วันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๓ มิถุนายน ๒๔๘๒

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ได้ถวายรายงานการเที่ยวลอยละล่องมาแต่สิงคโปร์เพียงครึ่ง วันที่ ๑๘ พฤษภาคม จึงจะกราบทูลต่อไปแต่วันที่ ๑๘ พฤษภาคมนั้น จนถึงวันกลับถึงบ้านเป็นที่สุด

วันที่ ๑๘ พฤษภาคม ลูกหลานขึ้นไปเที่ยวบนบกในเวลา ๙.๐๐ น. ได้ให้เอาเสบียงกรังซึ่งจัดเตรียมไปให้กงสุลสยามไปส่งที่บ้านเขาด้วย พอที่บ้านกงสุลได้รับของทราบความว่าออกมา นางวุฒิสารกับเลขานุการก็แล่นลงมาหาที่เรือ บอกว่ากงสุลไม่อยู่ ไปหาแม่ทัพอังกฤษซึ่งมาประจำอยู่ที่สิงคโปร์ ได้ฝากหนังสือรายงาน ให้เลขานุการช่วยส่งไปรษณีย์มาถวาย เวลา ๑๑.๐๐ น. เรือออกไปจอดรับน้ำมันเติม ณ สถานที่เรียกว่า “ท่าตะวันตก” ในหมู่เกาะ “ปลากังมาติ” ข้างใต้สิงคโปร์ลงไป สิ้นเวลา ๑ ชั่วโมงจึงเสร็จ เรือออกเดินเลยไปทางใต้ในหว่างเกาะซึ่งมีอยู่เป็นอันมาก

วันที่ ๑๙ พฤษภาคม เวถา ๑๗.๑๕ น. ถึงปากน้ำปะเลมบัง แวะรับนำร่องพาเรือเดินเข้าแม่น้ำต่อไป เห็นมีเครื่องปักและทอดหมายรองน้ำ แต่เข้าไปประเดี๋ยวก็มืด เห็นแต่ทิวไม้ตะคุ่มๆ หมดทางที่จะกราบทูลอะไรได้ จนกระทั่งเวลา ๒๒.๒๐ น. เห็นไฟบนบกทางซ้ายมือหรูหราดุจว่าแต่งงานเฉลิม แต่มีควันตลบอบอวลคละอยู่ด้วย จึงสันนิษฐานว่าที่นั่นน่าจะเป็นโรงงานอันใดอันหนึ่งแล้วก็มืด ต่อเช้าไปอีกจึงมีแสงไฟประปราย เข้าใจว่าที่นั่นเป็นเมือง อาศัยแสงไฟขมุกขมัวเห็นตลิ่งเป็นว่าน้ำท่วม มีเรือนลงไปปริ่มน้ำดูดุจว่าแพ เห็นอะไรไม่แน่นอกจากมีผักตบชวาลอยมาตามสายน้ำมากมาย เวลา ๒๒.๔๕ น. เรือหยุดทอดสมอลงในแม่น้ำ

