วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๘๒

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

ลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๓๐ มกราคม มาถึงหม่อมฉันแล้วค้างตรุษจีนอยู่ นอกนั้นส่งมาโดยเรียบร้อย

สนองความในลายพระหัตถ์

ในจดหมายเวรของหม่อมฉันฉบับสัปดาหะก่อนได้ทูลผัดสนองความไว้ ๒ เรื่อง เพราะหม่อมฉันร่างจดหมายฉบับนั้นเมื่ออยู่บนเขา ไม่สามารถจะหาหนังสือสอบความทรงจำได้

เรื่องพระศรีอาริยเมตไตรย์นั้น ตามคติของพุทธศาสนิกชนทั้งฝ่ายมหายานและหินยานรับรองต้องกันมาแต่ดึกดำบรรพ์ ว่าจะมี “พระเมตไตรย์” มาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าถัดพระศาสนาของพระสากยมุนีพุทธเจ้าไป แม้เครื่องหินจำหลักในอินเดียแต่โบราณทำรูปภาพพระเมตไตรย์ก็มี รูปภาพที่จีนชอบทำเป็นคนหัวโล้นท้องพลุ้ยก็หมายว่ารูปพระเมตไตรย์ แต่ถ้าว่าตามทางตำนาน ดูชอบกลอยู่ พระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตกาล เช่นพระพุทธตัณหังกรและพระพุทธวิปัสสเป็นต้น คนรู้จักพระนามและเรื่องประวัติได้ด้วยอุบัติแล้วในโลกนี้ จึงมีคำปรัมปราบอกเล่าสืบกันมา แต่พระศรีอาริย์ฯ ยังมิได้อุบัติมีเพียงคำทำนายว่า ภายหลังจะมีพระพุทธเจ้าอีกพระองค์ ทรงนามว่าพระศรีอาริย์มาโปรดสัตว์ จึงมีปัญหาว่าใครเป็นผู้ทำนาย หม่อมฉันนึกได้ว่าในเรื่อง ปฐมสมโพธิ ดูเหมือนจะมีกล่าวถึงพระศรีอาริย์ เมื่อกลับลงมาจากเขาจึงมาเปิดหนังสือปฐมสมโพธิฉบับที่พระโสภณอักษรกิจพิมพ์ใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘ ในคำนำพระยาอนุมาน กับ พระพินิจวรรณการ (แสง) เขาค้นหนังสือปฐมสมโพธิฉบับอื่นและภาษาอื่นมาแสดงดีมาก หม่อมฉันค้นพบในบริเฉทที่ ๒๐ อันเรียกว่า “เมตไตรยพยากรณ์ปริวัตรบริเฉท มีเรื่องพระศรีอาริย์ ว่าเมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูกลับเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าแล้ว มีราชโอรสเกิดด้วยนางกาญจนเทวีอัครมเหสีองค์ ๑ ทรงพระนามว่า “อชิตกุมาร” เมื่อเติบใหญ่ขึ้นมีศรัทธาออกบวชเป็นพระภิกษุสาวก ก็และในเวลาเมื่อพระอชิตยังเป็นพระภิกษุหนุ่มอยู่นั้น พระพุทธองค์เสด็จไปยังเมืองกบิลพัสดุ์ครั้งที่ ๒ พระอชิตตามเสด็จไปด้วย ครั้งนั้นพระนางมหาปชาบดีโคตมี ผู้เป็นพระพุทธมาตุจฉามีความยินดีให้ทอผ้าสาฎกผืน ๑ อย่างประณีต แล้วนำไปถวายพระพุทธองค์ ณ นิโครธารามที่ประทับ แต่พระพุทธองค์ไม่ทรงรับผ้าสาฎกนั้นเป็นของพระองค์ ทรงแนะนำให้ถวายแก่สงฆ์ ฝ่ายพระนาง ฯ ประสงค์จะถวายเฉพาะแก่พระพุทธองค์ ทูลวิงวอนหลายครั้งก็ไม่ทรงรับ พระนางมิรู้ที่จะทำอย่างไรก็เอาผ้านั้นไปถวายแก่พระอัครสาวก ๆ เห็นพระพุทธองค์ไม่ทรงรับ (เป็นบุคคลิกทาน) ท่านและพระอริยเจ้าองค์อื่นก็ไม่รับ พระนางถวายเรียงองค์ลงไปจนถึงพระอชิตเป็นพระภิกษุนวกะบวชใหม่จึงรับผ้านั้นไว้ เหตุที่พระพุทธองค์ไม่ทรงรับผ้าสาฎกดังประสงค์ ทำให้พระนางฯทรงโทมนัสเป็นกำลัง แต่พระพุทธองค์ทรงทราบด้วยพระญาณ ว่าพระอชิตนั้นคือพระองค์พระโพธิสัตว์ ซึ่งจะได้ตรัสรู้ต่อศาสนาของพระองค์ไป มีพระประสงค์จะให้พระนางยินดีในอานิสงส์ ซึ่งได้ถวายผ้าสาฎกแก่พระพุทธเจ้าองค์อนาคต จึงตรัสเรียกเอาบาตรพุทธบริขารมาทรงอธิษฐาน แล้วปล่อยให้ลอยหายไปอยู่ในอากาศ แล้วตรัสสั่งให้พระอริยสาวกทั้งหลายตั้งแต่พระสาริบุตรเป็นต้น ให้เหาะขึ้นไปเอาบาตรนั้นกลับลงมา ก็ไม่มีองค์ใดไปพบบาตรนั้น เพราะล้วนเป็นอรหันต์อันจะเข้านิพพานทุกองค์ ที่สุดจึงตรัสสั่งพระอชิตให้ไปเอาบาตรนั้น ก็พระอชิตเพิ่งบวชใหม่ยังไม่ได้มรรคผลมีอิทธิฤทธิ์ ได้แต่เอาความปรารถนาพระโพธิญาณตั้งเป็นสัจจาธิษฐาน ก็สามารถทำให้บาตรนั้นเลื่อนลอยลงมายังมือพระอชิตได้ พระนางฯ ได้เห็นปาฏิหาริย์ดังนั้นก็ปลื้มฤทัยหายโทมนัส

