วันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๒๕ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๘๒

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

ลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ซึ่งมาถึงปีนังเมื่อคราวเมล์วันอาทิตย์ที่ ๑๕ มาถึงมือหม่อมฉันต่อเวลาเช้าวันพฤหัสบดีที่ ๑๙ สังเกตในตราพนักงานตรวจเป็นหมายเลขที่ ๓๕ เห็นจะหมายตัวพนักงาน มิใช่กองตรวจ แต่ซองเรียบร้อยไม่มีรอยตัด เมื่อรับลายพระหัตถ์ฉบับนี้มีเรื่องที่จะทูลสนองลายพระหัตถ์ฉบับก่อนค้างอยู่หลายเรื่อง หม่อมฉันจึงลงมือร่างจดหมายเวรฉบับนี้ตั้งแต่ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๙ นั้น เพื่อจะชำระเรื่องที่คั่งค้างให้หมดเสียก่อน แล้วจึงจะทูลสนองความในลายพระหัตถ์ฉบับนี้ต่อไป

ทูลเรื่องที่ค้าง

ที่ตรัสถามถึงโจรไต้เผ็งกับพวกบ๊อกเซอในเมืองจีนนั้น อธิบายว่า พวกโจรไต้เผ็งกับพวกบ๊อกเซอ ต่างพวกและต่างสมัยกัน พวกโจรไต้เผ็งเกิดขึ้นมณฑลกังไสเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๓ ตอนปลายรัชกาลพระเจ้ากรุงจีนเตากวาง (ก่อนตั้งรัชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร ปี ๑) เหตุที่จะเกิดนั้นเนื่องมาแต่จีนรบแพ้ฝรั่ง พ.ศ. ๒๓๘๕ ต้องยอมให้ฝรั่งไปตั้งแหล่ง Settlements ค้าขายตามหัวเมืองฝ่ายใต้ พวกพลเมืองจีนเห็นฝรั่งเข้าไปมีอำนาจแซกแซงในเมืองจีน พากันเห็นว่าราชวงศ์ไต้เช็งอันเป็นชาติเม่งจูไม่สามารถปกครองบ้านเมือง ก็เกิดความคิดจะกำจัดพวกเม่งจู เอาบ้านเมืองคืนมาเป็นของจีน ความประสงค์อย่างเดียวกันกับพวกอั้งยี่ แต่ทำการโดยเปิดเผยไม่เป็นสมาคมเหมือนพวกอั้งยี่ หัวหน้าของพวกโจรไต้เผ็งชื่อ “ฮุงเซียวฉวน” ดูทำนองคล้ายๆ กับ “ผีบุญ” เที่ยวอวดอิทธิฤทธิ์และสั่งสอนชักชวนราษฎรให้ช่วยกันกู้บ้านเมือง ได้ผู้คนเป็นกำลังมากขึ้นโดยลำดับ เมื่อทูตที่ไปเมืองจีนในรัชกาลที่ ๔ คราวปีชวด พ.ศ. ๒๓๙๕ กลับจากกรุงปักกิ่งทางบกจะมาลงเรือที่เมืองกึงตั๋ง ถูกพวกโจรไต้เผ็งปล้นนั้น เป็นในเวลาพวกโจรไต้เผ็งกำลังตั้งตัว ต่อนั้นมาสามารถตีหัวเมืองในแดนจีนฝ่ายใต้ได้หลายเมือง แล้วตั้งเมืองนำกิ่งราชธานีเก่าเป็นที่มั่น ยกขึ้นไปหมายจะตีกรุงปักกิ่งแต่สู้กำลังทหารรัฐบาลจีนไม่ได้ ก็ถอยลงมายังเมืองนำกิ่งรวบรวมบ้านเมืองที่ตีได้ตั้งเป็นก๊กขึ้นในเมืองจีนอีกแห่งหนึ่งต่างหาก ตัวผู้เป็นหัวหน้าตั้งตัวเป็นเจ้าแผ่นดิน หม่อมฉันเข้าใจว่าเห็นจะใช้คำ “ไต้เผ็ง” เป็นนามราชวงศ์ เช่นเดียวกับคำ “ไต้เหม็ง” และ “ไต้เชง” ทีหลังจึงได้เรียกโจรพวกนี้ว่า “โจรไต้เผ็ง” รัฐบาลจีนต้องรบพุ่งอยู่นาน จึงสามารถปราบปรามโจรพวกไต้เผ็งได้ราบคาบ

