วินิจฉัยเรื่องลายแทง

สิ่งซึ่งเรียกว่า “ลายแทง” ตัวศัพท์หมายความเพียงว่าหนังสือจารไว้ในใบลาน ข้อสำคัญอยู่ที่หนังสือนั้นต้องเป็นตำราสำหรับหาของวิเศษหรือทรัพย์แผ่นดิน จึงเรียกกันว่าลายแทง ถ้าหนังสือเป็นเรื่องอื่นถึงจารไว้ในใบลานก็หาเรียกว่าลายแทงไม่ มีเรื่องเป็นอุทาหรณ์อยู่ในนิราศวัดเจ้าฟ้าของสุนทรภู่ เล่าว่าเมื่อออกบวชอยู่ในรัชกาลที่ ๓ ได้ลายแทงมาแต่เมืองเหนือ ว่าที่วัดเจ้าฟ้าอากาศในแขวงพระนครศรีอยุธยา มีของวิเศษเป็นยาอายุวัฒนะฝังอยู่ จึงขึ้นไปทางเรือจากกรุงเทพฯ จนถึงวัดใหญ่ (ที่มีพระเจดีย์องค์ใหญ่อยู่ข้างตะวันออกของทางรถไฟ) ขึ้นเดินบกจากที่นั่นไปถึงวัดเจ้าฟ้าอากาศ เป็นวัดร้างอยู่ในทุ่ง ไปทำบัตรพลีกรรมตามตำรา แล้วรอจนค่ำมืดก็ตั้งต้นขุดหากรุที่ฝังของวิเศษ แต่พอลงมือขุดก็เกิดพายุใหญ่ ลมพัดเทียนดับ และพาเครื่องบัตรพลีตลอดจนจีวรที่ห่มไปปลิวหายไปหมด ไม่สามารถจะขุดได้ ต้องตรำฝนกลับมาตัวเปล่าจนถึงวัดใหญ่ ดังนี้ เหตุการณ์ในเรื่องลายแทงมีเล่ากันมาอีกหลายอย่าง แต่หลักฐานไม่เหมือนในนิราศวัดเจ้าฟ้าซึ่งสุนทรภู่ผู้แต่งได้เคยถูกแก่ตนเอง จึงยกเป็นอุทาหรณ์พอให้เห็นว่าคนแต่ก่อนที่เชื่อถือลายแทงมีมาก

ผู้แต่งวินิจฉัยนี้เคยได้ยินเล่าเรื่องลายแทงมาแต่ก่อนเนืองๆ แต่ยังไม่เคยเห็นตัวลายแทงว่าเป็นอย่างไร มาจนเมื่อปีกลายนี้ ทราบว่าหอพระสมุดฯ ได้รับหนังสือลายมือเขียนซองเก่ามาจากกรมอาลักษณ์อีกพวกหนึ่ง และมีลายแทงอยู่ด้วยฉบับ ๑ อยากเห็นจึงขอยืมมาดู ลักษณะของลายแทงนั้น เป็นใบลานอย่างขนาดคัมภีร์ขนาดสั้น ๙ ใบเจาะรูร้อยเชือกผูกไว้ หนังสือซึ่งจารในใบลานเป็นอักษรและภาษาไทยแทบทั้งนั้น มีคำสำหรับบริกรรมเป็นภาษามคธจารด้วยอักษรขอมอยู่ข้างท้ายหน่อยหนึ่ง สังเกตดูรูปตัวอักษรและกระบวนเขียนเป็นฝีมือแบบสมัยกรุงศรีอยุธยา ส่วนความในลายแทงนั้นเป็นตำราให้หาแก้วแหวนที่เขาช้างหลวงในแขวงเมืองอินทบุรี และว่าเป็นตำราได้มาจากเมืองปัตตานีเรื่อง ๑ ตำราให้หาแก้วแหวนที่ตำบลเสาประโคน แขวงเมืองอินทบุรี ว่าได้มาแต่เมืองจันทบุรีเรื่อง ๑ ตำราให้หาเงินและปรอทแร่แปรธาตุที่ตำบลจันทคิรี (ไม่มีว่าเมืองไหน) ว่าได้ตำรามาแต่เมืองตะนาว (ศรี) เรื่อง ๑ ตำราให้หายาสำหรับแก้เงินแดง เงินดำ และหานาก หัวแหวน โทราเขียว ที่หนองตอกละออม (ไม่มีว่าที่เมืองไหนและไม่บอกว่าได้มาแต่ไหน) เรื่อง ๑ ให้หาแก้วแหวนหาค่ามิได้ และเงินทองกับน้ำทิพย์และแว่นศิลากายสิทธิ์ที่เขาพนมฉัตร อยู่ระหว่างเมืองเพชรบูรณ์กับเมืองพิษณุโลกเรื่อง ๑ ได้คัดสำเนาลายแทงพิมพ์ไว้ต่อไปนี้ เพราะบอกไว้พิลึกกึกกือต้องอ่านจึงจะเข้าใจชัดว่าลายแทงอ้างอย่างไร

