วันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๔๘๒

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์เวร ซึ่งส่งทางไปรษณีย์ตามปกติ กับลายพระหัตถ์เพิ่มเติม ซึ่งชายใหม่เชิญเข้าไปส่ง ลงวันที่ ๒๒ มิถุนายน เหมือนกันทั้งสองฉบับ ได้รับประทานแล้ว เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้า

ได้ทราบความตามลายพระหัตถ์ ตรัสบอกถึงการที่ได้ทรงบำเพ็ญพระกุศลในวันประสูติ ทั้งชายใหม่ก็ได้ไปแจ้งรายการ ในการอันได้ทรงกระทำนั้นถี่ถ้วนเข้าอีกด้วย เป็นเหตุให้มีปิติอนุโมทนาในพระกุศลอันได้ทรงกระทำไปนั้นเป็นอันมาก

เรื่องตราราชสีห์ ซึ่งตำแหน่งหลวงมหาอำมาตย์ได้ถือนั้น ตรัสบอกไปในลายพระหัตถ์ฉบับแรก ว่าเรียก “ตราราชสีห์ฝ่ายเหนือนั้น” ให้รู้สึกมึน ด้วยยังไม่เคยได้ยินชื่ออย่างนั้นมาเลย แต่พอได้รับลายพระหัตถ์ฉบับหลังตรัสบอกว่าเรียกในทางราชการว่า “ตราจุลราชสีห์” ก็รู้สึกนึกที่ลืมไปนั้นได้ซึมทราบทีเดียว ตราคชสีห์ซึ่งตำแหน่งพระธรรมไตรโลกได้ถือว่าเรียก “ตราจุลคชสีห์” เหมือนกัน อันชื่อหลวงมหาอำมาตย์นั้น ในกฎหมายเขียนไว้ว่า “หลวงมหาอำมาตยาธิบดีพิริยพาห” เท่านั้น ที่มามีสร้อยแทรกเติมเป็น “จุลราชสีห์มุรธาธรสถาพรพิริยพาห” นั้น แสดงว่ามาแทรกเติมทีหลัง คะเนเห็นจะเป็นในรัชกาลที่ ๔ ด้วยการเปลี่ยนชื่อแทรกชื่อนั้นทำในรัชกาล ๔ มาก ส่วนชื่อพระธรรมไตรโลกนั้น เป็นแน่ว่าเลิก เพราะมาโดนเข้ากับชื่อพระราชาคณะ แต่จะเลิกเมื่อรัชกาลไหนคาดไม่ตก อาจเป็นก่อนรัชกาลที่ ๔ ขึ้นไปก็เป็นได้

ตราดามดวงในสมุดกฎหมายไม่เหมือนกับที่ใช้อยู่นั้น ได้ทราบก่อนงานหมื่นวันนานมาแล้ว ทราบโดยรักการช่าง เมื่อครั้งยังรุ่นหนุ่ม โปรดเกล้าให้เข้าไปอยู่ในออฟฟิศหลวง ที่นั่นมีหนังสือเก่าอยู่มาก หยิบมาอ่านดูเพื่อรู้การเก่าๆ พบหนังสือซึ่งมีตราประทับอยู่ในนั้นหลายเล่ม อยากทราบว่าตราของใครเป็นอย่างไร จึงเอากระดาษบางทาบลอกเส้นเอาไว้ดูเรียน จึงได้ทราบปรากฏว่า ตราสามดวงในสมุดกฎหมายนั้น ผิดกันกับตราที่ใช้อยู่ แต่จะผิดกันด้วยเหตุประการใดก็ไม่มีใครบอกได้ มาจนกระทั่งได้รับลายพระหัตถ์คราวเมื่ออายุล่วงไปถึง ๗๖ จึงได้ทราบว่าทำเปลี่ยนใหม่เมื่อรัชกาลที่ ๒ เป็นพระเดชพระคุณที่สุดยิ่งแล้ว

ในเรื่องแกะรุกตรา ได้ทราบทางเชลยศักดิ์ว่าเขาก็ทำกันแต่ไม่มีพิธีรีตรองอะไร ช่างทำตามสบายใจ จะแล้วเมื่อไรก็ได้ ไม่มีกำหนดเวลา ที่รุกตราพระราชสีห์ มีกำหนดเวลาว่าต้องแล้วก่อนค่ำนั้น คงเป็นด้วยตราพระราชสีห์ต้องใช้ในทางราชการอยู่เสมอ จะทำล่าช้าไปไม่ได้ ที่แกะรุกมากหนไปไม่ได้นั้นก็กราบทูลเหตุได้ เป็นด้วยตรานั้นตรึงรูปให้หน้าผายบนเล็ก ถ้าแกะรุกมากหนเข้าขอบก็ขาด เมื่อรุกจนถึงขอบจะขาดก็ต้องเปลี่ยนดวงตราใหม่

