วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๒ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๒

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ เป็นกำหนดรถไฟเข้าได้รับลายพระหัตถ์เวรซึ่งลงวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ เรียบร้อยทุกอย่างตามเคย ทั้งสนุกตามเคยด้วย จะกราบทูลสนองความในลายพระหัตถ์นั้นต่อไปนี้

สนองความในลายพระหัตถ์

คนคิดอยู่ค้ำฟ้านั้น มีแต่คนหนุ่มจริงอย่างพระดำรัส เขารู้เหมือนกันว่าความชราไม่ดี แต่ยาอายุวัฒนนั้นป้องกันความชราได้ ดังมีกลอนว่า “กำจัดความแก่แก้โรคชรา” และ “ชรามาตาม ต่อต้านมีชัย” ลางคนก็เรียกคลาดไปเป็นว่า “ยาอายุวันชนะ” มีผู้หัวเราะว่าเรียกถูกแล้ว วันต้องชนะอายุเป็นธรรมดา การแสวงหาอายุวัฒนนั้นมีเรื่องจำนำมาเล่าถวาย ตอนมาแต่ปลัดกรมของเกล้ากระหม่อมเล่าให้ฟังอีกต่อหนึ่ง ว่ามีบุคคลผู้หนึ่ง (แกออกชื่อ แต่จำไม่ได้เสียแล้ว) คิดจะอยู่ค้ำฟ้า เที่ยวหาตำรายาอายุวัฒนก็ได้มา ในตำราบอกว่ากินยานั้นแล้วร่างกายจะดำลงไปทุกทีจนดุจตอตะโก แต่พอลอกคราบขาวสะอาดก็เป็นสำเร็จไม่แก่ไม่ตาย ผู้นั้นก็ทำยาตามตำรากินตัวดำลงไปจริง วันหนึ่งเข้ามาในพระราชวัง หกล้มเอาหัวไปฟาดเข้ากับปืนใหญ่ ซึ่งแต่ก่อนมีตั้งอยู่ประจำที่ไว้หลายแห่งในพระราชวัง หัวไม่แตกกลับไปคุยโอ้เห็นเป็นศักดิ์สิทธิ์ด้วยอำนาจยา แต่กินต่อไปที่ผิวดำก็ไม่ลอก เลยตายงอก่อ

หนังสืออนาคตวงศ์ เกล้ากระหม่อมได้อ่าน แต่อ่านทีหลังหนังสือมาลัยตามที่ได้กราบทูลเล่ามา ใครเขาให้ด้วยเขาตีพิมพ์แจกการศพก็ลืมเสียแล้ว มีเรื่องที่เกี่ยวกับหนังสือนั้นอันเป็นเรื่องขันซึ่งควรจะเก็บมาเล่าถวาย คือเมื่อเกล้ากระหม่อมอ่านที่เขาพรรณนาถึงส่วนพระกายแห่งพระศรีอาริย์ให้รู้สึกนึกสงสัย จึงฉวยกระดาษแผ่นหนึ่งมาเขียนตามส่วนที่เขาพรรณนาไว้ เสร็จแล้วดูพิกล จะกราบทูลอย่างง่ายๆ ก็รูปไม่เป็นคนได้เอากาวแต้มกระดาษนิดหนึ่งติดไว้กับฝา ใครมาหาเป็นต้องถามว่า “นั่นรูปอะไร” แต่พอบอกให้เข้าใจก็หัวเราะตามกันไปทุกคน จนเมื่อเร็วๆ นี้ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ได้ทราบข่าวก็ขอดู แต่จนใจให้ท่านดูไม่ได้ เพราะรูปนั้นขาดตกหายไปเสียนานแล้ว ทั้งหนังสือก็ไม่มีที่จะเขียนให้ท่านดูใหม่ เพราะเห็นเป็นสวะก็ทิ้งขว้างสูญไปไม่ได้เก็บไว้

