วันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๑๐ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๒

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

ลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๒ มกราคม ซึ่งส่งมาคราวเมล์ ถึงปีนังวันพฤหัสบดีที่ ๔ มาถึงหม่อมฉันเมื่อวันศุกร์ที่ ๕ เวลาบ่าย ค่อยเร็วขึ้นเหมือน ๒ คราวเมล์ก่อน แต่ฉบับนี้มีรอยพนักงานตรวจตัดซอง แต่เห็นจะเป็นด้วยเผลอ เพราะจดหมายฉบับอื่นที่มีมาถึงหม่อมฉันในคราวเมล์เดียวกันไม่มีรอยตัด

สนองความในลายพระหัตถ์

สัปดาหะนี้หม่อมฉันตั้งใจจะถวายวินิจฉัย ว่าด้วยคำ “กรมสมเด็จ” และ “สมเด็จกรม” ซึ่งตรัสถามมาแต่ก่อน ได้ลงมือเขียนมาหลายวันแล้ว แต่ต้องสอบหนังสือมาก และเขียนแล้วแก้เล่าแล้วไม่ทันส่งถวายได้ในคราวเมล์นี้ ต้องทูลผัดต่อไป

ที่ทรงพระอุตสาหะสืบเรื่องพิธีเซ่นแม่ซื้อเด็ก ได้ความพิสดารมาเขียนลงไว้เป็นลายลักษณ์อักษรถ้วนถี่นั้นดีนัก หาไม่ก็คงสูญไปเสีย เรื่องแม่ซื้อเด็กมีรูปภาพและศิลาจารึกอธิบายอยู่ที่ศาลารายวัดพระเชตุพน แต่หม่อมฉันก็ไม่ได้อ่านและไม่ได้คัดมาเมื่อครั้งรวมจารึกวัดพระเชตุพน พิมพ์ในงานพระศพพระวิมาดา ฯ รูปแม่ซื้อว่าตามที่จำได้ดูเหมือนหัวจะเป็นสัตว์หลายอย่างตามสัตว์ประจำวัน ไม่แต่ม้าอย่างเดียว มาเกิดอยากรู้ถ้วนถี่ขึ้นเมื่อได้ฟังพระดำรัส บัดนี้ก็เป็นเวลาหมดกำลังที่จะให้ไปคัดสำเนาจารึกมาอ่านเสียแล้ว รู้สึกเสียดายมาก แต่ข้อที่เรียกว่า “แม่ซื้อ” นั้น หม่อมฉันเคยได้คิด แต่ก็ยังหาเหตุเป็นหลักฐานให้พอใจไม่ได้

ความเชื่อของไทยเรา (บางทีจะตลอดถึงพม่า มอญ เขมรด้วย) ที่มีมาแต่โบราณ ว่าบรรดาเด็กที่เกิดนั้นเดิมผีปั้นและเอาวิญญาณของสัตว์ซึ่งกรรมนำมาใส่เข้าในรูปให้มาสู่ครรภ์ มีอธิบายข้อนี้พรรณนาไว้ชัดเจนในเสภาตอนกำเนิดขุนช้าง เป็นต้นของข้อที่ถือว่าเด็กมีแม่ ๒ คน คือแม่ผีที่สร้างส่งมาคน ๑ แม่มนุษย์ที่รับให้เกิดคน ๑ เพราะแต่โบราณเด็กที่คลอดใหม่จำนวนรอดกับตายราวก้ำกึ่งกัน และเด็กที่ตายมักตายภายใน ๓ วันตั้งแต่คลอด ข้อนี้เป็นมูลให้เกิดเชื่อต่อไปอีกอย่างหนึ่งว่า ถ้าแม่ผีเห็นเด็กที่เกิดใหม่น่ารักก็ทำให้ตาย เพื่อเอากลับไปเลี้ยงดูเอง ถ้าแม่ผีไม่ชอบใจก็ปล่อยไว้ให้แม่มนุษย์เลี้ยง การพิธีต่างๆ ที่ทำเนื่องกับเด็กเกิดใหม่มาแต่เชื่อคติเช่นว่า และประสงค์จะป้องกันหรือแม้หลอกลวงมิให้แม่ผีมีโอกาสและความปรารถนาที่จะเอาเด็กกลับไปเลี้ยงเองทั้งนั้น เบื้องต้นแต่ให้เด็กคลอดในวงยันต์ กันแม่ผีมิให้เข้าไปดูเด็กได้ใกล้ๆ เมื่อเด็กคลอดแล้วแม่มนุษย์ก็แกล้งทำไม่นำพา สละเด็กนั้นให้เป็นอนาถา จนนางพยาบาลต้องประกาศถามหา ว่าใครจะรับเอาไปเลี้ยง คล้ายกับขายเลหลังเด็กนั้น และมีผู้ออกเบี้ยให้แก่นางพยาบาลแล้วรับเด็กนั้น เหมือนจะพาเอาไปเลี้ยงเอง ณ ที่อื่น พิธีตอนที่เรียกว่า ร่อนเด็ก เป็นการลวงแม่ผีว่าเด็กนั้นไม่น่ารักน่าเลี้ยง ครั้นเมื่อเด็กรอดมาได้พ้น ๓ วัน เป็นอันพ้นเขต “ลูกผี” ถึงวันที่ ๔ เข้าเขตเป็น “ลูกคน” สันนิษฐานว่าแม่ผีไม่ปรารถนาแล้ว จึงทำขวัญเด็กนั้น แต่ก็ยังไม่สิ้นระแวงว่าแม่ผีจะกลับใจ ข้อนี้เป็นมูลที่การชมทารกแต่โบราณมักพูดว่า “น่าเกลียดน่าชัง” และมักให้ชื่อที่น่าเกลียด เช่นชื่อ เหม็น หรือชื่อ เน่า เป็นต้น หรือให้ชื่อเป็นสัตว์เดียรัจฉาน เช่นพระราชชายาเจ้าดารารัศมี เมื่อยังเป็นทารกเคยชื่อว่า “อึ่ง” ชาวเชียงใหม่เรียกว่า “ชื่อผีเกลียด” และยังมีวิธีอื่นที่ขู่ให้แม่ผีเกรงใจ เช่นแขวนรูปท้าวเวสวัณไว้บนเปลเด็ก แสดงว่าเจ้านายของผีรับคุ้มครองแล้ว และมีวิธีที่ทำให้ชอบใจแม่ผี เช่นเขียนรูปแม่ผีแขวนไว้ที่เปล และเซ่นด้วยข้าวปลาอาหาร เช่นพิธีขว้างข้าวแม่ซื้อข้ามหลังคาที่ตรัสนั้น