สำเนาลายแทง

๑) ตำบลเขาช้างหลวงแขวงเมืองอินทบุรีฝ่ายตะวันออก ให้ไต่ตามทางบุราณขึ้นไปถึงตำบลด่านน้ำอิง แล้วให้ไต่ตามทางแต่ด่านน้ำอิงไปถึงประโคนหินอัน ๑ และมีแก้วแหวนนั้น ถ้าผู้ใดพบให้พิจารณาเอาเถิด ให้ไง้ก้อนหินมาสุมไฟแล้วต่อยเอาเถิด หัวแหวนนั้นอยู่ในหินนั้น ๕ ประการ ๑๕ ประการและหัวแหวนนั้นทอดน้ำลอย และหัวแหวนนั้นอยู่แก่ศาสตราวุธหอกดาบแหลนหลาวปืนไฟธนูหน้าไม้ ถ้ามิ (ต่อย) เอาในหินนั้นเลยให้หลอมเอาที่นั่นเถิดเหมือนกันแล ท่านไว้ให้แก่คนทั้งหลาย และมีมรกฎอยู่ที่นั่นลึก ๗ ศอก มรกฏอย่อม “ครึก” ? รินหิน หินเขียวประดุจดังน้ำครามนั้น ๒ ลาน ? นั้นแล รายอันนี้มาแต่เมืองตานีแล ฯ

๒) ตำบลเสาประโคนหินแขวงเมืองอินทบุรี (บางทีจะอ้างเสาประโคนที่กล่าวในบท ๑ นั้นเอง) ตรงคางปลาออก ? (ไปข้างตะวันออก) ประมาณสองลสน (เส้น) ยังมีบ่อทิพย์อันหนึ่งชื่อว่าบ่ออึดใจ มีต้นประคำต้นหนึ่งอยู่ปากบ่อ (บ่อ) อึดใจนั้นเป็นสำคัญ ฤๅษีบทมาลัย (ฤาษี) เพชทัณ ฤาษีพี่น้องจึงคิดอ่านกันว่าเราจะให้ทานหัวแหวนแก่สมณชีพราหมณ์อนาประชาราษฎร์ทั้งหลาย และเราจะกองไว้บนเนินดินเห็นเป็นอุจาด ราษฎร์ทั้งหลายจะชิงกันเอา จะฆ่าฟันกันตายเสีย (เรา) พี่น้องจะเป็นโทษ แลพี่น้อง (จึง) เอาหัวแหวนและทองเนื้อสิบสองเทลงไว้ในบ่อหินนั้นข้างตะวันออกนั้น หัวแหวนอยู่ข้างตะวันตก และทองนั้นท่านไว้ (ใน) ถาดทองแดงใบหนึ่งปากกว้างสองคืบ ก้นถาดนั้นลึกสองนิ้ว โซ่สายหนึ่งไว้สำหรับถาดทองนั้น ให้สาด ? (ลาก) เอาของนั้นขึ้นมา และฤาษีพี่น้องนั้นจึงเอาอาถรรพ์ให้เรียกบ่ออึดใจ และหัวแหวนเอาลงไว้ในบ่อนั้นเป็นค่า ๑๐๐ ชั่งบ้าง ๕๐ ชั่งบ้าง ๓๐ ชั่งบ้าง ๒๐ ชั่งบ้าง ๑๐ ชั่งบ้าง หาค่ามิได้บ้าง ผู้ใดพบจะเอาหัวแหวนและทองให้บูชาฤาษีด้วยเครื่องกระยาบวช มะพร้าวอ่อนลูก ๑ แมงดาตัว ๑ ปูทะเลตัว ๑ เทียน ๑ เล่ม เอาเถิด ถ้าจะเอาหัวแหวนก็เอาแต่หัวแหวน ถ้าจะเอาทองก็เอาแต่ทองนั้นแล รายนี้ได้มาแต่เมืองจันทบุรี

