วันที่ ๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๗ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๘๒

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวร ฉบับลงวันที่ ๑ กันยายนแล้ว

มีกิจที่จะทูลเรื่องจดหมายเวร จะทูลเสียก่อนเรื่องอื่น คือในสมัยใกล้จะเกิดสงครามในยุโรปคราวนี้ รัฐบาลเขาตั้งข้อบังคับสำหรับอาณาเขต “มลายู” Malaya (เรียกชื่อเดียวหมายความรวมกันทั้งสิงคโปร์ มะละกา ปีนัง และบรรดาเมืองมลายูของอังกฤษ) หลายอย่างมีเกี่ยวถึงจดหมายเวรอย่าง ๑ ด้วยเขาลงมือตรวจจดหมายที่มีไปมากับต่างประเทศ เขากำหนดว่า

๑) ต้องส่งแต่ทางไปรษณีย์ ห้ามมิให้ฝากบุคคล

๒) ให้เขียนบอกชื่อและที่อยู่ของผู้ส่งไว้เป็นสำคัญที่ใบปกซองใส่หนังสือ

ส่วน ๑) ไม่เกี่ยวกับจดหมายเวรเพราะส่งทางไปรษณีย์อยู่แล้ว แต่ส่วน ๒) นั้นจดหมายเวรที่จะประทานมาต่อไปขอให้ทรงเขียนว่า From Prince Naris Bangkok ลงไว้ที่หลังใบปกซองด้วย

แต่มาคิดดูก็ออกขัน ด้วยจดหมายเวรเขียนเป็นภาษาไทย ถ้าว่าแต่เฉพาะอักขรวิธี เจ้าพนักงานเห็นจะหาผู้อ่านออกได้ไม่ยาก แต่เรื่องที่เขียนในจดหมายมักเป็นเรื่องบรมโบราณที่ไม่มีใครแม้ไทยด้วยกันเองใครจะเอาใจใส่ พนักงานตรวจจดหมายก็เห็นจะสังเกตได้แต่ว่าไม่มีอะไรเกี่ยวแก่การเมืองเท่านั้น แต่ถ้าว่าสำหรับตัวเราทั้งสองการเขียนจดหมายเวรเป็นบ่อเกิดความรื่นรมย์ในเวลาเมื่อแก่ชราด้วยกันมากว่า ๕ ปีแล้ว ถ้ายังเขียนได้อยู่ตราบใดควรเขียนต่อไปตามเดิม เมื่อเขาจะตรวจหรือทำอย่างไรก็ตามใจเขา

สนองลายพระหัตถ์

เรื่องที่ว่ากันมาถึงพระราชลัญจกรต่างๆ ดูคล้ายกับจับปูเข้ากระด้ง เมื่ออ่านลายพระหัตถ์เวรฉบับนี้แล้ว หม่อมฉันนึกขึ้นได้ถึงหีบพระราชลัญจกรของทูลกระหม่อม จะใบหุ้มหยกที่ตั้งพระแท่นมณฑล หรือใบทำด้วยโลหะที่เชิญตามเสด็จในงานสมโภชพระเจ้าลูกยาเธอประสูติใหม่จำไม่ได้เน่ ในหีบนั้นมีพระราชลัญจกรเล็กๆ องค์ ๑ ซึ่งไขตรงขั้วเกิดเสียงอย่างหีบเพลงในเรือนพระราชลัญจกรนั้นชอบใจ ราวกับจะหยอดตาได้ ชวนให้คิดเห็นในชั้นนี้ว่า เหตุที่สร้างพระราชลัญจกรน่าจะมีเป็น ๓ อย่าง คือมีกิจที่จะต้องประทับพระราชลัญจกรเป็นสำคัญ เช่นตราครุฑพ่าห์เป็นต้นอย่าง ๑ สร้างเฉลิมพระเกียรติเช่นตราไตรสารเศวตรอย่าง ๑ สร้างด้วยมีของวิเศษเช่นเพชรพลอยเป็นต้น อันเห็นเหมาะกับจะแกะเป็นตรายิ่งกว่าทำอย่างอื่นอย่าง ๑ ใน ๓ อย่างที่ว่ามานี้ อย่างที่ ๓ กิจที่จะต้องใช้ตราเป็นสำคัญอย่างที่ ๒ ดวงตราเป็นสำคัญ อย่างที่ ๓ วัตถุเป็นสำคัญ ถ้าพระยาอนุมานรวมลายตราต่างๆ ก็ต้องนับว่าเป็นดี เปรียบเหมือนจับปูเอาลงกระด้งได้ จะได้กี่อย่างหรือระเรียบเรียงลำดับและจดตำนานเป็นอย่างใด ได้รูปดวงตราพิมพ์ลงไว้ก็คงเป็นประโยชน์สำหรับจะพิจารณาต่อไป

