วันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๓๐ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๒

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

ลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๒๓ มกราคม มาถึงหม่อมฉันแล้วโดยเรียบร้อยทั้งซองและเวลาที่ส่ง

สนองความในลายพระหัตถ์

หม่อมฉันอ่านเรื่องสิบสองเหลี่ยมมานานแล้ว จำได้แต่คลับคล้ายคลับคลาตรงที่พรรณนาที่ตั้งพระศพพระเจ้าเนาวสว่าน ดูเหมือนว่าตั้งไว้ในบุษบก แต่แลเห็นพระองค์ได้ดังเช่นเป็นอยู่ ถ้าเช่นนั้นต้องเป็นอย่าง “มัมมี่” หม่อมฉันได้เคยเห็นมัมมี่ที่อียิปต์ ต่อกับศพเอาแถบผ้าทอด้วยด้ายพันรัดทั่วสรรพางค์กาย เปรียบเช่นชาวอินเดียห่อผ้าแล้วเอาศพลงวางในหีบทำเป็นรูปคน เขียนหน้าตาเครื่องประดับที่หีบนี้ แล้วใส่หีบใบอื่นอีกชั้นหนึ่งหรือสองชั้น แล้วจึงถึงใส่หีบใหญ่ทำเป็นสัณฐาน ๔ เหลี่ยมรีอีกสองชั้น หีบใบชั้นนอกทำด้วยเอาหินทั้งแท่งมาขุดเป็นหีบใบใหญ่มีฝาปิด พระศพพระเจ้าเนาวสว่านที่เอาไว้ให้คนบูชาช้านานจำต้องทำเป็นมัมมี่ด้วยวิธีอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าตั้งให้คนเห็นพระองค์ก็คงต้องทำลองใส่พระศพเป็นสัณฐานรูปคน เขียนพระโฉมไว้ที่ลองนั้น เช่นเดียวกับหีบใส่มัมมี่ของชาวอียิปต์ เห็นจะไม่ตั้งไว้แต่พระศพที่ห่อหรือพันผ้าตราสัง

จะทูลที่มาของหนังสือเรื่องสิบสองเหลี่ยมต่อไป หนังสือเรื่องนั้นหมอสมิทพิมพ์เมื่อหม่อมฉันยังเป็นหนุ่ม ได้มาอ่านดูไม่ชอบ ด้วยคติต่างประเทศไม่เข้าอกเข้าใจ ดูเหมือนจะอ่านไม่จบด้วยซ้ำไป จนเมื่อเป็นนายกกรรมการหอพระสมุดฯ จับอ่านอีกครั้งหนึ่งโดยพิจารณาเมื่อมีความรู้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน อ่านตลอดเรื่องแล้วก็เกิดพิศวง ด้วยเห็นความที่กล่าวถึงพระศพพระเจ้าเนาวสว่านเป็นแต่อย่างคำนำ ตัวแก่นสารอยู่ในเรื่องนิทานที่ว่าจารึกไว้รอบมณฑปพระศพ ล้วนเป็นราชธรรมทั้งนั้น และยังน่าพิศวงต่อไปว่าเป็นธรรมตามคติศาสนาไทย จะว่าเป็นคติอินเดียก็มิใช่ จะไปทางคติอิสลามก็ไม่เชิง มีแววจะสังเกตอยู่อย่างหนึ่งที่พระนามพระเจ้าแผ่นดินที่กล่าวถึง มีพ้องกับพระเจ้าแผ่นดินอินเดียสมัยมุคัลอยู่บ้าง หม่อมฉันจึงให้ศาสตราจารย์ เซเดส์ ลองค้นดูว่าจะเป็นเรื่องนิทานของประเทศไหน แกไปค้นพบพระนามพระเจ้าแผ่นดินที่อ้างในนิทานเป็นพระเจ้าแผ่นดินเปอร์เซีย หรือที่เรียกว่า “อิหร่าน” บัดนี้โดยมาก ความก็เข้ากันได้หมด ด้วยในสมัยเมื่อแต่งนิทานชาวเปอร์เซียยังถือศาสนาโซโรอัสต และเมื่อราชวงศ์มุคัลครองอินเดียนับถือแบบแผนเปอร์เซียมาก

