วันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๓ สิงหาคม ๒๔๘๒

ทูล สมเด็จพระนริศฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๒๘ กรกฎาคมแล้ว

ทูลเรื่องพระราชลัญจกรเพิ่มเติม

เมื่อส่งจดหมายเวรของหม่อมฉันฉบับลงวันที่ ๒๗ กรกฎาคมไปถวายแล้ว นึกเค้าเงื่อนพระราชลัญจกรขึ้นได้อีก ๑ คือที่ ๒ ข้างพระทวารเทวราชมเหศร ทางเข้าพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ข้างหลังพระที่นั่งบุษบกมาลา เขียนลายเป็นพระราชลัญจกรต่าง ๆ อย่างระบายสีเรียงกันขึ้นไปไว้ข้างละ ๔ หรือ ๕ องค์ นึกชื่อได้ ๖ องค์คือ ๑) มหาอุณาโลม ๒) พระครุฑพ่าห์ ๓ ไอยราพต ๔) มังกรเล่นแก้ว ๕) หงส์พิมาน ๖) ไตรสารเศวต อีก ๓ หรือ ๔ องค์ยังนึกไม่ออก สันนิษฐานว่าคงเขียนเมื่อรัชกาลที่ ๓ คราวเดียวกับเขียนฝาผนังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ต่อเข้าไปที่ฝาในผนัง ๒ ข้างพระทวารพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ก็เขียนระบายสีเป็นรูปตราตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีทั้ง ๒ และจตุสดมภ์ทั้ง ๔ ซ้อนกันข้างละ ๓ ดวงมีพานรองและกั้นสัปทน แต่รูปตราเสนาบดีทั้ง ๖ นี้อาจจะเขียนเพิ่มขึ้นในรัชกาลที่ ๔ เมื่อสร้างพระแท่นที่ประทับออกแขกเมืองฝ่ายในตรงพระทวารออกมาก็เป็นได้ เรื่องที่นึกขึ้นใหม่นี้ส่อว่าพระราชลัญจกรก่อนรัชกาลที่ ๔ จะมีเพียงที่เขียนไว้ข้างพระทวารเทวราชมเหศร และพระราชลัญจกรไตรสารเศวต เป็นรูปโรงมีมุข ๓ ช่องมีช้างเผือกยืนโผล่หน้าช่องละตัว น่าจะสร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๒ แต่พระราชลัญจกรทั้งหงสพิมานและไตรสารเศวตนั้นจะสำหรับประทับหนังสือในราชกิจอย่างใดก็ยังคิดไม่เห็น ถ้าหาใครไปพิจารณาดูที่เขียนไว้ข้างพระทวารเทวราชมเหศรเห็นจะรู้ได้หมดว่า เมื่อก่อนรัชกาลที่ ๔ มีพระราชลัญจกรอะไรบ้าง

นอกจากเรื่องพระราชลัญจกรยังนึกขึ้นได้อีกเรื่อง ๑ คือ ตราประจำตำแหน่งพระสังฆนายก ตั้งแต่สมเด็จพระสังฆราชลงไปจนพระครูเจ้าคณะหัวเมือง เขียนไว้ข้างหลังบานหน้าต่างพระอุโบสถวัดพระเชตุพนบริบูรณ์ แต่เขียนรัชกาลที่ ๓

นึกได้ต่อไป ถึงประเพณีทรงตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ชั้นสุพรรณบัตรและหิรัญบัตร พระราชทานตราตำแหน่งใส่ถุงแพรต่วนตัวถุงสีเหลืองปากถุงสีแดงด้วยดวง ๑ ทั้งได้เคยพบจดหมายเหตุ (แต่จะอยู่ในหนังสือเรื่องใดนึกไม่ออก) ว่าเมื่อเริ่มรัชกาลที่ ๕ โปรดให้เรียกตราบัวแก้วคืนจากกรมขุนวรจักรธรานุภาพ แล้วเอาตรานั้นลงเรือเอกชัยแห่ไปพระราชทานเจ้าพระยาทิพากรวงศ (หรือเจ้าพระยาภาษุวงศ หม่อมฉันจำชื่อไม่ได้แน่) แต่คิดดูเห็นเป็นประเพณีเก่า เจ้านายรับกรมก็แห่พระสุพรรณบัตรไปที่วัง แล้วอาลักษณ์ก็คงถวายพร้อมกัน ตั้งเสนาบดีก็เห็นจะแห่สุพรรณบัตรและหิรัญบัตรกับตราตำแหน่งไปพระราชทาน น่าจะเป็นประเพณีเดิมดังนี้ แต่ตั้งพระราชาคณะใหญ่ มีการเลี้ยงพระเป็นการบำเพ็ญพระราชกุศลด้วย จึงทำพิธีที่ในวัง

