วันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น

ตำหนกปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๕ กันยายน ๒๔๘๒

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

เมื่อวันที่ ๙ กันยายน อันเป็นวันกำหนดเมล์ ได้รับลายพระหัตถ์ฉบับเล็ก ลงวันที่ ๖ กันยายน ตรัสบอกว่าที่ปีนังเขากำหนดให้ส่งหนังสือก่อนวันเมล์สองวัน เพื่อผ่านการตรวจ ทรงเกรงว่าลายพระหัตถ์เวรจะค้างข้ามเมล์วันเสาร์ไป จึงตรัสบอกไปให้ทราบเสียก่อน ลายพระหัตถ์เวรก็ไม่ได้รับในเมล์วันเสาร์นั้นจริงๆ แต่คลาดไปถึงเมล์วันอังคารก็ช้าไปอีกสามวันไม่เป็นไร ครั้นถึงวันอังคารก็ได้รับลายพระหัตถ์เวรลงวันที่ ๖ กันยายนสมดั่งคาด ลายพระหัตถ์ฉบับนี้มีรอยตัดซอง แล้วกลับปิดด้วยกระดาษอันมีหนังสือว่าผ่านการตรวจแล้ว แต่ลายพระหัตถ์ฉบับเล็กก่อนไม่มีรอยตัดซอง มีแต่ตราประทับอันมีหนังสือบอก ว่าได้ผ่านการตรวจแล้วเท่านั้น หนังสือเวรซึ่งมีไปมาถึงกัน ใครจะตัดตรวจที่ไหนเมื่อไรก็ไม่รังเกียจ ไม่มีอะไรอยู่ในนั้นนอกจากเรื่องบรมสมกัปป์ ตามพระราชดำรัสสั่งให้เขียนชื่อและ ตำแหน่งที่อยู่ไว้ที่หน้าซองนั้น หญิงอามได้ปฏิบัติก่อนหน้าที่ได้รับสั่งแล้ว

สนองลายพระหัตถ์เวร

แต่นี้จะกราบทูลสนองความในลายพระหัตถ์เวรแต่ลางข้อ

เรื่องพระราชลัญจกร เป็นจับปูใส่กระด้งจริงเหมือนตรัส พระราชลัญจกรองค์ที่มีหีบเพลงตามที่ตรัสถึงนั้นก็ได้เคยเห็นเหมือนกัน แต่ก็จำหน่ายไม่ตกเหมือนกันว่าเก็บไว้ที่ไหน ในการที่ได้กราบทูลมาก่อนว่าได้สั่งให้หญิงอามช่วยสังเกตดูรูปเขียนพระราชลัญจกรที่บานแผละพระทวารพระที่นั่งจักรพรรดิมาบอกนั้น เห็นจะล้ม ดังจะทอดพระเนตรเห็นได้ในใบพิมพ์กำหนดการเฉลิมพระชนม์พรรษา ซึ่งได้ส่งถวายมาด้วยในครั้งนี้ ว่าเธอพ้นหน้าที่อันจะต้องเข้าไปถึงท้องพระโรงหน้าพระที่นั่งจักรพรรดิแล้ว

เรือหล่อที่บนกำแพงแก้วมณฑปพระพุทธบาทนั้น เกล้ากระหม่อมก็จำไม่ได้ถนัดว่าหัวหางเป็นอย่างไร สังเกตไว้แต่ว่าหัวหางข่มเรือลำอย่างพระดำรัสจริง แต่ไม่ใช่เรือกิ่ง และในลำเรือที่มีเทียนปักนั้นแน่ นี่เป็นจำได้แน่สามารถยืนยันได้ ที่พระพุทธบาทนั้น มีสิ่งที่ดีอาจเป็นครูได้ก็มาก ที่เป็นสวะก็มาก สิ่งที่ดีก็จำได้มาก สิ่งที่เป็นสวะก็จำได้น้อย การลอยกระทงเป็นพิธีที่มีมาเก่าแก่ ลอยทำไมก็มีคนอยากทราบมูลเหตุกันมานานแล้ว แล้วก็มีคนอธิบายกันไปร้อยสีร้อยอย่าง

