วันที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๔๘๒

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์เวรซึ่งลงวันที่ ๕ มีนาคม อันโปรดประทานส่งไปกับรถไฟ ซึ่งถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๙ ได้รับแล้วโดยเรียบร้อยตามเคย จะกราบทูลสนองความในลายพระหัตถ์นั้นลางข้อต่อไปนี้

สนองความในลายพระหัตถ์

ข้อพระดำรัสถึงพระพุทธศาสนา ว่าทางมหายานกับหินยานปนกันจนแยกไม่ออกนั้นจับใจมาก แม้บทที่สวดมนต์ก็อาจชี้ได้ว่าอะไรบ้างที่เป็นมหายาน เห็นจะเป็นทางสังเกตได้ว่าแม้ลัทธิพระพุทธศาสนาในอินเดียทีก็จะเป็นมหายานทั่วไป ถึงหากว่าก่อนขึ้นไปจะเป็นทางหินยานก็ลืมกันแล้ว เพิ่งตรวจเห็นแก้เป็นหินยานในภาคใต้กันอีกพักหนึ่งทีหลัง จึงแก้ไม่หมด

ชื่อเมืองและตำบลต่างๆ ซึ่งเราเข้าใจไม่ได้นั้น เป็นแน่ว่าไม่ใช่ภาษาไทย แต่ลางชื่อก็อาจจะเดาตัดเสียตามรูปได้ เช่นเมืองตราษ เมืองขลุง เมืองแกลง นั้นไม่ใช่ภาษาจีนแน่ เพราะภาษาจีนไม่มีตัวควบ คำ สมุย นั้นก็เป็นพวกตัวควบ จะต้องเป็นภาษาอื่นที่นอกจากจีน เป็นธรรมทีเดียวที่เมืองอยู่ใกล้เคียงกันจะต้องจำเอาคำกันไปใช้ ไม่จำต้องได้ที่ดินแห่งเมืองใกล้กันไปปกครอง ชื่อตัวอย่างที่ประทานไป ขยับจะเป็นภาษาไทย แปลได้อยู่ชื่อหนึ่ง คือ ชอำ ที่จะเป็น ฉ่ำ ทั้งนี้เทียบด้วยคำ ชอุ่ม ก็ทีจะเป็นชุ่ม แต่ทั้งนี้จะยืนยันเอาว่าเป็นแน่ไม่ได้

เรื่องพิธีตรุษนั้นปรากฏในพระดำรัสชัดอยู่ว่า ได้ทอดพระเนตรตรวจหนังสือเก่าอันเกี่ยวแก่เรื่องนั้นมาก จึงดีใจหวังว่าหนังสือซึ่งทรงเรียบเรียงในเรื่องพิธีตรุษคงดีมาก จะกราบทูลในข้อซึ่งเกล้ากระหม่อมทราบมากออกไป หากว่าฝ่าพระบาทยังไม่ทรงทราบก็จะได้เก็บเอาความเรียบเรียงลงในพระนิพนธ์ซึ่งทรงเรียบเรียง ก็จะดีขึ้นอีกเป็นอันมาก สายสิญจน์ซึ่งโยงแต่พระแท่นซึ่งตั้งพระพุทธรูป มาพันกับตู้เทียนขัยและเตียงพระสวดนั้นเรียกกันว่า “ตะพาน” พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสเล่าว่า แต่ก่อนนี้เวลาพระสวดอาฏานาติยสูตร พวกเจ้านายเอาด้ายสายสิญจน์ ผูกกับห่วงด้ายมงคล อันสวมไว้ที่พระเศียร โยนข้ามขึ้นไปพาดกับตะพานนั้น ก็เป็นอย่างเดียวกับโกนจุกเพื่อให้มนต์แล่นเข้าตัว ข้อนี้เป็นการไขประแจออกได้ ที่ว่าสนมเขาแจกด้ายกลุ่มแก่เจ้านายทำไม และการกระทำทั้งนี้ก็เหมือนกันกับเสด็จประทับทรงสวมพระมงคลอันล่ามสายสิญจน์ ณ ที่ซึ่งเขาจัดทอดไว้ ในเวลาเมื่อสวดอาฏานาติยสูตร ก่อนขึ้นไปคงจะทำทุกวันตลอดถึงสวดท้องภาณด้วย เขาจึงแจกด้ายกลุ่มทุกวัน