พวก “บ๊อกเซอ” นั้นก่อการวุ่นวายในรัชกาลพระเจ้ากรุงจีนกวางซู เมื่อ ๒๔๔๓ (ตรงกับรัชกาลที่ ๕ กรุงรัตนโกสินทร) นามว่าบอกเซอ เป็นภาษาอังกฤษ ถ้าแปลเป็นภาษาไทยก็ว่า “นักมวย” ฝรั่งมักอ้างว่าเป็นสมาคมลับเหมือนอย่างอั้งยี่ แต่หม่อมฉันได้ฟังพวกจีนที่เขารู้ประเพณีเมืองจีนบอกอธิบาย ฟังแล้วก็ออกนึกขัน ด้วยชื่อที่ฝรั่งเรียกว่า “บ๊อกเซอ” นั้นตรงกับคำที่เราเรียกว่า “พะบู๊” นั่นเอง ตามอธิบายที่เขาบอกนั้น ว่าประเพณีมีมาในเมืองจีนแต่ดึกดำบรรพ์ ที่บรรดาลูกผู้ชายเมื่อรุ่นหนุ่มถ้าเป็นคนมีกำลังร่างกายแข็งแรง ก็ชอบฝึกหัดมวยปล้ำและกระบวนใช้เครื่องสาตรา (ตั้งแต่ก่อนมีปืนไฟ) สำหรับรักษาตัวและรบพุ่งศัตรูบ้านเมือง ตามหัวเมืองพวกชายหนุ่มที่กำลังศึกษาการยุทธเช่นนั้น มักรวมกันเป็นสมาคมเล่นการประลองอวดกำลังให้คนดู ที่เราเรียกกันว่า “พะบู๊” ชอบทำรูปสิงโตแต่งเต้นเป็นเครื่องหมายเมื่อแห่กันไป ณ ที่ต่างๆ เช่นไปให้พรตามบ้านในเวลาตรุษจีนเป็นต้น เจ้าบ้านก็ให้เงินเป็นบำเหน็จเกื้อกูลแก่พวกพะบู๊นั้นเป็นประเพณี ฟังอธิบายเข้าใจซึมซาบเพราะพวกบ๊อกเซอมีในเมืองไทยมาแล้วช้านาน เช่นพวกพะบู๊เล่นสิงโตในสนามหน้าพลับพลา ซึ่งกล่าวกันว่าองค์เชียงสือจัดให้เล่นถวายทอดพระเนตรเมื่อรัชกาลที่ ๑ ก็ดี กระบวนเล่นสิงโตที่พวกจีนเอาไปช่วยในการแห่แหนของไทยก็ดี พวกเล่นสิงโตไปให้พรตามบ้านในเวลาตรุษจีนก็ดี เป็นอย่างเดียวกันกับที่เขาพรรณนา และพวกจีนยังแห่สิงโตเที่ยวให้พรในเวลาตรุษจีนมาจนรัชกาลที่ ๕ จึงห้ามมิให้เล่น เพราะจีนแห่สิงโตต่างพวกมักเกิดวิวาทตีรันฟันแทงกัน แต่นั้นถึงตรุษจีนก็มีแต่เด็กๆ ไทยทำสิงโตไปเที่ยวเล่นขอทานตามบ้านจีนมาจนบัดนี้