คำสวดพระมาลัย ได้ยินเขาว่าแต่ก่อนใช้สวดงานบ่าวสาว มหาชัยใช้สวดการยกทัพ ฟังเห็นประหลาดอยู่ จริงหรือไม่จริงอยู่แก่ผู้กล่าว อีกเรื่องหนึ่งค่อยเข้าที ว่ากรมหลวงวงศาทรงบำเพ็ญพระกุศลวันประสูติมีสวดสองเตียง มหาชัยเตียงหนึ่ง อุณหิศวิชัยเตียงหนึ่ง ชื่อคัมภีร์อุณหิศวิชัยควรจะไม่รู้ แต่หากรู้ด้วยเผอิญพบหนังสือครั้งกรุงเก่า เขียนในสมุดแคบยาวด้วยตัวหนังสือขอมย่อเข้าหลายเล่ม ได้อ่านตรวจเห็นมีมหาพุทธคุณเป็นหลัก ๑๗ มหาพุทธคุณก็คือ “อิติปิโส” เรานี่เอง เว้นแต่แต่งแจกมากออกไป เช่นพระนาม “โลกวิทู” ก็กล่าวอะไรต่ออะไรลงท้ายว่า “โลกวิทู” เป็นหลายบทฉะนั้นเป็นต้น ส่วนคัมภีร์มหาชัยนั้นไม่เคยพบเห็น เคยได้ยินแต่พวกคฤหัสถ์เขาสวดเล่นเป็นตลก เขาตั้งต้นด้วย “ชยันโต” นั้นทางหนึ่ง กับได้เคยฟังพวกคฤหัสถ์คนเก่าที่เคยสวดมหาชัยมาแต่ก่อน ซึ่งฝ่าพระบาททรงจัดเข้าไปสวดถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ทรงฟัง นั่นสังเกตได้ว่าถ้อยคำเป็นที่ภาษาสํสกฤต เมื่อหลักเป็นภาษาสํสกฤตแล้วจะมาเข้ากับ “ชยันโต” ซึ่งเป็นภาษามคธได้อย่างไร ที่สุดก็เหลือแต่สงสัยเพราะขาดความรู้ เขาว่าขึ้นชื่อว่าสวดแล้ว แต่ก่อนนี้เป็นขึ้นร้านสี่องค์สวดทั้งนั้น คิดดูก็มีพยานอยู่ที่สวดท้องภาณเขาว่าสวดผัด ๆ พร้อมกันตั้งยี่สิบสามสิบรูปนั้น แต่ก่อนเป็นสาธยายกันในวัด เพิ่งมาสู่บ้านทีหลัง ข้อนี้จะอย่างไรไม่ทราบ แต่ในบาลีนั้นไม่ปรากฏว่ามีสวดมนต์แน่ มีแต่เลี้ยงพระ เกล้ากระหม่อมทำบุญอะไรที่บ้านก็มักทำอย่างครั้งพุทธกาล คือทำแต่เลี้ยงพระไม่สวดมนต์ การสวดคฤหัสถ์เห็นจะมาทีหลัง เป็นการประมูลพระ

พระนามพระไตรภูวนาทิตยวงษ์ เห็นจะตกคำไปเสียนิดหนึ่ง ซึ่งควรจะเป็นพระไตรภูวนาถาทิตยวงษ์ พระนามนี้เอาคำหลายคำมาต่อเติมกันเข้า คงหมายเอาพระนามพระอาทิตยวงษ์เป็นหลัก พระนามนั้นมีเป็นแบบมานานแล้ว

พระภักดีวิรัชภาคย์ (เจิม บุนนาค) นั้นเป็นคนเก่าแก่ เขาเป็นลูกเจ้าคุณทหารเป็นแน่ว่าทรงรู้จัก แต่เป็นธรรมดาทีเดียวที่เอาหน้ากับชื่อใส่กันไม่ถูก เป็นเช่นนั้นอยู่แก่เกล้ากระหม่อมเนืองๆ มีเรื่องตัวอย่างที่จะเล่าถวาย วันหนึ่งเกล้ากระหม่อมจะขึ้นโดยสารรถราง พบคนคนหนึ่งคือพระยาอรรถการยบดี รู้จักกันดีมาแต่เมื่อครั้งเขาเป็นพระสัจจาภิรมย์อยู่จึงสนทนากัน เขาจะเห็นเกล้ากระหม่อมเขลาเต็มทีหรืออย่างไรนั่นแหละ เขาจึงบอกว่า “ข้าพระพุทธเจ้าเป็นพระยาราชเสนา” เมื่อเกล้ากระหม่อมได้ทราบก็นึกสังเวชตัวเอง ควรหรือตัวก็รู้จัก ชื่อก็รู้จัก เขาลงหนังสือพิมพ์ชมว่าจับผู้ร้ายเก่ง จนมีฉายาว่า “นิค วินเต้อ” แต่เอาตัวกับชื่อใส่กันเข้าไม่ได้ อันพระภักดีวิรัชภาคย์นั้น จะกราบทูลว่าหน้าตาเป็นอย่างไรก็สุดวิสัย นอกจากจะได้รูปเขาส่งมาถวาย แต่ก็ไม่มีรูปเขาอยู่

