วันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๒๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๘๒

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวร ฉบับลงวันที่ ๑๔ กรกฎาคมแล้ว

สนองลายพระหัตถ์

เรื่องตราต่างๆ จะทูลในตอนวินิจฉัยต่อไปข้างท้ายเป็นตอน ๑ ต่างหาก

เหตุที่สมเด็จพระรามาธิบดิที่ ๒ ทรงพระนามเดิมว่า “พระเชษฐาธิราช” นั้นมีเค้าเงื่อนอยู่ใน “พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ” พอเป็นหลักให้คิดเห็นเหตุได้ในหนังสือนั้นแห่ง ๑ ว่าเมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๐๐๖ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จไปเสวยราชย์ ณ เมืองพิษณุโลก ตรัสให้พระบรมราชาครองพระนครศรีอยุธยา ความส่อว่าพระบรมราชาพระองค์นั้นเป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ กล่าวต่อมาอีกแห่ง ๑ ในเวลาเมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสวยราชย์ เมืองพิษณุโลก ว่าเมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๐๑๕ “สมภพพระราชโอรสท่าน” พระองค์นี้คือ สมเด็จพระเชษฐาธิราชที่ได้เป็นสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ประสูติ ณ เมืองพิษณุโลก น่าสันนิษฐานว่าพระชนนีเห็นจะเป็นเชื้อราชวงศ์สุโขทัย ซึ่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงสถาปนาเป็นพระมเหสีเมื่อเสด็จขึ้นไปอยู่เมืองพิษณุโลกแล้ว ต่อมาอีกแห่ง ๑ ว่าเมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๐๒๗ สมเด็จพระเชษฐาธิราชกับพระราชโอรส (ของ) สมเด็จพระบรมราชาธิราชทรงผนวช (เป็นสามเณร) ทั้ง ๒ พระองค์เห็นได้ว่าพระบรมราชาธิราชแก่กว่าพระเชษฐาธิราชมาก อีกแห่ง ๑ ว่าปีมะเส็ง พระราชโอรสท่าน (คือพระเชษฐาธิราช) ลาผนวช ทรงประดิษฐานไว้ในที่พระมหาอุปราช (เมืองพิษณุโลก) ส่อพระนามว่าพระเชษฐาธิราช เห็นจะหมายความว่าพระราชกุมารเป็นพระองค์ใหญ่ในลูกเธอที่ประสูติ ณ เมืองพิษณุโลก อีกแห่ง ๑ ว่า ปีกุน พ.ศ. ๒๐๓๔ สมเด็จพระบรมราชาธิราชนฤพาน จึงสมเด็จพระเชษฐาธิราชเสวยราชย์ ณ พระนครศรีอยุธยา ทรงพระนาม สมเด็จพระรามาธิบดี ดังนี้

ที่วัดเชตุพน ณ เมืองสุโขทัยก็มีมณฑปหรือวิหารตั้งพระประธานพระพักตรไป ๔ ทิศ หม่อมฉันได้เคยเห็นทรากพระพุทธรูปที่เหลืออยู่ แต่สร้างเปลี่ยนไปเป็น ๔ อริยาบท นั่ง นอน ยืน เดิน ตามคติชั้นหลังของชาวลังกาเสียแล้ว

พระขรรค์เมืองเขมรนั้นใหญ่โตรูปเป็นพระขรรค์แท้ ถ้าท่านใคร่จะทอดพระเนตรให้แน่พระทัยก็ยังได้ ด้วยมีตัวจำลองทำด้วยไม้อยู่ในห้องภูษามาลา ฝีมือทำจำลองดีมากทั้งขนาด รูป และลวดลาย เมื่อหม่อมฉันไปที่ห้องภูษามาลาครั้งหลังเห็นเอาเหน็บไว้ข้างรูปสำหรับปรับเครื่องต้น ซึ่งมักเข้าใจกันว่าพระรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พวกเขมรที่กรุงกัมพูชาเขาบอกหม่อมฉันว่า พระขรรค์นั้นพวกเขมรพาเที่ยวซ่อนเร้นไว้ไทยจึงไม่ได้มา พระขรรค์จำลองที่หม่อมฉันทูลเห็นจะเป็นทูลกระหม่อมโปรดให้จำลองมาทอดพระเนตรเมื่อรัชกาลที่ ๔

คราวนี้ถึงที่จะทูลถึงเรื่องดวงตราต่างๆ ต่อไป เมื่อเขียนจดหมายเวรส่งไปถวายแล้ว หม่อมฉันนึกขึ้นว่าในกฎหมายเก่ามีกล่าวถึงดวงตรา ตำแหน่ง ข้าราชการอยู่ในทำเนียบศักดินาแห่ง ๑ อยู่ในพระธรรมนูญแห่ง ๑ จึงพยายามพิจารณาดู และคัดชื่อดวงตราที่มีอยู่ในนั้นออกเป็นบัญชีดังถวายมากับจดหมายเวรฉบับนี้ แต่เมื่อค้นดูตลอดแล้วออกเสียใจที่ในทำเนียบศักดินาบอกชื่อดวงตราแต่บางตำแหน่ง หลงลืมเสียโดยมาก ในพระธรรมนูญมีดวงตรามากกว่าในทำเนียบศักดินา แต่ดูเป็นพรรณนาถึงราชการต่างๆ อันผู้ถือตราที่ลงชื่อไว้ในนั้นจะสั่งได้ ขาดชื่อดวงตราอยู่มาก ถึงกระนั้นเมื่อคิดดูตามพิเคราะห์ประกอบกับความรู้ที่มีอยู่แล้วเห็นพอจะจับหลักฐานได้บ้าง คือ