วันที่ ๒๐ พฤษภาคม เช้าขึ้น จึงเห็นปรากฏชัดว่าตลิ่งเป็นชายเลน เวลาที่น้ำขึ้นก็ท่วมไปไหนๆ มีเรือนแพอยู่ข้างใน มีแพจอดข้างหน้าเป็นจริงทุกอย่างเหมือนคาดคิดเมื่อคืนนี้ มีเรือใหญ่เล็กแจวพายขวักไขว่ ช่างเหมือนเมืองไทยเสียจริงๆ เวลา ๙.๐๐ น. จึงพากันขึ้นไปเที่ยวบนบกชมเมืองและดูมูเซียม เมืองตั้งอยู่ฝั่งซ้ายอย่างกรุงเทพฯ มีบ้านเรือนแน่นหนา ทางฝั่งตรงข้ามก็ตกเป็นฝั่งธน มีบ้านเรือนร่วงโรย บ้านเรือนจับขอบยาวไปตามแม่น้ำ โดยธรรมดาที่คนต้องอาศัยน้ำ มีคลองขุดขวางเข้าไปบ่อยๆ ลางคลองก็มีน้ำบ้าง ลางคลองก็แห้ง ที่ว่านี้เป็นเวลาน้ำลง บ้านฝรั่งเป็นหลังเล็ก ๆ ชั้นเดียวแบบวิลันดามีอยู่น้อย นอกนั้นก็เป็นบ้านชาวพื้นเมืองไม่ต้องกราบทูลพรรณนามากมาย เหมือนกับเมืองไทยทุกอย่าง มึกระทั่งตะพานเงิน ตะพานทองอยู่เต็มที่ มูเซียมนั้นเล็กนิดเดียว ใช้ตำหนักราชาผู้ครองเมืองแต่ครั้งบ้านเมืองดี เป็นเรือนไม้หลังคามุงกระเบื้องทรงปั้นหยา จัดเป็นมูเซียมแสดงของโบราณ แต่ก็ปอนๆ เห็นจะไม่ได้บำรุง เป็นแต่รักษาให้ดำรงอยู่ด้วยดีเท่านั้น ไม่มีสิ่งใดในนั้นสำคัญพอที่ควรจะกราบทูล นอกจากมีรูปศาสตราจารย์ เซเดส์ เขาจะได้กันมาอย่างไร และเอามาติดไว้ด้วยเหตุใต ไม่มีใครจะบอกให้ทราบได้ ที่นั่นก็มีแต่ตาแขกคนเฝ้าอยู่คนเดียว อะไรๆ ก็ไม่รู้ทั้งนั้น มูเซียมนั้นตั้งอยู่ข้างป้อม ป้อมนั้นเวลานี้จัดแก้ไขเป็นโรงทหาร ในหนังสือต่างๆ เขาก็กล่าวยืนยันว่าเมืองปะเลมบังเป็นเมืองหลวงครั้งศรีวิชัย แต่ไม่มีอะไรไม่น่าจะเป็นได้ เป็นชายเลนเห็นได้ว่าเป็นแผ่นดินใหม่ ครั้งศรีวิชัยคงยังเป็นทะเล ถ้าเมืองเก่าตั้งอยู่ลึกเข้าไปนั้นว่าไม่ถูก แต่ไม่พบผู้รู้ซึ่งอาจบอกอะไรได้ ในมูเซียมก็มีชิ้นศิลาจำหลัก แต่แตกๆ หักๆ ต่อกันไม่ติดซึ่งจะกราบทูลอะไรได้ ดูเป็นขุดได้เศษอะไรก็เก็บเอามากองไว้เท่านั้น จะขุดได้มาแต่ไหนก็ไม่ทราบ ดูแล้วพากันลงเรือจ้างพายชมลำน้ำขึ้นไปหาเรือ “สุทธาทิพ” ด้วยเขาบอกว่าจะขึ้นไปจอดประทุกถ่านหินอยู่ทางเหนือน้ำ ไปพบเรือจอดเทียบท่าอยู่หน้าห้างอันหนึ่ง กำลังประทุกถ่านหินลงในเรือ จึงพากันขึ้นบนเรือ วิธีประทุกถ่านหินก็ไม่ต้องทูลมาก เขานำถ่านมาด้วยถังตั้งบนล้อ เข็นมาตามรางเหล็กดุจรถขนดินของรถไฟฉะนั้น แต่มีขนาดใหญ่กว่า และถังนั้นเปิดอ้าออกได้เป็นสองซีก ดุจเครื่องขุดคลอง มีปั้นจั่นหิ้วถังมาเปิดถ่านให้ตกลงในระวางเรือ ทำการบรรทุกกันอยู่จน ๔.๐๐ น. จึงเสร็จ

วันที่ ๒๑ พฤษภาคม เวลา ๖.๔๐ น. เรือออกล่องลงไปตามลำน้ำ ถึงที่เห็นไฟสว่างเมื่อคืนนี้เป็นโรงงานกลั่นน้ำมัน เขาว่าเมืองนี้รวยมาก น้ำมันก็มี ถ่านหินก็มี กับแร่ต่างๆ ก็มีมาก เรือแล่นต่อมาจนถึงเวลา ๑๐.๓๐ น. ก็ต้องทอดสมอจอดลอยลำรอน้ำอยู่เพื่อจะข้ามสันดอน สันดอนเมืองนี้อยู่ลึกเข้าไปในลำน้ำ ไม่ใช่อยู่ในทะเลปากอ่าวเช่นบ้านเรา จนเวลา ๑๓.๐๐ น. จึงออกเรือข้ามสันดอนไปได้ นอกสันดอนที่ปากอ่าวมีบ้านชาวประมงหมู่ใหญ่ตั้งอยู่ อันนี้ก็ได้แก่เมืองสมุทรปราการของเรา เวลา ๑๕.๑๕ น. ถึงเรือนำร่อง แวะปล่อยนำร่องแล้วเรือเดินออกทะเลไปทีเดียว

