วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๒๖ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๘๒

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

ลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๑๙ มีนาคม มาถึงหม่อมฉันแล้วโดยเรียบร้อย เป็นแต่สัปดาหะนี้พนักงานไปรษณีย์ส่งมาต่อวันเสาร์ช้าไปวันหนึ่ง เพราะวันศุกร์เป็น Good Friday นักขัตฤกษ์อีสเตอร์ ซึ่งสมมติว่าตรงกับวันปลดศพพระเยซูลงจากไม้กางเขน เป็นวันหยุดงานของเขา

สนองความในลายพระหัตถ์

ในลายพระหัตถ์ตรัสออกชื่อเมืองสงขลาเตือนใจให้หม่อมฉันนึกถึงความรู้โบราณคดีข้อสำคัญเรื่องหนึ่ง ซึ่งหม่อมฉันรู้โดยมิได้คาด ดังจะเล่าถวายต่อไปนี้ เมื่อหม่อมฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ลงไปตรวจราชการหัวเมืองในแหลมมลายูครั้งหนึ่งที่เมืองไทรบุรี แล้วอยากจะเห็นเมืองปลิส เมืองสตูล ซึ่งเคยเป็นประเทศราชมลายูรวมอยู่ในมณฑลไทรบุรี จึงไปทางเรือถึงเมืองปลิสก่อน แล้วถึงเมืองสตูลซึ่งอยู่ต่อแดนพัทลุง ทางขึ้นบกอยู่ข้างลำบาก ต้องลงเรือพายเข้าไปในลำน้ำแล้วขึ้นบกขี่ช้างไปอีกระยะหนึ่งจึงถึงตัวเมืองสตูล เห็นพวกชาวเมืองที่มารับแต่งตัวเป็นมลายูอย่างเดียวกันกับพวกชาวเมืองไทรและเมืองปลิส สำคัญว่าเป็นมลายู จนคนที่ขี่คอช้างอยากกินน้ำ สั่งคนที่เดินแซงไปข้างช้างเป็นภาษาไทยว่า “มึงเอาลูกหมา (คือครุฑทำด้วยกาบหมาก) ตักน้ำมาให้กินสักที” หม่อมฉันก็นึกประหลาดใจว่าไฉนจึงพูดกันเป็นภาษาไทย ไต่ถามเจ้าเมืองกรมการเขาบอกว่าราษฎรชาวสตูลเป็นชาติ “สำสำ” มิใช่มลายู เหมือนมลายูเพียงถือศาสนาอิสลามเท่านั้น หม่อมฉันได้ความรู้นั้นมาค้นต่อไป พบในหนังสืออังกฤษเรื่อง ๑ ดูเหมือนเซอแฟรงก์เสวตเตนแฮมแต่ง มีวินิจฉัยว่าด้วยพวกสำสำ ว่าเดิมเป็นชนชาติไทยแต่ไปเข้ารีตถือศาสนาอิสลาม พวกมลายูจึงเรียกว่า “สยามอิสลาม” นานมาคำนั้นเป็นสำสำ ความที่จริงแท้จะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่เป็นหลักในทางโบราณคดีว่า ตั้งแต่สมัยสุโขทัยมาจนสมัยกรุงศรีอยุธยา ชนชาติไทยลงไปตั้งถิ่นฐานภูมิลำเนาเป็นเมืองไทยในแหลมมลายูทางฝ่ายตะวันออกเพียงเมืองสงขลา ทางฝ่ายตะวันตกเพียงเมืองสตูล สมัยนั้นคงเป็นอาณาเขตขึ้นเมืองนครศรีธรรมราชทั้ง ๒ เมือง แต่เมืองสตูลอยู่ในทางโคจรของพวกอาหรับที่มาสอนศาสนาอิสลาม ชาวเมืองจึงเข้ารีตแล้วเลยเข้าเป็นพวกเมืองไทร ซึ่งถือศาสนาเดียวกัน ฝ่ายเมืองสงขลาและสตูลลงไปชาวเมืองเป็นมลายูทั้งนั้น จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่ตีเมืองปัตตานีได้ในรัชกาลที่ ๑ ไทยจึงขยายไปตั้งภูมิลำเนาถึงมณฑลปัตตานี ยังมีเรื่องคล้ายกับที่เล่ามาอีกเรื่องหนึ่งจะเลยทูลต่อไป หม่อมฉันไปตรวจราชการหัวเมืองแหลมมลายูอีกครั้งหนึ่งทางฝ่ายตะวันออก เมื่อเข้าเขตเมืองกลันตันตอนต่อแดนเมืองระแงะ (ซึ่งเดี๋ยวนี้เรียกว่าจังหวัดนราธิวาส)เรือแล่นใกล้ฝั่งแลเห็นหมู่บ้านใหญ่ มีวัดพระพุทธศาสนาอยู่หลายวัด หม่อมฉันนึกแปลกใจจึงหยุดเรือแวะขึ้นไปดู พวกราษฎรที่พากันมารับล้วนแต่งตัวอย่างมลายูทั้งชายหญิง แต่พูดกันเป็นภาษาไทย หม่อมฉันถามถึงเรื่องตำนานของตำบลที่มลายูเรียกว่า “ตักใบ” นั้น ได้ความว่าเมื่อสัก ๒ ชั่วคนมาแล้ว มีพวกไทยที่ลงไปอยู่ในมณฑลปัตตานี ชอบแล่นเรือไปหาปลาทางแถบนั้นและมักขึ้นพักตากใบเรือที่หาดนั้น จึงเรียกกันเป็นภาษาไทยว่า “หาดตากใบ” ต่อมามีไทยในพวกนั้นไปตั้งอยู่ประจำ ด้วยเห็นเป็นที่ทำมาหากินได้สะดวกทั้งหาปลาและเพาะปลูก ฝ่ายเจ้าเมืองมลายูผู้ปกครองเมืองกลันตัน อยากได้ผู้คนพลเมืองให้มากขึ้น ก็เอาใจทำนุบำรุง จึงเลยเป็นเหตุให้ไทยทั้งพวกที่หาความสุขและที่หนีความเดือดร้อนพลอยย้ายตามลงไปอยู่บ้านตากใบมากขึ้นเป็นลำดับมา ที่หาดตากใบก็เลยเป็นตำบลบ้านใหญ่ แต่ไทยในตำบลตากใบคงถือพระพุทธศาสนาอยู่ตามเดิมจึงสร้างวัดเป็นที่ทำบุญตามประเพณี ความรู้ที่ได้เมื่อไปเมืองสตูลและแวะดูบ้านตากใบดังทูลมา มีผลให้ได้ทั้งเมืองสตูลและอำเภอตากใบไว้ในพระราชอาณาเขต เมื่อต้องโอนเมืองไทรกับเมืองกลันตันให้แก่อังกฤษ เพราะอ้างว่าราษฎรเป็นไทยมิใช่มลายู