๓) ตำบลจันทคิรี ท้ายเขานั้นมีผอบ? อันหนึ่งลงมาเป็นทางท่าคาม? (ข้าม) มีฤาษี ๒ องค์ชื่อฤาษีหินมาลัยตั้งพรนก (พรต) อยู่ ตีนเขานั้นมีพระเจดีย์ ๓ องค์ ให้วัดแต่พระเจดีย์ (องค์ไหนขาดไป) นั้นไปประมาณ ๕ เส้นถึงหนองอันหนึ่ง ชื่อว่าหนองประดู่ (หนอง) นั้นกว้างเส้น ๑ โดยรีเส้น ๑ จตุรัสเท่ากัน และมีต้นประดู่อยู่กลางหนองเป็นสำคัญ ทัง? (ทาง) มุมหนองพระฤาษีท่าน (ทำ) ตู? (ตรุ) อิฐทั้ง ๔ มุมหนองนั้น แล้วท่านเอาเงินลงไว้ในตรุทั้ง ๔ มุมหนองนั้นมุมละเกวียน พระฤาษีจึงเอาปรอทลงไว้ในหนองนั้นสมประการ ๆ? (จะหมายอะไรไม่รู้) ชื่อปรอทคุดคาเมกพัด ? (หมายอะไรไม่รู้) ปรอท (ป) ทุมโชติ ? ปรอทกายสิทธิ์ (ธิ เขียนเป็นเธาะ) ขัดสมาธิ ? ถ้าผู้ใดๆ พบมีความปรารถนา ถ้าจะทำทองก็ได้ ทำเงินก็ได้ ทำนากก็ได้ จะให้อายุยืนก็ได้ ถ้าผู้ใดพบหนองประดู่จะเอาทรัพย์และปรอทนั้นให้ปลูกศาลขึ้นเพียงตาและบูชาเครื่องกระยาบวช มะพร้าว เมี่ยง หมาก ทุเรียน เทยนี? และข้าวตอกดอกไม้เอาเถิด ถ้าจะเอาปรอทให้เรียกเอาจึงได้แล รายนี้มาแต่เมืองตะนาว (ศรี) แล

๔) ท่านให้ยาสำหรับแก? (แก้) เงินแดงและเงินดำสำหรับกัน ถ้าผู้ใดพบหนองตอกละออมและนาก หัวแหวนโทราเขียวให้พิจารณาเอาเถิด ให้ปลูกศาลใส่เครื่องบูชากระยาบวช และมีบอนเขียว และพลายแดง? ผักปังแดง? เปยลีอญา? เทพยดาอารักษ์ในที่นั้น ให้บูชาจงชอบกลจึงเอาเถิด ท่านไว้ให้ทานแก่สมณะชีพราหมณ์ และยาทั้งนี้มีอยู่บนเนินด้วยกันกับหนองตอกละออมแก? (แก้) คนเจ็บ บูณ? แล

