วันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑ กันยายน ๒๔๘๒

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์เวร ลงวันที่ ๒๔ สิงหาคม ได้รับประทานแล้ว

ตราราชลัญจกร

จะกราบทูลเรื่องตราและพระราชลัญจกรต่อไป เพราะได้ประสบเข้าใหม่อีก

ตราพระลักษณ์ทรงหณุมานประจำครั่งตำแหน่งวังหน้า ตามที่กราบทูลลักษณะมาก่อนนั้นหละหลวม เพราะจำไม่ได้ ดวงตรานั้นมีขนาดใหญ่วัดได้ถึง ๗๗ มิลิเมตร ใหญ่กว่าพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ซึ่งเคยเห็นทำงบเสียอีก ในดวงตรานั้นมีรูปมนุษย์สองกรถือธนูท่ากำลังแผลง และทรงหณุมาน รูปหณุมานนั้นทำเป็นสี่กร กรคู่หน้าถือตรีศูล ถือพระขรรค์ กรคู่หลังถือสังข์ ถือจักร ทางอินเดียเขาถือว่าสังข์กับจักรเป็นเครื่องหมายประจำองค์พระนารายณ์ ถ้าทำรูปพระนารายณ์แล้วกรคู่หลังจะต้องถือสังข์กับจักรเป็นประจำ ส่วนกรคู่หน้านั้นจะถืออะไรก็เปลี่ยนไปตามปาง

ได้พบเส้นประทับพระราชลัญจกรเป็นอักษรจีนเข้าอีกหลายองค์ เป็นตัวหนังสือจีนอย่างปกติก็มี เป็นตัวชนิดอย่างพวกยี่คดก็มี จำต้องให้พระเจนจีนอักษรช่วย ถ้าได้ความว่าองค์ใดมีความสำคัญ จะกราบทูลมาภายหลัง ครั้งนี้จะกราบทูลแต่องค์ที่ทราบแน่แล้วก่อน

พระราชลัญจกรองค์หนึ่ง เป็นรูปสี่เหลี่ยม มีขนาดกว้างเหลี่ยมละ ๗๕ เซนติเมตร นับว่าเป็นขนาดใหญ่อยู่ ในนั้นเป็นอักษรจีนอย่างเป็นปกติ ๔ ตัว มีผู้รู้เขาอ่านจดบอกเสียงไว้ว่า “เซียม-ก๊ก-แต้-เจีย” คำนี้มาจับเอาใจ ด้วยพระนามอย่างจีนแห่งพระเจ้าแผ่นดินของเรามีอย่างนี้อยู่พระนามหนึ่ง เขาจดบอกสัณฐานแห่งพระราชลัญจกรองค์นี้ไว้ ว่าทำด้วยศิลาลายดำ ที่มือจับแกะเป็นรูปแม่กวางดาวมีลูกติดสองตัว แล้วมีรูปค้างคาวเกาะอยู่บนหลังแม่กวาง ฟังก็เข้าใจว่าหมายถึง ซิ่ว กับ ลก ส่วน ฮก นั้นหมายเอาองค์พระราชลัญจกรเป็นแน่ เมื่อได้ตรวจเทียบดูก็พบองค์เล็กมีลักษณะเหมือนกันอีกองค์หนึ่ง มีขนาดกว้างเพียงเหลี่ยมละ ๒๑ เซ็นติเมตร เขาจดบอกไว้ว่าองค์พระราชลัญจกรทำด้วยโมรา (อาจเป็นหยกก็ได้กระมัง) ที่มือจับแกะเป็นรูปสิงห์โต รวมพระราชลัญจกรชนิดนี้ที่รู้แน่แล้วมี ๒ องค์ด้วยกัน นอกจากนี้ถ้าพระเจนบอก เห็นมีองค์ใดสำคัญอีก ก็จะกราบทูลมาให้ทรงทราบต่อไป

พระราชลัญจกรซึ่งเขียนไว้ที่บานแผละพระทวารพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานนั้น ได้สั่งหญิงอามแล้ว ว่าเข้าไปเซ็นชื่อถวายพระพรในงานเฉลิมพระชันษาที่ท้องพระโรงหน้าแล้ว ให้ช่วยดูจดจำมาบอกด้วย