ข้อที่อ้างว่าชื่อเมืองสงขลาเอามาแต่ชื่อเมืองสิงคโปร์นั้น หม่อมฉันได้เคยเห็นอ้างในหนังสือฝรั่งแต่เห็นไม่สนิท แต่ก็ไม่ทราบว่าที่ถูกจะว่ากระไร ถึงชื่อเมืองสังขละบุรีทางแม่น้ำน้อย แขวงจังหวัดกาญจนบุรียังไม่เคยคิด และยังคิดไม่เห็นว่าจะมาแต่อะไร ทูลได้แต่ว่าเมืองสังขละบุรีนั้นอยู่ต่อแดนพม่าทางพระเจดีย์ ๓ องค์ เจ้าเมืองเป็นกะเหรี่ยง ราษฎรก็เป็นกะเหรี่ยงโดยมาก

พระบาท ๔ รอยนั้น หม่อมฉันได้เคยสืบว่าที่มีในเมืองไทยแห่งไหนจะเป็นเก่าก่อนเพื่อน ได้ความว่าองค์เก่าที่สุดนั้นอยู่ที่เมืองเชียงดาวข้างเหนือเมืองเชียงใหม่ มีพระเถระชาวพระนครศรีอยุธยาองค์ ๑ ไปถ่ายแบบเอาลงมาสร้างที่นครหลวงเหมือนกันและขนาดเท่ากันกับพระบาทที่เมืองเชียงดาวซึ่งก่อด้วยอิฐปั้นปูนเหมือนกัน พระบาท ๔ รอยองค์อื่นที่ได้เห็นทางข้างใต้ ดูเป็นของสร้างภายหลังองค์ที่นครหลวงทั้งนั้น ทำลักษณะต่างกัน ๒ อย่าง อย่างเดิมเช่นที่นครหลวงทำเหยียบรอยพระบาททับกันที่มุมซ้าย ส้นพระบาทแลเห็นเป็นรอยพระบาทถนัดทั้ง ๔ รอย อย่างใหม่ทำเป็นเหยียบตรงกันเต็มทั้งบาท ที่ลดขนาดรอยพระบาทลึกลงไปเป็นชั้น แลดูเหมือนขั้นบันไดรอบรอยพระบาท เป็นอย่างมักง่ายไม่น่าดู

