วันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๑๗ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๒

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๑๑ สิงหาคมแล้ว

สนองลายพระหัตถ์

อธิบายประทานมาถึงพระราชลัญจกรที่ประทับพระราชสาส์นไปเมืองจีนนั้น เป็นความรู้หม่อมฉันเพิ่งได้ใหม่ทีเดียว ทั้งพอใจที่ได้ทราบว่ามีกิจประทับพระมหาลัญจกร มหาอุณาโลม พระครุฑพ่าห์ และไอยราพตด้วยกันทั้ง ๓ ดวง

พระราชลัญจกรมังกรหกนั้นหม่อมฉันจะทูลได้แต่เค้าเงื่อนที่ทราบอยู่สำหรับทรงพิจารณาปรับปรุงให้เข้าเรื่อง ได้ยินมาแต่ก่อนว่าเมื่อพระเจ้าแผ่นดินไทยเสวยราชย์ใหม่ ต้องแต่งทูตไปทูล “ขอหอง” ต่อพระเจ้ากรุงจีน ถ้าว่าอย่างฝรั่งคือไปขอ Recognition ของพระเจ้ากรุงจีน พระเจ้ากรุงจีนประทานหองกับตราด้วยดวง ๑ ตราที่พระเจ้ากรุงจีนประทานน่าจะตรงกับพระราชลัญจกรหก สำหรับใช้เป็นตราประเทศเปลี่ยนราชวงศ์ใหม่จึงประทานครั้ง ๑ พระราชลัญจกรที่เรียกว่ามหาโลโต น่าจะเป็นตราประทานประจำรัชกาล พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่รับใหม่ทุกรัชกาล ที่ว่ามานี้โดยเดา แต่ที่ได้ยินกล่าวกันมาเป็นหลักฐานนั้นว่า พระราชสาส์นมีไปเมืองจีนนั้นต้องมีพระนามพระเจ้าแผ่นดินเป็นภาษาจีนทุกพระองค์ พระบรมราชวงศ์จักรีนี้ใช้คำ “แต้” เป็นแซ่คำหลังที่เป็นพระนามต่างกัน หม่อมฉันเคยจำได้ทุกพระองค์ แต่เวลานี้ลืมไปเสียบ้าง คงจำได้แต่ว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯใช้พระนาม “แต้ฮก” และพระนามคิดขึ้นสำหรับสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงว่า “แต้เจี่ย” แต่มิได้เคยใช้ เหตุที่มีพระนามอย่างจีนนี้ดูน่าจะเป็นสำหรับจารึกอักษรจีนลงในพระราชลัญจกรที่พระเจ้ากรุงจีนประทานหอง ขอให้ทรงพิจารณาดูเถิด

ตราบุษบกประทีป หม่อมฉันชอบใจทั้งความคิดที่เอาดวงประทีปมาเป็นหลัก และที่ทำเป็นรูปตะเกียงตั้งในบุษบก อันหมายชัดว่าที่เกิดดวงประทีป ถ้าทำรูปอย่างอื่น เช่นเป็นแต่เปลวไฟก็จะเข้าใจไปได้เป็นอย่างอื่น แต่ถ้ามีฝีมือที่เขียนตราเก่าก่อนรัชกาลที่ ๔ ก็คงเป็นความคิดของท่านผู้อื่นที่ช่างค้น หรือแม้ทูลกระหม่อมเมื่อยังทรงผนวชอยู่ในรัชกาลที่ ๓ ก็น่าจะเป็นได้

ตรัสมาถึงการปักหนุนรูปภาพในตราให้สูงนูนขึ้นมาจากพื้นมากๆ นั้น หม่อมฉันรำลึกขึ้นได้ถึงเมื่องานฉลองรัชกาลที่ ๕ ครบหมื่นวัน โปรดให้ทำพัดรองถวายพระราชาคณะผู้ใหญ่ในงานนั้นเป็นรูปพระราชลัญจกรและดวงตราเสนาบดีกระทรวงต่างๆ คราวนั้นเห็นจะหนุนกันถึงที่สุดด้วยเป็นการประกวดกัน หม่อมฉันใคร่จะทูลเล่าต่อไปให้ทรงอนุโมทนา เมื่อจัดพิพิธภัณฑ์สถานสำหรับพระนคร หม่อมฉันนึกขึ้นถึงพัดรองชุดนั้น อันไม่มีกิจที่พระจะใช้แล้ว จึงพยายามเที่ยวขอได้มารวมรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานทั้งชุด ขาดเล่มเดียวแต่ที่พระคุณวงศาจารย์ (สน) วัดปรมัยยิกาวาสได้พระราชทานไป เมื่อท่านถึงมรณภาพแล้ว ไม่มีใครรู้ว่าตกไปอยู่ที่ไหน ถึงกระนั้นหม่อมฉันก็ยินดีที่รวมเอาไว้ได้หมด ขาดไปแต่เล่มเดียว