เมื่อพระพุทธองค์ทรงแสดงปาฏิหาริย์แล้วแย้มพระโอษฐ์ พระอานนท์ทูลถามเหตุ จึงตรัสบอกว่าพระอชิตนั้นจะได้ตรัสเป็นองค์พระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่าพระเมตไตรย์ แล้วทรงพยากรณ์ต่อไปว่า ในกาลเมื่อสิ้นศาสนาของพระองค์แล้วจะบังเกิดสัตถันตรกัลป เมื่อสัตถันตรกัลปล่วงแล้วมนุษย์ทั้งหลายที่บังเกิดจะมีอายุยืนยิ่งขึ้นไปโดยลำดับ ตราบเท่าถึงอสงไขยเป็นกำหนด แล้วจะกลับลดถอยน้อยลงมาตั้งอยู่เพียงแปดหมื่นปี ถึงสมัยนั้น เมืองพาราณสี จะเป็นเมืองรุ่งเรืองใหญ่โต มีชื่อว่าเกตุมดีมหานคร เป็นที่สถิตของพระเจ้าสังขจักรพรรดิ และเมื่อถึงรัชสมัยของพระเจ้าสังขจักรพรรดิพระเมตไตรย์โพธิสัตว์จะจุติลงมาปฏิสนธิในครรภ์ของพราหมณี อันเป็นภรรยาของพราหมสุพรหมปุโรหิตของพระเจ้าสังขจักรพรรดิ เมื่อพระโพธิสัตว์วัฒนาการได้ครองสมบัติของสกุลมีภรรยาชื่อนางจันทรมุขี อยู่เป็นฆราวาสได้แปดพันปีจึงเห็นนิมิตทั้ง ๔ เมื่อนางจันทรมุขีมีบุตรชื่อพรหมวัฒนกุมาร ก็เกิดเจตนาจะออกสู่มหาภิเนษกรม พอมีประสงค์ดังนั้นปราสาทที่อยู่ก็ลอยพาพระโพธิสัตว์กับทั้งบริวารชนไปลงสู่พื้นแผ่นดินที่ใกล้ต้นไม้ “นาคมหาโพธิ์” คือไม้กากะทิง พระโพธิสัตว์ลงจากปราสาทรับผ้ากาสาวพัสตรและบริขารซึ่งท้าวมหาพรหมนำมาถวาย ทรงบรรพชาแล้วทิ้งพวกบริวารชนไปกระทำทุกรกิริยาอยู่ ๗ วัน ครั้นถึงวันวิสาขบูรณมี เมื่อเสวยมธุปายาสซึ่งนางสุนันทาถวาย และรับหญ้าคาอันโสตถิมาณพถวายแล้วเสด็จสู่มหานาคโพธิสถานทำหญ้าคาเป็นบัลลังก์ ประทับทรงพิจารณาปัจจยาการจนสำเร็จสัพพัญญุตญาณเป็นพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นในโลก เรื่องพระศรีอาริยเมตไตรย์มีในหนังสือปฐมสมโพธิเพียงเท่านี้

