วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๒ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๒

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์เวร ลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ซึ่งมากับรถไฟอันกำหนดถึงกรุงเทพฯ วันเสาร์ ได้รับแล้วโดยเรียบร้อยตามเคยทุกประการ จะกราบทูลสนองความในลายพระหัตถ์ กับทั้งมีข้อไขเฉพาะแต่ลางข้อต่อไปนี้

สนองความในลายพระหัตถ์

เรื่องศาสนาพระศรีอาริย์นั้นน่าคิด ข้อแรกก็ทำไมต้องเป็นไปเหมือนพระโคตมพุทธเป็นตีพิมพ์ ต้องตรัสรู้ใต้ร่มไม้ ต้องรับมธุปายาสจากนาง ต้องรับกำหญ้าคาจากบุรุษ เป็นแต่แก้เปลี่ยนชื่อเสียเท่านั้น ก็เท่ากับแต้มหัวตะจะว่าคนเขียนสิ้นปัญญาแต่งให้แปลกไปไม่ได้ก็ใช่ที่ ทีจะหวังให้คนทั้งหลายรู้สึกเป็นพระเจ้าทั่วกัน อันความสุขของคนคราวศาสนาพระศรีอาริย์ตามที่กล่าวไว้นั้นมีผลมาก ย่อมจะชักพาให้คนทำอะไรต่ออะไรกัน โดยใคร่จะได้ประสบพบศาสนาพระศรีอาริย์ จนมีพวกสัปรุษเขากล่าวค้าน ว่าเกิดมาทันถึงพระศาสนาแห่งพระโคตมพุทธเจ้าในบัดนี้เป็นบุญลาภอยู่แล้ว ธรรมใดๆ พระองค์ก็ตรัสสอนไว้มีทุกอย่างแล้ว อาจเลือกปฏิบัติเอาได้ ก็เหตุไฉนจึงไม่ปฏิบัติ กลับตะเกียกตะกายทำอะไรโดยใคร่จะได้พบศาสนาพระศรีอาริย์ อันไม่เป็นการแน่นอนว่าจะได้สมประสงค์หรือไม่นั้นเล่า เท่ากับหมายน้ำบ่อหน้า คำที่ว่านี้ถูกอย่างยิ่ง เห็นว่าพวกที่ปรารถนาพบศาสนาพระศรีอาริย์นั้น ต้องการต้นกามพฤกษ์ (หรือกัลปพฤกษ์) ซึ่งจะนึกเอาอะไรก็ได้ดังปรารถนาด้วยโลภเจตนาเท่านั้นเอง จะได้นึกถึงธรรมที่พระศรีอาริย์จะตรัสนั้นหาบมิได้ ในการที่ได้กราบทูลว่าเคยแสวงหาคำที่คำเขากล่าวถึงความเป็นไปในศาลพระศรีอาริย์อยู่คราวหนึ่งนั้น ก็เพื่อจะเอามาแต่งหนังสือเป็นทางขัดเพื่อรั้งไว้บ้าง ต่างว่าเป็นจริงเหมือนเขาว่าก็ไม่ใช่ดีไปหมด ย่อมมีที่เสียปนอยู่ ดังเขาว่า “ดูที่ดีมีชั่วทั่วชมพู” ฉะนั้นอันรูปพระศรีอาริย์นั้นทำกันมากมายหลายอย่าง แล้วแต่ความคิดของพวกไหนจะเดินไปทางไหน รูปทำทางอินเดียจำได้ว่าทำเป็นรูปพระโพธิสัตว์ก็มี ทำเป็นรูปพระพุทธเจ้าเสียแล้วทีเดียวก็มี จนกระทั่งฝักเพกานภศุลยอดพระปรางค์ก็ได้เคยสังเกต ว่ามั่นหมายถึงปราสาทที่ประดิษฐานรูปพระศรีอาริย์หมายถึงวิศวปาณี คือ วชิรสองอันหัวท้ายมีด้ามกลาง อันสมมติหมายให้พระโพธิสัตว์คู่ด้วยพระศรีอาริย์ถือเมื่อจะเอามาใส่ยอดปราสาทเป็นเครื่องหมายจะทำเป็นวชิราวุธสองด้านไม่ได้ จึงทำสวมกันเป็นวชิราวุธสองชั้น แต่ยอดกลางกลืนกันจึงนับได้เป็นเก้ายอด (นภศูล) แทนสิบ อันสิ่งที่ปักบนยอดปราสาทในเมืองเราจะเป็นยอดมณฑปก็ดี ยอดปรางค์ก็ดี ย่อมทำกันอยู่สามอย่าง เป็นฉัตรอย่างหนึ่ง เป็นพุ่มข้าวบิณฑ์ (ดอกไม้) อย่างหนึ่ง เป็นฝักเพกานภศูลอย่างหนึ่ง แต่ปะปนกันไม่มีจำกัด ว่าสิ่งไรควรปักอะไรก็วางกันเลอะ ซ้ำที่เรียกว่ายอดนภศูลทำเติมกันขึ้นเป็นฝักเพกาสามชั้นก็มี พระองค์เจ้าประดิฐวรการท่านหัวเราะเรียกว่า “เดทศศูล”

