วันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๒๗ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๘๒

ทูล สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศฯ

ลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม หม่อมฉันได้รับแล้ว

เรื่องพระราชลัญจกร

จะทูลอนุสนธิในเรื่องตรา ว่าด้วยพระราชลัญจกร ตามทีได้ทูลสัญญาไว้ในจดหมายเวรก่อน หม่อมฉันสังเกตว่าพระราชลัญจกรทั้งหลายนั้นสร้างเป็น ๒ ยุค คือสร้างในรัชกาลที่ ๑ (ถ้าจะมีสร้างในรัชกาลที่ ๒ ที่ ๓ บ้างก็น้อย) ยุค ๑ สร้างเมื่อรัชกาลที่ ๔ อีกยุคหนึ่ง พระราชลัญจกรสร้าง ๒ ยุคนี้ ถ้าท่านทรงสังเกตกระบวนแบบลวดลาย จะทรงทราบว่าสร้างยุคไหนดีกว่าหม่อมฉัน ๆ สังเกตแต่ว่าพระราชลัญจกรยุคแรก ขนาดใหญ่มากและรูปเป็นดวงตรากลมทั้งนั้น พระราชลัญจกรยุคหลังขนาดย่อมลง และรูปดวงตราเป็นเหลี่ยมก็มี รีก็มี และกลมก็มี

พระราชลัญจกรยุคเดิมที่หม่อมฉันนึกได้ก็คือ ตรามหาอุณาโลมองค์ ๑ ตราพระครุฑพ่าห์องค์ ๑ ตราไอยราพตองค์ ๑ และตรามังกรเล่นแก้ว (ว่าสำหรับประทับพระราชสาส์นไปเมืองจีน) ซึ่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระราชทานให้ใช้เป็นตราโบราณคดีสโมสร องค์ ๑ จำไม่ได้ว่ามีนอกจากนี้อีก

พระราชลัญจกรยุคหลัง ว่าตามที่นึกได้ ตราพระมหามงกุฎใหญ่ องค์ ๑ นอกจากนั้นมีพระราชลัญจกรต่างขนาดและลายแปลกแปลกองค์ เช่นตราอุณาโลม (ขนาด) น้อย สำหรับประทับตรงจำนวนศักดินาในสัญญาบัตรเป็นต้น จะทูลพรรณนาองค์อื่นที่ได้สอบพบเมื่อเขียนจดหมายนี้ต่อไปข้างหน้า

มูลของลายพระราชลัญจกรยุคแรกดูจะได้ตำรามาแต่เมืองเขมรแต่โบราณ ซึ่งเอาศาสนาเป็นเครื่องหมาย ตรามหาอุณาโลมหมายว่าตราของพระศิวะ ตราพระครุฑพ่าห์หมายว่าตราของพระนารายณ์ ตราไอยราพต (ซึ่งอาจจะเกิดเมื่อภายหลัง) หมายว่าตราของพระอินทร์ ตรามหาอุณาโลมพระเจ้าแผ่นดินขอมซึ่งทรงถือศาสนาพราหมณ์ตามลัทธิศิเวชใช้เป็นพระราชลัญจกร ตราพระครุฑพ่าห์สำหรับพระเจ้าแผ่นดินขอมซึ่งทรงถือศาสนาพราหมณ์ลัทธิวิษณุเวศ ตราสำหรับพระเจ้าแผ่นดินขอมซึ่งถือพระพุทธศาสนา เดิมในสมัยเมื่อถือคติมหายานน่าจะเป็นรูปพระโพธิสัตว์ ต่อสมัยเมื่อกลับถือลัทธอหินยานจึงเปลี่ยนเป็นตราไอยราพต ด้วยตามคติหินยานถือว่าพระอินทรเป็นใหญ่กว่าเทพยดาทั้งปวง จึงชวนให้เห็นว่าตราไอยราพตจะเกิดทีหลังตรามหาอุณาโลมและตราพระครุฑพ่าห์ หรือว่าอีกอย่าง อาจจะเกิดขึ้นในเมืองไทยนี้เองก็เป็นได้ ด้วยไทยถือทั้งพระพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ ๒ ลัทธินั้นปะปนกัน จึงมีพระราชลัญจกรอยู่ในเครื่องราชูประโภคทั้ง ๓ อย่าง