มูลเหตุที่พวกพะบู๊จะกำเริบขึ้นในเมืองจีนนั้นเกิดแต่จีนรบกับญี่ปุ่นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ แล้วฝรั่งเข้าซ้ำบังคับเช่าเอาหัวเมืองสำคัญๆ ของจีนไปปกครองหลายเมือง พวกจีนพากันรู้สึกอัปยศมีความแค้นเคืองชาวต่างประเทศทั้งญี่ปุ่นและฝรั่ง คิดอยากจะแก้แค้นอยู่ทั่วไป แต่จะแก้แค้นด้วยอุบายอย่างใด ความคิดของพวกจีนแตกต่างกันเป็น ๒ อย่าง พวกจีนทางฝ่ายใต้ตั้ง แต่เมืองเซี่ยงไฮ้ลงมาจนเมืองกึงตั๋งไปมาค้าขายคุ้นกับฝรั่ง และมีคนที่ได้เคยไปเรียนวิชาความรู้มาจากอเมริกาและยุโรปมากกว่าจีนพวกข้างเหนือ ความคิดเป็น “พวกสมัยใหม่” เห็นว่าต้องเปลี่ยนวิธีการปกครองเมืองจีนไปตามแบบฝรั่ง เหมือนเช่นญี่ปุ่น จึงจะฟื้นเมืองจีนได้ แต่พวกจีนทางฝ่ายเหนืออยู่ใกล้ราชธานียังนับถือประเพณีเดิมอยู่โดยมาก เห็นว่าเมืองจีนใหญ่โตผู้คนพลเมืองมาก ถ้าคิดอ่านรวบรวมกำลังบ้านเมืองให้พรักพร้อม ขับไล่พวกชาวต่างประเทศไปเสียจากแผ่นดินจีนก็จะได้

เมืองจีนในสมัยนั้นเป็นรัชกาลพระเจ้ากลางซูๆเสวยราชย์แต่ยังเป็นเด็ก นางฮองไทเฮาจูลีมเหสีของพระเจ้ากรุงจีนองค์ก่อน และเป็นป้าของพระเจ้ากวางซูได้สำเร็จราชการแผ่นดินอยู่มาหลายปี จนพระเจ้ากวางซูทรงเจริญเป็นฉกรรจ์ นางจึงมอบอำนาจให้ปกครองแผ่นดิน แต่ยังควบคุมดูแลอยู่เสมอ พระเจ้ากลางซูเลื่อมใสตามทางความคิดของพวกจีนฝ่ายใต้ ออกประกาศสั่งให้แก้ไขขนบธรรมเนียมหันเข้าหาทางอย่างฝรั่ง นางฮองไทเฮาเข้าขัดขวางสั่งให้เพิกถอนประกาศเสีย พระเจ้ากวางซูเห็นว่าถ้านางฮองไทเฮายังมีอำนาจอยู่คงจัดการบ้านเมืองไม่สำเร็จ จึงคิดจะจับนางฮองไทเฮากักขังเสียมิให้มาเกี่ยวข้องกับการบ้านเมือง แต่นางรู้ตัวทันก็สั่งให้จับพระเจ้ากวางซูขัง แล้วกลับขึ้นว่าราชการบ้านเมืองเอง พอข่าวแพร่หลายออกไปถึงหัวเมือง คนเชื่อกันว่านางฮองไทเฮาจะคิดอ่านขับไล่ชาวต่างประเทศด้วยกำลัง พวกพะบู้ซึ่งมีอยู่ทั่วทุกหัวเมืองก็กำเริบขึ้นในภาคชันตุง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓ แล้วแพร่หลายต่อไปถึงเมืองอื่นๆ พากันเที่ยวทำร้ายพวกเข้ารีตถือศาสนาคริสตัง และเผาวัดวาโรงเรียนของพวกมิชชันนารี บางแห่งถึงฆ่ามิชชันนารีก็มี แล้วพากันยกเป็นกระบวนทัพเข้าไปยังกรุงปักกิ่ง ไปพบราชทูตเยอรมันกำลังนั่งเกี้ยวจะไปยังกระทรวงการต่างประเทศ จับราชทูตเยอรมันฆ่าเสีย พวกทูตต่างประเทศก็พากันตกใจกันเตรียมทหารจะรบพุ่งต่อสู้ และเรียกทหารจากที่อื่นเข้าไปเพิ่มเติม เมื่อเหตุเป็นถึงเช่นนั้นนางฮองไทเฮามิรู้ที่จะทำอย่างไรก็ต้องจำใจเข้ากับพวกพะบู๊สั่งให้ทหารเข้าสมทบตีค่ายของสถานทูต รบพุ่งกันอยู่จนกองทัพฝรั่งต่างชาติรวมกันเข้าไปตีกรุงปักกิ่ง นางฮองไทเฮาต้องพาพระเจ้ากวางซูหนีไปอาศัยอยู่ณเมืองเจฮล Jehol ในภาคมงโคเลียใน แล้วเจรจาว่ากล่าวกับพวกต่างประเทศ ต้องทำสัญญาอัปยศหลายอย่าง เลยเป็นเหตุให้พวกจีนทางฝ่ายใต้สิ้นหวังในราชวงศ์เม่งจู จึงก่อการขบถต่อมาจนเมืองจีนกลายเป็นริปับลิกด้วยประการฉะนี้