สนองลายพระหัตถ์

เกณฑ์ที่กำหนดรูปดวงตราตามชั้นศักดิ์ของผู้ถือ อย่างตรัสมาดูชอบกล คือ

พระราชลัญจกร รูปเนื่องด้วยพระเป็นเจ้า
ตราเจ้านาย รูปเทวดา
ตราราชบริพาร รูป “พระยาสัตว์”
ตราคฤหบดี รูปคนสามัญ

ยังมีตราดอกไม้ เช่นดอกบัวเป็นต้น อันใคร ๆ ก็ใช้ได้ แต่พิจารณาไปดูเกณฑ์อย่างว่านี้ไม่เข้ากันสนิททีเดียว เพราะว่าตามธรรมเนียม ตรามีสับสนไม่ตรงเกณฑ์อยู่หลายอย่าง แต่จะโต้แย้งก็หาเกณฑ์อย่างอื่นแทนไม่ได้

เรือรูปสัตว์นั้นในพงศาวดารว่าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรง “แก้เรือแซเป็นเรือชัยและเรือรูปสัตว์ต่าง ๆ” เมื่อปีมะเส็ง ๒๐๗๖ หม่อมฉันเข้าใจว่าที่แก้เป็นเรือรูปสัตว์นั้นเพื่อจะให้ตั้งปืนใหญ่ได้ที่หัวเรือเป็นสำคัญ รูปสัตว์นั้นถ้าเป็นเรือดั้งเป็นรูปเกณฑ์ ๑ คือ ครุฑคู่ ๑ กระบี่ (๒ คู่) อสูร ๒ คู่ เรือเสนาบดีและเรือประตูเอารูปสัตว์ตราตำแหน่งทำ เห็นว่ารูปสัตว์เรือจะมาแต่ตรา

ตราดุลยพ่าห์นั้นประหลาดอยู่ที่หม่อมฉันไม่เคยได้ยินทีเดียวเห็นจะเกิดแต่ในรัชกาลที่ ๖ เมื่อหม่อมฉันออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยแล้ว แต่มีเรื่องเป็นเค้าพอจะเดาเข้ากับตราดวงนั้นได้ คือในรัชกาลที่ ๖ เมื่อทรงตั้งพระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง (ม.ร.ว. ลพ สุทัศน์) เป็นเจ้าพระยาอภัยราชา เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ทรงพระราชดำริว่า เจ้าพระยาอภัยราชาไม่ชำนาญธรรมศาสตร์ จึงโปรดให้สมเด็จกรมพระสวัสดิ์เป็นตำแหน่งอธิบดีศาลฎีกามียศเสมอเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม แยกหน้าที่ในกระทรวงให้เสนาบดีบัญชาการฝ่ายธุรการและให้อธิบดีศาลฎีกาบัญชาการฝ่ายตุลาการ หม่อมฉันเห็นว่าคงเป็นเมื่อมีผู้บัญชาการ ๒ คนในกระทรวงเดียวกันเช่นนั้น จึงโปรดให้สร้างตราดุลยพ่าห์ขึ้นสำหรับตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกา ครั้นเมื่อเลิกตำแหน่งผู้พิพากษาสูงพิเศษในศาลฎีกา จึงโปรดให้เอาตราดุลยพ่าห์ไปใช้เป็นตราตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม และจึงส่งตราจันทรมณฑลคืนเข้าไปไว้ในกรมอาลักษณ์ หม่อมฉันสันนิษฐานว่ากรณีน่าจะเป็นอย่างที่ทูลมานี้