วันที่ ๒๒ พฤษภาคม แลไม่เห็นอะไรนอกจากน้ำกับฟ้า ทิ้งสิงคโปร์มาไม่แวะ

วันที่ ๒๓ พฤษภาคม เวลากลางวันเห็นเขาทางฝั่งตะวันตก ทั้งเห็นเขาทางเกาะทิศตะวันออกด้วย ที่นี่เป็นเขตเมืองตรังกนู ต่อนั้นไปก็มีคลื่นมาบ้างเล็กน้อย

วันที่ ๒๔ พฤษภาคม เรือเดินอยู่ในทะเลเห็นฝั่งบ้างไม่เห็นบ้าง มีคลื่นมาบ้างไม่มีบ้าง จนเวลาจวนพลบมีลมพายุมาทางใต้ พัดเอาน้ำขึ้นมาเปียกดาดฟ้า แต่เรือไม่กระเทื้อมเท่าไร เป็นพวก “แอบฝั่ง”

วันที่ ๒๕ พฤษภาคม เวลา ๑.๐๐ น. ถึงอ่าวนครศรีธรรมราช เรือทอดสมอลงที่นั่น เป็นเจตนาที่จะมาส่งถ่านหินไปปากพนัง ในไม่ช้าก็มีเรือฉลอมเข้ามาเทียบ ขนถ่านลงเรือลำเลียงกันคืนยังรุ่ง ซ้ำอีกวันยังค่ำแถมกลางคืนอีกครึ่งคืนด้วย คือว่าทำการขนถึง ๒๔ ชั่วโมง โกยด้วยตะกร้า เคราะดีที่ว่าไม่ใช่ขนทั้งหมดที่บรรทุกมาจากปะเลมบัง แบ่งขนเอาไปแต่ครึ่งเดียว เหลือนั้นจะเอาเข้ากรุงเทพฯ นัยว่าเขาสั่งให้ส่งเดือนละ ๕๐๐ ตัน เอาไปใช้ในเรือขุดแร่

วันที่ ๒๖ พฤษภาคม เวลา ๔.๐๐ น. เรือออกจากอ่าวนครศรีธรรมราชแล่นเข้าข้างใน รุ่งเช้ายังเห็นเขาทางฝั่งตะวันตกอยู่จนเที่ยง พอพ้นชายเขาจึงเข้าใจว่าเป็นเกาะสมุยก็มีคลื่นมา ซ้ำเวลาจวนพลบก็ถูกพายุฝนเข้าด้วย เป็น “คลื่นหยาบ” เห็นจะเกือบตลอดคืน

วันที่ ๒๗ พฤษภาคม เวลาเช้าทะเลราบเรียบ เห็นทิวเขาไกลๆ ทางฝั่งฟากตะวันออก เวลา ๑๓.๓๐ น. ถึงปากน้ำเจ้าพระยาที่นอกสันดอน ทอดสมอจอดรอน้ำอยู่ที่ข้างเรือนำร่อง เรือติดจะโคลงเคลงอยู่ทีเดียว ออกรู้สึกไม่สนุก จนเวลา ๒๑.๑๕ น. จึงได้ออกเรือแล่นข้ามสันดอนเข้าไปทอดสมออยู่หน้าเมืองสมุทปราการ คงจะทรงเดาได้ว่าเป็นอย่างไร ยุงกัดตกขอบ หาความสุขบมิได้

วันที่ ๒๘ พฤษภาคม เวลา ๕.๐๐ น. เรือออกจากเมืองสมุทรปราการแล่นเข้ากรุงเทพฯ เวลา ๘.๐๐ น. ถึงท่าวัดพระยาไกรก็เข้าจอดเทียบท่า ชายดิศมาต้อนรับขับสู้ ทั้งหญิงมารยาตรก็มาด้วย ต่อนั้นก็ไม่มีอะไรนอกจากพากันขึ้นรถกลับบ้าน