เรือหล่อทองสัมฤทธ์ที่ตั้งไว้บนกำแพงแก้วมณฑปพระพุทธบาทนั้น หม่อมฉันเข้าใจว่าหัวเป็นนาคทำยอดอย่าง ๗ เศียร หรือ ๕ เศียร สังเกตว่าโตข่มลำเรือ ท้ายก็เป็นพวงไปอย่างหนึ่งเป็นแต่คล้ายกับท้ายเรือกิ่ง เมื่อพระโพธิวงศฯ (นวม) แรกได้ว่าการรักษาพระพุทธบาท ดูเหมือนพระองค์ท่านกับหม่อมฉันได้ขึ้นไปพระพุทธบาทด้วยกันครั้ง ๑ ไม่เห็นเรือลำนั้นอยู่ที่กำแพงแก้ว ถามพระโพธิวงศแจ้งว่าปลดเอาไปเก็บไว้ในคลัง บอกท่านว่าเป็นของสำคัญเคยอยู่ที่กำแพงแก้วมาแต่บรมโบราณไม่ควรจะปลดเอาไปเสีย ท่านก็เชื่อฟัง หม่อมฉันขึ้นไปอีกครั้งหนึ่งเห็นเอากลับมาตั้งไว้อย่างเดิมแล้ว เรือลำนั้นหล่อขึ้นสำหรับติดเทียนบูชาเป็นแน่ แต่จะหล่อที่ไหนและเอาไปตั้งไว้ที่กำแพงแก้วพระพุทธบาทแต่เมื่อไรดูเป็นปัญหาอยู่ ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เมื่อพระเจ้าทรงธรรมสร้างวัดพระพุทธบาทเสด็จขึ้นไปประทับอยู่ที่ตำหนักท่าเจ้าสนุกริมแม่น้ำสัก “ฝีพายเอาดอกเลาปักปัถวีเรือชัย ทอดพระเนตรเห็นตรัสว่างามดีอยู่ ครั้นเสด็จกลับถึงกรุงสั่งให้แปลงปัถวีเรือชัยเป็นเรือกิ่ง” พิเคราะห์ดูความเข้าที่ว่าเมื่อแปลงแบบเรือแล้ว พระเจ้าทรงธรรมโปรดให้หล่อรูปเรือแบบใหม่ ซึ่งทรงพระราชดำริขึ้นถวายเป็นราวเทียนบูชาพระพุทธบาท แต่วินิจฉัยนี้มีขัดข้องเป็นข้อสำคัญที่รูปเรือกิ่ง มีจำหลักศิลาอยู่ที่ฝาระเบียงปราสาทบายนในนครธม ซึ่งสร้างมาแต่สมัยพระเจ้าทรงธรรมแล้วหลายร้อยปี เพราะฉะนั้นเรือกิ่งหล่อที่พระพุทธบาทอาจจะได้มาจากเมืองเขมรหรือมิฉะนั้นอาจจะหล่อขึ้นในประเทศนี้ตามแบบเขมรในสมัยเดียวกันกับรูปโคอุศุภราช ที่เคยอยู่ในพระอุโบสถวัดพระพุทธบาทอีกรูป (ซึ่งเอาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานแล้ว) เดิมอาจจะอยู่ที่อื่นแล้วเอาไป “ปล่อยพระพุทธบาท” เมื่อภายหลังรัชกาลพระเจ้าทรงธรรมก็เป็นได้ จึงมีของโบราณหล่อทองสัมฤทธิ์อยู่ที่พระพุทธบาทเป็น ๒ ขึ้นด้วยกัน

