วันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๔๘๒

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์เวรลงวันที่ ๑๕ มิถุนายน ได้รับประทานแล้วสนุกดี

วรรคตอบข้อความในลายพระหัตถ์

ความรู้สึกสนุกในการเล่นนั้น จางไปเพราะความแก่ด้วยอย่างหนึ่งเป็นแน่นอน อะไรก็ออกจะเชื่อไปเสียทั้งนั้น อ่านหนังสือพิมพ์พบเขาพูดเล่นเป็นตลก ถามว่าทำดีคืออะไร แล้วเขาก็ตอบเองว่าคือทำงานให้แก่ผู้ใหญ่ซึ่งไม่ทำอะไร ให้รู้สึกชอบใจเห็นออกจะถูก ด้วยธรรมดาผู้ใหญ่คือคนแก่ อะไรก็ย่อมเสื่อมถอยไปทุกอย่าง จะทำอะไรให้เหมือนเมื่อยังหนุ่มยังสาวย่อมไม่ได้จำต้องอาศัยคนอื่นอยู่เอง

เรื่องเจ้าแก้วนวรัฐนั้น หม่อมศิริวงศ์ (ฉายฉัน) เมียเป็นสกุล ณ เชียงใหม่ พากันขึ้นไปในการศพเจ้าแก้ว กลับมาถึงสอบถามได้ความว่า เจ้าแก้วนั้นเจ็บเป็นโรคหัวใจ ถึงพิราลัยด้วยหัวใจหยุด เมื่อได้ความเช่นนั้นก็เป็นอันเข้าใจได้ ว่าที่ขัดหัวเข่าก็เป็นด้วยหัวใจอ่อน ส่งเลือดไปรักษาอวัยวะทุกส่วนไม่ได้พอ ตามที่ตรัสอธิบายถึงประเพณีศพเจ้าในมณฑลพายัพว่าแต่ก่อนเขาแต่งใส่หีบไว้ ไปเปลี่ยนใส่โกศของพระราชทานเอาเมื่อเวลาเผานั้น เป็นอันได้ความรู้ที่ไม่เคยรู้อย่างพอใจที่สุด เดี๋ยวนี้มีรถไฟที่จะส่งของพระราชทานไปได้เร็วกว่าแต่ก่อน ก็ต้องเปลี่ยนธรรมเนียมเป็นรอรับของพระราชทาน ในการรอนั้นก็ไม่ได้ทำให้เกิดเหตุวิปลาสอะไร ด้วยวิชาสมัยใหม่เกิดมีมาตามการ เขาฉีดยาแก่ศพไว้ จะรอสักกี่วันก็ได้

ข้อพระปรารภเรื่องประกอบโกศนั้น เป็นธรรมดาที่สุดที่สิ่งใดยิ่งได้ยาก ก็ยิ่งเป็นสิ่งที่คนปรารถนา เมื่อยอมให้เป็นพิเศษคราวหนึ่งแล้วก็มีพิเศษมาร่ำไป เข้าสุภาษิตก็ว่า “เป็นธรรมเนียม”

พระดำริเรื่องชื่อเมืองพระบางนั้น ชอบด้วยเหตุผลทุกประการแล้ว แต่ที่ทูลถามมาก็เป็นการคลำหา ว่าฝ่าพระบาทจะได้ทรงทราบเค้าเงื่อนอะไรที่เป็นหลักฐานบ้างหรือไม่ในการที่ได้ชื่อเช่นนั้น อันคำว่าเมืองหลวงก็แปลว่าเมืองใหญ่ ประเทศที่ใหญ่จะมีเมืองใหญ่หลายเมืองก็อย่างว่าเมืองเอก ย่อมไม่ประหลาดอะไร คำว่าเขาหลวง ก็หมายความว่าเขาใหญ่ นายหลวง ก็หมายความว่านายใหญ่ แล้วก็เคลื่อนไปเป็นในหลวง ซึ่งไม่สมควรจะหมายว่าเป็นองค์พระราชา ซ้ำคำว่าหลวง ก็เข้าใจเคลื่อนไปเป็นว่า Royal มีอย่างเช่นวัดท่าหลวงที่เมืองพิจิตร เทศาพระขึ้นไปเปลี่ยนเป็นคำมคธ เรียกว่าวัดราชดิตถ์ ผิดอย่างเอกอุ เมื่อเอาคำที่เข้าใจผิดไปปรับเข้ากับคำเก่าก็ย่อมลงกันไม่ได้อยู่เอง

