บันทึกเรื่องเงินกรุงศรีสัตนาคนหุต

สำเนา

ที่วัดสุทธจินดา จังหวัดนครราชสีมา

วันที่ ๒๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๔

ขอถวายพระพรแด่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงทราบ

ด้วยอาตมาภาพได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ศกนี้ ที่ทรงพระกรุณาโปรดประทานให้ถวายพระพรชี้แจงในเรื่องชาวศรีสัตนาคนหุตแต่โบราณ ใช้เงินและวัตถุแทนเงิน เป็นเครื่องแลกเปลี่ยนในการซื้อขายซึ่งกันและกัน มีชนิดมีขนาดอย่างไร และใช้มาตลอดกาลเพียงไร ดังนี้

เรื่องนี้เมื่อได้รับลายพระหัตถ์แล้ว มิได้นิ่งนอนใจ ได้ตริตรองด้วยตนเอง และได้ใส่ใจสืบสวนจากผู้อื่นไป ณ ที่ต่างๆ ทั้งมณฑลนี้ทั้งมณฑลอุดรฯ ด้วยอำนาจพระเดชานุภาพ ก็มีผู้ช่วยพอให้เป็นทางความคิด จึงได้แต่งอธิบายชนิดและขนาดของเงินและวัตถุแทนเงินนั้นเป็นเรื่องดังที่ได้ถวายมาพร้อมลิขิตฉบับนี้ และได้ถวายเงินฮ้อยน้ำ ๓ เงินฮ้อยน้ำ ๖ ชนิดละอัน และลาดทั้ง ๓ ชนิดๆละอันถวายเข้าไปด้วยห่อเป็นวัตถุต่างหากจากลิขิตฉบับนี้

อนึ่ง อดความยินดีต่อผู้ที่ได้ช่วยความคิดในเรื่องนี้ไว้ไม่ได้ จึงขอพระวโรกาศเสนอนามของท่านเหล่านั้น คือ พระครูวินิฐสมณวัตร เจ้าคณะแขวงธาตุเชิงชุม จังหวัดสกลนคร ๑ พระยศสุนทร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดร ๑ และพระปทุมเทวาภิบาล ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย ๑

ทั้งนี้ การควรประการใดแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรด

พระธรรมปาโมกข์

----------------------------

บันทึกเรื่องเงินกรุงศรีสัตนาคนหุต

ตามที่สืบรู้มา เงินและวัตถุแทนเงินของชาวศรีสัตนาคนหุต ที่ใช้แลกเปลี่ยนในการซื้อขาย ว่ามีอยู่ ๔ อย่าง คือเงินฮางอย่าง ๑ เงินตู้อย่าง ๑ เงินฮอยอย่าง ๑ และลาดอย่าง ๑ ทั้ง ๔ ชนิดนี้นัยว่าเป็นของชาวศรีสัตนาคนหุตแท้ เมื่อยังไม่ได้เป็นเมืองออก เพียงแต่ได้สัมพันธ์ติดต่อกับกรุงศรีอยุธยา พม่าและญวนก็น่าจะได้นำเอาเงินบาทและเบี้ยของกรุงศรีอยุธยามาใช้บ้าง เงินรูเปียของพม่ามาใช้บ้าง เงินหริ่งหรือดิ่งของญวน (นัยว่าหนัก ๑๐ สลึง) มาใช้บ้าง อนึ่งเงินขาหรือเงินขาคีมจะเป็นของใครสืบไม่ได้ความ นี้นัยว่าก็ใช้เหมือนกัน แม้ถึงอีแปะของจีนนัยว่าก็ใช่ดุจกันอีก

ความจริงชาวศรีสัตนาคนหุตเป็นประเทศน้อย อยู่ในระวางประเทศใหญ่ คงจะใช้เงินและวัตถุแทนเงิน ทั้งที่ตนทำขึ้นเอง ทั้งที่ได้มาจากประเทศอื่นปนกันไป ด้วยว่าเป็นประเทศใหม่มั่งคั่งด้วยทรัพย์สินนักจึงต้องใช้ส่วนที่เป็นของตน ทั้งส่วนที่ได้มาจากอื่น ก็และทางที่จะได้มานั้น ก็น่าจะได้โดยทางราชการอย่าง ๑ โดยทางราษฎรนำสินค่าออกไปจำหน่ายอย่าง ๑

แม้ถึงคราวที่ชาวศรีสัตนาคนหุตได้เป็นเมืองออกแล้ว ก็น่าจะใช้เงินและวัตถุแทนเงินทั้งของตนและได้มาจากที่อื่นอยู่ มีทางที่จะอ้างให้แลเห็นคือ บรรดาหัวเมืองทางภาคอิสานที่มีขนบธรรมเนียมอย่างเดียวกันกับชาวศรีสัตนาคนหุตนั้นยังใช้เงินและวัตถุแทนเงินของเก่าเหล่านั้นตลอดมา จนถึงกลางรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์จึงได้งดเลิกใช้ลาดเปลี่ยนเป็นใช้อัฐและโสฬส ถ้าความจำของผู้แต่งเรื่องนี้ไม่คลาดเคลื่อน จังหวัดอุบลราชธานีได้งดใช้ลาดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๓ ตรงกับ ร.ศ. ๑๐๙ คือว่าเวลานั้นพระยาศรีสิงหเทพ (ทัด ไกรฤกษ์) และพระยาภักดีณรงค์ (สิน ไกรฤกษ์) เป็นข้าหลวงประจำเมืองได้นำอัฐิและโสฬสขึ้นไปจำหน่ายให้ประชาชนใช้จ่าย จึงได้เลิกการใช้ลาดแต่นั้นมา แต่ส่วนเงินฮาง เงินฮ้อยนั้น ในหมู่ราษฎรยังใช้เลกเปลี่ยนในการซื้อขายซึ่งกันและกันเรื่อยมาอีกหลายปีจึงได้เลิก