๕) ตำบลเขาพนมฉัตรอยู่ข้างแขวงเมืองเพชรบูรณ์และพิษณุโลกต่อกัน ท่านตั้งบริวารเขาสองฟาก เขาชโงก เขาโชกโลน เขาฝา ? (ผา) นางทับทิม เขารอก ท้ายเขานั้นท่านทำเสาประโคนไว้ สุดเสาประโคนท่านเจาะเป็นรูเอาแก้วหาค่ามิได้ใส่ในรูเสาประโคนนั้น ท่านเอาแผ่นทองมาเขียนอักษรไว้ในแผ่นทองนั้นว่าเป็นหลายประการ ครั้นเห็นอักษรนั้นแล้วก็แจ้งอยู่ทุกประการ ในภูช้างหลวง (ชื่อตรงกับเขาช้างหลวง แขวงเมืองอินท์ใน ๑) นั้นไว้ทรัพย์ ในภูช้างหลวงนั้นก็จะได้ชื่อ ? อันวิเศษ ท่านทำไว้ให้ทานแล เขาวง เขาลอย เขาพนม สอน้อย เขาพนมสอใหญ่ เขาลักกะจั่น เขาลูกแรก ? (แรด) เขาตลุม เขาพนมวารมีถ้ำอยู่ ท่านให้วัดแต่ปากถ้ำออกมา ๒ วาถึงหินซ้อนกันไว้ คัดหินขึ้นเสียได้ขุดลงไปท่วมหัวถึงทองตุ่ม ๑ ให้บูชาเครื่องกระยาบวชแลที่ตีนเขาพนมวารนั้น ท่านเอาหัวแหวนใส่ตุ่มหินไว้ บ้างเท่าลูกหมากตุม ? แต่ละหัวตีค่าไว้ตำลึง ๑ เขาพนมนาง เขาอึด ? เขาโถนไถ ? เขาพระ ๒ ฤาษี ขึ้นบนเขาพนมโถนไถแลเห็นเขาพนมฉัตรนั้น และเขาลักกะจั่นนั้นเป็นที่เขาพนมโถนไถ เขาเป็นเอกเป็นโทแต่เขาพนมฉัตร เขาพนมฉัตรนั้นอยู่ข้างฝ่ายตะวันตกและมีห้วยนั้นดอนนั้นอยู่ เขาจึงเรียกว่าห้วยนำดอนแล ถ้าบุคคลผู้ใดใคร่จะหาเขาพนมฉัตร ให้ถามชาวนาแฝกแต่บุราณเอาเถิด เขาทำไร่ ณ ที่นั้นจึงเรียกว่าบ้านไร่ไก่ขันแล ตำบลเขา (พนม) ฉัตรปากน้ำผันไปตะวันขึ้นมีต้นตะเคียน (ต้น) ๑ อยู่ตะวันออกปากถ้ำสูง ๔ วา มีต้นตะเคียนใหญ่ ๓ อ้อม กิ่งใหญ่ ๓ กิ่ง น้ำชำไหลออกแต่รากตะเคียนนั้น รากตะเคียนนั้นท่านไว้หัวแหวนใต้รากตะเคียน ตีค่าใบละตำลึง และท่านพูนถนนแต่ต้นตะเคียนจนถึงเขาพนมฉัตร กลางถนนนั้นท่านไว้หัวแหวนมรกฏ ๑ ? (แห่ง ๑) ตีราคาใบละสามสิบ ตีนเขาพนมฉัตรนั้นท่านจำหลักฉัตรหินไว้ ๓ ชั้นจึงเรียกว่าเขาพนมฉัตรแล ในถ้ำนั้นท่านสร้างพระประธานไว้หน้าตัก ๓ ศอก พระเนตรพระนั้นท่านเอาแก้วมรกาย ? (กฏ) ใส่ไว้ ถ้าบุคคลใดเข้าไปเห็นพระนั้นแล้วให้ไปข้างหลังพระประธานประมาณเส้น ๑ พระเนตรพระเป็นจุณวิจุณไปแล แต่นั้นไปเส้น ๑ ถึงน้ำสโนทกกินอายุยืน ๕,๐๐๐ ปี มีกำลังเจ็ดช้างสารแล ต่อนั้นไปเส้น ๑ ถึงแว่นน้ำอ้อยท่านก่อชุกกะชีใส่ไว้ทองเท่าลูกฟักลูกแฟง เท่าลูกมะขามรามโรม ? ถ้าบุคคลผู้ใดจะปรารถนาลูกใหญ่นั้นของพระสีอาริย์อย่าเอา ให้เอาแต่เท่าลูกมักขามรามโรม ให้เอาแต่สามกอบแล ถ้าจะเอาแว่นน้ำอ้อยให้ (เอา) แต่สามแว่น กินแว่นน้ำอ้อยนั้นดับสารพัดโรค คโรคา ? เลือดลมทั้งปวงหายสิ้น มีกำลังเท่าช้างสารอายุยืน ๕,๐๐๐ ปี เดินแล้วแต่เมืองเพชรบูรณ์ถึงกรุงศรีอยุธยาวันเดียว (ตรงนี้ส่อว่าแต่งเมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยา) ถ้าจะทำทองเอาแว่นน้ำอ้อยสลึง ๑ เอา ตำลึง ๑ เป็นทองธรรมชาติแล ถ้าจะทำเงินเอาแว่นน้ำอ้อยตำลึง ๑ (ขาดเอาอะไรเจือ) เป็นเงินบริสุทธิ์แล แต่นั้นไปเส้น ๑ ถึงอ่างกายสิทธิ์นั้น ท่านเอาตวักเหล็กพาดไว้ กายสิทธิ์นั้นท่านเอาใบผูแกรง ? ลอยไว้ ถ้าบุคคลผู้ใดจะปรารถนาให้ลง (ในอ่าง) กายสิทธิ์นั้นที่ตวักเหล็กพาดนั้นแล้ว ตัวแรกเป็นจุณวิจุณไปแล้ว เหลือแต่เลือดผุดขึ้นมา จึงเอาตวักเหล็กตัก (เห็นจะเป็นใบผูแกรง) มาเทลงอ่างกายสิทธิ์นั้นก็เป็นตัวผุดขึ้น มีรูปโฉมงามสิ้นราคีในตัว แล้วอายุยืนชั่ว(พระ)อาทิตย์พระจันทร์ตามแต่จะปรารถนาเถิด ถ้าเป็นวิชาธรให้เอาปรอทกับพระขรรค์เหาะไปแล ถ้าเป็นฤาษีเอาเกือกแลไม้เท้าเหาะไปแล ตำรานี้สามหัวเมืองเข้าด้วยกัน ท่านสำเร็จแล้วไปแล้วท่านจึงตั้งตำรานี้ไว้เป็นผูกเดียวกันแล (ต่อไปนี้เป็นหนังสือขอม)