คำที่ใช้ว่า พระพุทธเจ้าแย้มพระโอษฐ์นั้น ทีเขาจะไม่ได้ตั้งใจจะว่าทรงพระสรวล จะตั้งใจว่าอ้าพระโอษฐ์จะตรัสแล้วก็ไม่ตรัส พระอานนท์จึงได้ทูลถามในความที่ทรงพยากรณ์เรื่องพระศรีอาริย์ ว่าคนจะมีอายุยืนไปถึงอสงขัยปีนั้น ฝ่าพระบาทได้ทรงรู้สึกในพระทัยหรือไม่ ว่าจำนวนอสงขัยนั้นจะมากน้อยสักเพียงไร โกฏิหนึ่งเป็น ๑๐ ล้าน คือเลข ๘ ตัวแล้ว เมื่อเพิ่มขึ้นอีกร้อยแสนโกฏิเป็นปโกฏิหนึ่ง ก็เป็นเลขถึง ๑๕ ตัว แล้วเพิ่มขึ้นอีกทีละร้อยแสนเป็นอีกทีละ ๑๔ ตัว กี่คั่นจึงถึงอสงขัยก็เห็นจะไม่มีใครจำได้ ฝ่าพระบาทคงจะทรงรู้สึกประหลาดพระทัย เกล้ากระหม่อมได้เคยเอาทรายชนิดที่ใช้ผสมปูนก่อ มาเขี่ยให้เรียงเมล็ดเป็นสะแควด้วยแว่นขยาย วัดแล้วคูณเป็นคูบิคคำนวณดู ปรากฏว่าแม้รวมทรายเข้าเป็นก้อนโตเท่าลูกพิภพก็ยังไม่ได้จำนวนอสงขัย จะนับกันไปได้อย่างไร ที่พูดคล่อง ๆ ว่ามีเทพดาแสนโกฏิเป็นบริวารนั้น จะเป็นเทวดาถึงล้านล้านองค์ (๑,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐) พ้นวิสัยที่จะมีอะไรนับถึงเสียแล้ว ไม่ต้องพูดถึงอสงขัย

ขอประทานโทษ เรื่องนายนกนายเรืองเผาตัวนั้น เป็นการฆ่าตัวตาย ซึ่งในทางพระศาสนาหรือประเพณีแห่งบ้านเมือง ย่อมไม่มีใครถือกันว่าฆ่าตัวตายเป็นการทำดี แม้จะได้ฌานชั้นใดก็ไม่ควรฆ่าตัวตาย ตัวอย่างในพระศาสนาก็นึกไม่ได้ว่ามีอย่าง เมื่อนึกถึงประเพณีทางอินเดียก็มีแต่หญิงที่เข้ากองไฟในการเผาผัว ซึ่งเรียกว่า “สตี” ในหนังสืออิเหนาเรียกว่า “แบหลา” แต่นั่นก็เป็นหญิง เพื่อจะแสดงตนว่าซื่อสัตย์ต่อสามี ทางชายไม่มี มีแต่เขาจับไปฆ่าเพื่อบูชายัญ ไม่ใช่ตัวเองฆ่าตัวเอง การฆ่าตัวเองมีดกดื่นอยู่ในประเทศญี่ปุ่น มีคนนิยมชมชื่นกันมาก ทางจีนเขาจะได้เค้ามาจากทางญี่ปุ่นว่าดีกันบ้างดอกกระมัง พาให้สงสัยไปว่านายนกนายเรืองจะทำตามทางข้างจีน จึงทูลถามมาเผื่อว่าจะทรงทราบเค้าอะไรบ้าง แต่ทางพระศาสนาของเรานั้นไม่ถูกแน่