คติที่เข้าใจกันว่า การลอยประทีปและเครื่องสักการะไปตามสายน้ำเพื่อบูชารอยพระพุทธบาทณยมทานทีนั้น หม่อมฉันเห็นว่าจะเกิดขึ้นใหม่เมื่อพระสงฆ์ลังกาวงศ์มาเป็นครูบาอาจารย์ เพราะคติที่ว่าพระพุทธเจ้าเสด็จโดยทางนภากาศไปเที่ยวสั่งสอนเวไนยสัตว์ตามประเทศต่างๆ ภายนอกอินเดีย และเหยียบรอยพระพุทธบาทประทานไว้เป็นอนุสรณ์ ๕ แห่ง เป็นความคิดเกิดขึ้นในลังกาทวีป หามีเค้าเงื่อนร่องรอยอยู่ในอินเดียหรือในพระไตรปิฎกไม่ แต่การลอยประทีปนั้นเป็นประเพณีมีมาก่อน หม่อมฉันเห็นว่ามูลน่าจะมาแต่พิธี “ลอยโคม” “ส่งน้ำ” ที่กล่าวไว้ในกฎมนเทียรบาล เมื่อหม่อมฉันไปเมืองเขมรไปถามถึงราชพิธีต่างๆ ที่ทำประจำปี ณ กรุงพนมเพ็ญ เขาบอกอธิบายพิธีส่งน้ำซึ่งว่ายังทำอยู่จนสมัยนั้น (ดูเหมือนในเดือน ๑๒) ว่าเมื่อน้ำปีขึ้นถึงที่เริ่มจะลดก็ทำพิธีส่งน้ำ ลักษณะการพิธีที่ทำนั้น ว่าพระเจ้ากรุงกัมพูชาเสด็จลงประทับที่ตำหนักแพลอยตรงหน้าราชวัง เอาหลักปักในแม่น้ำขึงเชือกจากตำหนักแพลอยไปจนถึงหลัก พระเจ้าแผ่นดินทรงตัดสายเชือกนั้นเป็นทีว่าปล่อยน้ำให้ลดต่อไปตามใจไม่ห้ามปราม เมื่อเสร็จพิธีตัดสายเชือกแล้วก็มีการเล่นกีฬาในแม่น้ำ เช่นแข่งเรือเป็นต้น สนุกสนานกันจนสิ้นกำหนดการพิธี หม่อมฉันได้ยินอธิบายก็คิดเห็นต่อไปถึงพิธีส่งน้ำในกฎมนเทียรบาล คือเป็นการพิธีขอบคุณหรือฉลองน้ำปีที่มาทำให้พืชพันธุ์ธัญญาหารบริบูรณ์ในปีนั้น จึงมีการกีฬาลอยประทีปและจุดดอกไม้ไฟส่งน้ำ แม้จนพระเจ้าแผ่นดินก็เสด็จลงทรงเรือ “เบ็ญจา” ประพาสพร้อมด้วยพระราชวงศ์ และมีการเลี้ยงลูกขุน คงเป็นพิธีพราหมณ์อยู่ก่อน พวกลังกาเป็นแต่มาชี้เหตุที่ลอยประทีป แต่เชื่อกันแพร่หลาย ตามวัดอยู่บนดอนจึงคิดทำที่ตั้งเครื่องสักการะเป็นรูปเรือ ดังตรัสมาในลายพระหัตถ์