ในการไปคราวนี้เป็นผลสำเร็จดีสมคิด เบาจากความร้อนนอนหลับได้มาก แม่โตนั้นก็เป็นไปตามธรรมดาของแก เวลามีคลื่นมาก็เมานอนซมไป เวลาไม่มีคลื่นก็ลุกขึ้นหัวร่อต่อกระซิกได้ สังเกตว่าดีขึ้นกว่าแต่ก่อนบ้าง

เมื่อกลับถึงบ้านพบหนังสือมาคั่งคอยอยู่มากมาย เอาแต่ที่ควรจะกราบทูลให้ทรงทราบมี ๔ เรื่อง

๑) หมายพระราชวัง สั่งว่าวันที่ ๑๗ ที่ ๑๙ พฤษภาคม หม่อมเจ้าในกรมพระจันทบุรี จะทำบุญถวายที่พระที่นั่งดุสิต

๒) หนังสือเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ บอกจะทำศพท้าววรคณานันท์ ที่สุสานวัดเทพศิรินทร์ วันที่ ๒๑ พฤษภาคม พระราชทานเพลิง

๓) หมายพระราชวัง สั่งทรงบำเพ็ญพระราชกุศลร้อยวันที่พระที่นั่งดุสิต ณ วันที่ ๒๕ ที่ ๒๖ พฤษภาคม มีใบพิมพ์กำหนดการรายละเอียด

๔) หมายพระราชวัง สั่งการพระราชทานน้ำสังข์แด่พระองค์เจ้าวิมลฉัตร และหม่อมเจ้าอุทัยเฉลิมลาภ เพื่อการสมรส

เป็นงานอันล่วงไปแล้วทั้งนั้น ได้ถวายใบพิมพ์บอกกำหนดการพระราชกุศลร้อยวัน อันมีรายละเอียดมาเพื่อทราบฝ่าพระบาทในคราวนี้ด้วยแล้ว

กับได้รับลายพระหัตถ์เวร ซึ่งลงวันที่ ๑๑ พฤษภาคม อันไปตกค้างอยู่ที่บ้าน เพราะไปเที่ยวเสียนั้นด้วย รู้สึกครึ่งดีใจที่ได้รับลายพระหัตถ์เวร และรู้สึกครึ่งเสียใจที่ขาดไม่ได้เขียนหนังสือเวรมาถวายถึง ๓ สัปดาหะ จะทูลสนองข้อความในลายพระหัตถ์ฉบับนั้น เฉพาะข้อที่จับใจต่อไปนี้

พึงใจที่ได้ฟังพระดำรัสอธิบาย ว่าสำเภาที่วัดยานนาวานั้นเป็นต้นแบบ หาใช่เอาอย่างเจ๊กมาทำไม่ เจ๊กกลับเอาอย่างไปเสียซ้ำ รูปพระเวสสันดรกับชาลีกัณหาเข้าใจว่าเป็นรูปหล่อและไม่ใหญ่นัก จึงยกเอาไปเก็บเสียได้ การที่ยกไปเก็บเสียนั้นเป็นการกระทำที่ชอบเหมือนที่วัดราชบพิธ บรรดาพระพุทธรูปซึ่งทำตั้งไว้ที่อนุสาวรีย์ทุกองค์ เวลาปกติต้องยกขึ้นไปเก็บเสียบนกุฏิพระ เวลาจะมีสดับปกรณ์จึงยกลงมาตั้ง ถ้าตั้งทิ้งไว้ก็หาย เคยได้ยินสมเด็จชายตรัสเล่าว่า ที่อนุสาวรีย์ของท่าน จะหล่อพระพุทธรูปมาตั้งก็กลัวหาย อุตส่าห์ไปเที่ยวหาพระศิลาของโบราณมาตั้ง นึกว่าเป็นศิลาไม่มีราคาจะไม่หาย แต่ก็หายอยู่ดีนั่นแหละ

ในการเลิกไม่เสด็จแปรสถานขึ้นไปอยู่บนเขานั้น โมทนาสาธุ ด้วยเห็นลำบากนัก

เรื่องพิธีตรุษ ไม่จำเป็นที่จะรีบร้อนทรงเรียบเรียง ช้าหน่อยก็เป็นไรไป เอาให้สมบูรณ์แล้วจะเป็นดี มีข้อที่จะทูลถวายเพิ่มเติมดั่งต่อไปนี้