วินิจฉัยต่อไปถึงว่าใช้พระราชลัญจกร ๓ องค์นั้นต่างกันอย่างไร ข้อนี้มีเค้าเงื่อนชอบกลอยู่ที่ดวงตราตีเงินพดด้วง ซึ่งเหล็กแม่พิมพ์ยังอยู่ในพระคลังมหาสมบัติ หม่อมฉันได้เคยขอมาดูที่พิพิธภัณฑ์สถานครั้ง ๑ ตรวจดูมีดวงตราต่างกัน ๖ อย่าง

๑) ตราจักร ตีเงินทุกรัชกาล เห็นจะหมายประเทศ

๒) ตราตรี ที่แม่พิมพ์ยังมีอยู่ชวนให้สันนิษฐานว่าหมายรัชกาลกรุงธนบุรี

๓) ตราอุณาโลม หมายรัชกาลที่ ๑

๔) ตราครุฑ หมายรัชกาลที่ ๒

๕) ตราปราสาท หมายรัชกาลที่ ๓

๖) ตรามงกุฎ หมายรัชกาลที่ ๔

พิเคราะห์ดูเข้ากับลายพระราชลัญจกร ครั้งกรุงธนใช้ตราตรีแทนตราพระครุฑพ่าห์ด้วยเป็นเครื่องหมายวิษณุเวศด้วยกัน รัชกาลที่ ๑ ใช้ตราอุณาโลม มาจากตรามหาอุณาโลม รัชกาลที่ ๒ ใช้ตราครุฑ มาจากตราพระครุฑพ่าห์ รัชกาลที่ ๓ ใช้ตราปราสาท มาจากตราไอยราพต รัชกาลที่ ๔ ตรามงกุฎ เปลี่ยนมาใช้ตามพระนาม

พิเคราะห์ดวงตราเงินชวนให้สันนิษฐานว่าพระมหาลัญจกร ๓ ดวง คือ มหาอุณาโลม ครุฑพ่าห์ และ ไอยราพต นั้น เมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาจะใช้เป็นตราแผ่นดินดวงละรัชกาลทอยกันไปดอกกระมัง คือ รัชกาลหนึ่งใช้พระราชลัญจกรมหาอุณาโลมเป็นตราแผ่นดิน รัชกาลต่อมาใช้พระราชลัญจกรไอยราพตเป็นตราแผ่นดิน แล้วรัชกาลต่อไปกลับย้อนไปใช้พระราชลัญจกรมหาอุณาโลมอีก ที่เห็นเช่นนี้เพราะนึกดูไม่เคยเห็นหรือเคยรู้ว่ามีหนังสืออะไรประทับพระมหาลัญจกรใน ๓ องค์นั้นด้วยกัน หรือคิดไปอีกอย่าง ๑ ถ้าหากว่าพระมหาลัญจกรทั้ง ๓ สำหรับประทับในพระราชกิจต่างกัน เช่นตรา ๙ ดวง ของเจ้าพระยาพลเทพ หรือตรา ๕ ดวง ของพระเทพาธิบดี พระศรีกาลสมุด หรือตรา ๒ ดวงของเจ้าพระยาจักรี ก็นึกไม่ออกว่าเคยเห็นพระราชลัญจกรมหาอุณาโลมและพระครุฑพ่าห์ประทับในหนังสืออะไร เคยเห็นแต่ประทับพระราชลัญจกรไอยราพตในประกาศตั้งกรม (ซึ่งเพิ่งมีขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๕) ถ้าใช้ตามพระราชกิจต่างกัน คิดดูถึงกิจที่ต่างๆ ก็เห็นว่าจะอยู่ในกิจเหล่านี้ คือ