หม่อมฉันให้หอพระสมุดฯพิมพ์ใหม่ให้เรียกว่า “อิหร่านราชธรรม” หรือ “สิบสองเหลี่ยม” และยังมีประหลาดต่อไป ด้วยหอพระสมุดฯ ได้หนังสือเรื่องสิบสองเหลี่ยมเป็นหนังสือเขียนในสมุดไทยมาอีกฉบับ เรื่องตรงกันแต่สำนวนต่างกัน ในฉบับที่ได้มาใหม่มีบานแพนกบอกวันเดือนปี ที่แปลกตกในรัชกาลพระเจ้าบรมโกศเป็นฉบับเดิมที่แรกแปลครั้งกรุงศรีอยุธยา และได้คำแปลกในสมัยนั้นคำ ๑ เรียกสัตว์ลูกผสมม้ากับลาว่า “แม้” ไม่เรียกว่า “ล่อ” อย่างเรียกกันในปัจจุบันนี้

เรื่องอวตารที่ทรงชี้แจงมานั้นหม่อมฉันได้ความรู้เพิ่มเติมขึ้นดังทรงคาด ขอบพระคุณมาก ความรู้ทางเรื่องคติพราหมณ์หม่อมฉันอ่อนมาก เมื่อสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงค้นมาแสดงก็ตรัสแก่หม่อมฉันเนืองๆ แต่ไม่เกิดความศรัทธาเลื่อมใส ด้วยเห็นเป็นเรื่องหลงเล่ห์หลอกลวงของพวกพราหมณ์ ความรู้ที่ให้ก็ไม่เป็นแก่นสารจึงไม่ใคร่เอาใจใส่

ฤดูหนาวปีนี้เห็นจะเรียกได้ว่าแปลก ใครๆ มาจากกรุงเทพฯ บอกทุกคน ว่าปีนี้หนาวจัดมากและหนาวอยู่นานวันด้วย ทางยุโรปก็ว่าหนาวผิดปกติตามเคยมาทั้งนั้น ที่แปลกเป็นข้อสำคัญนั้น เกาะซาดิเนียในทะเลเมดิเตอรเรเนียน แต่ก่อนมาไม่เคยปรากฏว่าหิมะตกไปถึง ปีนี้มีหิมะตกที่เกาะนั้นเป็นอย่างอัศจรรย์

ข่าวทางปีนัง

ตั้งแต่วันที่ ๒๔ พวกทมิฬมีงานไทยปุสสัมประจำปีมาจนวันที่ ๒๗ แต่ก็เป็นงานตามเคย อย่างหม่อมฉันได้เคยพรรณนาเล่าถวายไปแต่ก่อนแล้ว ในปีนี้ไม่มีดอกไม้ไฟเพราะมีการสงคราม หม่อมฉันได้ไปเดินตรวจดูร้านเครื่องทองเหลืองอย่างอินเดีย ก็ไม่เห็นมีอะไรแปลกตาถึงสมควรจะซื้อส่งมาถวาย

เดิมหม่อมฉันกะว่าจะแปรสถานขึ้นไปอยู่บนเขาเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๗ แต่เมื่อขึ้นไปเลือกหาเรือนปลีกไม่ให้ต้องอยู่ปะปนกับคนอื่น เรือนหลังที่หม่อมฉันชอบยังไม่ว่าง ต้องเลื่อนวันมา จะขึ้นไปในวันอังคารที่ ๓๐ นี้ด้วยกันกับหญิงพูนและหญิงเหลือ ให้หญิงพิลัยอยู่กับหลานที่ซินนามอนฮอล

เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๘ ชายประสบสุขกับหญิงเพียรออกมาไหว้ ดูน่าเอ็นดูสมกันดี หม่อมฉันได้รดน้ำมนต์และเจิมจุณอำนวยพรให้ด้วยความยินดี แล้วพาไปฉายรูปหมู่ด้วยกันด้วย เธอจะอยู่ที่ซินนามอนฮอลเที่ยวฮันนีมูนในปีนัง จนวันศุกร์ที่ ๒ กุมภาพันธ์ จึงจะกลับไป

เมื่อ ๒ วันมานี้ท่านสังฆราชเปโรกลับจากแปรสถานที่เขาแคมะรอน แวะมาหาหม่อมฉัน บอกปวารณาว่าจะฝากอะไรเข้าไปกรุงเทพฯ บ้างจะรับเอาไปให้ หม่อมฉันปรารภกับเจ้าหญิงว่าจะฝากส้มจัฟฟาไปถวาย เธอพากันทักท้วงว่าถ้าเช่นนั้นท่านสังฆราชคงจะเอาไปถวายเอง ดูเป็นการเอะอะเกินไป หม่อมฉันก็เห็นชอบด้วยจึงรอไว้ฝากชายประสบสุข ซึ่งจะกลับไปใน ๒-๓ วันนี้