องคารพิทฺทนาถํ อุปฺปนฺนํ พฺรมฺมาสหมฺปดี นาม

อาทิเตปฺเป สอาคโต ปฺจอาทุมํ ทิสฺวา นโมพุทฺธาย วนทน

วินิจฉัย

ความตามลายแทงที่แสดงมานี้ ถ้าเป็นหนังสือแต่งใหม่ใครอ่านก็คงเห็นว่าคนแต่งเป็นบ้า หรือมิฉะนั้นก็เป็นคำคนขี้ปด คิดประดิษฐ์ขึ้นหลอกคนโง่ หากแต่เป็นหนังสือเก่าแต่งไว้ในสมัยเมื่อคนยังเชื่อถือคติต่างๆ ผิดกับความรู้และความเชื่อถือของคนในสมัยนี้ จะว่าแต่งโดยไม่มีมูลความจริงเลยทีเดียวหาควรไม่ เพราะฉะนั้นจึงน่าคิดวินิจฉัยว่าลายแทงจะมีขึ้นด้วยเหตุอย่างไร ได้ลองคิดดูเห็นร่องรอยจะเป็นดังกล่าวต่อไปนี้ ของต่างๆ ที่พรรณนาในลายแทง เช่นแก้วที่เกิดอยู่กับหินโดยธรรมชาติก็ดี แร่โลหะต่างๆ ที่อาจหลอมประสมกันให้แปรธาตุอย่างอื่นได้ก็ดี หินเกิดโดยธรรมชาติเป็นอย่างน่าพิศวง เช่นหินก้อนเล็กๆ รูปเหมือนงบน้ำอ้อยก็ดี ที่สุดทรัพย์สินที่บุคคลฝังซ่อนไว้ในใต้ดินก็ดี เป็นของมีจริงทั้งนั้น ชี้ตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ เช่นบ่อพลอยที่จังหวัดจันทบุรีและกาญจนบุรี แร่ทองคำที่บางตะพานและเมืองวัฒนา แร่ทองแดงที่เมืองจันทึก แขวงนครราชสีมา แร่ดีบุกที่เมืองนครศรีธรรมราช หินรูปเหมือนงบน้ำอ้อยก็มีอยู่ในแขวงเมืองนครสวรรค์ ส่วนทรัพย์สินที่คนฝังไว้ โดยประเพณีโบราณผู้มีทรัพย์มากย่อมฝังดินซ่อนไว้ เหมือนอย่างฝากธนาคารกันทุกวันนี้นั้นก็เลยซ่อนอยู่ในแผ่นดิน นานมามีผู้ทำไร่ไถนาขุดดินพบได้ทรัพย์นั้น จึงเรียกว่าทรัพย์แผ่นดิน ของที่กล่าวมาล้วนเป็นของหายาก นานๆจะมีผู้พบ จึงเป็นเหตุให้เชื่อถือกันว่าเป็นของวิเศษมีอยู่ ณ ที่ลี้ลับ และมีภูตฝีปีศาจหวงแหน ลักษณะการหาของวิเศษเช่นบอกไว้ในลายแทงนั้น ถ้าว่าโดยธรรมดาจำต้องมีผู้ใดไปเห็นแก่ตาว่ามีสิ่งนั้นๆอยู่ ณ ที่ใด แล้วจึงจะสามารถบอกตำแหน่งที่และหนทางที่จะไปให้ถึงที่นั้นได้ดังกล่าวไว้ในตำรา ปัญหาข้อต้นจึงมีว่าเหตุไฉนผู้ที่ไปพบจึงไม่เอาของวิเศษหรือทรัพย์แผ่นดินที่พบเห็นเป็นอนาประโยชน์ของตนเอง กลับมาบอกตำบลหนทางและอุปเท่ห์ให้ผู้อื่นไปเอาของเหล่านั้น พิเคราะห์ข้อนี้ส่อให้เห็นเค้ามูลของลายแทง ว่าความรู้และความคิดจะเอาของเหล่านั้นเห็นจะเกิดขึ้นเป็นชั้นๆ ชั้นที่ ๑ เริ่มด้วยมีคนพวกเที่ยวเตร่พเนจร เช่นพระธุดงค์เป็นต้น