การแห่เทวรูปขันธกุมารของพวกทมิฬที่เมืองปีนังนั้น ตรงกันกับแห่พระนเรศวร์นารายณ์ของเราจริง ที่เราแยกพระอิศวรกับพระนารายณ์ออกคนละต่างหาก ก็เพราะความนับถือต่างกัน พราหมณ์พิธีเป็นศิวเวท ย่อมเป็นหน้าที่ปฏิบัติบูชาจำเพาะพระอิศวร ส่วนพระนารายณ์นั้นเป็นหน้าที่ของพราหมณ์พฤฒิบาศจะพึงปฏิบัติบูชา เพราะเขาเป็นวิษณุเวท แต่ครั้นเมื่อพราหมณ์พฤฒิบาศร่อยหรอไปพราหมณ์พิธีก็เข้าปฏิบัติบูชาทั้งสองภาค ที่ทำดังนั้นก็ไม่จำกัดว่าผิด เพราะคติพราหมณ์สมัยใหม่ที่เดินทางอลุ้มอล่วย เขาว่าพระเป็นเจ้าทุกองค์ย่อมนับว่าเป็นองค์เดียวกัน อันเทวสถานตามที่เคยเห็นสังเกตมา ถ้าเป็นสถานน้อยก็ทำหลังเดียวตั้งเทวรูปอะไรที่เขานับถือ ถ้าเป็นสถานใหญ่ก็มักทำเป็นสามหลัง แบบเก่าเคยเห็นตั้งพระอิศวร พระพรหม พระนารายณ์ ที่เป็นแบบใหม่เห็นตั้งตามครัวเช่นครัวพระอิศวรตั้งพระอิศวร พระอุมา พระคเณศ ครัวพระนารายณ์ก็ตั้งพระนารายณ์, พระศรี และภูกันยา แต่ส่วนเทวสถานที่เสาชิงช้าของเรานั้นแปลกไป เป็นไว้พระอิศวรพระนารายณ์ และพระคเณศ ทางปีนังที่เขามีสถานพระขันธกุมารนั้นก็ไม่แปลกไป เป็นพวกศิวเวทนั่นเอง เพราะพระขันธกุมารเป็นลูกพระอิศวรก็บูชาเทวดาในครัวพระอิศวร ทางเราก็เข้าใจ เช่นเล่นระเบงในพิธีโสกันต์เขาไกรลาส ก็มีเทวดายืนอยู่กับนกยูงกันพวกกษัตริย์ทั้งหลาย นั่นก็หมายเป็นพระขันธกุมาร ลูกและเจ้าแห่งการรบของพระอิศวรมาแต่ไกรลาส ที่เราเข้าใจกันว่าเป็นพระกาลนั้นหลง หากเป็นพระกาลแล้วนกจะต้องเป็นนกแสกไม่ใช่นกยูง ที่พวกทมิฬเขาขานพระนามพระขันธกุมารว่า “สุประมัญญะ” นั้นไม่นึกประหลาดใจ ด้วยพระเป็นเจ้าซึ่งคนนับถือมากแต่ละองค์เขาย่อมขนานพระนามถวายไว้มากมาย ได้ตรวจพจนานุกรมสํสกฤตก็ไม่พบคำ “สุประมัญญะ” เข้าใจว่าเป็นภาษาทมิฬ แต่จะถามใครก็ไม่มีใครจะถาม ในการพิธีโล้ชิงช้า ที่เอาพระเจ้าแผ่นดินเป็นคนทรงพระเป็นเจ้านั้น เห็นจะเป็นประเพณีที่เก่ามาก เทวรูปเห็นจะหาได้ยาก ได้ยินเขากล่าวกันถึงในประเทศอินเดีย ว่าแม้จนทุกวันนี้จะมีพิธีบูชาตามบ้าน ก็ใช้อะไรซึ่งจะฉวยได้ง่าย มีหม้อข้าวเป็นต้น เอามาตกแต่งให้นุ่งผ้าห่มผ้าอธิษฐานเอาเป็นองค์พระเป็นเจ้า นั่นแปลว่าไม่มีเทวรูป ที่ตรงนี้ติดจะน่าสังเวช ถ้าเปรียบกับชาวเราซึ่งนับถือพระพุทธศาสนา จะหาพระพุทธรูปมาเข้าพิธีสักองค์หนึ่ง ย่อมจะหาได้ด้วยไม่ลำบากเลย