หม่อมฉันกำลังจับแต่งตำนานพิธีตรุษซึ่งแต่งค้างอยู่ต่อไป เป็นเรื่องยาวกว่าจะได้ส่งไปถวายเห็นจะอีกหลายสัปดาห์

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ป.ล. หม่อมฉันร่างจดหมายฉบับนี้ ในเวลาเตรียมตัวจะแปรสถานขึ้นไปอยู่บนเขา เร่งจะให้ทันส่งไปรษณีย์ในวันอังคารที่ ๓๐ เมื่อส่งร่างไปให้ดีดพิมพ์แล้ว นึกได้ว่าความที่ทูลสนองลายพระหัตถ์ขาดเรื่องต้นตาลไปเรื่อง ๑ จึงเขียนเติมลงเป็น ป.ล. ข้างท้ายจดหมาย

เมื่อหม่อมฉันอ่านลายพระหัตถ์ถึงตรงตรัสเล่าเรื่องต้นตาลที่ทรงปลูกในบริเวณตำหนักปลายเนินออกผล นึกประหลาดใจเห็นเป็นอัศจรรย์ผิดธรรมดาของต้นตาล ด้วยรู้สึกประจำใจอยู่ว่าท่านเพิ่งเสด็จย้ายไปประทับอยู่ตำบลคลองเตยเมื่อเร็ว ๆ นี้เอง ต่อไปอ่านถึงตรัสว่าประทับอยู่ที่นั่นได้ ๒๕ ปี จึงกลับเห็นว่าไม่เร็วกว่าธรรมดามากนัก ถึงกระนั้นเคยได้ยินเขาพูดกันแต่ว่า ปลูกต้นตาลไว้ให้ลูกหลานกินลูก ยังไม่เคยทราบว่าคนปลูกได้ทันเห็นลูกตาลต้นที่ตนปลูก เว้นแต่ครั้งหนึ่งซึ่งท่านคงทรงทราบ เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงสร้างเขาไกรลาศ ที่ระหว่างพระที่นั่งจักรีกับพระที่นั่งพิมานรัตนา มีใครถวายต้นตาลต้นหนึ่ง ซึ่งเขาปลูกไว้ในกระถางช้านานจนสัณฐานเป็นตาลต้อ โปรดให้เอาลงดินปลูกไว้ใกล้เชิงเขา อยู่มาไม่ช้าตาลนั้นออกผล สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ทรงรื่นรมย์มาก ควรแล้วที่คุณโตจะหาละครชาตรีมาเล่นใช้บน ข้อที่ว่าต้นตาลมีพันธุ์เป็นตัวผู้ตัวเมียนั้นหม่อมฉันก็ไม่เคยได้ยิน ทราบแต่ว่าต้นอินทผลัมมีต่างพันธุ์เช่นนั้น ต้นพันธุ์ตัวเมียต้องได้สัมผัสสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นธาตุของต้นตัวผู้จึงจะออกลูก ที่ในเมืองเพชรบุรีมีต้นอินทผลัมอยู่มาก แต่ไม่เคยได้ยินว่าออกลูก เมื่อหม่อมฉันไปยุโรปพบอินทผลัมสดที่เตอรกี รูปร่างคล้ายหมากหลัวหลกและออกจากจั่นเช่นเดียวกับหมาก กินรสชาติคล้ายละมุดฝรั่งแต่เนื้อหยาบกว่า อร่อยน้อยกว่าอินทผลัมแห้งที่เขาทำส่งมาขาย พูดกับชาวเมืองนั้นเขาบอกว่า คนเลี้ยงอินทผลัมต้องเอาใบหรืออะไรจากต้นตัวผู้ไปฟาดที่ต้นตัวเมียตามฤดูกาลจึงจะออกลูก แต่ต้นตาลจะอย่างไรหม่อมฉันไม่ทราบ เคยไปเมืองเพชรบุรีบ่อยๆ ก็ไม่มีใครบอก ได้ยินแต่ว่าการทำน้ำตาลนั้นไม่เสมอกัน ปีใดข้าวงามคนก็ไม่ใคร่ทำน้ำตาล ปีใดข้าวไม่งามก็ทำน้ำตาลกันมาก

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