๑) ใบกำกับสุพรรณบัตรราชสาส์น

๒) ตั้งพระอัยการกฎหมาย

๓) ตั้งพระตำรา เช่นพระราชทานที่สีมาสร้างวัดเหล่านี้ เป็นต้น

พระราชลัญจกรซึ่งเมื่อยุครัชกาลที่ ๔ นั้น ย่อขนาดให้เล็กลงกว่าเก่าทั้งนั้น เห็นจะเป็นด้วยถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ ใช้กระดาษฝรั่งขนาดเล็กมีที่สำหรับดวงตราน้อยกว่ากระดาษเพลาอย่างเดิม และดูเหมือนจะเป็นด้วยทูลกระหม่อมโปรดทรงเขียนจดหมายลายพระหัตถ์มาแต่ยังทรงผนวช จึงทรงสร้างพระราชลัญจกรขึ้นใหม่หลายองค์ เซอร์ จอห์นเบาริง เอาไปพิมพ์ไว้ในหนังสือเรื่องเมืองไทยที่เขาแต่ง ๔ องค์ คือ

๑) พระราชลัญจกรรูปไข่ลายเป็นพระมหามงกฎมีฉัตร ๒ ข้าง

๒) พระราชลัญจกรรูปสี่เหลิยมรี กาบเป็นลายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ กลางมีตัวอักษรขอมว่า “พระบรมราชโองการ” องค์นี้ที่ประทับสัญญาบัตรด้วย

๓) พระราชลัญจกรเป็นรูปโล่ห์อย่างฝรั่ง กลางเป็นตัวอักษรโรมัน S.P.P.M.M. หมายอักษรต้นพระนาม สมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฎ

๔) พระราชลัญจกรสัณฐานยาวรี ขนาดหัวแหวนประทับเป็นพื้นแดงเส้นตัวอักษรในตราเป็นสีขาวก็ได้ ประทับครั่งก็ได้ มีตัวอักษรอิตลิคภาษาอังกฤษว่า “Sovereign of Siam to” แปลว่า “แต่พระเจ้าแผ่นดินสยาม ถึง” เห็นจะแกะบนยอดพระธำมรงค์หยก ประทับได้ทั้งชาดและครั่ง สำหรับประทับต้นพระราชหัตถ์เลขาถึงชาวต่างประเทศ คงมีพระราชลัญจกรอีกหลายองค์ซึ่งหม่อมฉันไม่ได้เห็นหรือจำไม่ได้ในเวลานี้ แต่มีองค์ ๑ ซึ่งยังจำได้ด้วย คิดไม่เห็นเหตุที่ทรงสร้างมาจนบัดนี้ คือพระราชลัญจกรองค์ที่เรียกว่าสยามโลกัคราช (แปลมาแต่คำ “เสียมโหลก๊กอ๋อง” ภาษาจีนเป็นแน่) ตัวพระราชลัญจกรนั้น หล่อด้วยทองคำทำรูปเป็นจตุรัสข้างบนตรงที่มือถือประทบทำเป็นรูปตัวอูฐหมอบ ลายตราเป็นอักษรขอมเค้าเดียวกับตราพระบรมราชโองการ คิดไม่เห็นว่าทรงสร้างสำหรับราชกิจอย่างใด จะว่าสำหรับประทับพระราชสาส์นไปเมืองปักกิ่งก็มีพระราชลัญจกรมังกรเล่นแก้วมาแต่รัชกาลที่ ๑ แล้ว และในรัชกาลที่ ๔ ก็เคยแต่งทูตไปเมืองจีนแต่ครั้งเดียวเมื่อตอนแรกเสวยราชย์ หม่อมฉันคิดไม่เห็นราชกิจอื่นนอกจากทรงประดิษฐ์ขึ้นสำหรับประทับสัญญาบัตรตั้งจีนเป็นขุนนางเจ้าภาษีอากร นอกจากนั้นเห็นหามีกิจที่จะใช้พระราชลัญจกรสยามโลกัคราชไม่ ยังมีพระราชลัญจกรอีกดวง ๑ ซึ่งหม่อมฉันประหลาดใจหนักหนาตามคำที่กล่าวกันมาแต่ก่อน ว่าตราของพระมหาอุปราชเป็นรูปพระนารายณ์ทรงปืน ถ้าเป็นบัญญัติแต่โบราณต้องเป็นรูปพระนารายณ์ถือหรือแผลงศร เพราะภาษาไทยแต่โบราณเรียกศรว่า ปืน มาเพิ่มคำเรียกว่า “ปืนยา” เมื่อเกิดมี “ปืนไฟ” ขึ้นเป็นคู่กัน หม่อมฉันได้เห็นสัญญาบัตรกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญทรงตั้งขุนนางวังหน้าประทับพระลัญจกรนารายณ์ทรงปืน แต่เป็นรูปพระนารายณ์ยืนอย่างเต้นอยู่บนปากกระบอกปืนไฟ ชนิดเรียกว่า “ปืนครก” หรือ Mortar จะควรเชื่อว่าทูลกระหม่อมทรงสร้างพระราชทานพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ อันมีตราพระจุฑามณีอยู่เป็นคู่กันกับตราพระมหามงกุฎ หรือประดิษฐขึ้นสำหรับกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ และมีปัญหาต่อเนื่องไปว่า ตรารูปพระนารายณ์ถือศรหรือแผลงศรนั้นไปอยู่ไหน