หนังสือเรื่องอนาคตวงศ์หรือเรื่องอันใดซึ่งพรรณนา ว่ามนุษย์โลกจะพิลึกกึกกือเมื่อศาสนาพระศรีอาริย์นั้น เห็นจะแต่งขึ้นภายหลังหนังสือปฐมสมโพธิ หรือถ้าหากแต่งก่อนก็คงเป็นเพราะผู้แต่งหนังสือปฐมสมโพธิเห็นไม่มีสาระ จึงไม่กล่าวถึงความสุขของมนุษย์ซึ่งจะพึงได้ในศาสนาที่พระศรีอาริย์นั้นก็เป็นได้ เมื่อคิดดูว่าเพราะเหตุใดจึงมีผู้แต่งหนังสือพรรณนาถึงความสุขในศาสนาพระศรีอาริย์ เห็นอย่างหนึ่งว่าบางทีจะปรารถถึงหนังสือเรื่อง “ปัญจะอันตรธาน” ซึ่งมีผู้แต่งไว้ (อยู่ในปฐมสมโพธิบริเฉทที่ ๒๙ เรียกว่า อันตรธานปริวัตร) พรรณนาถึงพระพุทธศาสนาจะเสื่อมสิ้นด้วยประการต่างๆ จนถึงพระภิกษุจะมีแต่ผ้าเหลืองห้อยหูเป็นต้น เห็นว่าทำให้คนรันทดท้อใจในการที่จะทำบุญ จึงแต่งหนังสืออ้างว่าถ้ายังทำบุญอยู่จะได้อานิสงส์วิเศษต่างๆ เมื่อไปเกิดในศาสนาพระศรีอาริย์ แต่อย่างไรก็ตามการที่แต่งหนังสือเรื่องพระศรีอาริย์นั้นสำเร็จประโยชน์ ทำให้คนมุ่งหมายหาความสุขในศาสนานั้นได้จริงดังความปรารถนาของผู้แต่ง ถึงชอบอธิษฐานเมื่อทำบุญให้ทานขอให้ได้พบพระศรีอาริย์ แม้ในศิลาจารึกก็มีอธิษฐานเช่นนั้นแพร่หลาย ทั้งชอบทำรูปพระศรีอาริย์ขึ้นเป็นเจดีย์วัตถุด้วย แต่สังเกตรูปพระศรีอาริย์ที่ทำกันในเมืองไทยดูชอบกล แบบเก่าเพียงสมัยพระเจ้าปราสาททอง ชอบทำเป็นรูปเทวดา ดังเช่นปรากฏอยู่ ณ วัดชุมพลที่เกาะบางปะอิน หมายว่ารูปพระโพธิสัตว์เมื่ออยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต แต่ต่อมาสันนิษฐานตามลักษณะหน้าภาพว่าเมื่อปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาเปลี่ยนไปทำเป็นรูปพระ (อชิต) ภิกษุ เช่นที่วัดไลเมืองลพบุรีและที่วัดมหาธาตุเมืองเพชรบุรี และทำตามกันเช่นนั้นต่อมาจนในกรุงรัตนโกสินทร์ เหตุที่เปลี่ยนน่าจะเป็นความคิดของสงฆ์ ด้วยเป็นรูปเทวดาบูชาไม่ได้เหมือนเป็นรูปบรรพชิต พิจารณาต่อไปถึงศาสนาอื่น ดูก็ประหลาดที่ถือคติอย่างว่าจะมีผู้มาโปรดในภายภาคหน้า เหมือนเช่นพระศรีอาริย์ ทุกศาสนา คงเป็นด้วยเห็นพ้องกันหมดว่ามนุษย์อยูได้ด้วย “ความหวังใจ” (Hope) เช่นว่าทำดีจะได้ผลดีในชาตินี้และชาติหน้า ถ้าไม่มีความหวังใจก็ไม่มีใครทำความดี ดังนี้เป็นมูลเหตุ