เรื่องตราเสมาธรรมจักรหม่อมฉันทูลได้มากกว่าตรากระทรวงยุตติธรรม เพราะได้เคยอยู่ในกระทรวงนั้นมาเอง เมื่อแรกโปรดให้รวมกรมศึกษาธิการ กรมธรรมการ และกรมพยาบาลเข้าเป็นกระทรวงธรรมการยังไม่ได้ตั้งเป็นกระทรวงเสนาบดี หม่อมฉันเป็นแต่ตำแหน่งอธิบดี กระทรวงธรรมการ เวลานั้นเจ้าพระยาวิชิตวงศวุฒิไกร (ม.ร.ว. คลี่ สุทัศน์) ยังเป็นพระยาวุฒิการบดี ตำแหน่งจางวางกรมธรรมการ ถือตราเสมาธรรมจักรมานานแล้ว เมื่อรวมเป็นกระทรวงท่านคงเป็นท่านคงเป็นตำแหน่งอธิบดีกรมธรรมการก็ถือตราเสมาธรรมจักรต่อมา หม่อมฉันได้เคยเห็นตราเสมาธรรมจักรดวงที่พระยาวุฒิการถือ ขนาดตราอยู่ข้างย่อมและมีทั้งรูปเสมาและรูปจักรอยู่ในดวงตรา (แต่จะเขียนผูกกันอย่างไรหม่อมฉันจำไม่ได้ แต่สมกับที่เรียกชื่อว่า “ตราเสมาธรรมจักร”) หม่อมฉันไม่เคยถือตราตำแหน่งในกระทรวงธรรมการ เพราะเมื่อยกขึ้นเป็นกระทรวงเสนาบดี หม่อมฉันต้องย้ายไปเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) มาเป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ ได้รับพระราชทานตราพระเพลิงทรงระมาดถือเป็นตำแหน่ง ส่วนพระยาวุฒิการบดีเป็นปลัดทูลฉลองรวมกับตำแหน่งอธิบดีกรมธรรมการ ก็คงถือตราเสมาธรรมจักรต่อมาตลอดสมัยเจ้าพระยาภาสกรวงศ์เป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ เมื่อพระยาวุฒิการบดีได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกรและเป็นตำแหน่งเสนาบดี กระทรวงธรรมการ เห็นจะคงถือตราเสมาธรรมจักรมาด้วยจนกระทั่งเกิดทุพลภาพกราบถวายบังคมทูลลาออกจากเสนาบดีในรัชกาลที่ ๖ พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ (ม.ร.ว. เปีย มาลากุล) ปลัดทูลฉลอง ได้เป็นผู้รั้งตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงธรรมการอยู่ตอนหนึ่ง คงถือตราพระเพลิงทรงระมาดและตราเสมาธรรมจักรรวมกันมา หม่อมฉันสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นตอนนี้เองที่เกิดปัญหาเรื่องตราเสมาธรรมจักร ด้วยเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงตั้งพระยาวิสุทธสุริยศักดิ์เป็นเจ้าพระยาเสนาบดีกระทรวงธรรมการ มีพระราชประสงค์จะให้ตรงกับทำเนียบโบราณ จึงพระราชทานราชทินนามเป็นเจ้าพระยาพระเสด็จ และให้ถือตราเสมาธรรมจักรแทนตราพระเพลิงทรงระมาดแต่ดวงตราเสมาธรรมจักรเดิมนั้นเล็กนักไม่สมกับเป็นตราตำแหน่งเสนาบดี จึงโปรดให้สร้างตราเสมาธรรมจักรขึ้นใหม่ที่ใช้อยู่บัดนี้ หม่อมฉันสันนิษฐานว่ามูลเหตุที่ส่งคืนตราพระเพลิงทรงระมาดและตราเสมาธรรมจักรดวงเดิม (มิใช่ตราน้อย) เข้าไปยังกรมอาลักษณ์จะเป็นดังทูลมา