อ่านเห็นในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๗๑ ซึ่งตีพิมพ์แจกในงานพระศพพระองค์หญิงอาภา ในหน้า ๖๔ มีพิธีทางไสยศาสตร์ประจำเดือน ว่าพราหมณ์แต่งน้ำมะกรูดส้มป่อยเข้าไปตั้งในท้องพระโรง จัดแม่มดกับคนแต่งเป็นยักษ์เข้าไปรำข้างพระที่นั่ง แล้วเอาหญ้าคามาผูกเป็นรูปม้าให้ได้ร้อยสองร้อยตัว แต่งคนขี่ (เห็นจะอย่างม้าแผงโขน) มีมือถือไม้เท้าสาก (รูปร่างเป็นอย่างไรไม่ทราบ) ถือตะขาบชักปืน ธนู ประทัดจุด เอาใบตาลมาทำเป็นพระขรรค์เป็นหอก ยกมาแต่นอกพระราชวังเข้าล้อมแม่มด จุดปืนยิงประทัดชักตะขาบ ไล่ให้แม่มดหนีออกไปนอกพระราชวัง แล้วเชิญกษัตริย์สระพระเกศาชำระเสนียดให้สิ้น โดยความอันมีประการดั่งนี้ ก็พ้องกับที่เคยได้ยินมา ว่าทางต่างประเทศที่นอกพระพุทธศาสนาเขาทำกัน เห็นได้ว่าพิธีตรุษเดิมเป็นทางไสยศาสตร์ แล้วเราโอนเอามาประกอบกับการสวดอาฏานาติยสูตรเข้าริบเอาเป็นพิธีทางพุทธศาสตร์เสีย

อีกประการหนึ่ง เมื่อให้ชายงั่วไปถามพระสาธุศีลสังวรในเรื่องประกาศพิธีตรุษ ท่านให้สำเนาคำประกาศซึ่งเป็นอรรถมาด้วย เข้าใจว่านั่นเป็นภาษาลังกา แต่ให้นึกประหลาดใจที่ใกล้กับภาษามคธเสียจริงๆ แม้ว่ารู้ภาษามคธดีแล้ว อาจเข้าใจได้ทีเดียว เลขทำให้รู้สึกได้ว่าเพราะภาษาใกล้กันอย่างนั้น จึงทำให้พระเณรชาวลังกาเรียนภาษามคธกันได้ง่าย และในประกาศพิธีตรุษที่ท่านให้มานั้น มีพระปรมาภิไธยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ อยู่ชัดเจน ทำให้นึกถึงฝ่าพระบาทเคยตรัสเล่าประทานให้ฟังว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๕ เคยตรัสถามพระภิกษุทรงสมณศักดิ์องค์ใดองค์หนึ่งทางปักษ์ใต้ในคำอรรถ อันมีในประกาศพิธีตรุษว่า “มูสิก” ท่านผู้นั้นถวายความเห็นว่า “เห็นจะชื่อหนู” ทำให้เข้าใจไปว่าปัญหานั้นเห็นจะว่าด้วยประกาศเก่าของนครศรีธรรมราช ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ขออย่าได้ทรงลืมกล่าวถึง ด้วยเป็นหลักสำคัญอยู่ ที่ว่าทางกรุงเทพฯ ก็มี ทางนครศรีธรรมราชก็มี ใครจะเอาอย่างใครก็สุดแต่จะทรงพระวินิจฉัย

อนาถใจที่เรือ “อัลเลีย” ไฟไหม้เสียแล้ว ได้เคยโดยสารเรือลำนั้นไปถึงสองหน ไปเฝ้าฝ่าพระบาทที่ปีนังหนหนึ่ง ไปถ่ายลำลงเรือ “เตเกลเบอก” ที่เกาะสีชังก็อีกหนหนึ่ง สบายมาก

องค์บุษบัณสิ้นพระชนม์เสียแล้ว เมื่อเวลา ๕.๑๒ น. วันที่ ๑ มิถุนายน เวลา ๑๗.๐๐ น. สรงพระศพแล้วเชิญขึ้นเสลี่ยงหิ้ว ออกทางประตูพรหมศรีสวัสดิ์ ไปหอนิเพทพิทยา ตั้งบนแว่นฟ้าสองชั้นประกอบลองมณฑป มีฉัตรเครื่อง ๗ คัน พระชันษาก็มากอยู่แล้ว แต่ให้รู้สึกว้าเหว่ที่น้อยลงไปทุกที

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