ข้อที่ตรัสถามถึงความมุ่งหมายของนายนกนายเรืองที่เผาตัวนั้น เกิดแต่การนั่งกรรมฐานในวิปัสสนาธุระ ความประสงค์ของผู้เพียรนั่งกรรมฐานนั้นเพื่อจะให้ได้ “เข้าฌาน” และฌานนั้นกำหนดเป็น ๔ ชั้น คือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และ จตุตถฌาน ผู้ใดได้ฌานชั้นใดก็ได้คุณวิเศษเป็นอานิสงส์เป็นลำดับกันขึ้นไปจนถึงภูมิพระอรหัตเมื่อได้จตุตถฌาน นายนกและนายเรืองนั่งกรรมฐานเห็นจะเข้าใจว่าถึงชั้นสูงสุด เมื่อรู้สึกว่าได้จตุตถฌานร้องว่าสำเร็จแล้ว ก็เลยเผาตัวเข้านิพพาน หม่อมฉันเข้าใจว่าจะเป็นเช่นทูลนี้

ทูลสนองความในลายพระหัตถ์ฉบับหลัง

พิธีไทปุสสัมของพวกทมิฬที่ทำในปีนังนี้ มาแต่พิธีเดียวกับกับพิธีโล้ชิงช้าที่พราหมณ์ทำในกรุงเทพฯ เป็นแน่ ใจความว่าพระเป็นเจ้าเสด็จลงมาเยี่ยมมนุษย์โลกปีละครั้ง มนุษย์ใครได้บนบวงไว้อย่างไรในหว่างปี เมื่อพระเป็นเจ้าเสด็จมาก็ไปใช้บนต่อหน้าพระเป็นเจ้า ขึ้นโล้ชิงช้านั้นก็สำหรับใครๆ ที่ได้บนบวงขึ้นโล้ใช้บน แต่พวกทมิฬในปีนังใช้บนด้วยเอาเข็มแทงแก้มและแทงลิ้น แต่เค้าที่ทำพิธีในกรุงเทพฯ กับปีนังรายการบางอย่างผิดกันชอบกล ในกรุงเทพฯ พระเจ้าแผ่นดินเป็นผู้ “ทรง” พระเป็นเจ้า ที่ปีนังเอาเทวรูปเป็นประธาน ผิดกันอีกอย่างหนึ่งที่ในกรุงเทพฯ ทำพิธีถวายพระศิว แต่พวกทมิฬทำถวายพระขันธกุมาร แต่เรียกว่า “สุประมัญญะ” ดูไม่เกี่ยวข้องถึงพระอิศวรทีเดียว ปีนี้เขาพรรณนาในหนังสือพิมพ์ข่าวหม่อมฉันได้ความรู้ใหม่อย่างหนึ่ง ว่าเมื่อแห่รูปพระขันธกุมารกลับไปจากเทวสถานถนนน้ำตกที่ทำพิธีนั้น แม้มิได้มีการจุดดอกไม้ไฟบูชาก็มีพวกทมิฬทุกชั้นเดินตามรถเทวรูปมากมาย กระบวนแห่ออกเดินแต่พอค่ำ จน ๑๐ ทุ่มเทวรูปจึงไปถึงวิหาร เพราะมีคนคอยบูชาอยู่รายทาง ที่บ้านบางแห่งก็ถึงตั้งซุ้มประดับประดา ต้องหยุดรถให้คนบูชาเรื่อยไป หม่อมฉันไปตากอากาศตอนเย็น ได้เห็นแต่พวกเจ๊กไปตั้งหาบคอยขายน้ำแข็งและน้ำหวานตามริมถนนอยู่หลายแห่ง มานึกดูเห็นว่าการแห่เทวรูปกลับนี้จะเป็นอีกภาค ๑ ในการพิธี ตรงกับที่ในกรุงเทพฯ พราหมณ์แห่พระนเรศร์ไปถวายพรในเวลาค่ำ ของเราก็มีจุดดอกไม้เพลิง นึกต่อไปถึงในเรื่องพงศาวดารก็ปรากฏว่าถึงสมเด็จพระนารายณ์ ฯ ทรงช้างไปส่งพระเป็นเจ้า ดูเป็นเรื่องมาแต่ตำราอันเดียวกันทั้งนั้น