เรื่องตราบุษบกประทีปนั้น หม่อมฉันชอบความคิดมาก ยังเชื่อว่าเป็นพระราชดำริของทูลกระหม่อม ด้วยตรงกับคาถาที่พระธรรมยุติสวดทำวัตรเช้าว่า “ธมฺโม ปทีโป วิย ตสฺส สตฺถุโน” หม่อมฉันคิดไม่เห็นว่าจะมีใครอื่นนอกจากทูลกระหม่อม ที่อาจจะค้นเอาคาถานี้มาทำดวงตรา ตราสมเด็จพระราชาคณะอย่างเก่าหม่อมฉันเคยเห็น เป็นรูปบุษบก แต่ในบุษบกจะเป็นอุณาโลมหรือเธาะขัดสมาธิหม่อมฉันจำไม่ได้ สองข้างบุษบกมีรูปพัดแฉกปักข้างละเล่ม ตราเจ้าคณะรองที่รับหิรัญบัตรก็เห็นจะเป็นทำนองเดียวกัน แต่มีอะไรเป็นเครื่องหมายให้ผิดกันหม่อมฉันจำไม่ได้ ที่ทูลว่าตรา “อย่างเก่า” นั้น เพราะดูเหมือนสมเด็จพระมหาสมณะเปลี่ยนใหม่เสียหมดแล้ว หม่อมฉันทราบโดยทางอ้อม เมื่อแต่งหนังสือเรื่องประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาทวีปถวายท่านทรงพิมพ์แจกในงานพระศพเสด็จแม่ หม่อมฉันพบในจดหมายเหตุของทูตลังกาพรรณนาถึงไปเฝ้าสมเด็จพระสังฆราช ว่าสมเด็จพระสังฆราชประทับบนราชอาสน์ มีพัดแฉกตั้งข้าง ๑ พัดงาสานตั้งข้าง ๑ และมีพระสาวกยืนประนมมืออยู่ซ้ายขวาฝ่ายละองค์ หม่อมฉันไปเล่าถวายสมเด็จพระมหาสมณ และทูลความเห็นต่อไป ว่าสมเด็จพระราชาคณะที่ท้ายสร้อยนามว่า “คามวาสีอรญฺญวาสี” แต่ก่อนเห็นจะมีพัดยศ ๒ เล่ม พระราชาคณะที่ท้ายสร้อยนามมีแต่ว่า “คามวาสี” เช่นพระพิมลธรรมเห็นจะมีพัดยศเป็นพัดงาสาน ท่านทรงเห็นชอบด้วยและตรัสต่อไปว่าเสียดายที่หม่อมฉันไปทูลช้าไป ท่านทรงแก้ดวงตราเจ้าคณะสงฆ์เมื่อเร็วๆ นั้น ถ้าทรงทราบทันก็จะเปลี่ยนพัดแฉกในตราสมเด็จพระราชาคณะให้เป็นงาสานข้าง ๑ ดังนี้ จึงทราบว่าทรงแก้ดวงตรา แต่จะแก้เป็นอย่างไรหม่อมฉันหาได้เคยเห็นไม่

หม่อมฉันขอทูลขอบพระคุณอีกครั้ง ๑ เป็นตติยวาร ที่ทรงเป็นพระธุระในการบวชพระดิศ หญิงจงก็ได้เขียนมาบอก หม่อมฉันมีความปิติชื่นใจเป็นอย่างยิ่ง

ข่าวเบ็ดเตล็ดที่เมืองปีนัง

เมื่อกลางเดือนมีการพิธีเข้าพรรษาทำที่วัดศรีสว่างอารมณ์ หม่อมฉันไปช่วยทั้ง ๓ วัน และสมาคมเขามีจดหมายมาเชิญให้หม่อมฉันเป็นผู้จุดเทียนพรรษาด้วย เสียแต่ปีนี้ฝนตกปรอยทั้ง ๓ วัน คนน้อยไป ถ้าแล้งเห็นจะมีคนมาก เพราะเดี๋ยวนี้ดูมีจำนวนคนเลื่อมใสมากขึ้น อยู่ในพวกจีนชั้นผู้ดีเป็นพื้น ในวันเข้าพรรษาหม่อมฉันจะตักบาตรนิมนต์พระก็ไม่ได้ ด้วยมีผู้อื่นเขานิมนต์ทั้ง ๓ วัน หม่อมฉันเพิ่งมาได้ตักบาตรต่อวันที่ ๒ สิงหาคม ขอถวายพระกุศลด้วย

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