สนองลายพระหัตถ์

พระราชลัญจกรองค์ที่พระราชทานสมาคมโบราณคดีสโมสร ทรงพระดำริคาดว่าเป็นครั้งรัชกาลที่ ๑ นั้นถูกแล้ว พระราชลัญจกรองค์นั้นประหลาดอยู่มาก เป็นมังกรไทมีรูปร่างท่าทางผิดกับมังกรจีน แต่พอขึ้นชื่อว่ามังกรแล้วคนก็เอาไปยกให้จีนเสียเสมอ แต่ความจริงไม่ใช่เลย มกร. เป็นคำบาลีสํสกฤต เราได้มาทางอินเดีย ไม่ใช่ได้มาทางจีน ลักษณะก็คิดต่างกันไป ทางอินเดียเขาคิดแปลงมาจากจรเข้ แต่ข้างจีนคิดแปลงไปเป็นงู ชั้นแรกก็ทำหน้ายาวจนเราเรียกกันว่ามังกรหน้าตะเข้ แล้วก็เปลี่ยนแปลงไปอีก เพราะอุปาทานเรายึดมั่นเสียว่าเป็นของจีน จึงทำตามลักษณะงูไป ที่จริงก็เห็นจะออกจากแหล่งอันเดียวกันนั้นเอง อันพระราชลัญจกรดวงที่โบราณคดีสโมสรถืออยู่นั้น เรียกชื่อว่า มังกรเล่นแก้ว สนิทกว่าจะเรียกว่า มังกรคาบแก้ว เพราะดวงแก้วไม่ได้อยู่ในระหว่างปาก แต่ทำไมจึงไปผูกใจที่แก้วเสียหนักหนมหนักหนา ควรจะสะดุดใจที่แท่นมากกว่า ด้วยว่ามังกรอยู่บนแท่นนั้นไม่มีที่ไหน ถ้าให้เกล้ากระหม่อมตั้งชื่อจะเรียกว่ามังกรยืนแท่น

ตำราพระราชลัญจกรนั้นที่หอสมุดเขาจะทำ แต่เดินคนละทางกับที่ทรงพระดำริจะเอาดวงรอยประทับไม่ว่าพระราชลัญจกรหรือตราอะไรที่สำคัญ เช่นตราเจ้ากระทรวงเจ้ากรมต่างๆ เป็นต้น ทั้งประจำชาดประจำครั่ง สุดแต่จะหาได้มาเป็นที่ตั้งแล้วเขียนคำอธิบายประกอบไว้ตามรู้ตามเห็น และถ้ามีประกาศพระราชบัญญัติอะไรซึ่งเกี่ยวแก่ตรานั้นก็จะคัดมาประกอบไว้ด้วยเป็นการคิดทำตามสะดวกแห่งความสามารถที่จะพึงทำได้ก็นับว่าดีอยู่แล้ว

อันพระราชลัญจกรนั้น เห็นจะมีมากกว่าที่ทรงพระดำริคาดว่าควรจะมีมากทีเดียว เข้าใจว่าใครต่อใครทำถวายด้วยไม่ได้มีพระราชประสงค์จะสร้างขึ้นก็มีมาก แล้วก็ไม่ได้ใช้อะไรและเป็นของครึ่งๆ กลางๆ ควรจะนับว่าเป็นพระราชลัญจกรหรือมิใช่ก็มีมาก เช่นที่ใช้ในเรื่องลายครามอันเป็นแต่การเล่นและที่ใช้ไนการเสือป่าเหล่านี้เป็นต้น ล้วนเป็นของทำขึ้นใหม่ นอกจากพระราชลัญจกรที่มีมาเดิมทั้งนั้น

เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้า ที่ทรงพระเมตตาโปรดรจนาเรื่องวิธีแต่งงานสมรสกันที่ปีนังไปให้ทราบ ส่วนพวกถือศาสนาคริสตังค์นั้นควรอยู่แล้วที่จะทำการอย่างฝรั่ง ส่วนพวกอื่นนั้นพิธีก็กลายเป็นฝรั่งปีนังเข้าปะปน ดูทางพวกถือศาสนาอิสลามเจาะเอาประเพณีเดิมก็จับได้ว่าทำงานที่บ้านเจ้าบ่าว แล้วแห่เจ้าบ่าวไปส่งตัวที่บ้านเจ้าสาว ส่วนพวกทมิฬนั้นแต่งงานกันแต่เล็กอย่างพวกถือศาสนาพราหมณ์ในอินเดีย ซึ่งฝรั่งติเตียนมาก แต่ลางทีผู้ต้นคิดจะคิดด้วยปรารถนาดีก็ได้ ด้วยหวังจะให้เด็กได้อยู่เป็นเพื่อนเล่นคุ้นเคยกันก่อน เมื่อถึงเวลาอันควรเป็นผัวเมียกันก็เป็นไปเอง มีประโยชน์ที่จะได้รู้น้ำใสใจคอกัน ครั้นคิดแต่ว่าแต่งเป็นผัวเมียกันจึงดูแกแนเต็มที ที่กราบทูลนี้หมายจำเพาะแต่แต่งเด็กกับเด็ก ส่วนการแต่งชายผู้ใหญ่กับหญิงเด็กนั้นอันตรายมากเต็มที ต้องปรับว่าเข้าใจผิด การให้เมียกันแต่เล็กทางจีนก็มี เคยเห็นเจ๊กผัวเมีย เกล้ากระหม่อมจ้างมาเป็นกุ๊ก มีเด็กหญิงติดมาด้วยคนหนึ่ง ว่าเป็นลูกสะใภ้ เขาให้มาสำหรับเป็นเมียลูกตนในภายหน้า แต่ว่าลูกตนก็ตายเสียแล้ว เหลือแต่ลูกสะใภ้ก็ใช้อย่างทาส และขาดความปรานีทำโทษอย่างโหดร้ายด้วย มันทนไม่ไหวมันก็หนีขึ้นมาอาศัยอยู่กับแม่โต เรื่องชนิดนี้แต่ก่อนก็เคยมี คนหนีเข้ามาสู่บ้าน รายนั้นมีคนมาตามเอาตัว แต่เกล้ากระหม่อมเห็นว่าเราไม่มีอำนาจอะไรที่จะจับตัวส่งให้เขา จึงให้ไปเชิญท่านผู้ใหญ่ในกระทรวงนครบาลมาบังคับ ท่านมาไล่เลียงถามไต่แล้วก็ไม่เห็นจับกุมส่งให้แก่ผู้มาตาม เข้าใจว่าเพราะผู้ที่หนีมานั้นมันไม่มีผิดอะไร ไม่ได้เป็นหนี้เป็นข้า ไม่ชอบจะอยู่ด้วยก็มาเสียเฉยๆ รายเจ๊กกุ๊กอันเกิดขึ้นอีกนั้น พ่อผัวแม่ผัวซึ่งผัวตายแล้วไม่ติดตาม จึงไม่ได้ไปเชิญเจ้าพนักงานอันมีหน้าที่มาบังคับ เด็กมันก็อยู่ด้วยมาจนถึงทุกวันนี้เป็นสาวใหญ่แล้ว เด็กของฝ่าพระบาทชื่อว่ากันยุมานั้นชื่อน่าเอ็นดูมากเหมือนกับนางสุวรรณกันยุมาในเรื่องรามเกียรติ์ของเรา ชื่อนี้คงเป็นชื่อแบบ คำสุวรรณนั้นเราเห็นจะเติมเข้าเพื่อให้หรูหราและมีสัมผัสกัน การแต่งงานทางจีน ๓ อย่าง ตามที่ตรัสเล่าประทานนั้นอย่างทำที่บ้านพระยารัตนเศรษฐีเป็นคงตามประเพณีข้างจีนมากกว่าอย่างอื่น แม้กระนั้นดูก็ยังปนฝรั่งอยู่บ้าง เป็นการแต่งงานที่บ้านเจ้าสาวเหมือนอย่างไทย ในการที่เจ้าสาวหน้าแห้งเพราะการแต่งตัวนั้น เห็นจะอย่างเดียวกันกับเด็กโกนจุกของเรา เล่นเอาหน้าแห้งไปเหมือนกัน หมากพนมซึ่งตรัสถึงนั้นจะต้องเป็นของไทยหรือของมลายู จะเป็นของจีนไปไม่ได้ เพราะเจ๊กเราไม่กินหมาก วิธีที่จีนทำกันอยู่อีกสองอย่างนั้นโซด อย่างหนึ่งเอาอย่างฝรั่งเต็มตัว อีกอย่างหนึ่งดูเป็นปรุงเอาเอง มีหลักเป็นเอาอย่างฝรั่งอยู่มาก การแต่งพร้อมกันหลายๆ คู่นั้นก็เป็นแบบฝรั่งสมัยใหม่ คนที่หากินในทางเป็นแม่สื่อ น่ากลัวผ้านุ่งขาดเหมือนคนหากินทางเป็นนายหน้าขายที่ดินเพื่อกินค่านายหน้าในเมืองไทย แต่พวกหากินทางทำงานอย่างกองพิธีนั้น เป็นหางานได้ดีแน่ เขาคงไม่ได้รับงานแต่การสมรสอย่างเดียว ย่อบจะรับงานพิธีอย่างอื่นอีกด้วย