เรื่องคลังสินค้านั้นเกิดแต่การค้าขายกับฝรั่ง ไม่เกี่ยวกับค้าขายทางเมืองจีน หม่อมฉันทราบจากหนังสือซึ่งฝรั่งแต่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาว่า ฝรั่งสามารถแล่นเรือจากยุโรปอ้อมอาฟริกามาได้ถึงอินเดียและประเทศอื่นๆ ทางฝ่ายตะวันออกนี้ เที่ยวขออนุญาตเจ้าของเมืองตั้งสถานีการค้าเป็นที่พักตามเมืองที่เป็นทำเลค้าขาย ในสถานีนั้นตั้งคลังสินค้าเป็นที่พัก สินค้าซึ่งบรรทุกมาจากยุโรปก่อนจำหน่ายขายแก่ชาวเมือง และเป็นที่พักสินค้าซึ่งซื้อหาได้ในพื้นเมืองเมื่อก่อนบรรทุกเรือส่งไปยุโรป เมื่อพวกฝรั่ง โปรตุเกส ฮอลันดา และอังกฤษ มาค้าขายถึงกรุงศรีอยุธยา ก็มาตั้งสถานีการค้าเช่นนั้นที่ริมแม่น้ำข้างใต้พระนคร การค้าขายของพวกฝรั่งต้องเกี่ยวข้องกับรัฐบาลหลายอย่าง เป็นต้นว่าถ้าเอาเครื่องศาสตราวุธยุทธภัณฑ์เข้ามาขาย รัฐบาลไม่ยอมให้ขายแก่ผู้อื่นนอกจากรัฐบาล แม้สินค้าอย่างอื่นถ้าเป็นของต้องใช้ในราชการก็ต้องขายให้รัฐบาลก่อนผู้อื่น ส่วนสินค้าในพื้นเมืองที่ฝรั่งปรารถนาจะซื้อนั้น ที่เป็นของดีมีราคามากเช่นดีบุกและงาช้างเป็นต้น เป็นของหายาก รัฐบาลเกรงจะหมดเสีย จึงบัญญัติว่าเป็น “สินค้าต้องห้าม” ชาวเมืองจะขายได้แต่แก่รัฐบาล ห้ามมิให้ขายแก่ผู้อื่นเป็นประเพณีมีมาแต่ก่อนแล้ว ถึงสินค้าที่มิต้องห้ามมีของบางอย่าง เช่นเขาและหนังกวางเป็นต้น ก็หายากยังไม่เป็นของสินค้าในท้องตลาด พวกฝรั่งก็ต้องขอซื้อสินค้าต้องห้ามและต้องขอให้รัฐบาลช่วยหาสินค้าหายากมาขายแก่ตน การสงเคราะห์ฝรั่งด้วยประการดังกล่าวมานี้เป็นทางที่ได้กำไรเป็นผลประโยชน์แก่รัฐบาลอีกอย่าง ถึงรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง จึงขยายการหาผลประโยชน์ในทางนั้น ให้มีผลยิ่งขึ้น ด้วยตั้งคลังสินค้าของหลวงให้มีเหมือนอย่างของฝรั่ง เป็นที่รวมสินค้าต่างๆ ที่หามาขายฝรั่ง และรับเหมาซื้อสินค้าต่างประเทศที่ฝรั่งเอาเข้ามาไว้ในคลังสินค้าสำหรับขายย่อยไปแก่ชาวเมือง เมื่อตั้งคลังสินค้าแล้วตั้งบัญญัติเพิ่มสินค้าต้องห้าม ให้ซื้อขายได้แต่รัฐบาลอีกหลายอย่าง สินค้าที่ฝรั่งเอาเข้ามาขายก็ตั้งบัญญัติสิ่งซึ่งให้ขายแต่แก่รัฐบาลเพิ่มขึ้นอีกหลายสิ่ง คือผ้าแดง (ชะรอยจะอ้างว่าสำหรับทำเครื่องแต่งตัวทหาร) เป็นต้น แม้สินค้าสามัญเช่นเครื่องถ้วยชาม ก็ต้องให้รัฐบาลเลือกซื้อได้ก่อนผู้อื่น ว่าโดยย่อรัฐบาลทำการค้าหากำไรขึ้นในกรมคลังสินค้าอีกอย่าง ๑ มูลของกรมพระคลังสินค้ามีมาดังนี้