ที่ตรัสถามความเห็นของหม่อมฉัน ว่าพระแท่นเศวตฉัตรในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยเดิมจะอยู่ที่ไหนนั้น เป็นเรื่องที่หม่อมฉันเคยคิดแล้วเห็นว่า เดิมอาจจะสร้างสำหรับตั้งในพระที่นั่งอินทราภิเศกมหาปราสาท เมื่อไฟไหม้ย้ายหนีไฟออกมาได้ ครั้งสร้างพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทจึงเอากลับไปตั้งไว้อย่างเดิม หรือมิฉะนั้นพระที่นั่งเศวตฉัตรองค์เดิมไฟไหม้หมด องค์นี้สร้างใหม่พร้อมกับพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทและตั้งอยู่ที่นั่นมาจนมีพระที่นั่งเศวตฉัตรประดับมุกขึ้นใหม่ จึงย้ายองค์เก่าไปไว้ในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย วินิจฉัยอย่างที่ทูลมานี้เห็นว่าจะถูกต้องตามเรื่อง เพราะในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมีพระที่นั่งบุษบกมาลาอยู่แล้ว จะสร้างพระที่นั่งเศวตฉัตรขึ้นตั้งบังทำไม ถ้าและพระแท่นเศวตฉัตรนั้นมิได้สร้างสำหรับพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยที่อยู่เดิมก็มีแต่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทแห่งเดียวเท่านั้น

ยังมีทางที่จะคิดวินิจฉัยตามจดหมายเหตุที่ปรากฏอีกทางหนึ่งคือในโคลง (๓ คาบฟ้อง) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแต่งแต่เมื่อยังเป็นกรม ทรงพรรณนารายการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๕๒ อย่างถ้วนถี่ ในโคลงเรื่องนั้นว่าเมื่อเสด็จออกรับราชสมบัติที่ท้องพระโรง (คือพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย) เสด็จประทับบนพระแท่นเศวตฉัตร แต่ในหนังสือหมอจอนครอเฟิดทูตอังกฤษมาจากอินเดียเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๕ เล่าถึงเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พรรณนาให้เข้าใจได้ว่าเสด็จประทับบนพระที่นั่งบุษบกมาลา ทูตยกพานเข้าไปถวายอักษรสาส์นต่อพระหัตถ์ (เพราะในเวลานั้นพระที่นั่งบุษบกมาลายังมีฐานเตี้ย เห็นจะขนาดเดียวกับพระที่นั่งบุษบกมาลาวังหน้าที่อยู่ในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย จึงถวายอักษรสาส์นถึงพระหัตถ์ได้) ครอเฟิดพรรณนาลักษณะท้องพระโรงถ้วนถี่ เช่นว่าเสาท้องพระโรงเป็นเสาไม้เป็นต้น แต่มิได้กล่าวถึงพระแท่นเศวตฉัตรว่ามีอยู่ในท้องพระโรงเลยทีเดียว วินิจฉัยนี้ส่องว่าพระแท่นเศวตฉัตรองค์นี้เดิมจะสร้างขึ้นในคราวเดียวกับพระที่นั่งอินทราภิเศกมหาปราสาท และเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๒๘ ได้เสด็จประทับรับราชสมบัติบนพระแท่นองค์นี้ เมื่อไฟไหม้ยกหนีไฟออกมาได้ แล้วเอามาตั้งไว้ในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ครั้นทำพระแท่นเศวตฉัตรประดับมุกขึ้นใหม่จึงย้ายองค์เดิมไปเก็บรักษาไว้ ณ ที่แห่งได้แห่งหนึ่ง อย่างเดียวกับพระราเชนทรยาน ครั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จึงโปรดให้เอาพระแท่นเศวตฉัตรองค์เดิมมาใช้ ด้วยทรงพระราชดำริว่าสมเด็จพระบรมชนกนาถได้ประทับรับราชสมบัติเป็นศิริมงคลมาแต่ก่อน จึงมิได้โปรดให้ยกพระแท่นองค์ประดับมุกที่ทำใหม่มาใช้ หรือมิฉะนั้นพระแท่นมุกจะติดตั้งพระพุทธรูปอยู่หน้าพระบรมศพ จึงไม่เอามาใช้ในงานบรมราชาภิเษกก็เป็นได้ แต่เมื่อเสร็จงานแล้วคงให้ยกไปเก็บไว้อย่างเดิมจึงไม่มีอยู่ในท้องพระโรงเมื่อครอเฟิดเข้าเฝ้า ถึงงานบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็โปรดให้เอาพระแท่นเศวตฉัตรองค์เดิมมาใช้ ด้วยเคยใช้เป็นศิริมงคลมา ๒ รัชกาลแล้ว หม่อมฉันเห็นว่าน่าจะเป็นเมื่อเสร็จงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ ๓ แล้วจึงโปรดให้ตั้งพระแท่นเศวตฉัตรองค์เดิมประจำอยู่ที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยต่อมา บางทีจะเป็นด้วยทรงพระราชปรารภถึงพระแท่นเศวตฉัตรองค์นั้นว่าชำรุดทรุดโทรมเพราะเอาไปเก็บทิ้งไว้ที่อื่นก็เป็นได้ และมีผลชอบกลอย่างหนึ่ง อาจจะเป็นเพราะเอาพระแท่นเศวตฉัตรมาตั้งไว้ในพระที่นั่งอมรินทร พระแท่นนั้นมายังพระที่นั่งบุษบกมาลาให้เสียโฉมดอกกระมัง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้ทำฐานหนุนพระที่นั่งบุษบกมาลาให้สูงขึ้นอย่างเป็นอยู่ทุกวันนี้ อย่างไรก็ดีตั้งแต่เอาพระแท่นเศวตฉัตรมาตั้งพระที่นั่งอมรินทร หรือว่าอีกอย่างหนึ่งแต่ล่วงรัชกาลที่ ๒ มาแล้ว ก็ไม่ปรากฏว่าเสด็จออกในพระที่นั่งบุษบกมาลาอีก (จนรัชกาลที่ ๖) เสด็จออกแขกเมืองอย่างเต็มยศทีไรก็เสด็จประทับบนพระแท่นเศวตฉัตรมาเป็นนิจ ดังนี้ วิสัชนาที่ทูลมาจะพอฟังได้หรืออย่างไรขอให้ทรงพิจารณาดูเถิด