เรื่องพัดแฉกผูกตู้หนังสือบนเตียงพระสวดนั้น เกล้ากระหม่อมก็ได้ฟังที่คิดแปลกันมา ว่าพระราชาคณะขึ้นไปนั่งอยู่กลางก็ทำให้เห็นจริงไปด้วย ต่อเมื่อมาได้ฟังพระดำริครั้งนี้จึงเห็นกลับตาลปัตรไปตามพระดำรัส โดยปรากฏหลักฐานมีเป็นสำคัญอยู่ ที่จริงถึงมีหนังสืออยู่บนเตียง พระผู้สวดท่านก็ไม่ค่อยได้ดูหนังสือ ท่านสวดไปตามที่ท่านจำได้ตามพระดำรัส ที่ว่าพระบวชได้สามวรรษาจะต้องจำสวดมนต์ได้นั้น นึกได้ว่าครั้งหนึ่ง เป็นพิธีพรุณสาตรที่พลับพลาท้องสนามหลวง เกล้ากระหม่อมไปคอยเฝ้าที่นั้น กำลังสวดท้องภาณ เห็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ มีสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ยัง) และสมเด็จพระวันรัตน์ (แดง) เป็นต้น ซึ่งท่านไปคอยสวดมนต์ พากันเข้าไปล้อมเตียงสวดทักกันปรอเพราะสวดวิบัติ ยังได้รู้สึกในใจว่านี่คือนั่งปรกแท้ทีเดียว ที่จัดเอาพระราชาคณะฝ่ายวิปัสสนาไปนั่งปรกภาวนานั้นผิดทาง ส่วนคำที่เรียกว่าแม่ลูกคู่นั้นก็ได้สังเกต เป็นแม่คู่ลูกคู่จริงๆ ในเวลาร้อง เช่น “อินโท” ในเมื่อสวดอาฏานาติยสูตรเป็นต้น แม่คู่เป็นผู้เดินคำ ลูกคู่เป็นผู้ต่อไม่ให้เสียงขาดหายไปเพราะหยุดหายใจ แต่เวลาสวด คือไม่ใช่ร้องนั้นสวดไปพร้อมกันทั้งคู่ ได้แก่คำว่าคู่สวด คำที่เรียกว่าคู่สวด ก็มาสวดญัตติถูกตามกระแสพระดำริ ที่เอาไปเรียกลูกคู่ละครก็เอาไปจากคู่สวดของพระนั้นเอง เคยคิดเห็นแล้วแต่ไม่ได้กราบทูล แม่คู่คือตัวละครซึ่งแต่ก่อนเขาร้องเองชั่วกลอนหนึ่ง ลูกคู่รับร้องต่ออีกกลอนหนึ่ง เพราะฉะนั้นสองกลอนจึงเรียกว่าคำหนึ่ง ทีหลังจึงมีคนร้องแทนตัวละครเรียกกันว่า “ต้นบท” แต่ที่จริงคำนั้นผิด ต้นบทควรจะเป็นคนบอกบท แล้วก็รู้สึกกันว่าเรียกผิดยักเรียกเป็น “ต้นเสียง” แต่ก็เป็นคำผูกขึ้นใหม่ ไปเที่ยวประเทศชวา ไปทราบคำว่า “ละคร” เยื้องไปเป็นไม่ได้หมายว่าคนรำหรือการเล่น เป็นหมายว่าเรื่อง เช่นละครอิเหนา ก็คือเรื่องอิเหนา ถึงแม้เป็นดังนั้นก็ไม่ได้ทำให้อะไรผิดไป

ยังมีความเห็นต่อไปอีกถึงพระครูคู่สวดที่ขึ้นไปสวดธรรมจักร และสมัยนำอาฏานาติยสูตรก็เช่นเดียวกัน ความเห็นอันนี้เป็นเดินตามพระดำริกรมพระสมมตอมรพันธุ์ ซึ่งทรงพระดำริว่าการสวดธรรมจักรและสมัยในงานวันเกิดนั้นประสงค์เอาเทวดา เห็นเป็นถูกที่สุด

พระเดชพระคุณเป็นล้นเกล้า ที่ตรัสแนะนำให้ไปเที่ยว ซ้ำโปรดประทานอนุญาตให้อยู่ได้ที่ตำหนักหัวหินด้วย เว้นแต่การไปเที่ยวนั้นลำบาก จะต้องคอยสังเกตตู แม้ถึงเวลาจำเป็นที่จะต้องแปรแท้แล้วจึงจะแปรไป เมื่อวานซืนนี้หญิงจงเธอก็มาลาไปหัวหิน แต่เธอก็จะไม่อยู่ที่เรือนของเธอ ลาเพียง ๗ วัน ให้รู้สึกว่าติดจะน้อยนัก

