วันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๔๘๒

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์เวร ลงวันที่ ๑ มิถุนายน ได้รับประทานด้วยดีแล้วจะทูลสนองข้อความตามพระดำรัสในนั้นแต่ลางข้อ ดังต่อไปนี้

ข้อพระวินิจฉัยในเรื่องเที่ยวซื้อของ ๓ ข้อนั้น ถูกต้องอย่างที่สุดในข้อ ๑ ที่ว่าเขาส่งของไปขายตามเมืองต่างๆ ย่อมส่งตามใจชอบของชาวเมืองนั้นๆ มีตัวอย่างเป็นพยานอยู่ เช่นโคมลานแต่ก่อนนี้มีขายดกดื่นที่กรุงเทพฯ แต่ที่สิงคโปร์ปีนังไม่มีขาย พวกชาวปักษ์ใต้ต้องการโคมลานใช้ จะหาซื้อที่สิงคโปร์ปีนังได้ง่ายกว่า แต่ไม่มีขาย ต้องสั่งซื้อเข้าไปทางกรุงเทพ ฯ อีกอย่างหนึ่ง เจ้านายที่ท่านเสด็จออกไปเรียนในเมืองอังกฤษ ท่านติดดินสอก้นยางลบอย่างหกเหลี่ยม ซึ่งท่านเคยทรงใช้อยู่ในเมืองไทย แต่หาซื้อในเมืองอังกฤษไม่ได้ ดินสอนั้นทำที่เมืองเยอรมันใกล้กันนิดเดียว ยังต้องสั่งให้ส่งไปถวายแต่กรุงเทพฯ ในข้อ ๓ ซึ่งตรัสเรียกว่า “กีฬา” นั้น ทูลกระหม่อมชายตรัสเรียกว่า “ชิงชัย” ก็มีความอย่างเดียวกัน พอจับเขียนข้อนี้ ตัวอย่างก็ผุดขึ้นในใจทันที ติดจะขันคือเมื่อหญิงปลื้มจิตรแกยังเด็ก มีแขกหอบของไปขายถึงบ้าน อันเป็นทางหากินของเขาอย่างหนึ่ง ซึ่งฝ่าพระบาทย่อมทรงทราบอยู่แล้ว หญิงปลื้มจิตรแกชอบลูกดุมชนิดหนึ่ง จึงถามราคาแก่มันมันก็บอกผ่าน แกก็ปฏิบัติตามอย่างผู้ใหญ่ในทางกีฬาหรือชิงชัยคือต่อ มันก็ยอมให้ แกดีใจซื้อเอาไว้ ครั้นแขกไปแล้ว แกเอามาอวดผู้ใหญ่ เขาว่าแพงไป ควรจะเป็นราคาเพียงเท่านั้น แกร้องไห้โฮ ด้วยแค้นใจตัวที่เสียทีแขก ไม่มีแล้วที่คนซื้อจะได้เปรียบคนขาย แม้จะมีอุบายอย่างไรก็จะสู้อุบายของคนขายไม่ได้ ด้วยเขาขายอยู่ทุกวัน ย่อมเรียนรู้อุบายของคนซื้อ คิดแก้ไขได้มากออกไปทุกที คนซื้อนานๆ จึงซื้อทีหนึ่ง ซื้อแล้วก็ลืม ไม่ได้คิดอุบายที่จะเอาชนะคนขายอย่างไรต่อไป จึงเป็นอันสู้คนขายไม่ได้ พูดถึงคนขายรู้สึกว่ามันรู้อะไรดีเสียราวกับเทวดา อุบายอันหนึ่งของผู้ซื้อ ไม่ใช่ต่อ เป็นแต่ถามราคา เมื่อมันบอกค่าสูงเกินไปก็ระงับทีหลังแต่งคนหน้าเซ่อ ๆ ให้ไปซื้อ ว่าได้ราคาต่ำสมคิด เขาว่าการที่มันเรียกราคาสูงก็เพราะราศีของเรา มีการแต่งตัวดีเป็นต้น มันเห็นว่าจะขูดเลือดเอาได้มากจึงเรียกราคาแพง พูดก็เข้าที เกล้ากระหม่อมได้ทำตามอุบายนั้น แต่ไม่สำเร็จ แต่งคนหน้าเซ่อให้ตามไป มันกลับเรียกเอาราคาแพงกว่าที่เรียกจากเราเองไปเสียอีก แปลว่ามันรู้อุบายของเราดี เป็นดังนี้ไม่ใช่แต่ครั้งเดียว ตามที่กราบทูลนี้ เป็นเรื่องของเก่า (คิวริโอ) หาใช่ของขายตามปกติไม่ ส่วนของขายตามปกติเกล้ากระหม่อมก็เคยไปเสียทีมาทีหนึ่ง ยังนึกขันไม่หาย ด้วยจะทำลับแลเครื่องกลตั้งในงานเฉลิมพระชันษาที่หน้าบ้าน ต้องการผ้ากรุลับแลสองท่อน จะให้ใครไปซื้อก็กลัวจะได้มาไม่เหมาะกับต้องการจึงได้ไปหาซื้อเอง แต่ก็ครั่นคร้ามอยู่ในการซื้อ จึงได้เอาคนที่ชำนาญการซื้อติดไปเป็นเพื่อนด้วย นั่นเขาก็มีอุบายอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ต่อเขาว่าของอย่างหนึ่งไม่ใช่มีแห่งเดียว ย่อมมีอยู่หลายๆ ร้าน เที่ยวถามราคาไปทุกร้านที่มีประเดี๋ยวก็ได้ราคาที่สมควร เกล้ากระหม่อมไปชอบผ้าชนิดหนึ่ง ซึ่งเห็นว่าควรจะใช้กรุลับแล เมื่อถามราคามันบอกให้แล้วผู้ชำนาญการซื้อเขาก็ไม่พูดอะไร พาออกจากร้านไป ไปเข้าร้านอื่นๆ ผ้าชนิดนั้นก็มีอยู่หลายร้านจริงอย่างเขาว่า บอกราคาต่างๆ กัน ที่สุดมาเข้าร้านหนึ่งมันบอกราคาผ้าชนิดนั้นต่ำมากจึงตกลงซื้อ มันก็ตัดห่อให้ ครั้นกลับมาถึงบ้านแก้ห่อคลี่ออกเพื่อจะกรุลับแล ก็เห็นปรากฏว่าเป็นผ้าตีพิมพ์ หาใช่เป็นผ้าทอในตัวเหมือนที่เห็นในร้านก่อนไม่ จะติโทษคนขายก็ไม่ได้ เป็นความผิดของเราเองด้วยผ้าเขาวางไว้เป็นม้วน เราดูเห็นมีลักษณะเหมือนกันกับที่ได้ดูถี่ถ้วนมาในร้านแรก มันบอกราคาต่ำจึงซื้อมา