ตัวแมลงที่มาตอมไฟในเวลากลางคืนนั้นไม่แต่เป็นเหตุให้มดขึ้นอย่างเดียว เป็นเหตุตลอดไปถึงที่มีจิ้งจกตุ๊กแกเข้ามาอยู่ในเรือน ล้วนมากินตัวแมลงทั้งนั้น ที่ทรงปรารภว่าต้องปลูกเรือนอยู่กลางสระจึงจะหนีพ้นมดนั้น หม่อมฉันมีเรื่องแปลกที่จะทูล เมื่อพระมหาภุชงค์กลับมาจากกรุงเทพฯ เธอมาบอกหม่อมฉัน ว่าได้ไปพบพระราชาคณะวัดระฆัง องค์ที่เป็นพระครูปลัดของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว. เจริญ อิศรางกูร) อยู่แต่ก่อน สั่งให้มาบอกหม่อมฉันว่าหอไตรที่วัดระฆังนั้น เดี๋ยวนี้ได้ปฏิสังขรณ์ให้คืนดีสำเร็จแล้ว ได้ฟังก็ยินดีจำหอไตรนั้นได้ ด้วยได้เคยไปดูหอไตรที่วัดระฆังหลังนั้นซึ่งอยู่กลางสระ ดูเหมือนจะไปด้วยกันกับพระองค์ท่านด้วยซ้ำไป และเคยปรารภกับพระครูปลัดผู้อยู่ประจำที่หอไตรนั้น ว่าเสียดายของฝีมือเก่าจะชำรุดทรุดโทรมสูญไปเสีย ท่านยังจำไว้ได้ช้านานนักหนา อุตส่าห์บอกมาให้หม่อมฉันอนุโมทนา รู้สึกจับใจมาก

ข่าวทางปีนัง

สักเดือนหนึ่งมาจนบัดนี้ สังเกตฤดูกาลที่ปีนังดูวิปริตผิดกับที่เคยเห็น ตั้งแต่หม่อมฉันออกมาอยู่ ด้วยเป็นแล้งมากกว่าเดือนจนหญ้าตามสนามในเมืองและขอบถนนแม้สนามหญ้าที่ในสวนดินแห้งเหลืองแลดูเป็นสีทรายไปหมด ไม่เคยเห็นเช่นนี้มาแต่ก่อน กลางคืนก็ร้อนดูปรอทในห้องนอนตอนหัวค่ำถึง ๘๕-๘๖ แทบทุกคืน ตอนดึกค่อยเย็นพอห่มผ้าบางๆ ฝนเพิ่งจะตั้งตอนบ่ายมาสักสองสามวัน แต่ก็ยังไม่ตกพอที่จะทำให้หญ้ากลับเขียวหรืออากาศเย็นเช่นปกติ ดูตรงกันข้ามกับในกรุงเทพฯ ที่ปีนี้อากาศวิปริตไปทางข้างหนาวจัดและหนาวอยู่นานวันกว่าปกติ

หม่อมฉันมีโอกาสจะฝากส้มจั๊ฟฟาไปถวายได้เมื่อคราวเมล์ไปวันจันทร์ที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ แต่เมื่อให้ไปซื้อส้มได้ความว่าเวลานี้ขาดตลาด จะต้องรอจนเรือมาถึงอีกจึงจะมีขายก็เป็นอันพ้นวิสัยที่จะส่งไปถวาย ด้วยประการฉะนี้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