เรื่องไข้ป่านั้น ได้ฟังพระดำรัสก็นึกขันได้ว่าจริงดังนั้นมาก เมื่ออยู่ป่าก็ไม่เป็นอะไร ต่อเมื่อกลับมาถึงบ้านจึงเจ็บจึงตาย นึกตัวอย่างได้ก็พระยาเทพาธิบดี (อิ่ม) เขาเป็นสมุหเทศาภิบาลอยู่พิษณุโลกก่อน เขามาคลุกคลีตีโมงอยู่ด้วยเมื่อคราวขึ้นไปถ่ายเรือนแก้วพระชินราช เพราะเป็นคนคุ้นเคยกันมาแต่เล็ก เมื่อครั้งตามเสด็จขึ้นไปบางปอินด้วยเรือนกอินทรีย์ เวลานั้นเขาเป็นผู้บังคับการเรือนกอินทรีย์อยู่จึงได้ชอบกัน ครั้นเขาย้ายจากมณฑลพิษณุโลกไปเป็นสมุหเทศาภิบาลอยู่เมืองหล่ม หรือเมืองเลยอะไรเหล่านั้น ก็ไม่ได้ข่าวว่าเจ็บไข้เป็นประการใด แต่ครั้นเขาออกจากราชการกลับมาบ้านบางกอกก็มาเป็นไข้ตาย กับทั้งพวกช่างซึ่งขึ้นไปฉลักอักษรพระนามที่หินลับหลายคนด้วยกัน เมื่อไปอยู่ที่นั่นก็ไม่มีใครเจ็บไข้ แต่ครั้นฉลักเสร็จแล้วกลับมาบ้านก็เป็นไข้ไปทุกคนตายเกือบหมด ทั้งนี้ก็เป็นเหมือนพระดำรัสฉะนั้น การไปเที่ยวไทรโยคหม่อมเจ้าเจ๊กก็เคยไป ข่าวว่าเกือบไม่มีคนแจวเรือ เพราะพากันเจ็บเป็นไข้ไปหมด เธอจะไปเดือนไรจำไม่ได้ แต่เดือนกุมภาพันธ์นั้นเป็นเวลาดีที่ควรเที่ยวป่า เป็นเวลาที่ต้นไม้ออกดอกด้วย เกล้ากระหม่อมไปเที่ยวโคราชในเดือนนั้นยังได้ไปเห็นดอกรัง ทำให้ลิงโลดใจเพราะติดขัดด้วยต้องทำพระเจ้าปางเข้าปรินิพพาน ซึ่งในหนังสือเขาว่าบรรทมอยู่ในระหว่างไม้รังทั้งคู่ ดอกร่วงลงมาเรี่ยรายอยู่รอบพระองค์ นึกเห็นงามเต็มที ตั้งใจจะทำให้เหมือนกับที่หนังสือเขาว่าไว้ก็ทำไม่ถูก ด้วยไม่เคยเห็นว่าดอกรังรูปร่างเป็นอย่างไร ช่างที่ทำอยู่ด้วยกันก็ไม่เคยเห็นเหมือนกัน ครั้นได้ไปเห็นดอกรังเข้าจึงดีใจ อุตส่าห์เขียนถ่ายเอามาทำจึงทำถูก ไปครั้งนั้นจนกลับมาถึงบ้านก็ไม่ได้เจ็บไข้อย่างใดไปเลย เข้าใจว่าเป็นด้วยฤดูดี

