วันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๑๖ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๒

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๙ มกราคมแล้วโดยเรียบร้อย สังเกตดูความในลายพระหัตถ์ฉบับนี้มีข้อความควรทูลสนองหลายเรื่อง และหม่อมฉันเขียนวินิจฉัยเรื่อง “สมเด็จกรมหรือกรมสมเด็จ” ซึ่งหมายว่าจะถวายในคราวเมล์นี้ก็ยังไม่แล้ว จึงยุติว่าเรื่องนั้นก็ตกเป็นของแห้งด้วยทูลผัดเลื่อนมาหลายคราวเมล์แล้วขอประทานผัดต่อไป เพื่อเอาเวลาเขียนสนองลายพระหัตถ์เวรฉบับนี้ให้สะดวก

สนองความในลายพระหัตถ์

เรื่องพัดแฉกงานั้น หม่อมฉันไม่ทราบหรือหากทราบก็ลืมสนิท ว่าพระยามหานิเวศน์ (กระจ่าง) ถึงอนิจกรรมเสียแล้ว ก็เป็นอันหมดทางที่จะสืบจากผู้รู้เห็นด้วยตนเอง ถ้ายังอยากจะรู้เรื่องพัดแฉกงานั้นก็ได้แต่คิดดูโดยเดา หม่อมฉันจะลองทูลเดาสักทางหนึ่งซึ่งคิดเห็นว่ามีเค้าเงื่อนอยู่ หม่อมฉันเชื่อว่าทูลกระหม่อมได้ดำรัสสั่งให้เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (บุญศรี) ทำพัดแฉกงาเล่มนั้นด้วยเห็นเหตุดังได้ทูลอธิบายไปแล้ว เชื่อว่าเป็นของเจ้าพระยาสุธรรมทำขึ้นถวาย ด้วยความคิดของตนเอง จึงตั้งกระทู้ทางคิดเดาว่ามีมูลอะไรบ้างที่จะเป็นต้นเค้าของความคิดทำพัดแฉกงา นึกได้ว่าในเรื่องพุทธประวัติมีว่า พระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่งดูเหมือนจะเป็นพระเจ้าปะเสนทิได้ทำพัดงาถวายพระพุทธองค์สำหรับทรงถือในเวลาประทานพระธรรมเทศนา เรื่องนั้นพวกสร้างพระพุทธรูปได้เอามาเป็นคติ ทำพระพุทธรูปปางหนึ่งทรงถือพัดมีมาแต่โบราณ ยกตัวอย่างดังเช่นพระชัยนวรัฐที่เจ้าเชียงใหม่ถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเป็นต้น และยังมีอยู่ในพิพิธภัณฑสถานอีกหลายองค์ แต่ชั้นเก่าทำพัดเป็นรูปกลมหรือรูปไข่เช่นรูปพัดงาสาน พระชัยของหลวงสร้างประจำรัชกาลก็คงมาแต่พระปางนั้น เป็นแต่แก้รูปพัดเป็นพัดแฉก คงเป็นแบบพระชัยหลวงมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงทรงสร้างพระชัยประจำรัชกาลที่ ๑ เป็นปางทรงถือพัดแฉก ยังมีคติเนื่องกับพระพุทธรูปปางถือพัดต่อออกไปอีกอย่างหนึ่ง ที่พระเจ้าแผ่นดินถวายพัดแฉกเป็นพุทธบูชาตั้งไว้บนฐานชุกชีข้างหน้าประประธานในพระอารามหลวง เคยเห็นที่วัดอรุณ วัดราชบุรณะ และทำเป็นพัดแฉกขนาดใหญ่ถวายพระพุทธเทวปฏิมากร วัดพระเชตุพน ยังปรากฏอยู่จนบัดนี้ เค้าความข้อนี้ส่อว่าพัดแฉกงาเล่มนั้น สร้างแต่เพื่อใช้อย่างใดอย่างหนึ่งใน ๒ อย่างนี้ คือ เพื่อจะให้ทูลกระหม่อมถวายเป็นพุทธบูชา หรือมิฉะนั้นก็พระราชทานพระราชาคณะอันเป็นสังฆนายกชั้นสูงถือเป็นพัดยศ นอกจาก ๒ อย่างที่ว่ามานี้ ไม่มีมูลอย่างอื่นที่เจ้าพระยาสุธรรมมนตรีจะสร้างพัดแฉกงาขึ้นถวาย ด้วยเห็นว่าพระราชาคณะองค์หนึ่งองค์ใดสมควรจะถือพัดแฉกงา