หนังสือ ๒ เรื่องของพระพรหมมุนีที่ต้องพระประสงค์ จะหาส่งมาถวายทีหลัง

บรรเลง

เป็นแน่ว่าฝ่าพระบาทได้ทอดพระเนตรเห็น ที่บนกำแพงแก้วหน้ามณฑปพระพุทธบาท มีเรือหงส์หล่อลำสั้นนิดเดียวฝังอยู่บนนั้น คิดแปลว่าทำทำไมก็แปลไม่อออก มีใครอธิบายให้ฟังเป็นหลายปากก็รับไม่อยู่ ครั้นไปเที่ยวถึงเมืองนางรองก็ไปพบเรืออย่างนั้นเข้าที่วัดเก่า ชื่อวัดอะไรก็ลืมเสียแล้ว ที่นั้นเขาทำด้วยไม้ยาวประมาณเมตรเศษ แต่ดูเหมือนหัวจะเป็นนาคไม่ใช่หงส์ มีเหล็กแหลมปักเป็นระนาวไปตามลำเรือ มีขาตั้งแล้วเขาตั้งไว้ตรงหน้าพระประธานในโบสถ์ด้วย จึงทำให้เข้าใจว่าเขาทำตั้งใจให้เป็นราวเทียน แล้วคิดต่อไปว่าในลำเรือคงใส่น้ำ เมื่อเทียนหมดก็ตกน้ำดับไปเอง ไม่ต้องมีแผ่นสังกะสีรองราวเทียนอย่างเช่นเราทำกันอยู่ เห็นว่าดีมากจึงจำเอามาทำขึ้นไว้บ้างที่ปฐมบรมราชานุสรณ์ แต่บัดนี้มาเห็นในหนังสือแจกงานศพเจ้าเชียงใหม่ของพระญาณดิลก กล่าวถึงประเพณีทำพิธีออกพรรษาทางอุบลราชธานี เป็นไปทางลอยกระทงนั้นเอง มีการลอยเรือหยวก แต่ถ้าเป็นชาวบ้านดอนไม่มีแม่น้ำจะลอยก็ลอยไม่ได้ เขาไปทำเรือหยวกตั้งบูชาที่หน้าโบสถ์วัดในหมู่บ้าน จึงทำให้เกิดเฉลียวใจขึ้น ว่าเรือไม้ซึ่งไปเห็นที่วัดในนางรอง จะทำเป็นเครื่องแห้งไว้แทนเรือหยวกเสียดอกกระมัง แต่นี่เมื่อพบอะไรมาแปลกก็กราบทูลเท่านั้น ถึงจะได้ทำผิดไปเพราะเข้าใจผิดก็เห็นหาเป็นไรไม่

อีกคำหนึ่งคือข้าวเม่า เข้าใจเสียว่าเป็นนาม แต่พบในหนังสือซึ่งออกชื่อมาแล้วนั้นเป็นกิริยา กล่าวถึงการทำทานในเวลาข้าวพอเม่า เม่าเขาจะหมายความว่ากระไร เคยทราบว่าข้าวเม่านั้นเขาตำ จะหมายความว่าตำก็ขัดกับที่ทราบมาก่อน ว่าตำข้าวเมืองนั้นเขาเรียกกันว่าแตก ทั้งนี้ก็สมกับคำซึ่งเราพูดกันว่าแดกดัน ก็ได้กับคำว่าทิ่มตำ จะต้องเรียนกับชาวเมืองนั้นต่อไปให้รู้ว่าเม่าเขาหมายถึงอะไร

ปัญหา

พระแท่นเศวตฉัตรในพระที่นั่งอัมรินทร์แต่ก่อนตั้งไว้ที่ไหน ฝ่าพระบาทได้ทรงทราบบ้างหรือไม่ จะตั้งอยู่ที่เดี๋ยวนี้ไม่ได้ บังพระที่นั่งบุษบกมาลา ทำให้พระที่นั่งนั้นใช้ไม่ได้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

  1. ๑. คำว่า ไทย นี้ ในฉบับเดิม เฉพาะสมเด็จกรมพระยานริศฯ ทรงใช้ว่า “ไท” ทุกแห่ง

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