ถูกทีเดียวแล้ว ขวดบรรณาการนั้นตั้งอยู่ข้างพระที่นั่งบุษบกมาลา ไม่ใช่ข้างพระแท่นโถงซึ่งอยู่หน้าอัฒจันทร์พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน หลงกราบทูลผิดที่ไป เป็นพระเดชพระคุณอย่างยิ่งที่ตรัสชี้แจงขยายความให้ทราบกว้างขวางออกไป ว่าขวดนั้นเป็นบรรณาการจีนครั้งรัชกาลที่ ๑ และอีกคู่หนึ่งเป็นของวังหน้า ที่ปิดทองล่องชาดขวดบรรณาการตั้งไว้ข้างพระที่นั่งบุษบกมาลานั้น คงทำในรัชกาลที่ ๓ พร้อมกับยกฐานพระที่นั่งบุษบกมาลาขึ้นไปให้สูง ที่ปิดทองล่องชาดขวดนั้นก็เพื่อจะให้ดูกินกับพระที่นั่งบุษบกมาลาเห็นไม่ขวางตา อันเครื่องถ้วยของจีนที่ไม่เคลือบ นึกไม่ออกว่าเคยเห็นอะไรนอกจากขวดบรรณาการนั้นเลย เห็นจะตื้ออยู่มาก ฝรั่งจำการทำถ้วยไปจากจีนนั้นเป็นการแน่นอน ชื่อก็ยังปรากฏอยู่ที่เรียกเครื่องถ้วยว่า “ไชนา” เรื่องผิดฝานั้น เป็นทางประจำ สำหรับพระองค์สมเด็จพระราชบิตุลาที่ทรงเป็นเจ้าของอยู่

ในการเสด็จแปรสถานขึ้นไปอยู่บนเขาเพียงห้าหกวันนั้นดูน้อยนัก แต่ก็จำเป็นที่ต้องเสด็จกลับโดยอุปสรรคตามพระดำรัสชี้แจงก็สมควรแล้ว เอาไว้เมื่อมีโอกาสที่เหมาะจึงเสด็จขึ้นไปใหม่ดีกว่า

ในการส่งส้มเข้าไปประทานนั้น ถ้าทรงเลือกฝากเข้าไปแต่แก่คนที่เป็นกันเอง จะดีกว่าฝากแก่คนที่จะต้องรับเขาเป็นแขกเมืองมากทีเดียว

เบ็ดเตล็ดทางกรุงเทพ ฯ

วันที่ ๑๒ และที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ตั้งแต่เวลาย่ำรุ่งจนสองยาม เขาจะมีการซ้อม ป.ต.อ. (ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Black Out) เกล้ากระหม่อมไม่ต้องมีหน้าที่อะไร นอกจากระงับแสงไฟที่บ้านให้มืดในยามค่ำ ตามเวลาที่กำหนดไว้นั้น

สำนักพระราชวังออกหมายบอกมา ว่าสมเด็จพระพันวัสสาจะทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ที่พระศพทูลกระหม่อมหญิง ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ มีสวดมนต์ ๑๐ รูป แล้วทรงธรรมกัณฑ์หนึ่ง รุ่งขึ้นวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ เลี้ยงพระแล้วสดับปกรณ์ ๕๕ เป็นเสร็จการ ในการนั้นพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาทรงกระทำการแทนพระองค์ แล้วซ้ำสั่งด้วยว่าที่สั่งแต่ก่อนเป็นมีทรงธรรมทุกวันพุธนั้น ต่อไปก็ให้ยกเลิก คะเนความตามหมายเข้าใจว่าการทรงบำเพ็ญพระกุศลครั้งนี้เป็นการปิดพระศพ ด้วยได้ทราบมาว่างานพระเมรุเลื่อนไปเป็นปีหน้า

กับทั้งสำนักพระราชวังออกหมายกำหนดการมาฆบูชา มีใบพิมพ์รายละเอียดส่งมาด้วย ได้แบ่งส่งมาถวายตามเคยกับหนังสือนี้ฉบับหนึ่งด้วยแล้ว แต่เป็นพิธีมืดๆ และตามเคย ไม่น่าเอาพระทัยใส่อะไร เป็นแต่ส่งมาถวายตามเคยเท่านั้น

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