จะเลยทูลวินิจฉัยต่อไปถึงที่ไทยใช้เซ็นชื่อด้วยลายมือแทนประทับตรา หม่อมฉันพิจารณามานานเห็นว่าทูลกระหม่อมทรงใช้ก่อนผู้อื่นด้วยเมื่อทรงศึกษาทราบภาษาอังกฤษแล้วแต่ยังทรงผนวช ต้องมีลายพระหัตถ์ตอบพวกชาวต่างประเทศในอเมริกาและที่เมืองปีนังเนือง ๆ จดหมายฝรั่งเขาใช้เซ็นชื่อเป็นสำคัญ ก็ทรงเซ็นพระนามเป็นอักษรฝรั่งตอบเช่นกัน เมื่อยังทรงผนวชดูเหมือนเซ็นพระนามว่า ฟ้าใหญ่ Fa Yai (หญิงตุ้ม วรวรรณ ชายากรมหมื่นพิทยาลงกรณ์เคยแปลพิมพ์เป็นภาษาไทยแต่หม่อมฉันไม่มีฉบับอยู่ที่นี่) แต่เมื่อเสวยราชแล้วทรงเซ็นS.P.P.M. Mongkut การเซ็นชื่อก็มีผู้อื่นเอาอย่างกระทำตาม ล้วนเซ็นเป็นอักษรฝรั่งทั้งนั้น แม้ตัวจดหมายเป็นภาษาไทยก็เซ็นเป็นอักษรฝรั่ง สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงแม้เมื่อทรงเสวยราชย์แล้วก็ทรงเซ็นเต็มพระนามว่า Chulalongkorn กรมพระราชวังบวรเอาอย่างทูลกระหม่อมเซ็นย่อว่า K P R W B S Mongol กรม-พระ-ราช-วัง-บวร-สถาน-มงคล สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ทรงเซ็นพระนามว่า Mahamala ที่เซ็นเป็นอักษรไทยทูลกระหม่อมก็ทรงใช้ก่อน เริ่มมีในสัญญาบัตรตั้งขุนนาง ข้างท้ายทรงเซ็นว่า “สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าแผ่นดินสยาม” ยาวตลอดหน้าสัญญาบัตร กับเซ็นเป็นภาษามคธด้วยอักษรขอมในใบพระราชทานที่สีมาวัดด้วยอีกอย่างหนึ่ง มาใช้เซ็นชื่อเป็นอักษรไทยแพร่หลายต่อในรัชกาลที่ ๕ เล่ากันว่าสมเด็จเจ้าพระยาเซ็นชื่อว่า “ศรีสุริยวงษ์” ดังนี้