หรือจะคิดว่าสมควรมีพัดแฉกงาให้วิเศษขึ้นกว่าพัดแฉกของหลวงที่พระราชทานอยู่เป็นประเพณี ก็เห็นจะไม่เป็นได้ พิเคราะห์มูลความคิดที่สร้างพัดแฉกงาจึงตกอยู่ในทางที่เป็นพุทธบูชาอย่างเดียว ข้อนี้มีเรื่องพงศาวดารรับรองชอบกลด้วยในรัชกาลที่ ๔ ทูลกระหม่อมทรงเลื่อมใสในพระพุทธบุษยรัตน์มาก ทรงแต่งองค์พระและสร้างเครื่องประดับด้วยมหัครภัณฑ์ให้งามยิ่งกว่าแต่ก่อน แล้วเชิญออกตั้งในพระแท่นมณฑลเป็นพระประธานในการพิธีต่างๆ นอกจากนั้นมาถึงสมัยเมื่อสร้างพระอภิเนาวนิเวศน์แล้ว โปรดให้สร้างวัดพุทธรัตนสถานขึ้นเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบุษยรัตนเป็นพระประธาน ทรงสร้างพระวิหาร (ซึ่งมาผูกสีมาเป็นพระอุโบสถในรัชกาลที่ ๕) เป็นอย่างประณีต ภายนอกทำด้วยศิลาตลอดบริเวณ แม้ภายในพระวิหารก็ทำอย่างประณีต เช่นฐานชุกชีที่ตั้งบุษบกพระพุทธบุษยรัตน์ก็เอางาทั้งแท่งตัดประกอบ แล้วจำหลักลวดลายทุกชั้นไม่มีที่อื่นเหมือน ก็ในสมัยเมื่อสร้างพระพุทธรัตนสถานนั้น เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (บุญศรี) แรกได้เลื่อนยศขึ้นเป็นเจ้าพระยาธรรมา เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๔๐๔ และอยู่ในตำแหน่งนั้นมาจนตลอดรัชกาลที่ ๔ คงได้มีโอกาสเข้าไปชมพระรัตนสถานไปเห็นฐานชุกชีทำด้วยงาเป็นนิมิตก่อน ต่อมาเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีจะปรารภเหตุอันใดอันหนึ่ง จึงเกิดคิดใคร่สนองพระเดชพระคุณทูลกระหม่อม ชะรอยจะมีคนรับใช้ที่เป็นช่างงาสามารถจะทำเครื่องงาถวายได้สะดวกกว่าสิ่งอื่น และราคางาในเวลานั้นยังไม่แพงนัก จึงให้ทำพัดแฉกงาถวายสำหรับเป็นเครื่องพุทธบูชาถวาย เพือจะได้ทรงตั้งไว้กับฐานชุกชี งาที่ในพระวิหารพุทธรัตนสถาน เหมือนอย่างพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ทำพัดแฉกขนาดใหญ่ถวายพระพุทธเทวปฏิมากร วัดพระเชตุพน ทูลกระหม่อมก็โปรดฝีมือที่ทำ แต่เห็นว่าขนาดพัดแฉกงานั้นใหญ่เกินส่วนพระพุทธบุษยรัตน์มากนัก ทรงพระราชดำริว่าพัดงาก็เป็นของศักดิ์สูงตามพระบาลี จึงพระราชทานให้กรมสมเด็จพระปวเรศวริยาลงกรณ์ เมื่อยังดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธ์ ทรงถือผลัดกับแฉกตาด หม่อมฉันเห็นว่าทางนี้ทางเดียวที่เรื่องจะเข้ากันได้หมด ขอให้ทรงพระวิจารณ์ดูเถิด แต่ท่านผู้ได้พระราชทานคงลำบากใจด้วยพัดแฉกงาหนักกว่าพัดแฉกตาด และถ้าถูกกระทบกระเทือนอาจจะบุบฉลายได้ง่าย จึงใช้แต่ในงานสำคัญปีละไม่กี่ครั้ง

พระยาทิพยโกษา (สอน) เขาส่งหนังสือ ๓ เล่มที่เขาพิมพ์มาให้หม่อมฉันเหมือนกัน น่าชมที่เขาเอาใจใส่ค้นโบราณคดี สำนวนแต่งหนังสือก็ดี ถ้าหาที่ติก็มีแต่บกพร่องในทางความรู้ยังกว้างขวางลึกซึ้งไม่ถึงขนาด เรื่องที่วินิจฉัยก็เช่นเดียวกับพวกราชบัณฑิตแต่ก่อนนั่นเอง