เสียใจมากที่ไม่ได้ทราบลักษณะพระพุทธรูปที่เรียกว่าพระบาง ตัวเองก็ไม่เคยเห็น ฝ่าพระบาทก็ตรัสบอกไม่ได้ ด้วยไม่เคยทอดพระเนตรเห็นองค์พระเหมือนกัน เลยไม่สามารถที่จะหยั่งลงว่าเป็นของเก่าใหม่เพียงไร เป็นของทำเมืองขอมหรือทำในลาวกาว

พระพุทธรูปหล่อทองบางอันมีอยู่ตั้งพ้อมนั้น พระองค์เจ้าประดิฐวรการท่านได้พิจารณา ท่านเห็นว่าทำคนละวิธีที่หล่อกันอยู่ตามปกติทีเดียว เขาตีพิมพ์ดินเป็นรูปพระขึ้นอย่างสมบูรณ์ แล้วที่จะเคี่ยวขี้ผึ้งให้ละลาย เอาหุ่นพระชุบลงไปให้ติดขี้ผึ้งขึ้นมา หาใช่ทำหุ่นดินเพียงแต่โกลน ๆ แล้วปั้นขี้ผึ้งทับอย่างเช่นเราทำกันอยู่ไม่ ถ้าปั้นขี้ผึ้งแล้ว จะให้บางอย่างนั้นหาได้ไม่

ข้อพระวินิจฉัยในการแต่งหนังสือภาษามคธกันในเมืองไทย เอาอย่างหนังสือมหาวงศ์ในลังกานั้น จับใจเป็นล้นพ้น การเอาอย่างนั้นเป็นทางดีและจำเป็น แต่ถ้าเอาอย่างทุกกระเบียดนิ้วก็กลับแสดงว่าเขลา หนังสือมหาวงศ์แต่งพงศาวดารลังกาคงไม่ขัดข้องด้วยเรื่องชื่อ เพราะภาษาลังการากเดียวกับภาษามคธ เราเอาอย่างมาแต่งพงศาวดารไทยซึ่งภาษาไม่ใช่รากมคธ จึงเกิดความลำบากขึ้นที่ชื่อ แต่ที่แท้ไม่เห็นจะลำบากอะไร เขียนชื่อไปตามภาษาไทยด้วยหนังสือขอมอย่างแปลร้อยก็แล้วกัน เหมือนอย่างความเห็นสมเด็จพระสังฆราชวัดราชประดิษฐ์ ท่านว่าการสวดกฐินเช่นสมภาร ชื่อ เกิด สวดว่า เกอ ตสฺส ภิกฺขุโน ไปก็แล้วกัน ทำไมจะต้องหาคำมคธอะไรมาเปลี่ยนเป็นชื่อให้ลำบากไปเปล่าๆ ข้อนี้ก็เหมือนกับการแต่งหนังสือเอาอย่างคัมภีร์มหาวงศ์ ต้องเปลี่ยนชื่อไทยให้เป็นภาษามคธเสียด้วย อย่าหาแต่ว่าผู้แต่งเป็นภาษาต่างประเทศจะคิดดัดแปลงคำไปเสียเลย ถึงผู้เขียนจะไม่ได้ตั้งใจดัดแปลง แต่แปลออกก็ยังเคลื่อนคลาดไปได้ เช่นฝรั่งเขาจะแต่งเรื่องเมืองภูเก็ต เขียนชื่อ ทุ่งคา (ทางโน้นเห็นจะออกเสียงว่าท่ง อย่างที่มีในโคลงฉันท์) แต่แปลออกเป็น ตองแก ทั้งเขาแต่งเรื่องเมืองเวียงจันทน์ ว่ามีสิ่งสำคัญอยู่ที่นั่น คือพระธาตุ ก็แปลออกเป็นว่าพระแทต แม้กระนั้นเกล้ากระหม่อมก็ทราบว่าคืออะไร ไม่ขัดข้องแต่เห็นขัน