สนองความในลายพระหัตถ์

นิทานเรื่องผู้มีบุญ เช่นเรื่องพระร่วง มีทุกประเทศหมดทั้งพม่า มอญ ไทย เขมร และเอาเรื่องของเมืองหนึ่งไปปนเข้ากับเรื่องเมืองอื่น แล้วเลยเชือกันว่าเป็นเรื่องในเมืองนั้น มีมากมายหลายเรื่อง ว่าเฉพาะเมืองไทยมีอยู่ในหนังสือพงศาวดารเหนือและในคำให้การ (ขุนหลวงหาวัด) ชาวกรุงเก่าเป็นต้น พิเคราะห์ดูเป็นคำเล่าให้กันฟังตามที่เคยได้ยินผู้อื่นเล่า ผู้ฟังจำได้บ้างจำไม่ได้ เอาเรื่องอื่นเข้าต่อเติมบ้าง สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงดำรัสเรียกว่า “นิทานยายแก่” ถ้าคิดพิเคราะห์อีกทางหนึ่ง ดูเป็นเรื่องในสมัยเมื่อชาวเมืองเชื่อความทรงจำของตนเองไม่นำพาต่อหนังสือถือว่าเป็นสลักสำคัญ ยกตัวอย่างดังเรื่องราชวงศ์พระร่วง ที่จริงก็มีจารึกลงแผ่นศิลาไว้หลายแผ่นแต่ในสมัยราชวงศ์นั้นปกครองกรุงสุโขทัย เช่นจารึกของพ่อขุนรามคำแหงและจารึกเรื่องพ่อขุนบางกลางท่าวชิงเมืองสุโขทัยได้จากขอม ทั้งจารึกของพระมหาธรรมราชาพระยาลิไทยที่ออกทรงผนวชเป็นต้น แต่ไม่มีใครเอาใจใส่อ่านเรียนทอดทิ้งมาจนเมื่อทูลกระหม่อมทรงผนวชเสด็จขึ้นไปเมืองเหนือไปทอดพระเนตรเห็นหลักศิลาของพ่อขุนรามคำแหงและจารึกหลักภาษาเขมรของพระมหาธรรมราชาลิไทยอยู่ที่เนินปราสาทในวังเมืองสุโขทัยโปรดให้เอาลงมากรุงเทพฯ ทรงพยายามอ่านและให้แปลภาษาเขมรออกเป็นภาษาไทย จึงกลับเริ่มเรื่องราวราชวงศ์พระร่วงบ้าง แต่ก็ยังปรับเอาเข้ากับเรื่องพงศาวดารเหนือไม่ได้ มาจนถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงตั้งโบราณคดีสโมสรแล้ว แต่นั้นมาจึงได้ลงมือค้นเรื่องพงศาวดารครั้งสุโขทัยกันจริงจัง และจับได้ว่าเรื่องที่กล่าวในหนังสือพงศาวดารเหนือเป็นนิทานยายแก่โดยมาก แต่จะว่าเรื่องไม่มีมูลเลยทีเดียวก็ว่าไม่ได้ ยกตัวอย่างดังเช่นที่ว่า พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกเมืองเชียงแสนลงมาสร้างเมืองพิษณุโลก แล้วสร้างพระพุทธชินราชและพระพุทธชินสีห์ เมื่อ พ.ศ. ๑๕๐๐ พระองค์ท่านทรงสังเกตเห็นก่อนผู้อื่นว่าลักษณะพระพุทธรูป ๒ องค์นั้นเป็นแบบใหม่กว่าที่อ้าง เมื่อมาตรวจเรื่องภายหลังก็ได้เค้าในศิลาจารึกเรื่องตรงกันหมด เว้นแต่ที่ว่าพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก ที่แท้คือพระมหาธรรมราชาพระยาลิไทยทรงรอบรู้พระไตรปิฎก และเมื่อเป็นพระมหาอุปราชครองเมืองสัชนาลัย ต้องยกกองทัพมาตีเมืองสุโขทัยเมื่อพระบิดาสวรรคต และสร้างเมืองพิษณุโลกเมื่อราว พ.ศ. ๑๙๐๐ สมกับลักษณะพระพุทธชินราชและพระพุทธชินสีห์เป็นแบบลังกาซึ่งรุ่งเรืองอยู่ในเวลานั้น ว่าโดยย่อ ถ้าเปลี่ยนพระนามพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกเป็นพระมหาธรรมราชา เปลี่ยนเมืองเชียงแสนเป็นเมืองสัชนาลัย และเปลี่ยนพ.ศ. ๑๕๐๐ เป็น ๑๙๐๐ เรื่องก็ตรงกัน