การสร้างพระบาท ๔ รอยมาแต่คติที่แยกพระพุทธเจ้าออกบูชาเป็น ๔ องค์ต่างกัน บางแห่งทำเป็นพระพุทธรูป ๔ องค์ บางแห่งทำเป็นรอยพระพุทธบาท ๔ รอย แม้เรื่องตำนานพระแท่นศิลาอาสน์ก็อ้างว่า เมื่อพระพุทธเจ้ายังเสวยพระชาติเป็นสัตว์เดียรัจฉานได้เสด็จไปจำศีลที่ตำบลนั้นทั้ง ๔ พระองค์ เมื่ออุบัติตรัสรู้แล้วก็ได้เสด็จไปประทับยับยั้งที่พระแท่นนั้นทั้ง ๔ พระองค์ เป็นคติอันเดียวเนื่องกัน แต่หม่อมฉันเคยนึกฉงนมาตั้งแต่ไปเห็นวัดอานันทเจดีย์ที่เมืองพุกาม วัดนั้นเขาสร้างพระสถูปใหญ่เป็นศูนย์กลาง สร้างวิหารเป็นมุขต่อจากองค์พระสถูปออกไปทั้ง ๔ ทิศ ที่องค์พระสถูปตรงวิหารเข้าไปทำซุ้ม มีพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่เป็นพระประธานของวิหารเหมือนกันทั้ง ๔ ทิศ ในหนังสือนำทางอ้างว่พระพุทธรูป ๔ องค์นั้นเป็นรูปพระกกุสันธพุทธเจ้าองค์ ๑ รูปพระโกนาคมน์พุทธเจ้าองค์ ๑ รูปพระกัสสปพุทธเจ้าองค์ ๑ รูปพระสากยมุนีอังคีรสพุทธเจ้า องค์ ๑ หม่อมฉันพิจารณาดูเห็นว่าความคิดของช่างที่สร้างพระอานันทเจดีย์ น่าจะเอาวิหาร ๔ ทิศเป็นที่บูชาสร้างพระพุทธรูป ๔ องค์นั้นสำหรับวิหาร ให้สัปปุรุษบูชาพระพุทธเจ้าทั้งหมด หรือแต่พระสากยมุนีพุทธเจ้าได้พร้อมกันทุกวิหาร มิได้เจตนาจะสร้างเป็นรูปพระพุทธเจ้าต่างพระองค์ หากพวกอื่นมาสมมติเชือนไปจึงกลายเป็นพระพุทธเจ้าต่างพระองค์ ข้อนี้มีที่อ้างว่าในอาฏานาฏิยปริต อันนับถือกันว่าเป็นมนต์สำหรับป้องกันภยันตรายออกพระนามพระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ด้วยกัน เพราะเหตุใดจึงคัดพระวิปัสสิพุทธเจ้า พระสิขิพุทธเจ้า และพระเวสสภูพุทธเจ้าออกเสีย บูชาแต่พระกกุสันธพุทธเจ้ามาจนพระสากยมุนีอังคีรสพุทธเจ้าตามลำดับมาแต่ ๔ พระองค์เท่านั้น ข้อนี้คิดดูถ้าเอาวัดอะนันทเจดีย์เป็นที่อ้างน่าตอบว่าผู้ที่ถือคติบูชาพระพุทธเจ้าหลายพระองค์นับถือพระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ตามอาฏานาฏิยปริตอยู่ก่อน และใคร่จะให้มีรูปพระพุทธเจ้าทั้ง ๗ พระองค์ (เหมือนอย่างที่วัดชุมพลนิกายาราม) แต่ที่วัดอานันทเจดีย์มีพระประธานสร้างไว้แต่ ๔ องค์ และมีความจำเป็นที่จะต้องมีรูปพระสากยมุนีอังคีรสพุทธเจ้า ซึ่งคนนับถือยิ่งกว่าพระพุทธเจ้าพระองค์อื่น จึงต้องนับถอยหลังขึ้นไปครบจำนวนเท่าที่มีพระพุทธรูปเพียงพระพุทธกกุสันธ จึงต้องยุติเพียงนั้น จะเป็นเพราะเหตุใดก็ตาม คติที่สร้างเจดียวัตถุสำหรับบูชาพระพุทธเจ้าแต่ ๔ พระองค์ เช่นสร้างพระพุทธบาท ๔ รอยนั้นเห็นจะเกิดขึ้นต่อชั้นหลัง และไทยเราน่าจะได้คติมาจากทางเมืองพม่า จึงมีเจดีย์สถานเช่นนั้นแต่ทางฝ่ายเหนือ ที่เมืองสวรรคโลกสุโขทัย นึกไม่ได้ว่าได้เคยพบเจดียวัตถุสร้างอุทิศต่อพระพุทธเจ้าต่างกัน ๔ พระองค์ มีวิหารใหญ่ดูเหมือนที่วัดเชตุพน ทำพระประธาน ๔ องค์หันหลังหากันไว้กลางแห่ง ๑ ก็ทำเป็นพระ ๔ อิริยาบถ รอยพระพุทธบาทที่ชอบทำในสมัยสุโขทัยก็ล้วนแต่เป็นรอยพระบาทเดียว หามีพระบาท ๔ รอยไม่ แม้ที่พระนครศรีอยุธยาก็ไม่เห็นมีที่อื่นนอกจากที่นครหลวง ซึ่งเชื่อว่าสร้างในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อกรุงศรีอยุธยาร้างแล้ว

