วันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๖ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๘๒

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๓๐ มิถุนายนแล้ว

วรรคตอบความในลายพระหัตถ์

ซึ่งทรงพระดำริว่าชื่อ “ตราจุลราชสีห์” จะเป็นชื่อตั้งใหม่ ราวในรัชกาลที่ ๔ นั้น หม่อมฉันเห็นชอบด้วยทีเดียว กรณีอันนี้ส่อให้เห็นต่อไปว่า เมื่อยังมิได้บัญญัติให้เรียกตราจุลราชสีห์คงเรียกกันว่า “ตราราชสีห์ฝ่ายเหนือ” มาก่อน เพราะตำแหน่งพระยามหาอำมาตย์เป็น “เจ้ากรมมหาดไทยฝ่ายเหนือ” พระยาธรรมไตรโลกก็เห็นจะเป็นเจ้ากรมกลาโหมฝ่ายเหนือ เช่นเดียวกัน

เหตุใดจึงเรียกว่ากรมมหาดไทยฝ่ายเหนือ และกรมกลาโหมฝ่ายเหนือ มีพิเคราะห์ในหนังสือพงศาวดารพอจะเห็นเค้าได้ คือสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงสถาปนากรมมหาดไทยและกรมกลาโหมหรือว่าอีกอย่าง ๑ สร้างตราราชสีห์ตราคชสีห์ขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๑๙๙๘ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถครองราชสมบัติอยู่ ณ พระนครศรีอยุธยา ๑๕ ปี ตั้งแต่เกิดมหาสงครามรบกับพระเจ้าติโลกราชเมืองเชียงใหม่ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จขึ้นไปครองราชสมบัติอยู่ ณ เมืองพิษณุโลก ๒๕ ปี และเสด็จสวรรคตที่เมืองพิษณุโลก เมื่อ พ.ศ. ๒๐๓๑ เมื่อก่อนสวรรคตทรงมอบเวนพระราชอาณาเขตทางฝ่ายใต้ ให้พระบรมราชาราชโอรสพระองค์ใหญ่ครอบครอง ประทับอยู่ ณ พระนครศรีอยุธยา ทรงมอบเวนพระราชอาณาเขตทางฝ่ายเหนือให้พระเชษฐาธิราช ราชโอรสองค์น้อยซึ่งประสูติ ณ เมืองพิษณุโลก (ชะรอยพระชนนีจะเป็นเชื้อราชวงศ์พระร่วงด้วย) ประทับปกครองอยู่ ณ เมืองพิษณุโลก ครั้งนั้นคล้ายกับมีพระเจ้าแผ่นดิน ๒ องค์ เช่น พระจอมเกล้าฯ กับพระปิ่นเกล้าฯ ข้อนี้ปรากฏอยู่ในคำของเจ้าพระยากำแพงเพชร จารึกแผ่นศิลารองรูปพระอิศวร (ซึ่งอยู่ในพิพิธภัณฑสถาน) ว่าอุทิศกุศุลแด่ “พระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์” ดังนี้ น่าสันนิษฐานว่าในกรุงศรีอยุธยาตั้งข้าราชการตามทำเนียบเดิม ทางเมืองพิษณุโลกตั้งทำเนียบข้าราชการขึ้นใหม่ มีกระทรวงทะบวงการทำนองเดียวกับกรุงศรีอยุธยา จึงมีทำเนียบขุนนางฝ่ายใต้กับขุนนางฝ่ายเหนือ ที่พระยามหาอำมาตย์ เป็นสมุหนายกฝ่ายเหนือ จึงให้ใช้ตราราชสีห์เช่นเดียวกับสมุหนายกฝ่ายใต้ แต่มีพระเจ้าแผ่นดิน ๒ พระองค์เช่นนั้นอยู่เพียง ๓ ปี สมเด็จพระบรมราชาสวรรคต พระเชษฐาก็เสด็จลงมายังกรุงศรีอยุธยา ทำพิธีราชาภิเษก ทรงพระนามว่า “สมเด็จพระรามาธิบดี” (ที่ ๒) ครองพระราชอาณาเขตทั้งฝ่ายใต้และฝ่ายเหนือรวมกันประทับอยู่ ณ กรุงศรีอยุธยา บางทีในชั้นต้นจะโปรดให้ข้าราชการฝ่ายเหนือซึ่งเคยทรงใช้สอย มาเป็นกรมสำหรับบังคับการเมืองฝ่ายเหนือ จึงเรียกว่ากรมมหาดไทยฝ่ายเหนือ แต่ต่อมารวมการงานเข้าในกระทรวงมหาดไทย จึงเหลืออยู่แต่ชื่อกรมมหาดไทยฝ่ายเหนือ และยังเอาชื่อมาใช้ในทำเนียบกระทรวงมหาดไทยอยู่หลายตำแหน่ง คือ