ข่าวเก่าในกรุงเทพ ฯ

ผลส้มซึ่งทรงพระเมตตาโปรดฝากเข้าไปประทานนั้นได้รับแล้ว เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้าหาที่สุดมิได้ ขอถวายบังคมฝ่าพระบาท

ตามที่กราบทูลมาก่อน ว่างานพระราชพิธีรัชสมโภชดำเนินไปตามหมายกำหนดการนั้น เป็นกราบทูลอย่างย่นย่อไปหน่อย ที่แท้ควรจะกราบทูลเรื่องตั้งพระ ซึ่งในหมายกำหนดการไม่ได้บอกไว้ โดยละเอียดให้ทรงทราบด้วย ผู้ซึ่งได้รับยศวันนั้นมากมาย จนพัดยศซึ่งเอาวางไว้สำหรับพระราชทานนั้นเรียงเหลื่อมกันซ้อนเป็นสามชั้น ชั้นล่างและชั้นกลางเป็นพัดพุดตาล ชั้นบนเป็นพัดแฉก แต่จะกราบทูลถึงองค์ที่สำคัญ คือ พระพรหมมุนี (อ้วน) เป็นสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ พระธรรมปิฏก (เผื่อน) เป็นพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ พระธรรมโกษาจารย์ (ปลด) เป็นพระพรหมมุนี

ข่าวใหม่ในกรุงเทพ ฯ

หม่อมหวลตายเสียแล้วเมื่อวันที่ ๖ เดือนนี้ ตายที่โรงพยาบาลรักษาตาที่ถนนสุรวงศ์ แล้วนำศพมาแต่งงานต่างๆ ที่วังกรมหมื่นอนุวัตนจาตุรนต์ กำหนดอาบน้ำศพวันที่ ๗ เกล้ากระหม่อมก็ไป แต่ไปก่อนเวลากำหนด เห็นพวกตีกลองแต่งตัวแดง และมีชั้นกระจกตั้งอยู่สองชั้น สิ่งอื่นไม่เห็น ที่หญิงหลุยไม่ได้กราบทูลข่าวเจ็บหนักมาให้ทรงทราบ คงเป็นด้วยวุ่นอยู่ในการรักษาพาใจ

เมื่อวันที่ ๘ ไปช่วยหญิงจงกลนีทำบุญ ๗ วันให้แม่ ไปถึงกำลังกงเต๊กเซ่นศพสวด “ยางอ่อนยางแก่” กันอยู่ทีเดียว ได้เห็นท่าน “ยรรยง” เป็นสมภารนำคณะพระญวน ยังอยู่ดีกินดี แต่แก่ลงไปมาก ทั้งได้เห็นพระญวนถือพัด “สพฺพปาปฺสฺส” ของฝ่าพระบาทด้วยบ้าง ทำเอาสะดุดใจ นึกไม่ออกว่าได้ทำพัดพระญวนด้วยเลย

วันที่ ๑๑ มีการพระราชทานเพลิงศพพระองค์เจ้าคำรบ ที่สุสานวัดเทพศิรินทราวาส เกล้ากระหม่อมไปภายหลังเวลาที่เขาบอกกำหนด เห็นรื้อเอาเมรุสำหรับสุสานซึ่งปลูกอยู่หลังศาลาทรงธรรมนั้นมาปลูกที่หน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ แต่พลับพลาก็เห็นปิด เวลาพระราชทานเพลิงจะเปิดหรือเปล่านั้น ไม่ทราบ เขาแจกหนังสืออักขรานุกรมภูมิศาสตร์นครสวรรค์ เห็นไม่สำคัญพอที่ควรจะส่งมาถวายจึงไม่ได้ส่งมาด้วย

รายงาน

จะกราบทูลรายงานที่ได้อ่านตรวจหนังสือมหาทิพมนต์โดยถี่ถ้วนตลอดแล้ว ในหนังสือนั้นมีมนต์ ๕ บท คือ ๑ มหาทิพมนต์ ๒ ชัยมงคล ๓ มหาชัย ๔ อุณหิสวิชัย ๕ มหาสาวัง สี่บทอันออกชื่อก่อนนั้นแต่งเป็นฉันท์ แต่บทที่สุดนั้นแต่งเป็นปาฐ มีคำแปลเป็นภาษาไทย แต่บทต้นบทเดียวแต่งเป็นกลอนสวด