พระดำริเรื่องพระแท่นเศวตฉัตรมีคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง จะกราบทูลในทางช่างเพื่อประกอบทางพระดำริ อันพระแท่นองค์ที่ตั้งอยู่ในพระที่นั่งอมรินทร์นั้น จะเป็นของทำใหม่พร้อมกับพระที่นั่งดุสิตหาได้ไม่ ด้วยลวดลายแห่งพระแท่นองค์นั้นฟ้องตัวเองอยู่ ว่าเป็นฝีมือช่างครั้งรัชกาลที่ ๑ แต่พนักนั้นก็ฟ้องตัวเองอยู่เหมือนกันว่าทำในรัชกาลที่ ๓ สมเป็นว่าทิ้งเสียนานแล้วจนพนักเป็นอันตรธานไป แล้วไปเก็บมาซ่อมแซมเพิ่มเติมขึ้นใหม่ เหตุใดจึงยืนยันว่าพนักนั้นทำในรัชกาลที่ ๓ เหตุด้วยเป็นลายชนิดที่ช่างเขาเรียกกันว่า “ลายเทศพุดตาน” อันฮือทำกันขึ้นในรัชกาลที่ ๓ ถ้าใครทำไม่ได้ก็ออกจะไม่ใช่คนเป็นเหตุให้ผู้ทำต้องทำตามสมัย ด้วยวิตกกลัวจะไม่เป็นคน

พระแท่นประดับมุกองค์ซึ่งตั้งอยู่ในพระที่นั่งดุสิตเวลานี้ เป็นของทำแต่รัชกาลที่ ๑ เหมือนกัน ไม่ใช่ของทำใหม่ภายหลัง ด้วยจำได้ว่าเป็นลายของครูตู้มุกให้อย่าง เป็นพวกเดียวกันกับพระแท่นบรรทมประดับมุกกับตู้พระสมุดอีกคู่หนึ่ง ซึ่งเห็นอยู่ที่หอพระมนเทียรธรรมก่อน เดี๋ยวนี้ยกย้ายเอาพระแท่นบรรทมประดับมุกมาไว้พระที่นั่งดุสิตใช้เป็นพระแท่นมณฑล เห็นจะให้เข้าชุดกับพระแท่นเศวตฉัตร อันพระแท่นเศวตฉัตรประดับมุกนั้น สังเกตเห็นว่าได้ทำแก้ไขมาถึงสามรุ่น รุ่นที่ ๑ องค์พระแท่นทำในรัชกาลที่ ๑ ส่วนพนักนั้นรุ่นที่ ๒ ทำในรัชกาลที่ ๓ ทราบได้ที่เป็นลายมังกรจีน เหตุใดจึงต้องทำพนักใหม่ ถ้าว่าตามอย่างพระแท่นในพระที่นั่งอมรินทร์ ก็จะต้องว่าเป็นของที่เคยทิ้งมาเสียแล้วเหมือนกัน มาจัดการซ่อมใช้ขึ้นในรัชกาลที่ ๓, รุ่นที่ ๓ ลายในท้องไม้คือที่หลังรูปภาพ เป็นของทำใหม่ เป็นลายอย่างเลวๆ กะว่าทำในรัชกาลที่ ๔ พอจะเดาได้ว่าเดิมคงประดับกระจก อย่างเดียวกับพระแท่นบรรทมซึ่งยกเอามาใหม่ เห็นไม่เข้าเป็นชุดเดียวกันจึงทำแก้เสียเวลาที่ทำก็เห็นจะพอเดาได้ ว่าแก้คราวทำพระแท่นมุกเตี้ยๆ สำหรับประทับออกขุนนางที่หน้าพระแท่นเศวตฉัตรนั้น อันพูดกันว่าพระองค์ใดหรือใครทำถวายในรัชกาลที่ ๔ เมื่อได้ทำพระแท่นออกขุนนางแล้ว ก็เลยให้ทำแก้พระที่นั่งเศวตฉัตรเสียด้วย การประดับกระจกนั้นก็มิใช่การทำผิด ได้แก่ทำมุกแกมเบื้อนั่นเอง พระแท่นเศวตฉัตรประดับมุขนั้น น่าสงสัยว่าจะทำขึ้นให้เป็นชุด พร้อมด้วยพระแท่นบรรทมกับตู้พระสมุด เป็นของที่จะต้องใช้ตั้งประจำพระที่นั่งองค์ใดองค์หนึ่ง จึงมีปัญหาว่าจะตั้งประจำพระที่นั่งองค์ใดเล่า แล้วทำไมจึงไล่พระแท่นบรรทมกับตู้พระสมุดไปไว้หอพระมนเทียรธรรมแยกเอาพระแท่นเศวตฉัตรมาไว้พระที่นั่งดุสิต อันพระแท่นเศวตฉัตรนั้น สมจะตั้งหน้าท้องพระโรงในที่มุขเด็จ ใช้เป็นที่เสด็จออกกลางแจ้ง เพราะเอาร่มเข้ามากางกั้นในหลังคาดูไม่เข้าทีเลย แต่ที่ว่านี้ว่าถึงมูลราก ไม่ได้หมายถึงชั้นกรุงรัตนโกสินทร์