มีสาขาคดีเป็นข้อสำคัญอันเกิดแต่ตั้งพระคลังสินค้าซึ่งควรจะเล่าต่อไปด้วย เมื่อรัฐบาลตั้งคลังสินค้าขึ้นอย่างว่ามา พวกฝรั่งพากันเดือดร้อนแต่มิรู้ที่จะทำอย่างไร รอมาจนถึงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พอไทยยกกองทัพไปตีเมืองพม่า กำลังรักษาพระนครอ่อนลง พวกฮอลันดาก็ให้ทัพเรือมาปิดปากน้ำ แล้วขอแก้ไขวิธีการค้าขาย สมเด็จพระนาราณ์ฯ ต้องทรงอนุญาตให้พวกฮอลันดา ซื้อหาสินค้าต้องห้ามบางอย่าง คือเขาและหนังกวางเป็นต้น ได้ตามใจจึงไม่เกิดรบกัน เหตุครั้งนั้นเป็นมูลอันหนึ่งซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ทรงสร้างเมืองลพบุรี เป็นราชธานีสำรองสำหรับเวลารบกับฝรั่ง เพราะเห็นว่าฝรั่งอาจจะเอาเรือรบขึ้นมาพระนครศรีอยุธยาได้ และยังมีเหตุชนิดเดียวกันเป็นแต่มิได้เกี่ยวกับคลังสินค้าเกิดขึ้นเมื่อรัชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร์อีก ตั้งแต่ทำหนังสือสัญญาทางไมตรีกับฝรั่ง มีกงซุลต่างชาติเข้ามาตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ในสมัยเมื่อไทยกับฝรั่งยังไม่สู้คุ้นกัน ถ้าเกิดโต้เถียงกันพวกกงซุลมักขู่ว่าจะเรียกเรือรบเข้ามากรุงเทพฯ ถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รำคาญพระราชหฤทัย ทรงพระดำริตั้งเมืองลพบุรีเป็นราชธานีสำรองเหมือนอย่างสมเด็จพระนารายณ์ แต่มีความเห็นอีกฝ่ายหนึ่งว่า ควรตั้งที่เมืองนครราชสีมา จึงโปรดให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เสด็จขึ้นไปตรวจ แต่ไปเห็นว่าเมืองนครราชสีมากันดารน้ำนัก พระปิ่นเกล้าฯ โปรดที่เขาคอกในแขวงเมืองสระบุรี จึงคิดทำที่มั่นที่เขาคอกนั้นสำหรับพวกพระบวรราชวัง เป็นเหตุให้สร้างที่ประทับ ณ ตำบลสีทาที่ริมแม่น้ำสักใกล้กับเขาคอกแต่นั้นมา แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ โปรดเมืองลพบุรี จึงทรงสร้างพระราชฐาน ณ ที่นั้น ยังมีพระราชมนเทียรสถานปรากฏอยู่จนบัดนี้