เรื่องผู้มีบุญในจำพวกที่ว่ามาหม่อมฉันยังข้องใจอยู่เรื่อง ๑ คือที่ในหนังสือพระราชพงศาวดารกล่าวว่าขุนหลวงเสือเป็นพระราชโอรสลับของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เล่าเรื่องในหนังสือพระราชพงศาวดารราวกับว่ารู้กันเป็นแน่นอน แต่ในกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่รัชกาลพระเจ้าทรงธรรมมีฝรั่งทั้งชาติโปรตุเกส ฮอลันดา อังกฤษ และ ฝรั่งเศส เข้ามาตั้งห้างค้าขายหรือสอนศาสนาอยู่ในกรุงศรีอยุยธาตลอดมาจนเสียกรุงแก่พม่า พวกฝรั่งต่างชาติได้แต่งหนังสือเรื่องเมืองไทยไว้มากมายหลายเรื่อง สังเกตดูหนังสือเรื่องเมืองไทยที่ฝรั่งแต่ง ตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมา กล่าวถึงหลวงสรศักดิ์ทุกเรื่องก็ว่าได้ แต่ไม่มีในที่จะกล่าวว่าเป็นราชบุตรลับ หรือแม้แต่ว่ามีคนเข้าใจกันว่าเป็นราชบุตรลับของสมเด็จพระนารายณ์ กล่าวแต่ว่าเป็นบุตรพระเพทราชาเหมือนกันทุกเรื่อง ถ้าหากมีเสียงกระซิบกันเมื่อในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์หรือในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชาและพระเจ้าเสือ ฝรั่งที่มาอยู่ในกรุงศรีอยุธยาคงรู้และคงอดที่จะเขียนลงในหนังสือไม่ได้ หม่อมฉันจึงสงสัยว่าคำลือเช่นนั้น น่าจะเกิดขึ้นต่อภายหลังราวในรัชกาลพระเจ้าบรมโกศ หรือทีหลังนั้นมา ผู้แต่งหนังสือพระราชพงศาวดารได้ยินพูดกันหลายคนจึงเอามาเขียนลงไว้

ลัทธิมหายานไทยเราเอามาถือมาก นอกจากคติต่างๆ ที่ทรงพรรณนาในลายพระหัตถ์ยังมีสำคัญอีก ๒ ข้อ คือคติที่แบ่งส่วนบุญอันตนกระทำแล้วให้แก่ผู้อื่นก็เป็นคติมหายาน ที่อธิษฐานในจารึกหรือในหนังสือว่า “ขอให้สำเร็จแก่พระโพธิญาณในอนาคตกาลนั้นเถิด” ก็เป็นคติมหายาน

ตัวหลักที่ต่างกันในระหว่างหินยานกับมหายานนั้น พวกหินยานประพฤติตนเองเป็นเยี่ยงอย่างให้คนทั้งหลายประพฤติตามเพื่อไปสู่พระนิพพาน หรืออีกอย่าง ๑ คือดำเนินตามพุทธจริยา พวกมหายานเห็นว่าสอนพระพุทธศาสนาด้วยอุบายเช่นนั้นได้คนเลื่อมใสน้อยเหมือนเรือเล็กรับขนคนได้แต่คราวละน้อย จึงคิดอุบายใหม่คือสอนให้คนเลื่อมใสพระพุทธศาสนาเสียก่อน แล้วจึงสอนทางนิพพานต่อภายหลัง เปรียบคติของตนว่าเป็นเรือใหญ่รับขนสัตว์ข้ามสงสารได้คราวละมาก ๆ ดังนี้ จึงคิดอุบายต่าง ๆ เพื่อให้คนเลื่อมใสพระพุทธศาสนาเป็นสำคัญ เลยสอนว่าการที่ขวนขวายไปนิพพานแต่ตัวเป็นทางแคบ ต้องขวนขวายเป็นพระโพธิสัตว์ให้มีโอกาสมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ช่วยเวไนยสัตว์ให้พ้นทุกข์เสียก่อน แล้วจึงเข้าพระนิพพานต่อภายหลัง ยานทั้ง ๒ ผิดกันโดยมูลดังนี้ คติของมหายานเมื่อจำเนียรกาลนานมาจึงหรูหราไปต่าง ๆ