ถ้าได้ทำเรือนกลางสระจริง ไม่ใช่แต่จะกันมดได้เท่านั้นแม้จิ้งจกตุ๊กแกตามที่ตรัสถึงก็จะกันได้ด้วย การซ่อมหอไตรวัดระฆังยังกราบทูลอนุโมทนาไม่ได้ เพราะยังไม่ได้ไปเห็นว่าทำอย่างไร อันการซ่อมนั้นความหมายแต่ก่อนกับเดี๋ยวนี้ย่อมเดินเคลื่อนความเข้าใจกันไปเสียแล้ว แต่ก่อนขึ้นชื่อว่าซ่อมแล้วก็คืออะไรที่แตกหักก็ทำเสียให้ดี แต่เดี๋ยวนี้ขึ้นชื่อว่าซ่อมแล้ว อะไรที่เก่าก็ทำให้เห็นเป็นใหม่ให้หมด เช่นรูปภาพซึ่งพระอาจารย์นาคเขียนไว้ที่หอไตรนั้น นับอายุก็ตั้ง ๑๕๐ ปี สีย่อมเก่าไปมากทีเดียว ถ้าซ่อมให้เป็นใหม่ก็จำเป็นต้องทาสีทับเก่า การทานั้นลิงก็ทาได้ แต่เชื่อใน “ท่านหนู” ซึ่งอาศัยอยู่ ณ หอไตรนั้นว่ามีกัลยาณ์ คงไม่ทำเช่นว่านั้น

ข่าวเบ็ดเตล็ดกรุงเทพฯ

สำนักพระราชวังออกหมายการสมโภชฉัตร ประกอบด้วยใบพิมพ์รายละเอียดส่งมาให้ได้แบ่งใบพิมพ์ส่งมาถวาย เพื่อทรงทราบรายละเอียดพร้อมกับหนังสือนี้ด้วยฉบับหนึ่งแล้ว

การศพพระยาพิพิธมนตรี (ปุน คชเสนี) ตามพระดำรัสที่ว่าต้องทรงแต่งหนังสือแจกงานศพนั้น ก็ทำให้เอาใจใส่อยู่ แต่คิดว่าคงไม่เกี่ยวข้อง เพราะรู้จักเขาเพียงว่าคนนั้นเป็นพระยาพิพิธมนตรีเท่านั้น แต่ที่ไหนได้ เกี่ยวมากทีเดียว ภรรยาพระยาศรีศักดิ์ธำรง (จุล บุณยรัตพันธ์) เขาเป็นลูกสาวพระยาพิพิธมนตรี เกล้ากระหม่อมก็เพิ่งทราบ เขามาลากเอาตัวไปเผาศพในวันที่ ๒๕ เดือนนี้ ที่วัดมกุฎกษัตริย์ ก็ดีดอกที่จะได้พระนิพนธ์มาอ่าน

อนึ่งขอประทานกราบทูลให้ทรงทราบว่า ท้าววรจันทร์เจ็บหนักอยู่ในเวลานี้ เกล้ากระหม่อมไปเยี่ยมท่านหลายวันมาแล้ว ก็หลับๆ ตื่นๆ มีเวลาได้สติน้อย ข่าวว่าบัดนี้มีอาการร่อแร่ แต่ท่านก็อยู่มาได้ถึง ๙๙ ปี เกินสมควรมากแล้ว

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