คำพระบรมราชโองการนั้นเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๔ ด้วยทูลกระหม่อมทรงสถาปนาพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้เป็นอย่างพระเจ้าแผ่นดินเป็น ๒ พระองค์ด้วยกันกับพระองค์เอง จึงทรงพระราชดำริเอาคำ “บรม” กับ “บวร” มาใช้เพิ่มเป็นคำนำหน้า ให้รู้ว่าความที่กล่าวหมายถึงพระองค์ไหน เบื้องต้นแต่พระนามว่า “สมเด็จพระปรเมนทร” และ” สมเด็จพระปวเรนทร” และมีใช้ที่อื่นต่อไป เช่น “พระบรมราชาภิเศก” กับ “บวรราชาภิเศก” “พระบรมราชโองการ” กับ “พระบวรราชโองการ” “พระบรมมหาราชวัง” กับ “พระบวรราชวัง” ยังมีคำอื่นๆ อีกยกมาทูลแต่บางคำพอเป็นตัวอย่าง คำพระบรมราชโองการเมื่อก่อนรัชกาลที่ ๔ ในหนังสือก็ใช้แต่ว่า “พระราชโองการ” เท่านั้น ถึงพระราชวังแต่ก่อน ก็เรียกว่า “พระราชวังหลวง” และ “พระราชวังบวร” แต่บางทีใช้ “บรม” ด้วยกันทั้งวังหลวงวังหน้าก็มี เช่น “พระบรมศพ” เห็นจะเป็นเพราะเป็นคำใช้กันเจนจนถึงพระศพเจ้านาย เช่นว่า “สมเด็จพระบรมศพ” เป็นต้นมาแต่โบราณแล้ว

เรื่องศพใส่โกศนั้น มีกล่าวในหนังสือเก่าที่สุด คือเรื่องรามเกียรติ์ตอนพระรามลวงนางสีดาให้เข้าไปในพระนครอโยธยา น่าสอบดูในหนังสือรามายณะภาษาสันสกฤตจะมีอธิบายว่ากระไร ไทยจึงแปลว่า “โกศ” ว่าตามความคิดของหม่อมฉันเองเห็นว่าจะมาแต่ตำราพราหมณ์ ซึ่งถือว่าพระศิวะหรือพระวิษณุเป็นเจ้าอวตารลงมาเกิดเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อสิ้นกำหนดกาลแล้วก็เสด็จกลับคืนขึ้นไปสู่เทวโลก ไม่ตายเหมือนสามัญมนุษย์ ข้อนี้เป็นมูลที่แต่งพระศพด้วยเครื่องทรงเป็นเทวดา ทรงมงกุฎและสร้อยถนิมพิมพาภรณ์ จะเอาพระบรมศพแต่งเช่นนั้นลงทอดนอนเหมือนอย่างศพมนุษย์สามัญที่ใส่หีบไม่ได้ จึงต้องทำโกศทรงพระบรมศพ เดิมก็จะมีแต่เฉพาะพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดิน ภายหลังจึงแพร่หลายลงมาใช้ถึงศพคนชั้นอื่น ไทยเราคงได้ตำรามาจากเขมรและมาแก้ไขเสียมาก เมื่องานพระศพสมเด็จพระเจ้าศรีสวัสดิ์พระเจ้ากรุงกัมพูชา ฝรั่งเศสเขาพิมพ์จดหมายเหตุมีรูปภาพและพรรณนารายการถ้วนถี่ หม่อมฉันให้แปลเป็นภาษาไทยและให้หอพระสมุดฯพิมพ์ไว้ในหนังสือพวกลัทธิธรรมเนียมต่างๆ ภาคอันหนึ่ง ในจดหมายเหตุนั้นก็ได้ความรู้เก่าบางอย่าง เป็นต้นว่าเมื่อพระศพครบ ๗ วัน เชิญออกจากพระโกศ ทำพิธีสรงพระศพ นี่ก็แปลกนักหนา ทั้งที่ล่ามฝักแคจุดไฟถวายเพลิงพระศพ ซึ่งเราเอามาแก้ไปเป็นอย่างอื่น หม่อมฉันนึกว่าเดิมทีเดียวเห็นจะแต่งพระศพตั้งไว้ให้คนบูชาสัก ๗ วัน น่าจะเป็นเพราะเหตุนี้จึงทำทองปิดพระพักตรมิให้คนเห็นวิปลาส ถึง ๗ วันจึงเชิญพระศพลงพระโกศ