ทูลสนองความในลายพระหัตถ์เวรฉบับวันที่ ๑๓ ตุลาคม

ที่โคลง “คุณเสือ” ในวิหารพระโลกนาถวัดพระเชตุพนถูกคัดแผ่นศิลาจารึกทิ้งเพื่อทาปูนผนังนั้น หม่อมฉันรู้สึกเสียดายมาก ดูเหมือนเป็นโคลง ๒ บท จำได้แต่ ๔ คำในบาท ๓ บท ๑ ว่า

“๐ ๐ ๐ คุณเสือ แสวงบุตร”

หม่อมฉันตรวจดูในหนังสือ “ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน” ซึ่งหม่อมฉันเองเป็นผู้จัดรวบรวมพิมพ์ในงานพระศพพระวิมาดาเธอ ก็ไม่มี รู้สึกเป็นความผิดของตนด้วย โคลงนั้นเป็นสำนวนพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระปรมานุชิต ฯ แน่ แต่จะแต่งจารึกเมื่อใดหม่อมฉันเคยพิจารณา เห็นว่าแต่งภายหลังทำรูปกุมารเมื่อรัชกาลที่ ๑ ช้านาน อาจเป็นเมื่อปฏิสังขรณ์วัดในรัชกาลที่ ๓ แต่ตรวจดูในแถลงรายการปฏิสังขรณ์ครั้งนั้น ซึ่งสมเด็จกรมพระปรมานุชิตทรงพรรณนาถ้วนถี่อย่างยิ่ง หากล่าวถึงโคลงประจำภาพกุมารนั้นไม่ จึงเห็นว่าจะแต่งในรัชกาลที่ ๔ เมื่อทูลกระหม่อมทรงอาราธนาให้กรมสมเด็จพระปรมานุชิต ฯ ทรงแต่งสร้อยพระนามพระพุทธรูปในพระวิหาร คงโปรดให้ทรงแต่งโคลงประจำรูปกุมารรักษาเรื่องที่สร้างไว้มิให้สูญ อย่างเราพูดกันว่า “อี๋” จึงใช้คำ “คุณเสือ” อย่างเช่นเคยทรงเรียกมาด้วยกันแต่ยังทรงพระเยาว์ทั้ง ๒ พระองค์

เรื่องพัดรองสำหรับงานพระศพทูลกระหม่อมหญิง กรมหลวงเพชรบุรีฯ นั้น จำต้องเป็นรูปกำไลอยู่เอง แต่ดูยากอยู่บ้างด้วยกำไลคล้ายกับสิ่งอื่น ถ้าเล็กไปก็เป็นแหวน ใหญ่ไปก็เป็นกรอบมงกุฎ ต้องมีอะไรประกอบให้คนเห็นว่ากำไลในทันที ไม่ต้องถามว่า “นั่นท่านทำเป็นอะไร” หม่อมฉันสามารถจะทูลได้เพียงเท่านี้ ถ้าว่าตามความเห็นของหม่อมฉันเห็นว่าถึงเวลาน่าจะเลิกทำพัดรองอย่างแต่ก่อนแล้ว ด้วยการพิธีรีตองและการศพการเมรุก็เปลี่ยนรูปไปหมดแล้ว พระได้ไปไม่มีที่ใช้สักกี่หน การลงทุนทำพัดรองอย่างวิจิตร ดูดังภาษิตว่า ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ แต่สำหรับพระองค์ท่านมีที่ขัดมิได้ก็ต้องทรงคิดทำอยู่เอง

ข่าวในปีนัง

ถึงวันที่ ๒๓ ตุลาคม หม่อมฉันเคยทำพิธีถวายบังคมสมเด็จพระปิยมหาราชที่ซินนามอนฮอลมาทุกปี ถึงปีนี้ทำบุญเป็น ๒ แห่ง ด้วยพระองค์หญิงประเวสฯ เธอเชิญพระบรมอัฐิเสด็จมาด้วย เธอทรงบำเพ็ญพระกุศลที่ตำหนักมีเลี้ยงพระ สวดมนต์ เทศนา และชักบังสุกุล อุทิศถวายสนองพระเดชพระคุณ พวกหม่อมฉันก็ไปช่วยเป็นการสนองพระเดชพระคุณ โดยทรงเป็นสมเด็จพระชนกปกเกล้าครั้ง ๑ ครั้นเวลาบ่ายนัดกันมาบูชาพระบรมรูปทรงม้า ณ ซินนามอนฮอล เป็นการสนองพระเดชพระคุณโดยทรงเป็นสมเด็จพระปิยมหาราชของพศกนิกรอีกครั้ง ๑