หนังสือประชุมกฎหมายไทยโบราณที่พิมพ์แจกในงานพระศพพระองค์เจ้าคำรบนั้น ถ้าคัดมาจากกฎหมายที่ดอกเตอร์แลงกาต์ชำระ หม่อมฉันมีอยู่แล้ว ด้วยดอกเตอร์แลงกาต์เขามีแก่ใจส่งมาให้ทุกเล่ม

หญิงโหลกับหญิงโสฬศเลื่อนกำหนดจะออกมาปีนังต่อวันที่ ๑๐ เมษายน เห็นจะหาฤกษ์ให้สบเวลารถไฟลดค่าโดยสาร

ข่าวทางปีนัง

อธิบายเรื่องลูกประคำที่หม่อมฉันทูลผัดมานั้น บัดนี้หาความรู้ได้บ้างแล้วแต่ยังไม่บริบูรณ์ตามปรารถนา ขอประทานผัดต่อไป

ในสัปดาหะที่ล่วงมาหม่อมฉันได้เห็นหนังสือราชกิจจานุเบกษาฉบับที่มีเรื่องตั้งสมณศักดิ์เมื่อเร็วๆ นี้ เพิ่งได้เห็นประกาศเลื่อนยศพระราชาคณะผู้ใหญ่ใน รัชกาลที่ ๘ เป็นครั้งแรก ประกาศเมื่อเลื่อนยศครั้งสมเด็จพระสังฆราชวัดสุทัศน์หาได้เห็นไม่ คราวนี้มีแก้ทำเนียบเดิมด้วยยศศักดิ์พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ขึ้นเป็นชั้นหิรัญบัฏ เสมอกับพระพิมลธรรมและพระธรรมวโรดม หม่อมฉันก็ยินดีด้วยพระอุบาลี (เผื่อน) ที่ได้มีศักดิ์สูงขึ้นเช่นนั้น เพราะเป็นมิตรชอบพอกันมาช้านาน อ่านดูรายชื่อพระองค์อื่นๆ ที่ได้เลื่อนยศไม่รู้จักโดยมาก มีรู้จักอย่างประหลาดองค์ ๑ หม่อมฉันอ่านเห็นแห่งหนึ่งว่า “พระครูสิริปัญญามุนี วัดโสมนัสวิหาร เป็นพระสิริปัญญามุนีราชาคณะ” นึกประหลาดใจด้วยไม่เคยได้ยินว่ามีพระครูสิริปัญญาอยู่ ณ วัดโสมนัสมาแต่ก่อน จึงไปถามพระมหาภุชงค์ว่าพระครูสิริปัญญาองค์ที่เลื่อนเป็นพระราชาคณะนั้นเดิมอยู่วัดไหน เธอบอกว่าพระครูสิริปัญญาองค์นั้นชื่อเยี่ยม อยู่มาในวัดโสมนัสนั้นเอง ได้ยินว่าเคยเป็นพระครูธรรมธรฐานานุกรมของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ยัง) ได้ยินอธิบายรู้ว่าเป็นผู้ซึ่งหม่อมฉันรู้จักและเคยคุ้นมาช้านาน เพราะตั้งแต่หม่อมฉันไปอยู่วังวรดิศทำบุญถวายทูลกระหม่อมเมื่อกลางเดือน ๑๑ เคยนิมนต์พระวัดโสมนัสเสมอ เมื่อพระสิริปัญญามุนียังเป็นฐานานุกรมเคยมาที่วังวรดิศทุกปีจึงคุ้นกันมาช้านาน หม่อมฉันไม่ทราบว่าได้รับสัญญาบัตรเป็นพระครูเมื่อใด จนมาทราบว่าได้เป็นพระราชาคณะจึงได้มีจดหมายไปอำนวยพรด้วยความยินดี

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