ใน ๕ บทนั้น เห็นอุณหิสวิชัยดีกว่าเพื่อน เป็นของผู้รู้แต่ง แต่งเป็นเรื่องเป็นราว ทั้งเอาอะไรมาประกอบก็ดีด้วย เบื้องต้นกล่าวถึงเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปจำวรรษาบนดาวดึงส์สวรรค์ ในกาลนั้นเกิดนิมิตขึ้นแก่สุปติฏฐเทวดาอันทำให้รู้ได้ว่าจะต้องจุติ มีเครื่องอาภรณ์ซึ่งทำด้วยดอกไม้สดเหี่ยวไปเป็นต้น เธอก็เดือดร้อนไปปรับทุกข์กับพระอินทร์ พระอินทร์ก็ช่วยไม่ได้จึงพาไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาโปรดก็ทำให้ไม่ได้จุติ เพราะเหตุฉะนั้นท่านผู้แต่งจึงยกอานุภาพพระรัตนตรัย เอา “สักกัตถา” เข้ามาประกอบในตอนปลาย ว่าอานุภาพพระรัตนตรัยเป็นยา แล้วกล่าวไปตามเหตุแห่งกรรม อันสุปติฏฐเทวดาทำในเมื่อเป็นมนุษย์ มีการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเป็นต้น ว่าการทำลายชีวิตสัตว์นั้นทำให้อายุสั้น เห็นปรากฏว่าผู้แต่งนั้นเป็นผู้มีความคิด ส่วนอีก ๔ บทนั้นปรากฏว่าเป็นครูครำแต่ง ฉวยได้อะไรตามที่รู้ก็ใส่เข้าไป เป็นขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พุทธกับไสยปะปนกันยุ่ง พวกเดียวกับคำตาโหรที่มีว่า “พุทธเตเชน สังฆเตเชน อินทเตเชน พรหมเตเชน” เช่นนั้นเป็นตัวอย่าง และใน ๔ บทนั้นมหาสาวังเป็นเลวกว่าเพื่อน ที่ว่าเลวก็เพราะมีความคิดน้อยกว่าบทอื่น เพราะมีรูปยืนซ้ำๆ เปลี่ยนแต่คำบ้างเล็กน้อยเท่านั้น เห็นว่าผู้แต่งสิ้นปัญญา

ทีนี้จะกราบทูลถึงบทมหาชัย ซึ่งเกล้ากระหม่อมเข้าใจว่าเป็นภาษาสันสกฤต แล้วสงสัยว่าจะไปต่อกับ “ชยนฺโต” อันเป็นภาษามคธ ตามที่พวกนักสวดเขาตัดเอาท้ายมาสวดได้อย่างไรนั้น ตรวจเห็นความเข้าใจผิดมีอยู่มาก รูปแห่งมนต์มหาชัยนั้น ผู้แต่งเขาแต่งเป็นภาษามคธปนสันสกฤตอย่างไทย มีสัมผัสด้วย พวกเดียวกับพระปรมาภิไธย เช่น “- - - บรมสุขุมาล ทิพยเทพาวตาลไพศาลเกียรติคุณอดุลยพิเศษ --” ฉะนั้น แต่ผู้เขียนๆ ลากไปให้เป็นภาษามคธสันสกฤตจริง ๆ จึงเป็นไปไม่ได้สนิท อนึ่งในมนต์มหาชัยนั้นไม่มี “ชยนฺโต” อยู่ข้างท้าย ไปมีอยู่ที่มหาทิพมนต์กับชัยมงคล พวกนักสวดซึ่งเขาสวดเล่นตลก อาจเป็นเขาตัดมนต์ทั้งสองนั้นบทใดบทหนึ่งมาสวดก็ได้ หากเกล้ากระหม่อมเข้าใจผิดตามที่คนเข้าใจผิดกันไปว่าเป็นมหาชัยเท่านั้น

ปริศนา

เห็นข่าวในหนังสือพิมพ์ “บางกอกไทมส์” เขาลงว่ามหาดาไลดามา ซึ่งสมณุตมาภิเษกใหม่ประทานของแต่ประเทศจีน สิ่งหนึ่ง มีลูกประคำแก้วประพาฬ ๑๐๘ เมล็ด สำหรับทรงชักใส่คะแนนพระพุทธมนต์เมื่อทรงบริกรรม ไม่ทราบว่าสิ่งใดในทางพระพุทธศาสนามีจำนวน ๑๐๘ เคยทราบแต่จำนวน ๑๐๘ นั้น เท่ากับเทวดาอัฐเคราะห์ (คือ อาทิตย์ ๖ จันทร์ ๑๕ เป็นต้น นั้น) แต่ก็หาใช่ทางพระพุทธศาสนาไม่

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