ที่ทรงปรารภถึงความบางข้อ ที่ปรากฏในหนังสือแจกงานศพเจ้าเชียงใหม่ คือ ๑) ชื่อ “เขา” ดอยสุเทพ ที่เมืองเชียงใหม่ ในหนังสือบางเรื่องมีคำว่า “วา” อยู่ข้างหน้ากลายเป็น “วาสุเทพ” ไปตรงกับชื่อเรียกพระอิศวรในทางไสยศาสตร์ จะเป็นด้วยเหตุใด ๒) ทรงปรารภถึงนามพระมหาเถระองค์ ๑ ว่า “อุทุมพร บุปผามหาสวามี” จะหมายว่าดอกมะเดื่อ นามนี้มีมาเก่าแก่มิใช่ตั้งต้นด้วยพระนามเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ (ขุนหลวงหาวัด) นั้น หนังสือแจกงานศพเจ้าเชียงใหม่ยังมาไม่ถึงหม่อมฉัน เห็นจะได้ต่อเมื่อหญิงจงออกมาถึงวันพฤหัสบดีที่ ๑๗ นี้ แต่พอจะถวายวิสัชนาได้ก่อน ด้วยค้นพบในหนังสือพงศาวดารโยนกของพระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค) ทั้ง ๒ เรื่อง

๑) เรื่องชื่อว่า “สุเทพ” หรือ “วาสุเทพ” นั้นในตำนานเมืองลำพูนมีว่าเมื่อ พ.ศ. ๑๐๐๘ ปี มีฤๅษีซึ่งเป็นสหายกัน ๔ องค์

องค์ที่ ๑ ชื่อว่า สุเทวะ อยู่ที่อุฉุบรรพต คือ เขาดอยสุเทพ

องค์ที่ ๒ ชื่อว่า สุกะทันต อยู่ที่สุธรรมบรรพต คือ เขาสมอคอน ณ เมืองละโว้

องค์ที่ ๓ ชื่อ สัชนาลัย อยู่ที่ละดางค์บรรพต ณ เมืองสัชนาลัย (ควรเป็นเมืองเชลียง)

องค์ที่ ๔ ฤาษีพุทธชลิต อยู่ ณ ชุรบรรพต แขวงเมืองนครลำปาง

ฤาษีสุเทวะ (ในหนังสือนั้นต่อมาเรียกว่าวาสุเทพ) กับฤาษีสุกะทันต ช่วยกันสร้างเมืองหริภุญชัยแล้วคิดอ่านเชิญนางจามเทวี ราชธิดาพระเจ้าจักรพรรดิเมืองละโว้ขึ้นไปครองเมืองหริภุญชัย คำที่เรียกนามฤาษีว่าสุเทวะกับชื่อภูเขาดอยสุเทพตรงกัน เชื่อได้ว่า “วา” เพิ่มเข้านำนามฤาษีเมื่อภายหลัง