พระแท่นมุกที่พระที่นั่งดุสิตเล็กกว่าพระแท่นทองในพระที่นั่งอมรินทร์เมื่อดูคนละทีก็ทราบไม่ได้ ที่ทราบได้นั้นเพราะสงกรานต์คราวที่แล้วมานี้ พระที่นั่งอมรินทร์กำลังซ่อมแซม กองพระราชพิธีสำนักพระราชวัง เขาคิดจะย้ายมาทำที่พระที่นั่งดุสิต แต่ทำไม่ได้ เพราะกะที่ตั้งพระบรมอัฐิและพระอัฐบนพระแท่นเศวตฉัตรมุกมีที่ไม่พอตั้ง จึงต้องคงทำที่พระที่นั่งอมรินทร์ทั้งกำลังซ่อมแซมอยู่นั้น เมื่อได้ทราบเช่นนั้นแล้วก็สังเกตเห็น ว่าพระแท่นมุกในพระที่นั่งดุสิตนั้นทำฐานตากมาก พระแท่นทองในพระที่นั่งอมรินทร์นั้นตากน้อย ที่จริงเชิงฐานก็เห็นจะไล่เลี่ยกัน

อันพระแท่นเศวตฉัตร ถึงจะมีปรากฏอยู่ในหนังสือ “ไป่นานกาคาบฟ้อง” ก็ดี แต่ก็ปรากฏอยู่ในหนังสือกรฝัดเป็นอันว่าไม่มี จะต้องสันนิษฐานว่ายกมาตั้งจำเพาะเวลาการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเท่านั้น พระที่นั่งบุษบกมาลาแต่ก่อนอยู่เตี้ย เช่นเดียวกับบุษบกเกรินในวังหน้าเป็นแน่ ต้องลงอัฒจันทร์พระที่นั่งไพศาลมาก่อน แล้วจึงขึ้นบุษบก เป็นการพิโยคพิเกณฑ์ไม่น้อย ที่ทำฐานต่อให้สูงขึ้น จะเป็นคิดจากความสะดวกที่ไม่ต้องทำขึ้นรันทร์ลงจันทร์ ไม่ใช่หลบหนีพระแท่นเศวตฉัตรก็เป็นได้ เวลาทำฐานหนุนยกคงเป็นเวลาเดียวกันกับก่อแก้หมู่พระที่นั่งจักรพรรดิเป็นตึก พระที่นั่งทั้งหมู่นั้นเดิมเป็นไม้ ปรากฏในคำของกรฝัดนั้นก็อย่างหนึ่ง กับทั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ตรัสว่า กรมสมเด็จพระสุดารัตนเล่าถวาย ว่าเมื่อทรงพระเยาว์ได้ทรงปีนบัวกำแพงแก้วที่ท้องพระโรงหน้า เพื่อทอดพระเนตรออกไปภายนอก แล้วตรัสอธิบายว่าแต่ก่อนท้องพระโรงหน้าไม่มีผนัง เป็นเสาไม้โปรง มีแต่กำแพงแก้วกั้นอยู่ในระหว่างเสา พิจารณาก็เห็นจริง ที่พระที่นั่งเหล่านั้นหมดทั้งหมู่ มีเสาก่ออิฐสี่เหลี่ยมโตๆ กับทั้งที่เรียกว่าช่องกบอันเป็นแบบสมัยรัชกาลที่ ๓ ไปทั้งนั้น

ข่าวในกรุงเทพ ฯ

จะกราบทูลข่าวกรุงเทพฯ แต่ข่าวที่ควรทรงทราบ พระยามนตรีสุริยวงศ์ (เชียน บุนนาค) ถึงแก่กรรมเสียแล้ว เขาส่งใบดำมาให้บอก ว่าเป็นโรคเส้นโลหิตตีบและวักกพิการ กำหนดอาบน้ำศพวันที่ ๑๑ กันยายน เกล้ากระหม่อมไม่สามารถไปได้ ด้วยรับเชิญการรดน้ำบ่าวสาวที่บ้านเจ้าพระยามหิธรไว้เสียแล้ว เวลาใกล้กันจะไปก็ไม่ทัน ต้องแต่งตัวใหม่ด้วย เพราะเป็นงานมงคลและอวมงคลไปคนละอย่างทีเดียว สังเกตว่าใบดำใบแดงเดี๋ยวนี้มากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก

กับเมื่อวันที่ ๑๑ นั้น ได้รับหมายในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนม์พรรษาซึ่งสำนักพระราชวังส่งมาให้ ได้ถวายใบพิมพ์หมายกำหนดการละเอียดมาให้ทรงทราบพร้อมกับหนังสือนี้แล้ว เมื่อถึงงานเห็นอะไรละเอียดขึ้นไปกว่าที่กล่าวไว้ในหมาย ก็จะได้กราบทูลมาให้ทรงทราบทีหลัง

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