ข่าวเบ็ดเตล็ดที่เมืองปีนัง

ช้านานกว่า ๑๐ ปีมาแล้ว ฝรั่งเศสคน ๑ ชื่อมองสิเออร์เบรอัล Breul เป็นครูที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รู้จักจนชอบพอกับหม่อมฉัน แล้วเลยรับอาสาสอนภาษาฝรั่งเศสให้แก่หญิงพูน, หญิงพิลัย แต่ ม. เบรอัล ออกจากราชการไปนานแล้ว ไปเที่ยวทำการงานอยู่ที่ต่างๆ จนถึงเมืองเซี่ยงไฮ้ เมื่อเร็ว ๆ นี้หม่อมฉันได้รับจดหมาย ม. เบรอัล ส่งมาจากเมืองสิงคโปร์ฉบับ ๑ ว่าตัวเขากับภรรยาจะไปยุโรปชั่วคราว ส่วนตัวเขาจะแยกเข้าไปกรุงเทพฯ สักสองสามวัน จะให้ภรรยามาคอยอยู่ที่ปีนังจนวันอาทิตย์ที่ ๒๓ เขาจะออกมาทางรถไฟและจะแวะมาหาหม่อมฉันด้วย เมื่อเขาได้บอกล่วงหน้ามายังหม่อมฉัน ๆ จึงลงไปรับที่ท่าเรือในวันอาทิตย์นั้น เมื่อเรือมาถึงท่า ม. เบรอัล ยังอยู่ในเรือ ชายใสกับเมียและลูกคนที่ ๒ ขึ้นมาหาหม่อมฉันก่อน และรุ่งขึ้นในวันจันทร์เธอพาเมียกับลูกมาหาหม่อมฉันที่บ้าน ถามเธอได้ความว่าจะมาพักอยู่ปีนัง ๓ วัน แล้วจะพาเมียกับลูกไปส่งลงเรือเมล์ไปยุโรป ณ เมืองสิงคโปร์ แล้วเธอจะกลับกรุงเทพฯ ทางเรือเลียบฝั่ง เหตุที่จะส่งไปนั้นว่าเพราะลูกคนที่ ๒ ขี้โรคมักเจ็บบ่อยๆ หมอว่ามีโรคอะไรติดอยู่ในอวัยวะควรส่งไปให้ตรวจตรารักษาในยุโรปจึงจะหายขาดได้ สังเกตตูเมียเธอก็มีครรภ์เห็นจะเลยไปคลอดลูกด้วย เมียบอกว่าราว ๑๐ เดือนจึงจะกลับ

วันจันทร์นั้นหม่อมฉันเลี้ยงกลางวันให้ ม. เบรอัลกับภรรยาถึงวันอังคารจึงได้ชวนชายใสกับเมียและลูกมากินกลางวัน หม่อมฉันได้ความรู้ใหม่อย่างหนึ่งซึ่งควรทูลให้ทรงทราบ ด้วยภรรยา ม. เบรอัลเป็นผู้ดีชาวมงโคเลีย ผัวบอกอธิบายว่าชาวมงโคเลียกับจีนเป็นมนุษย์ต่างชาติกัน แม้หน้าตาก็ผิดกัน ภรรยาของเขาเป็นชาติมงโคเลียแท้ตลอดจนรูปโฉม พิจารณาดูก็เห็นจริงด้วยใบหน้าแบนเหมือนพระพุทธรูปจีน อย่างดวงพระพักตร์ยาวที่มักมีอยู่ตามวัดจีน คงสร้างตามแบบมงโคเลียทั้งนั้น

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