มีวิธีที่เจ้ากรมคนที่ ๑ ของเกล้ากระหม่อมแกทำกับตราของแกอย่างหนึ่ง ซึ่งเห็นว่าเป็นทางฉลาดมาก คือตัดเส้นในดวงตราซึ่งควรจะมีตรงไปให้ขาดเสียแห่งหนึ่ง แกอธิบายว่า ธรรมดาตราเมื่อประทับลงชาดจะต้องติดบ้างไม่ติดบ้าง เมื่อตัดเส้นตรงเสียตรงนั้นจะต้องไม่ติดเสมอ เป็นการป้องกันคนทำตราปลอม ถ้าเห็นเส้นตรงที่ตัดไว้นั้นไม่ขาดก็รู้ได้ทันทีว่าเป็นตราปลอม วิธีนี้คิดว่าแกจำเขามาอีกต่อหนึ่ง เขาคงทำกันมานานแล้วแต่ครั้งยังไม่เกิดมีเซ็นชื่อขึ้น ใช้แต่ตราเปล่าอันจะทำปลอมได้โดยง่าย ในการทำตราเป็นลายเซ็นนั้น เกล้ากระหม่อมไม่เห็นดีด้วยเลย จะต้องเซ็นหนังสือกี่ร้อยกี่พันฉบับก็ยอมเซ็นทั้งนั้น ไม่ทำตรานากเป็นอันขาด เห็นเป็นอันตรายที่สุด จะทำปลอมขึ้นก็ได้โดยง่าย หรือใครจะลักเอาประทับอะไรไปก็เสียทีอย่างเจ็บปวดมาก พูดถึงเซ็นชื่อก็เห็นประหลาดมาก เซ็นลงไปแต่ละทีจะหาเหมือนกันไม่ได้เลย คือถ้าจะเอากระดาษบางทาบลากเส้นจากที่เซ็นชื่อไว้แห่งหนึ่ง แล้วเอาไปทาบกับที่เซ็นชื่อไว้แห่งอื่น เส้นจะไม่ลงรอยกันได้ทุกๆ แห่ง แต่ก็รู้ได้ว่าทุกแห่งนั้นคนคนเดียวกันเซ็น ถ้ามีเซ็นปลอมมาเมื่อไรก็รู้ได้ทันทีว่าปลอม

“ตราราชสีห์เดินดง” เพิ่งได้ทราบเมื่อตรัสบอกคราวนี้ ว่าที่กระทรวงมหาดไทยก็มี ตามนิทานที่ว่ากรมศักดิ์ทรงสร้างประทานแม่ทัพคนหนึ่งในอีกกี่คนก็ไม่ทราบนั้น ไม่สู้น่าฟัง เพราะที่ว่านั้นเป็นการทำขึ้น เพื่อการจรตามต้องการชั่วคราว ถ้าเป็นดังนั้นทำไมกระทรวงกลาโหมจึงมี “ตราคชสีห์เดินดง ด้วยคิดว่าจะใช้การประจำอย่างใดอย่างหนึ่ง “เพราะบังคับหัวเมืองอยู่ด้วยกัน มีอะไรก็มีด้วยกัน จะรู้แน่ได้ก็ต่อเมื่อเผอิญพบสิ่งซึ่งเป็นหลักฐานอะไรเข้า เช่นที่ฝ่าพระบาทได้ทรงพบท้องตราเรื่องเปลี่ยนตราสามดวงเข้าฉะนั้น

ขออย่าได้ทรงลืมทอดพระเนตรเรื่องพระพุทธรูปใหญ่สี่องค์สี่ทิศ พระสถูปในเมืองละแวก อันมีอยู่ในหนังสือพงศาวดารเขมร หน้า ๔ กับหน้า ๖ ซึ่งได้ให้ชายใหม่นำมาถวาย ได้ทูลเรื่องนั้นมาก่อนแล้ว แต่ตรัสไปว่ายังไม่มีเวลาทอดพระเนตรทรงพระวินิจฉัย

อันชื่อ พระศรีสุริโยพรรณ นั้น คล้ายกับชื่อ พระศรีสุพรรณมาธิราช มาก เป็นครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรเหมือนกัน แต่พระศรีสุพรรณมาธิราชนั้นต้องประหาร พระศรีสุริโยพรรณนั้นได้รับพระราชานุเคราะห์ใหญ่โต ควรจะเป็นคนละคน แต่ชื่อพระศรีสุริโยพรรณดูไม่ปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารเลย

อ่านหนังสือพิมพ์พบคำแต่ง เขาจ่าหน้าว่า “บุคคลตัวอย่างของไทย” ในท้องเรื่องกล่าวยกย่องขุนแผน เอาความดีมาเป็นตัวอย่าง ความตอนหนึ่งมีว่า เมื่อขุนแผนออกจากคุกขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ครั้งหลัง ได้เชิญพระพุทธรูปหล่อสมาธิองค์หนึ่งลงมาให้พระพิจิตร พระพิจิตรเชิญไปประดิษฐานไว้ที่วัดนครชุมในเมืองเก่า เดี๋ยวนี้เชิญย้ายมาไว้ที่อุโบสถวัดท่าหลวง ชาวบ้านนับถือมากเรียกว่า “หลวงพ่อเพชร” ข้อความอันนี้เขาจะไปเก็บมาแต่ไหนก็ไม่ทราบ เมื่อเกล้ากระหม่อมขึ้นไปถึงวัดท่าหลวง ก็ไม่ได้ยินกล่าวถึงพระพุทธรูปองค์นี้เลย ไปเห็นแต่เสาต้นโตๆ ตื่นเสียเกือบตาย เสานั้นเขาก็ตั้งชื่อเป็นขุนแผนวันทอง อะไรพวกนั้น เข้าใจว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จขึ้นไปก็โปรดเสานั้น จนเอาอย่างมาทำการเปรียญที่วัดราชาธิวาส

ข่าวพิธีในราชการ สำนักพระราชวังมีหมายบอกออกมาเมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ว่า วันที่ ๕ กรกฎาคม จะมีการพระกุศลของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ ที่พระที่นั่งดุสิต เวลา ๑๗.๐๐ น. มีพระธรรมเทศนากัณฑ์หนึ่ง กับสดับปกรณ์ ๒๐ พระองค์เจ้าจุมภฏพงศ์ทรงทำแทนพระองค์.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