พระยามหาอำมาตย์ เจ้ากรม ตรงกับเจ้าพระยาจักรี

พระราชเสนา ปลัดทูลฉลอง ตรงกับพระยาราชนกูล

พระศรีเสนา ปลัดบัญชี ตรงกับพระยาศรีสหเทพ ฯ

นายชำนิคชสาร นายเวรช้าง ตรงกับนายแกว่นคชสาร

นายชำนาญมรรคา นายเวรทาง ตรงกับนายชำนาญกระบวน

นายตุรงค์พิทักษ์ นายเวรม้า ตรงกับนายควรรู้อัศว

นายรักษนรา นายเวรคน ตรงกับนายรัดตรวจพล

พันอณาประทาน กำกับเวรช้าง ตรงกับพันภาณุราช

พันวิจรจักร กำกับเวรทาง ตรงกับพันจันทนุมาศ

พันพิศณุราช กำกับเวรม้า ตรงกับพันเภาอัศวราช

พันศุกสกลราช กำกับเวรคน ตรงกับพันพุฒอนุราช

พิจารณาตามทำเนียบเก่าแม้เท่าที่เหลืออยู่่นี้ เห็นได้ว่าแต่เดิมกรมมหาดไทย มีเป็นกรมใหญ่ทั้งฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ พระยามหาอำมาตย์ เจ้ากรมมหาดไทยฝ่ายเหนือจึงใช้ตราราชสีห์ และคงเรียกว่า “ตราราชสีห์ฝ่ายเหนือ มาแต่เมื่อมาสมทบกับมหาดไทยฝ่ายใต้แล้ว ก็เหลือแต่ชื่อเป็นกรมหนึ่งในกระทรวงมหาดไทย

ยังมามีขุนนางวังหน้าเกิดขึ้นใหม่เมื่อภายหลังอีกพวก ๑ หม่อมฉันสันนิษฐานว่าน่าจะมีขึ้นเมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชาครองเมืองพิษณุโลกในรัชกาลพระเจ้าจักรพรรดิ หรือมิฉะนั้นก็เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงตั้งสมเด็จพระเอกาทศรถเป็นพระมหาอุปราช ทรงศักดิ์เหมือนพระเจ้าแผ่นดิน ให้มีเสนาบดี ๖ ตำแหน่ง เหมือนวังหลวง คือ พระยาจ่าแสนยากร หัวหน้ากรมมหาดไทยก็น่าจะใช้ตราราชสีห์ พระยากลาโหมราชเสนา หัวหน้ากลาโหมก็ใช้ตราคชสีห์ ทำเนียบขุนนางวังหน้าแต่เดิมมีตำแหน่งน้อย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาเพิ่มขึ้นพระราชทานพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีชื่อขุนนางวังหน้ามากมาย