ไปเห็นของอะไรแปลกประหลาดมีอยู่ตามภูเขาเลากาป่าดง เวลากลับมาก็เล่าให้พวกพ้องฟัง ดังเช่นไปพบเทือกแก้วผลึกมีติดอยู่กับหินหรือหินแท่งเล็กๆ รูปแปลกเหมือนกับงบน้ำอ้อยเป็นต้น (ของเหล่านี้มีจริง ได้ตัวอย่างมาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถาน) ผู้ที่ฟังเล่าไม่ได้เห็นด้วยตาตนเองก็ต้องคิดคาดว่าของเหล่านั้นจะเป็นอย่างไรๆ จึงเกิดผู้คิดขึ้นอีกพวก ๑ ต่อจากผู้ได้ไปเห็น เป็นพวกที่อ้างว่าเป็นของวิเศษเช่นนั้นๆ เช่น อ้างเทือกแก้วผลึกว่าเป็นเพชรนิลจินดา และอ้างหินงบน้ำอ้อยว่าเป็นแร่กายสิทธิ์ ยังมีคนอีกพวก ๑ ซึ่งเชื่อวิชาแปรธาตุ อันมีตำรับตำรามาแต่โบราณ (แม้จนฝรั่งชาวยุโรปแต่ก่อนก็เชื่อถือ เรียกว่าวิชา Alchemy) อ้างว่ามีธาตุโลหะบางอย่างซึ่งอาจหลอมปนกับธาตุอื่นให้กลายเป็นทองคำ หรือเป็นโลหะอันมีฤทธิเดชต่างๆ พวกนี้ชอบสืบเสาะหาแร่โลหะธาตุที่ตั้งไว้ในตำรา คอยไต่ถามพวกพเนจรและพยายามหาแร่เช่นนั้นอยู่เสมอ เมื่อได้ฟังเล่าก็เป็นผู้คิดอีกพวก ๑ พิจารณาดูตามสำนวนที่แต่งตำราในลายแทงดูเหมือนจะมีผู้คิดอีกพวก ๑ ซึ่งฟังคำบอกเล่าแล้วเลยฝันเห็นต่อไป แล้วเอาอาการที่ฝันเห็นนั้นมาพรรณนาในตำราโดยเชื่อสุบินนิมิต สังเกตเห็นได้ว่าความที่พรรณนาเหมือนฝันกว่าจะคิดแต่งขึ้นใหม่ หรือจะจำแต่คำผู้อื่นบอก หรือเห็นด้วยตาตนเอง พวกผู้คิดหรือฝันเห็นนับเป็นชั้นที่ ๒ ต่อมาถึงพวกผู้ประสงค์จะรักษาตำราไว้จึงจารลงลายแทง นับว่าลายแทงเกิดขึ้นเป็นชั้นที่ ๓ พวกที่สร้างลายแทงนั้นน่าจะเป็นพระทั้งนั้น สังเกตดูฝีมือจารหนังสือขอมงาม แต่จารหนังสือไทยเลวตลอดจนความรู้อักขรวิธี เพราะพระแต่โบราณถือกันว่าอักษรไทยไม่สำคัญในการเล่าเรียนเหมือนอักษรขอม จึงพยายามหัดเขียนแต่อักษรขอม ลายมือเช่นว่ามานี้พบในหนังสือสวดเรื่องชาดก ซึ่งพระเขียนไว้แต่โบราณบ่อยๆ ที่ในหอพระสมุดก็มีตัวอย่างอยู่ เมื่อสร้างลายแทงขึ้นแล้วใครเป็นผู้จารก็คงเก็บเอาไว้อย่างเช่นว่า “เก็บไว้ดูเล่น” มีใครไปเห็นชอบใจก็คัดเอาไป จึงมีสำเนาอยู่ตามเมืองต่างๆ นานๆ จึงจะมีผู้ศรัทธาเอาตำราในลายแทงไปทำตาม เช่นสุนทรภู่ สันนิษฐานว่า เรื่องตำนานลายแทงจะเป็นดังกล่าวมานี้

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