แต่ไฉนจึงเรียกแม่ผีว่า “แม่ซื้อ” ข้อนี้หม่อมฉันคิดนักแล้วยังไม่เห็นเหตุ หรือคำว่า “ซื้อ” เดิมจะหมายความให้เป็นอย่างอื่นอีก นอกจากแลกทรัพย์ดอกกระมัง แต่ผีไม่มีกิจเกี่ยวข้องแก่การซื้อขายซึ่งเนื่องกับเด็กที่เกิดสักอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าเรียกผู้ให้เบี้ยรับเด็กเมื่อแรกคลอดว่า “แม่ซื้อ” ดูจะเข้าเค้ากว่า เคยมีเรื่องจริงเข้ากับความที่ว่ามาเกิดในครัวเรือนหม่อมฉันเอง เวลาเมื่อหญิงพูนเกิดนั้น เผอิญคุณจอมมารดาจีนท่านไปหาแม่หม่อมฉันอยู่ที่บ้าน แม่เชิญท่านให้เป็นผู้รับ ต่อมาเมื่อหญิงพูนเติบใหญ่ท่านให้เรียกตัวท่านว่า คุณแม่แก่” และพระวิมาดาฯ ก็โปรดให้เธอเรียกพระองค์ท่านว่า “เจ้าพี่องค์เล็ก” เป็นนิจอย่างนี้พอเข้ากับเรื่อง

การแต่งงานหญิงเพียร ดูเหมือนเขากำหนดฤกษ์วันที่ ๒๒ มกราคม น่าจะพ้องกับงานพระองค์เปรม แต่หม่อมฉันวางใจว่าท่านคงจะทรงปรับกำหนด ๒ งานมิให้กีดกันด้วยแก้ไขอย่างใดอย่างหนึ่งให้เรียบร้อยแล้ว