พิจารณาถึงดูดวงตราตำแหน่งต่างๆ อันมีอยู่ในกฎหมายเก่าหมดพระธรรมนูญ ดูอยู่ข้างฟั่นเฝื่อ จับเค้าได้แต่ว่าดวงตรามีศักดิ์ต่างกันเป็น ๒ อย่าง จะเรียกโดยสะดวกว่าตราในตำรา อย่าง ๑ และตรานอกตำรา อย่าง ๑ ตราในตำรานั้น บอกรูปในดวงตราและตำแหน่งผู้ถือตรานั้น เช่นตราราชสีห์ประจำตำแหน่งเจ้าพระยาจักรี ตราคชสีห์ประจำตำแหน่งเจ้าพระยามหาเสนาบดีเป็นต้น ตราในตำรามีหลายอย่างและมิได้กำหนดชั้นยศ แม้ตำแหน่งชั้นขุนถือตราในตำราก็มี ถือคนละ ๙ ดวงก็มี ๕ ดวงก็มี ดูเอากิจการที่สั่งเป็นสำคัญ สั่งการอย่างนั้นต้องใช้ตราดวงนั้น สั่งการอีกอย่างหนึ่งก็ต้องใช้ตราอีกดวงหนึ่ง (จึงว่าดูฟั่นเฝือ) ถือเป็นหลักได้แต่ว่าตราในตำรา เช่นตราราชสีห์คชสีห์ ถ้าใครเป็นตำแหน่งเจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยามหาเสนาบดีต้องใช้ตราดวงนั้น ผู้ออกจากตำแหน่งนั้นต้องส่งตราคืน ส่วนตรานอกตำรา คือ ตราของข้าราชการตำแหน่งต่างๆ อันมิได้มีในตำราเป็นปัญหาว่าจะต้องเอาตราของตนเอง มาบอกลงทะเบียนใช้ตลอดเวลาที่ตนเป็นตำแหน่งนั้น หรือจะมีทำเนียบตราพวกนี้ต่างหากแต่มิได้ลงไว้ในพระธรรมนูญ หามีหลักฐานที่จะรู้ได้แน่ไม่ ถ้ามีตำราก็เห็นจะมากเต็มที

ที่ตรัสถามถึงเรื่องพงศาวดารเมืองละแวกนั้น หม่อมฉันได้อ่านดูแล้ว เรื่องพงศาวดารเขมรน่ากำหนดเป็น ๒ สมัย เรียกตามสะดวกปากว่า “สมัยขอม” เวลาเมื่อรุ่งเรืองถึงสามารถสร้างปราสาทหิน มาจนเสียเมืองนครธมแก่ไทยครั้งสมเด็จพระบรมราชาธิราช (สามพระยา) เมื่อ พ.ศ. ๑๙๗๔ สมัย ๑ และเรียกว่า “สมัยเขมร” ตั้งแต่เสียบ้านเมืองครั้งนั้นแล้วแยกกันเป็นหลายก๊กหลายเหล่า แย่งชิงอาณาเขตและอำนาจกันและกันจนต้องตกเป็นเมืองขึ้นของชาติอื่นตลอดจนบัดนี้อีกสมัย ๑

เมืองละแวกเคยเป็นราชธานีอันหนึ่งในสมัยเขมร ตัวเมืองตั้งอยู่บนแผ่นดินดอนระหว่างเมืองอุดงอยู่ข้างใต้ เมืองโพธิสัตว์อยู่ข้างเหนือ เมื่อหม่อมฉันไปเมืองเขมร ดูเหมือนได้ผ่านไปในแดนเมืองละแวกตอนหนึ่งจำไม่ได้แน่ แต่ได้เคยถามพวกพนักงานตรวจค้นโบราณวัตถุเขาว่า เครื่องศิลาที่ขอมสร้างมีข้างใต้ทะเลสาปน้อย หม่อมฉันได้เห็นพระสถูปเจดีย์บนยอดเนินที่เมืองพนมเพ็ญ จะสร้างแต่สมัยขอมหรือภายหลังมาก็เป็นได้ ที่เขาพระราชทรัพย์แขวงเมืองอุดงบนยอดเขา มีเทวสถานศิลาอย่างย่อมๆ ขอมสร้างมีแห่ง ๑ เหตุใดจึงมิใคร่มีของโบราณตอนนี้ก็พอเข้าใจได้ ด้วยในเวลาสมัยขอมคงยังเป็นที่ลุ่มอยู่โดยมาก วัดมีพระประธานหันหน้าไป ๔ ทิศนั้น หม่อมฉันได้เคยเห็น ๓ แห่ง ดูเป็นวัดสำคัญทั้งนั้น ที่เมืองนครปฐมมีแห่ง ๑ พระประธานนั่งห้อยพระบาท เก่าก่อนเพื่อน ที่เมืองพุกามมีที่วัดอานันทวิหาร พระประธานยืนหันหน้า ๔ ทิศอีกแห่ง ๑ ที่เมืองลำพูนเรียกว่าวัดพระยืน เอาอย่างมาแต่วัดอานันทวิหารที่เมืองพุกามแห่ง ๑ แต่วัดพระประธานยืน ๔ ทิศ ณ เมืองละแวกนั้น พิเคราะห์ตามลักษณะที่พรรณนาในพงศาวดาร ว่าพระบาททำด้วยศิลา พระองค์ทำด้วยไม้ ความส่อว่าพระบาทเป็นของสร้างไว้ในสมัยขอม พระองค์เป็นของบูรณะขึ้นในสมัยเขมรในพงศาวดารละแวกยังให้ความรู้หลายอย่าง คือ