เรื่องชื่อ พระอุทุมพร มหาสวามี นั้นมีอยู่ในตอนว่าด้วยศาสนาลังกาวงศ์ไปถึงเชียงใหม่ ว่าเมื่อ พ.ศ. ๑๘๗๔ มีพระมหาเถระมอญองค์ ๑ ซึ่งได้ไปอุปสมบทและเล่าเรียนลังกาทวีป แล้วกลับมาตั้งคณะสงฆ์ลังกาวงศ์ เมืองเมาะตะมะ พระมหาเถระองค์นั้นทรงนามว่า อุทุมพรบุปผามหาสวามี เป็นผู้ส่งสาสนุศิษย์ให้เข้ามาตั้งคณะสงฆ์ลังกาวงศ์ในประเทศนี้ ก็คำภาษามคธว่า อุทุมพรบุปผา ตรงกับภาษาไทยว่าดอกมะเดื่อ หม่อมฉันเห็นว่าจะมาแต่นามเดิมของพระมหาเถระองค์นั้น แต่เป็นภาษามอญ อย่างไทยเราเรียกว่า “มะเดื่อ” บางทีก็ย่อลงเรียกแต่ว่า “เดื่อ” เช่นพระนามเดิมของขุนหลวงเสือ มิใช่นามฉายา น่าจะเป็นพระคันรถจนาจารย์ผู้แต่งหนังสือภาษามคธ เช่นเรื่องชินกาลมาลินีมาแปลนามเรียกในภาษามคธว่าอุทุมพรบุปผาอันมีชื่อคนที่เรียกว่า ดอกมะเดื่อ หรือ มะเดื่อ หรือเดื่อ เห็นจะมาแต่นิมิตที่เกิดเวลาดอกมะเดื่อบานทั้งนั้น น่าจะมีมาแต่ก่อนเก่า พระนามเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อก็คงเป็นแต่คำคนเรียกกันเช่นเรียก “เจ้าฟ้าปิ๋ว” บางทีพระเจ้าบรมโกศจะเอานิมิตนั้นแปลงเป็นภาษามคธจารึกพระสุพรรณบัฏว่า เจ้าฟ้าอุทุมพรก็จะเป็นได้ดอกกระมัง

เรื่องที่ว่าแผนผัง พระอุโบสถวัดบวรนิเวศทำเป็นจตุรมุขอย่างรูปเมรุศพจอมมารดาของพระองค์เจ้าดารา ท่านไปทรงพิจารณาเห็นว่ามุขเป็นของต่อต่อภายหลังนั้น ข้อที่ว่าทำตามแผนผังเมรุ หม่อมฉันเคยได้ยินสมเด็จพระมหาสมณตรัสว่า เสด็จพระอุปัชฌาย์เคยตรัสเล่าอย่างนั้น เมื่อมาอ่านพระวิจารณ์ของท่านในลายพระหัตถ์ฉบับนี้ หวนรำลึกถึงหม่อมฉันเคยพิจารณามาแต่ก่อนออกเห็นชอบตามพระดำริและเห็นทางที่จะผูกเรื่องการสร้างได้ดังนี้ คือแผนผังพระอุโบสถแรกสร้างเป็นอย่างโบสถ์สามัญ เข้าไปสุดเพียงหลังที่ตั้งพระประธาน (ท่านองค์ใหญ่) ซึ่งเชิญมาจากวัดสระตะพานเมืองเพชรบุรี ชะรอยจะเป็นเมื่อเชิญพระพุทธชินสีห์ลงมาจากเมืองพิษณุโลก ไม่มีที่จะตั้งให้เหมาะ กรมพระราชวังบวรจึงทรงพระดำริต่อมุขจากพระอุโบสถเป็นที่ตั้งพระพุทธชินสีห์ จะต่อแต่มุขเดียวเห็นไม่งามจึงต่อออกจากด้านข้างอีก ๒ มุข มุขหลังตั้งพระพุทธชินสีห์ มุข ๒ ข้างทรงหล่อพระพุทธรูปยืนขนาดสูงสัก ๖ ศอก ตั้งไว้มุขละองค์เห็นจะทรงอุทิศถวายสมเด็จพระบรมชนกนาถองค์ ๑ ต่อพระชนนีองค์ ๑ และมีเรื่องต่อมาว่า เมื่อกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคตแล้ว สมัยเมื่อทูลกระหม่อมทรงผนวชครองวัดบวรนิเวศอยู่นั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสแก่ทูลกระหม่อมว่า วัดบวรนิเวศยังไม่มีพระเจดีย์ว่าจะทรงช่วยสร้าง ทูลกระหม่อมจึงขอให้ย้ายพระพุทธชินสีห์เข้าไปไว้ในพระอุโบสถ และรื้อวิหารหลังเอาที่สร้างพระเจดีย์ เคยได้ยินมาดังนี้ ทูลเท่าที่จำได้ในเวลาร่างจดหมายฉบับนี้ อาจพลาดพลั้งบ้างก็เป็นได้

เรื่องเบ็ดเตล็ดในปีนัง

เดิมหม่อมฉันหมายจะทูลบรรเลงเรื่องพิธีแต่งงานสมรสในปีนังในจดหมายฉบับนี้ แต่เขียนมาจนถึงวันพฤหัสบดีที่ ๑๔ สิงหาคมอันเป็นกำหนดส่งไปรษณีย์ยังไม่สิ้นเรื่อง ขอประทานผลัดไว้ถวายต่อคราวเมล์หน้า

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