันเดียวกับที่ส่งหนังสือนี้มาถวาย ถ้าเสด็จแวะที่ปีนังก็คงเสด็จมาถึงก่อนหนังสือนี้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