นายฮ่องตัดที่ตายนั้นเป็นลูกเขยใหญ่ของพระยารัตนเศรษฐี ภรรยาชื่อเป๊กกิ้น พระยารัตนเศรษฐีมีลูกสาวสัก ๗ คน คนที่แต่งงานเมื่อเร็วๆ นี้ เป็นลูกสาวสุดท้อง ชื่อ แป๊ะบ๊วย

ส้มจัฟฟาที่หม่อมฉันส่งไปถวายนั้นมีเรื่องชอบกลควรเล่าถวาย ตั้งแต่เกิดสงครามรัฐบาลที่นี่เขาห้ามไม่ให้ใครเอาเสบียงอาหารจำหน่ายไปต่างประเทศ หม่อมฉันได้ฟังเขาเล่าครั้งหนึ่ง ว่ามีคนจะเข้าไปกรุงเทพฯ เอาขนมบังไปด้วยหลายหีบ ถูกห้ามไม่ให้เอาขนมปังที่หีบยังปิดผนึกขึ้นรถ ยอมให้เอาไปแต่หีบที่เปิดสำหรับกินกลางทางหีบเดียว เวลานั้นส้มจัฟฟาก็ยังขาดตลาด จึงเป็นแต่พูดกับลูก ว่าเห็นจะส่งส้มไปถวายเสด็จอาอีกไม่ได้เสียแล้ว วันเมื่อก่อนนายเติมจะไปเผอิญส้มจั๊ฟฟามีขายในท้องตลาด เขาซื้อมาใส่เครื่องหวานให้หม่อมฉันกินกลางวัน พอกินก็ให้เกิดรำลึกถึงพระองค์ท่านเป็นกำลัง จึงตกลงว่าจะลองเสี่ยงภัยดู สั่งนายเติมให้ไปซื้อส้มจัฟฟาที่ในตลาดเอาไปด้วยเพียง ๕ ผล ถ้าท่วงทีจะถูกห้ามปรามก็ให้ปอกกินเสียเองกลางทาง ถ้าไม่ถูกห้ามปรามเอาไปได้ถึงกรุงเทพฯ ก็ให้เอาไปถวายท่าน หม่อมฉันจึงยินดีที่มาทราบว่าท่านได้เสวยตามเจตนา

ใครๆ มีจดหมายมาจากกรุงเทพฯ หรือที่ไปกรุงเทพ ฯ กลับมาว่าเป็นเสียงเดียวกันหมด ว่าในกรุงเทพ ฯ ปีนี้หนาวจัดและหนาวนานกว่าปีก่อนๆ ที่เคยจำได้ ฤดูที่ปีนังนี้เป็นอย่างหนึ่งต่างหาก เปรียบกับฤดูในกรุงเทพฯ ไม่ได้ทีเดียว ด้วยไม่มีหนาวถึงต้องใส่เสื้อสักหลาดไปไหนๆ และไม่มีร้อนถึงนอนเหงื่อแตก กลางคืนตอนดึกอากาศเย็นพอต้องห่มผ้าทุกฤดู ผิดกันแต่ต้องห่มผ้าหนาบ้างผ้าบางบ้าง มีรำคาญแต่ในฤดูฝน ฝนตกชุกอากาศชื้นชวนเป็นหวัด แต่เวลานี้เป็นฤดูแล้งมากว่า ๑๐ วันแล้ว จนหญ้าในสนามเหลือง แต่ก็มีฝนเชยบ้างเป็นครั้งเป็นคราว ว่าถึงหนาวจัดในกรุงเทพฯ หม่อมฉันจำได้เคยมีปีหนึ่ง เมื่อรัชกาลที่ ๕ ในเวลางานวัดเบญจมบพิตร หม่อมฉันขับรถยนต์ไปมาไม่ใส่ถุงมือทนไม่ไหว แต่ปรอทจะสักเท่าใดก็จำไม่ได้เสียแล้ว ที่ปีนังนี้สังเกตปรอทหนาวที่สุดซึ่งหม่อมฉันได้เคยพบตั้งแต่มาอยู่เพียง ๗๐ ถ้วนเคยมีวันเดียว นอกจากนั้นก็อยู่ในระหว่าง ๗๕ จน ๘๐ แต่ก็หนาวเฉพาะเวลาดึก หาหนาวถึงเวลากลางวันไม่

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