๑) พิธีสิบสองเดือนอย่างเขมร ดูเป็นตำราเก่าแก่น่าจะทำสืบมาแต่สมัยขอม

๒) รั้ววังในสมัยเขมรสร้างด้วยไม้มาทั้งนั้น จนกระทั่งเมืองอุดงในรัชกาลที่ ๓ เมื่อสมเด็จพระนโรดมย้ายลงไปอยู่เมืองพนมเพ็ญรื้อวังเก่าลงไปหมดจึงไม่มีอะไรเหลืออยู่

๓) พระแสงของสำคัญในเครื่องราชูปโภคเขมร ในพงศาวดารละแวกว่ามี ๔ องค์ (ผิดแต่ว่าเป็นปืนองค์ ๑) ประหลาดที่ยังอยู่และหม่อมฉันได้เคยเห็นทั้ง ๔ องค์ อยู่ในเมืองเขมรแต่พระขรรค์องค์เดียว อีก ๓ องค์นั้นเข้ามาอยู่ในเมืองไทยทั้งนั้น

พระพุทธรูปที่เรียกว่าหลวงพ่อเพชรที่วัดท่าหลวงณเมืองพิจิตร นั้นดูเหมือนหม่อมฉันจะได้เคยเห็น แต่ไม่งามจับตาจึงไม่ได้สนใจจำไว้ เรื่องที่อ้างว่าขุนแผนเอาลงมาจากเชียงใหม่นั้น เชื่อได้ว่าเป็นเรื่องเกร็ดเกิดขึ้นที่เมืองพิจิตรนั้นเอง แต่เสาศาลาใหญ่นั้นหม่อมฉันจำได้เพราะมีเรื่องต่อมา เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงบูรณวัดราชาธิวาส จะสร้างการเปรียญ ทรงปรารภจะใคร่ได้เสาใหญ่เหมือนที่วัดท่าหลวงโปรดให้หม่อมฉันลองหาดู เวลานั้นพระยาวจีสัตยารักษ (ดิศ) ยังเป็นผู้ว่าราชการเมืองพิจิตรรับอาสาหาถวาย ได้เสาใหญ่มาครบทั้งสำรับ ได้พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์เป็นบำเหน็จ เสาสำรับนั้นก็มีชื่อจารึกติดไว้ทุกต้น.

เรื่องเบ็ดเตล็ดที่ปีนัง

เมื่อสัปดาหะก่อนหม่อมฉันเปิดหนังสือนิบาตชาดก เล่ม ๒๒ ว่าด้วยเวสสันดรชาดก ออกอ่านกัณฑ์หิมพานที่สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ แปล ตอนว่าด้วยเครื่องแต่งช้างเผือกปัจจัยนาค ท่านลงฟุตโน้ตไว้แห่งหนึ่งว่า เครื่องประดับงวงอย่างหนึ่งซึ่งเรียกว่า โสตถิกะ เคยแปลเป็นภาษาไทยว่า “ตาบ” ท่านนึกว่าจะเป็น สวัสติกะ คือไม้กางเขนปลายพับ เช่นยี่ห้อของพวกนาสิสเยอรมันดอกกระมัง ดูชอบกลนักหนา เพราะสวัสติกะมีมาช้านานก่อนพุทธกาล

ร่างมาเพียงนี้ถึงเวลาเที่ยงวันพฤหัสบดีที่จะต้องส่งเมล์ จึงต้องหยุดเขียนเพียงนี้ที.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