เรื่องทางปีนัง

เมื่อสัปดาห์ก่อนมีพม่าเป็นขุนนางอย่างประเพณีใหม่ ชื่อว่า ดอกเตอร์ เทียนหม่อง ถือหนังสือชักนำของมิสเตอร์แบกสเตอร์ ซึ่งเคยเป็นที่ปรึกษากระทรวงพระคลังอยู่ในกรุงเทพ ฯ แต่ก่อน มาหาหม่อมฉัน ที่ว่าเป็นขุนนางอย่างประเพณีใหม่นั้น คือได้ไปเรียนวิชาในยุโรปสำเร็จแล้วกลับมาเป็นนักการเมือง ได้รับเลือกเป็นสมาชิกในสภาปาเลียเมนต์เมืองพม่า แล้วได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐการเมื่อพวกดอกเตอร์บามอเป็นรัฐบาล ครั้นพวกนั้นออกจากอำนาจแล้วดอกเตอร์เทียนหม่องก็กลับเป็นแต่สมาชิกในสภาตามเดิม ตัวเขาบอกว่าเดิมหมายจะท่องเที่ยวไปรอบโลก แต่เมื่อไปถึงประเทศญี่ปุ่นประสบเวลาทางยุโรปเกิดสงคราม เห็นว่าจะเดินทางต่อไปตามประสงค์เดิมไม่สะดวกจึงจะกลับคืนไปเมืองพม่า ที่มาหาหม่อมฉันนั้นก็ไม่มีกิจธุระอย่างใด นอกจากอยากรู้จัก เห็นจะเป็นด้วยเคยได้ยินชื่อหม่อมฉันเมื่อไปเมืองพม่า หรือได้ยินชื่อจากมิสเตอร์แบกสเตอร์แนะให้มาพบเมื่อเดินทางถึงเมืองปีนัง คล้ายกับดูของน่าดูสิ่งหนึ่งซึ่งมีอยู่ในเมืองปีนัง แต่เขาก็มาหาโดยเคารพ เห็นได้ด้วยอุตส่าห์แต่งตัวเป็นพม่า ไม่แต่งเครื่องฝรั่งอย่างสากล สังเกตดูอายุราวสัก ๓๐ เศษ กิริยาท่าทางเป็นอย่างเช่นเราเรียกกันว่า “นักเรียนนอก” แต่มีอัชฌาสัยเรียบร้อยดี เรื่องที่สนทนากันก็เป็นอย่างสัมโมทนียกถา แต่ฟังความที่เขาเล่าถึงเมืองพม่าได้ความรู้แปลกบ้าง จึงเอามาทูลบันเลง เขาว่าที่ในแขวงจังหวัดร่างกุ้งห่างเมืองไปสัก ๓๐ ไมล์ ยังมีหมู่บ้านไทย “โยเดีย” แห่ง ๑ จำนวนคนราวสัก ๒๐๐ คน พวกนั้นแต่งตัวเป็นพม่าและพูดกับพวกอื่นก็พูดภาษาพม่า แต่พูดกันเองยังใช้ภาษาไทย หม่อมฉันเคยได้ยินแต่ว่าที่ในกรุงมันดเลเคยมีตำบล “ตลาดโยเดีย” เป็นที่อยู่ของพวกไทยกรมมหรสพสำหรับเล่นโขนละครหลวง เมื่อหม่อมฉันไปเมืองมัลดเลได้สืบถาม เขาบอกว่าแต่ก่อนมีจริง แต่เมื่อเสียกรุงมันดเลแก่อังกฤษแล้ว ไม่มีพระเจ้าแผ่นดินที่จะอุปถัมภ์ พวกไทยก็กระจัดกระจายไปหมด ไม่มีบ้านโยเดียเหมือนแต่ก่อนแล้ว ดอกเตอร์เทียนหม่องเล่าให้ฟังต่อไป ว่าพวกพม่าชั้นผู้ดีเดี๋ยวนี้ที่เป็นเชื้อสายชาวโยเดียมีไม่น้อย แม้ตัวเขาเองทางฝ่ายบิดาก็เป็นเชื้อโยเดีย ทางฝ่ายมารดาเป็นเชื้อมอญ ถึงเดือนตุลาคม (สารท) ที่บ้านเขาทำพิธีไหว้ผีปู่ย่าตายายทุกปี ยังทำเครื่องพลีทั้งอย่างไทยและอย่างมอญๆ ทำอย่างไรหม่อมฉันไม่ได้เอาใจจำ แต่อย่างไทยนั้นสังเกตตามคำพรรณนาว่ามีมะพร้าวอ่อนกับ “เอาใบตองมาพับทำรูปใส่ของพลี” ก็เข้าใจว่ามีบายศรีด้วย เขาบอกต่อไปตรงตามเค้าที่หม่อมฉันเคยได้ยินว่าพม่านับถือวิชาช่างกับวิชาดนตรีและฟ้อนรำอย่างโยเดียมาก เวลาจะมีงานบันเลงดนตรีหรือฟ้อนรำ เมื่อไหว้ครูต้องทำเพลงและท่าฟ้อนรำตามแบบโยเดียตั้งต้นก่อนเสมอ ด้วยถือว่าเป็นตำราครูดังนี้

ฟังดอกเตอร์เทียนหม่องเล่าตามที่ทูลมา ใจหม่อมฉันนึกไปถึงเรื่องพงศาวดาร ดูชอบกล ไทยที่เป็นต้นสกุลพม่าและวิชาของไทยที่พม่านับถือทุกวันนี้ พม่าได้ไปด้วยกวาดต้อนชาวพระนครศรีอยุธยาไปเป็นเชลย ไทยไปให้ผลดีแก่พม่าฉันใด เมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราช (สามพระยา) ตีได้นครธมกวาดเขมรเป็นเชลยมามากกว่ามาก เขมรก็ให้ความรู้และตำรับตำราวิชาการเกิดผลดีแก่ไทยฉันนั้น แต่ดูราวกับเวรกรรมตามมาถึงไทยให้ต้องเป็นเช่นเขมรบ้าง

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