การตั้งรูปคนตายที่ศพ เกล้ากระหม่อมก็จำได้ ว่าครั้งพระบรมศพสมเด็จพระพันปีหลวงมีตั้ง แต่สงสัยอยู่ว่าจะมีก่อนนั้นขึ้นไปอีกหรือไม่ จึงได้กราบทูลสอบถามมาเพื่อหาหลัก ฝ่าพระบาทยังทรงทราบละเอียดขึ้นไปอีก ว่าทูลกระหม่อมติ๋วทรงประดิษฐ์ขึ้น ประดับด้วยดอกไม้และไฟฟ้า ทั้งนี้ก็เหมือนกับที่ทำกันอยู่อย่างนั้นโดยมาก ทั้งสมเด็จพระพันปีหลวงก็ทรงพระยศใหญ่ เป็นทางที่ใครๆ จะพึงเอาอย่าง จึงได้ตัดสินใจลงเป็นว่าครั้งพระบรมศพสมเด็จพระพันปีหลวงนั้นเองเป็นต้นอย่าง ซึ่งใครต่อใครจำเอาไปทำกัน

เรื่องชายดิศจะบวชนั้น เกล้ากระหม่อมรู้สึกยินดีด้วยเป็นอย่างยิ่งและเต็มใจจะช่วยทุกอย่าง โปรดเข้าพระทัยว่า แม้สิ่งใดบกพร่องไปก็เป็นความเขลาที่รู้เท่าไม่ทันการ หาใช่เป็นด้วยขาดความเต็มใจไม่

ต่อไปนี้จะกราบทูลข่าวในกรุงเทพฯ ซึ่งควรจะกราบทูลให้ทรงทราบ

๑) วันที่ ๓๐ พฤษภาคม สำนักพระราชวังมีหมายบอกมาว่า สมเด็จพระพันวัสสาจะทรงประกอบการพระกุศลที่พระที่นั่งดุสิตทุกวันพุธตั้งแต่วันที่ ๓๑ พฤษภาคม เป็นต้นไป มีทรงธรรมกัณฑ์หนึ่ง แล้วสดับปกรณ์ ๒๐ พระองค์หญิงวาปีเป็นผู้แทนพระองค์

๒) วันที่ ๓๑ พฤษภาคม สำนักพระราชวังออกหมายแก้ ว่าในการที่สมเด็จพระพันวัสสาจะทรงประกอบการพระกุศลที่พระที่นั่งดุสิตทุกวันพุธ ซึ่งหมายมาก่อนว่าพระองค์หญิงวาปีแทนพระองค์นั้น เปลี่ยนเป็นพระองค์หญิงอาทรแทนพระองค์ ทั้งนี้เข้าใจว่าเพราะพระองค์หญิงวาปีไม่เสด็จอยู่ กราบถวายบังคมลาไปศรีราชา

๓) หนังสือพิมพ์วันที่ ๒ มิถุนายน เขาลงว่า นายเซียวฮุดเสงตายเมื่อคืนนี้ ก็ตกเป็นวันที่ ๓๑ พฤษภาคม

๔) วันที่ ๑ มิถุนายน สำนักพระราชวังออกหมายบอก องค์บุษบัณสิ้นพระชนม์ ได้กราบทูลมาแล้ว มีกำหนดไว้ทุกข์ ๑๕ วัน