เรื่องเบ็ดเตล็ดทางปีนัง

หมู่นี้มีแต่เรื่องที่เนื่องด้วยเกิดการสงครามในยุโรป รัฐบาลเขาตั้งข้อบังคับสำหรับชาวเมืองหลายอย่าง แต่ถ้าว่าสำหรับพวกหม่อมฉันมีแต่ต้องเขียนจดหมายไปกรุงเทพให้ถูกต้องตามข้อบังคับ นอกจากนั้นเรื่องราคาของที่ต้องซื้อหามาใช้แพงขึ้น แต่เดี๋ยวนี้ยังไม่แพงเท่าใดนัก พวกพ่อค้าต่างประเทศเขาบอกอธิบายว่า เดี๋ยวนี้พวกรับประกันภัยเรือขนสินค้าเรียกเพิ่มค่าประกันขึ้นถึง ๑๐๐ หรือ ๑๕๐ เปอร์เซ็นต์ พวกพ่อค้าต้องชดค่าประกันภัยบวกเพิ่มเข้าในราคาสินค้า เพราะฉะนั้นต่อไปจะต้องเลือกสั่งแต่ของที่มีผู้ใช้มาก ถ้าเป็นของมีผู้ต้องการใช้น้อยจะไม่ซื้อเมื่อราคาแพงขึ้นเขาก็จะไม่สั่งมาขายต่อไป แต่รัฐบาลเอาใจใส่ในเรื่องอาหารการกินมาก คือห้ามมิให้คนขายในพื้นเมืองขึ้นราคาเกินสมควร และห้ามมิให้ขายอาหารออกนอกประเทศเป็นต้น ยังไม่รู้สึกเดือดร้อนอย่างไร

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