เมื่อไปทำบุญที่ตำหนักพระองค์หญิงประเวศฯ ไปเห็นพัดรองที่พระถือมา พระมหาภุชงค์ถือพัดรองงานพระศพสมเด็จพระสังฆราชวัดราชบพิธ ตัวพัดเป็นพื้นแพรสีน้ำตาล นมพัดทำโลหะกาไหล่ทองเป็นอักษรพระนามไขว้มีเศวตฉัตร ๕ ชั้นอยู่ข้างบน พระมหามุกด์ถือพัดรองงานฉลองพระชนมายุของพระองค์หญิงอาทรฯ พื้นแพรเขียนประสานสีเป็นรูปป่าเขา มีดวงพระอาทิตย์อุทัยอยู่กลางรัศมีพุ่งออกไปหลายแฉก มีรูปโครายระหว่างแฉกรัศมีช่องละตัว เห็นพัดรอง ๒ เล่มนั้นทำให้หม่อมฉันนึกว่า หลักของพัดรองที่คิดทำกันดูเป็น ๒ อย่าง คือเอาลายพื้นพัดเป็นหลักอย่าง ๑ เอานมพัดเป็นหลักอย่าง ๑ ดังนี้

สนองลายพระหัตถ์เวรที่รับใหม่

ลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๒๐ ตุลาคม ถึงปีนังเมื่อคราวเมล์อาทิตย์ที่ ๒๒ ฝ่านผู้ตรวจเลขที่ ๒ แล้ว มาถึงหม่อมฉันโดยเรียบร้อยเมื่อเช้าวันอังคารที่ ๒๔ เร็วกว่าฉบับก่อน ๒ วัน ข้อความที่จะสนองลายพระหัตถ์เวรฉบับนี้ไม่มีมากนัก จึงรีบเขียนตอบให้กลับเข้าคลองกำหนดตามเดิม

เรื่องเขียนหน้าคนเป็นสีเขียวที่ตัดรูปในหนังสือพิมพ์ประทานมานั้น ถูกกับความที่หม่อมฉันเคยปลงใจเป็นยุติมาแต่ก่อน แต่ยังมิได้ทูลไป มาอยู่ปีนังนานวันเข้าได้เห็นหน้าพวกชาวอินเดียที่มาจากต่างถิ่นฐาน สังเกตดูผิวมิสีต่างๆ หลายอย่าง ตั้งแต่สีม่วงแก่ใกล้กับดำและเขียว และมีสีอื่นผ่องขึ้นเจือแดงโดยลำดับจนถึงสีหงสบาท ทำให้หม่อมฉันเห็นว่าที่ลงสีหน้ารูปภาพ เช่นหัวโขนเป็นต้น เป็นสีต่างๆ นั้นเขามีหลัก คือสังเกตว่าสีหน้าคนใกล้กับสีใด ก็เอาสีนั้นเขียนรูปภาพ เป็นตำรามาแต่โบราณ การที่พยายามเอาสีต่างๆ ผสมให้เหมือนผิวหนังและทับเงาที่จับหน้าเป็นความคิดของฝรั่งเกิดขึ้นต่อภายหลัง จะทูลนอกเรื่องต่อไปอีกอย่างหนึ่ง ว่ารูปภาพสตรีที่เขียนกันในสมัยนี้ออกจะเป็นกาลกินีกับหม่อมฉันเสียแล้ว ด้วยเห็นว่าในบรรดาใบโฆษณาขายของก็ดี ชวนดูหนังฉายก็ดี ถ้าทำรูปสตรีดูมีแต่เจตนาจะยั่วกามกิเลศไปเสียแทบทั้งนั้น รูปยายหน้าเขียวที่ประทานมาก็เช่นนั้น รูปที่จะน่าดูในทางศิลปศาสตรทุกวันนี้มีน้อยนัก

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