๕) วันที่ ๓ มิถุนายน มีงานสงครามบุปผชาติที่หน้าพระลาน แต่เกล้ากระหม่อมไม่ได้ไปดู เขาลงพิมพ์ข่าวนั้นกันมากมาย หวังว่าคงจะได้ทอดพระเนตรหนังสือพิมพ์ ตระหนักพระทัยถ้วนถี่แล้ว

๖) วันที่ ๕ มิถุนายน สำนักพระราชวังออกหมายว่าเจ้าแก้วนวรัฐถึงพิราลัยที่เชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน (ปากนอกว่าวันที่ ๓ คงเป็นด้วยนับวันอย่างเก่ากับอย่างใหม่) ทางราชการได้จัดส่งน้ำกับโกศและลองมณฑป พร้อมทั้งฉัตรกลองและผ้าไตร ๑๐ ขึ้นไปพระราชทาน โดยรถไฟพิเศษในวันที่ ๕ มิถุนายน ก็เป็นว่าถึงพิราลัย ๓ หรือ ๔ วันแล้วของจึงไปถึง เดี๋ยวนี้ดีเสียอีกที่มีรถไฟ แต่ก่อนส่งของขึ้นไปทางเรือกว่าจะถึงก็ตั้งเดือน ยังไม่เคยทราบว่าทางโน้นเขาทำอย่างไรกัน ฝ่าพระบาทคงทรงทราบสามารถจะตรัสบอกได้ อนึ่งเจ้าแก้วเธอลงมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาเยี่ยมพระนคร ดูเธอมีอาการเพียงขัดหัวเข่า เป็นไปในทางว่ารูมติซัมหรือเก๊าต์ ไม่น่าจะถึงพิราลัยได้เลย

๗) วันที่ ๕ มิถุนายน สำนักพระราชวังออกหมายว่าวันที่ ๗ มิถุนายน จะได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ๗ วัน เฉพาะพระศพพระองค์เจ้าบุษบัณ ที่หอนิเพธพิทยา และเลี้ยงพระในวันที่ ๘ มิถุนายน มีใบพิมพ์กำหนดรายการละเอียด อันได้ถวายมาให้ทรงทราบกับหนังสือนี้ด้วยแล้ว

คราวนี้จะกราบทูลด้วยข้อปกิณกะต่อไป

ประกาศชักพระของสมาคม “นโนทย” ซึ่งโปรดประทานเข้าไปนั้น เมื่อได้พบกับพระเจนจีนอักษร จึงได้ให้อ่านหนังสือจีนซึ่งมีอยู่ที่ท้ายประกาศ ด้วยอยากทราบว่าเขาจะเขียนชื่อสมาคมอย่างไร แต่ปรากฏเป็นเขาหนีชื่อภาษามคธไปเขียนเป็นภาษาจีนเสียทีเดียว ให้พระเจนแปลได้ความเป็นว่า “สมาคมส่งเสริมในการเรียนพุทธศาสตร์เมืองปีนัง”

ประกาศพิธีตรุษ ซึ่งพระสาธุศีลสังวรท่านส่งมาให้กราบทูลมาด้วยหนังสือเวรฉบับก่อน ว่าเข้าใจว่าเป็นภาษาลังกานั้นผิด ที่แท้เป็นภาษามคธจริงๆ เป็นคำแปลของท่านจากภาษาลังกา ท่านแปลเป็นภาษามคธหาได้แปลเป็นภาษาไทยไม่

คำ พระบาง หรือ พะบาง จะหมายความว่ากระไร ไม่ใช่มีแต่ชื่อเมืองหลวงพระบางแห่งเดียว เมืองร้างที่นครสวรรค์ก็เรียกเมืองพระบางด้วย พระพุทธรูปที่เรียกว่าพระบางนั้น จะสร้างขึ้นทีหลังสำหรับให้จำหน่ายชื่อเมืองหลวงพระบางตก

อ่านหนังสือเขาแต่งเป็นตำนานนครลำพูน นครเชียงใหม่ เขาอ้างถึงหนังสือจามเทวีวงศ์ ว่านางจามเทวีสร้างนครเขลางค์ให้พระโอรสครองจำหน่ายว่า นครเขลางค์นั้น คือนครลำปาง

นึกถึงเมือง แม่กะลอง พูดเรียกควบตัวเป็น แม่กลอง เหมือนกับคำว่าน้ำกรศน้ำสังข์ เมื่อสอบคำเดิม ได้ความว่าเป็น กลศ อ่านเรียงตัวว่า กะละศะ แล้วเรามาอ่านรวบเสียเป็น กฺลศฺ ซ้ำเปลี่ยนเป็น กรศ เสียด้วย

คำที่พูดกันว่า “ผู้ใหญ่อกสามศอก” นั้น อ่านหนังสือพบว่า เป็นคำเอาอย่างมาจากอินเดีย เขามีจัดไว้เป็นสามชั้น อกสามศอกหมายความว่าเป็นผู้รู้มาก อกศอกครึ่ง หมายความว่าเป็นผู้รู้ปานกลาง อกศอกเดียว หมายความว่าเป็นผู้รู้น้อย.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