๑) ถ้ากำหนดบุคคลต่างกัน ว่าเป็นนายชั้น ๑ และเป็นไพร่ชั้น ๑ บุคคลชั้นนายนับแต่คฤหบดีขึ้นไปจนถึงพระเจ้าแผ่นดินตลอดจนเจ้าคณะสงฆ์ ย่อมมีดวงตราสำหรับประทับในหนังสือสำคัญที่ตนทำทั้งนั้น แต่ชั้นไพร่ซึ่งเป็นแต่คนรับใช้ไม่มีดวงตรา เพราะไม่มีกิจที่จะต้องใช้

๒) ดวงตรายังจำแนกต่างกันเป็น ๒ ชนิด คือ “ตราหลวง” สำหรับราชการชนิด ๑ ตราเชลยศักดิ์ แล้วแต่ใครจะทำสำหรับเป็นของตน ชนิด ๑

๓) ดวงตราหลวงนั้นก็เป็น ๒ อย่างต่างกัน คือตราสำหรับกรมอย่าง ๑ ตราสำหรับตำแหน่งอย่าง ๑ จะยกตราในกระทรวงมหาดไทยเป็นตัวอย่าง ตราราชสีห์เป็นตรากรม ตราม้าทรงเครื่องของพระยาราชนิกูล และตราม้าตัวเปล่าของพระยาศรีสหเทพ เป็นตราสำหรับตำแหน่ง

๔) ดวงตราหลวงลวดลายเป็นแบบบัญญัติทุกดวง ใครว่าการกรมใด หรือเป็นตำแหน่งในกรมใด ต้องถือตราหลวงสำหรับกรมและตำแหน่งนั้น เมื่อออกจากราชการและตำแหน่งต้องเวนคืนดวงตรา สำหรับผู้เป็นแทนจะได้ถือต่อไป ความที่ว่าแต่ ๑) ถึง ๔) เป็นต้นเค้าของเรื่องดวงตราที่จะกล่าวอธิบายต่อไป

๕) ในเวลาตั้งกรมขึ้นใหม่ หรือตั้งตำแหน่งให้มีขึ้นใหม่ต้องโปรดฯ ให้สร้างดวงตราสำหรับกรมนั้น หรือสำหรับตำแหน่งนั้นเพิ่มขึ้นใหม่ เป็นต้นว่าเมื่อโปรดให้ตั้งกรมสำหรับเจ้านายพระองค์หนึ่งพระองค์ใดทรงบังคับบัญชา ก็ต้องสร้างตราสำหรับกรมนั้น เข้าใจว่าข้อนี้เป็นมูลที่ยังมีดวงตราของเจ้านายต่างกรมแต่ก่อนปรากฏอยู่หลายดวง เพราะเมื่อเจ้านายต่างกรมสิ้นพระชนม์แล้วกรมนั้นก็เลิกตามไป ดวงตราไม่มีที่ใช้ก็ส่งเข้ามาไว้เป็นของหลวงหรือกระจัดพลัดพรากไป ล้วนเป็นดวงตราแกะด้วยงาขนาดใหญ่ทั้งนั้น ดวงตราที่โปรดให้สร้างขึ้นใหม่สำหรับตัวบุคคลนั้นจะยกตัวอย่างได้ง่าย ดังเช่นดวงตราประทีปอยู่ในบุษบก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าอยู่หัวโปรดให้สร้างถวายสมเด็จกรมพระปรมานุชิต แต่ยังเป็นกรมหมื่นนุชิตชิโนรส เมื่อทรงรับตำแหน่งเจ้าคณะกลาง หรึมิฉะนั้นก็ทูลกระหม่อมโปรดให้สร้างถวายเมื่อทรงสถาปนาเป็นกรมสมเด็จฯ ที่มหาสังฆปรินายก ยังมีดวงตราอื่นที่สร้างใหม่พระราชทานท่านผู้ใหญ่โดยอันเดียวกัน คือตราสุริยมณฑลพระราชทานสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ ตราจันทรมณฑลพระราชทานสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย และตราศรพระขรรค์ พระราชทานเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ ดวงตราเหล่านี้เมื่อตัวท่านผู้ถือล่วงไปแล้วก็เอามาเก็บรักษาไว้ในห้องอาลักษณ์

๖) ครั้งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงเพิ่มกระทรวงเสนาบดีขึ้นเป็น ๑๒ กระทรวงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ จะต้องมีดวงตราสำหรับกระทรวงซึ่งตั้งขึ้นใหม่ ทรงพระราชดำริว่าดวงตราเก่าซึ่งไม่มีกิจจะใช้เป็นแต่เก็บรักษาไว้มีหลายดวง จึงทรงเลือกพระราชทานให้ใช้เป็นตรากระทรวงเสนาบดี คือตราสุริยมณฑล ตราจันทรมณฑล ตราศรพระขรรค์เป็นต้น แม้ตราดวงอื่น เช่น ตราพระเพลิงระมาด ตราพระรามทรงรถ (น่าจะเป็นของกรมพระรามอิศเรศ) ตราพระพรหมนั่งแท่นเหล่านี้ เดิมคงเป็นตราสร้างพระราชทานเจ้านายต่างกรมหรือตำแหน่งบุคคล ซึ่งพ้นสมัยส่งไปเก็บไว้ในกรมอาลักษณ์ทั้งนั้น หาใช่พระราชลัญจกรไม่

วินิจฉัยพระราชลัญจกรขอประทานรอไว้เขียนถวายในจดหมายเวรฉบับหน้าต่อไป

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