อาศัยเหตุการณ์ดังนี้จึงส่อให้เห็นว่าชาวศรีสัตนาคนหุตแต่โบราณคงใช้ทั้งของตนเอง ทั้งของประเทศอื่นปนกันโดยแท้ ก็แลเงินและวัตถุแทนเงิน ๔ อย่างที่อ้างว่าเป็นของชาวศรีสัตนาคนหุตแท้นั้น คือเงินฮาง เงินตู้ เงินฮ้อย และลาด ต่างขนาดต่างชนิดกันดังนี้

ก. เงินฮางนั้น เป็นเนื้อเงินบริสุทธิ์ มีน้ำหนัก ๖ ตำลึง ๒ บาท (บางเสียงว่า ๖ ตำลึง ๖ สลึง) ราคาโดยปกติก็ใช้เท่าน้ำหนัก บางคราวยิ่งบ้าง หย่อนบ้าง เป็นเงินแท่งรูป ๔ เหลี่ยมผืนผ้า งอนกลางเล็กน้อย

ข. เงินตู้นั้น เนื้อเงินบริสุทธิ์ ลักษณะทุกส่วนคล้ายเงินฮาง มีน้ำหนัก ๓ ตำลึง ราคาโดยปกติใช้เท่าน้ำหนัก

ค. เงินฮ้อยนั้น เป็นเงินเจือด้วยธาตุทองแดงทองเหลือง รูปคล้ายเรือชะล่า ท้ายหัวมีเรียวเล็กน้อย มี ๓ ชนิด คือฮ้อยน้ำ ๓ ฮ้อยน้ำ ๖ ฮ้อยน้ำ ๘ ราคาที่ใช้จ่ายกันนั้น คือ ฮ้อยน้ำ ๓ ก็ ๓ บาท ฮ้อยน้ำ ๖ ก็ ๖ บาท ฮ้อยน้ำ ๘ ก็ ๘ บาท ที่เรียกว่าน้ำ ๓ น้ำ ๖ น้ำ ๘ นั้น ก็น่าจะเรียกตามราคานั้นเอง หรือจะเรียกตามน้ำเงินคือน้ำ ๓ มีเนื้อเงิน ๓ ส่วน น้ำ ๖ มีเนื้อเงิน ๖ ส่วน น้ำ ๘ มีเนื้อเงิน ๘ ส่วน เหลือนั้นเจือธาตุอื่น ดังนี้ก็อาจเป็นได้ ก็และเงินฮ้อยทั้ง ๓ ชนิดนั้นมีที่ต่างพอให้เห็นสังเกตได้ คือฮ้อยน้ำ ๓ มีเนื้อเงินน้อย มีตุ่มขึ้นที่ขอบด้านหน้าบาง ฮ้อยน้ำ ๖ มีเนื้อเงินมากกว่าน้ำ ๓ ตุ่มที่ขอบด้านหน้าก็มากกว่า และฮ้อยน้ำ ๘ มีเนื้อเงินมากขึ้นไปอีก ตุ่มก็หนาทั่วไป ประหนึ่งว่าตุ่มเป็นเครื่องวัดให้รู้จักเนื้อเงินมากและน้อย

อนึ่งชาวศรีสัตนาคนหุตให้นับมาตราที่ชั่งสิ่งของ ถ้าสิ่งของมีน้ำหนัก ๑๐ บาท เรียกว่าฮ้อยหนึ่ง ดังนี้ คำที่เรียกเงินชนิดนี้ว่าเงินฮ้อยนั้น ก็น่าจะหมายเอาน้ำหนัก ๑๐ บาทนั้นเป็นเกณฑ์ หลักเดิมน่าจะเป็นอย่างนี้แน่นอน ครั้นภายหลังปางใดปางหนึ่งขาดการควบคุมต่างคนต่างทำใช้สอยด้วยตนเอง เงินชนิดนี้ บางอันนัยว่าจึงขาดน้ำหนัก ๑๐ บาทไปก็มี

ฆ. ลาด เป็นของทำด้วยทองแดงทองเหลืองปนกัน รูปคล้ายเงินฮ้อยแต่เรียวกว่า วัตถุชนิดนี้เดิมจะมีกี่ขนาดนั้นไม่ทราบแน่ แต่ที่ปรากฏในบัดนี้มี ๓ ขนาด ราคาที่ใช้จ่ายกันนั้นตามที่รู้มา ขนาดใหญ่ ๓ อัน เฟื้อง ๖ อันสลึง, ๒๔ อัน เป็น ๑ บาท ขนาดกลาง ๔ อันเฟื้อง ๘ อันสลึง ๓๒ อันเป็น ๑ บาท ขนาดเล็ก ๘ อันเฟื้อง, ๑๖ อันสลึง. ๖๔ อันเป็น ๑ บาท

เงินและวัตถุแทนเงินที่ชาวศรีสัตนาคนหุตใช้แลกเปลี่ยนในการซื้อขายกันและกัน ที่สืบได้ความมีเท่านี้

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