เรื่องประกานอภัยทานนั้นดีเต็มที สมควรที่สุดที่จะพึงปฏิบัติเช่นนั้น ข้อที่แขกทมิฬคนทำสวนรับสินบนจับนกกระจอกไปขายนั้น เป็นธรรมดาเท่านั้นเอง ไม่ใช่เพราะใจทมิฬหินชาติ แม้จะเป็นแขกมลายูก็อาจรับสินบนได้เหมือนกัน การที่เราใส่โทษให้แก่แขกทมิฬนั้น เป็นการที่เราเอาอย่างลังกามาเพลินไป เหมือนเอาอย่างมหาวงศ์ แต่ที่จริงแขกทมิฬมิได้ทำอะไรให้เรา อันเป็นทางที่ควรจะคุมแค้นถึงตราหน้าเสียเลย ที่แท้เราจะไม่รู้จักแขกทมิฬเสียด้วยซ้ำ นึกถึงสัตว์ก็น่าประหลาด ทำไมมันจึงรู้ ว่าที่ไหนปราศภัยก็พากันไปอาศัยอยู่ที่นั่นมาก เช่นปลาที่หน้าวัดก็มีมากกว่าที่อื่น หรือเพราะหน้าวัดได้ความอารักขาแต่พระ ใครจับไม่ได้ ที่นั้นจึงมีปลามากกว่าที่อื่นโดยธรรมดาเท่านั้นก็เป็นได้ เหมือนสัตว์ซึ่งเข้าไปอาศัยอยู่ที่ตำหนัก ที่อื่นเขาสังหารมันเสีย แต่ที่ตำหนักได้รับอภัยทาน จึงมีสัตว์อยู่มากกว่าที่อื่นก็ได้เหมือนกัน

วรรคการพิธี

วันที่ ๑๖ มิถุนายน สำนักพระราชวังออกหมาย ๓ ฉบับ

๑) หมายบอกพระราชทานน้ำสังข์ แก่หม่อมเจ้าประสมสวัสดิ์ สุขสวัสดิ์ กับหม่อมเจ้าหญิงกาญจนฉัตร ที่พระที่นั่งจักรี เนื่องในการสมรส กำหนด ณ วันที่ ๒๐ มิถุนายน เวลา ๙.๓๐ น.

๒) หมายบอกการฉลองสนธิวิสัญญา ที่พระลานดุสิต กำหนด ณ วันที่ ๒๔ มิถุนายน เวลา ๑๓.๓๐ น. แต่งเต็มยศ

๓) หมายบอกนายกรัฐมนตรี จะก่อฤกษ์อนุสาวรีย์ “ประชาธิปไตย” วันที่ ๒๔ มิถุนายน ระหว่างเวลา ๙.๑๖ ถึง ๙.๕๗ น. แต่งเต็มยศ

ใบดำเชลยศักดิ์

๔) บอกกำหนดทำบุญ ๕๐ วัน ที่ศพหม่อมเจ้าหญิงอัปษรสมานที่วังกรมพระจันทบุรี กำหนต ณ วันที่ ๒๑ มิถุนายน เวลา ๑๗.๐๐ น. กับวันที่ ๒๒ มิถุนายน เวลา ๑๐.๓๐ น.

วรรคเบ็ดเตล็ด

ขอประทานทูลสอบถามว่า ตราน้อยนั้นเกิดขึ้นเมื่อไร ได้ทรงทราบเค้าบ้างหรือไม่ คิดด้วยเกล้าว่าน่าจะไม่มีก่อนรัชกาลที่ ๓ เพราะในกฎหมายไม่เคยพบ กล่าวถึงตราน้อยนั้นอย่างหนึ่ง พระราชลัญจกรก็ไม่มีพระราชลัญจกรองค์น้อยเหนือรัชกาลที่ ๔ ขึ้นไป นั่นก็อีกอย่างหนึ่ง ตราน้อยของเสนาบดีแต่ก่อนมาก็ไม่ทั่วกันทุกกระทรวง อันจะพึงถือเอาได้ว่าเป็นประเพณีต้องมี เห็นมีใช้เป็นล่ำเป็นสันอยู่ก็แค่กระทรวงมหาดไทย ตราใหญ่ใช้ดำเนินกระแสพระบรมราชโองการสั่งราชการ ตราน้อยนั้นใช้ประจำตัวเสนาบดีสั่งราชการ กระทรวงกลาโหมก็มีตราน้อยเหมือนกัน แต่ดูเหมือนไม่ได้เรียกว่าตราน้อย เรียกไปเสียอีกทางหนึ่งว่าคชสีห์เดินดง ดูเหมือนเคยแว่วได้ยินตำนานเล่าว่าเสนาบดีคนหนึ่ง จะเป็นครั้งไหนก็ไม่ทราบ ออกไปเที่ยวเดินป่า แม้ตามสมัยนี้ก็ต้องว่าออกไปตรวจราชการหัวเมือง จะเอาตราใหญ่ไปกับตัวเขาก็ไม่ยอมให้ จึงต้องสร้างตราคชสีห์เดินดงขึ้นใช้สำหรับตัว ถ้าถือตามวิถีอันนี้แล้ว ข้าราชการต่างๆ ผู้ไม่มีหน้าที่ดำเนินกระแสพระบรมราชโองการสั่งราชการแล้ว จะมีตราใหญ่ตราน้อยเป็นคู่ไว้เพื่อประโยชน์อะไร นอกไปจากมีไว้เพื่อยศ ซึ่งไม่มีโอกาสที่จะได้ใช้ทั้งสองดวงเลย

กระทรวงมุรธาธรพระราชทานตราอะไรไป ดูเหมือนนารายณ์ยืนแท่น ใช่หรือไม่ใช่

จะกราบทูลเรื่องอันเล็กน้อยแต่มาสะดุดใจ คือได้เห็นรูปคนพม่าหนังสือพิมพ์เขาตีพิมพ์ลงเป็นข่าวจืดๆ ว่าท่านผู้นั้นจะกลับไปย่างกุ้ง แต่มีเคมจับเอาใจที่ชื่อใต้รูป บอกไว้ว่า อู บาทิน ทำให้จิตตวัดไปว่าอุบากองของเราจะเป็น อู บากอง เสียดอกกระมัง กับได้เห็นในหนังสือพิมพ์เหมือนกัน ว่าชาวอินเดียเรียกพม่าว่า พรหมา (ตามเสียงในอินเดียก็เป็น ป๎ระ – ห๎มา) จะจริงหรือไม่จริงก็ช่างเถอะ ถ้าไม่จริงก็เป็นความคิดประดิษฐ์ของผู้เขียนลงพิมพ์ รู้สึกว่าเหยียดสำคัญมาก

จะกราบทูลแถมเรื่องมูเซียมปะเลมบังต่อไปอีก ด้วยได้ทูลถวายแต่ตัวมูเซียม ส่วนสวนที่ล้อมรอบอยู่ยังไม่ได้กราบทูล เขาตั้งชิ้นหินต่าง ๆ ไว้บ้าง แต่โดยมากไม่รู้ว่าอะไร เช่นแท่นมีรูอยู่บนนั้นเป็นต้น ที่เป็นรูปภาพจำมาได้แต่ที่จะทูลถวายต่อไปนี้

๑) พระพุทธรูปนั่ง ประมาณขนาดจะใหญ่กว่าคนสักเล็กน้อย พระองค์หักแตกกะเทาะเห็นไม่ได้ว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร เหลือดีอยู่แต่พระพักตร์ไม่เหมือนพระพักคร์พุทธรูปที่โบโรบุดูร์ และไม่เหมือนพระพักตร์พระโพธิสัตว์ครั้งศรีวิชัยบรรดาที่เราได้มา สัณฐานไปทางพระพุทธรูปอย่างที่เราเรียกว่าสะดุ้งมาร

๒) พระพุทธรูปยืน แต่มีเพียงใต้พระโสณี แตกกะเทาะหมดตั้งแต่พระพักตร์ตลอดพระองค์ เห็นอะไรไม่ได้นอกจากว่าเป็นพระพุทธรูปเท่านั้น อาจมีใครทุบต่อยเสียเพื่อทำลาย

๓) รูปทหารจับช้าง ช้างนั้นออกจะไม่เป็นรูปช้าง ดูเป็นฉลักประจบก้อนหินซึ่งควรจะฉลักเป็นช้างได้ ไม่มีขา อาจมีต่อเป็นหินอีกก้อนหนึ่งก็ได้ แต่ไม่ได้มา มีทหารท่าโผนจับช้างอยู่ทั้งสองข้าง ทหารนั้นตัวโตเกือบเท่าช้างสเคลไม่ดีอย่างเอก ทั้งฉลักตื้นๆ อย่างรูปภาพอิยิปต์ที่เขาฉลักไว้ตามเสาและตามฝา ถ้าจะพูดรวบให้ง่ายก็คือจารเป็นรูปไว้บนก้อนหินเท่านั้น หมดนั้นไม่ได้ความพอใจอะไรเลย.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