วันที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๒ กันยายน ๒๔๘๒

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์เวร ลงวันที่ ๑๔ กันยายน ได้รับประทานแล้ว ไม่มีรอยตัดซองปิดกระดาษอุด เหมือนลายพระหัตถ์ฉบับก่อนเช่นกราบทูลมา มีแต่ตราประทับว่าผ่านการตรวจแล้ว เห็นจะเป็นอันเชื่อว่าไม่มีความร้ายอยู่ในนั้น คิดดูก็เห็นอกเขาว่าลำบากมาก หนังสือคงมีตั้งร้อยไม่ใช่น้อยฉบับ ถ้าตรวจหมดก็เปลืองแรงเต็มที คงจะเป็นด้วยเหตุนั้น เมื่อฉบับใดไม่สงสัยว่าจะมีความร้าย ก็ให้ผ่านการตรวจไปเสียได้โดยไม่ตัดซอง

สนองลายพระหัตถ์

พระเดชพระคุณเป็นล้นเกล้า ที่ทรงพระเมตตาตรัสเล่าถึงพระบรมราชาธิบาย ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องพระราชลัญจกรประทับพระราชสาส์นไปเมืองจีน นึกไปไม่ถึงนั้น กราบทูลแต่ตามลำพังใจที่คิดเห็นเอาเป็นแน่ได้ ตามที่ทรงพระดำริสงสัย ในเรื่องพระราชลัญจกรอันมีคำจีนว่า “เก่า-เม่ง” นั้น คิดทำขึ้นเพื่อประทับหนังสือนำ ถึงต๋งต๊กเมืองกึงตั๋งและลีกูปาทั่งเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ถูกต้องทีเดียว ถ้าไม่คิดทำสำหรับประทับไปเมืองจีนแล้วจะทำทำไม ในเมืองไทยก็ไม่มีที่ใช้ ประกอบทั้งที่ขนานพระปรมาภิไธยเป็นจีนด้วย ได้คิดเหมือนกันว่าทำไมจึงต้องขนานพระปรมาภิไธยเป็นจีนแล้วก็คิดได้ว่าจำเป็น ไม่ใช่อย่างผูกชื่อเป็นภาษามคธโดยไม่จำเป็น เช่นแต่งเรื่องชินกาลมาลินีเป็นต้นนั้นเลย เพราะหนังสือจีนเขียนคำต่างประเทศไม่ได้ พัทลุง ยังต้องเป็น “คุด-เถ่า-ล้ง” พระราชลัญจกรรุ่นหลังนี้ ได้คิดแก้ไขไม่เหมือนกับรุ่นก่อนด้วยได้บทเรียนที่เกิดถ้อยร้อยความมาแล้ว การที่ขนานพระปรมาภิไธยจนถึงทำพระราชลัญจกรขึ้นนั้นจะว่าเตรียมไม่มีมูลก็ไม่ได้ ด้วยเมื่อเล็กๆ เคยได้ยินข่าวว่ามีการท้วงก้อง แล้วได้ปรึกษาในที่ประชุมเกาซิล ตกลงว่าไม่ควรส่งก้องไปอย่างแต่ก่อน การเตรียมจึงล้มไป จะว่าเป็น “กินกาว” แท้ทีเดียวก็หาได้ไม่

เหตุทั้งนี้ทำให้นึกแปลออกไปถึงตรา “เก่า-เม่ง-ยี่-อ๋อง” ได้ด้วยเป็นทางปฏิบัติติดมาแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งถือว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดินเหมือนกัน ครั้งนั้นวังหลวงส่งก้อง วังหน้าก็คงส่งด้วยส่วนหนึ่งเหมือนกัน จึงเลยเป็นธรรมเนียมให้เตรียมทำตราขึ้นไว้ด้วย

การแปลหนังสือนั้นยากนักยากหนา ต้องได้คนรู้หนังสือดีทั้งสองภาษามาแปล จึงจะได้คำแปลที่ดีอย่างถูกถ้วน ถ้าได้แต่คนรู้งูๆ ปลาๆ มาแปล “เจริญทางพระราชไมตรี” ก็เป็น “กุ๋ย” ไป ตามประสาที่คนแปลนึกคำได้ ยังดีเสียอีกที่ไม่ผิดความ เคยเห็นคำแปลต้นภาษาอังกฤษเขาว่าเชิญไปเอาเรือลงน้ำแต่แปลว่าเชิญไปกินกลางวัน นั่นผิดความมากมายไปกว่าเสียอีก

ไขความ

ตามที่กราบทูลมาในหนังสือเวรฉบับก่อน เรียกตู้มุกคู่หนึ่งว่าตู้พระสมุดนั้น เป็นนึกเรียกเอาเอง ไม่ใช่มีใครบอก ด้วยนึกถึงตำรายาซึ่งเรียกว่าตำราข้างที่ จึงเห็นควรว่าข้างที่จะต้องมีหนังสือหลายอย่างสำหรับทรงในเวลาเข้าที่พระบรรทม ก็เมื่อมีหนังสือมากแล้วก็ควรมีตู้เก็บ ตู้มุกคู่นั้นเป็นชุดเดียวกันกับพระแท่นบรรทมมุก จึงทึกเอาว่าเป็นตู้ที่เก็บพระสมุดข้างที่ ลายที่ตู้นั้นทำดีเหลือเกิน ดูเพลินจนจำฝีมือได้ ที่เกล้ากระหม่อมเรียกค่าครูตู้มุกนั้นก็เพราะตู้คู่นี้ ด้วยไม่ทราบว่าท่านครูผู้ให้ลายท่านชื่อไร ชื่อตั้งให้ท่านอย่างนี้มีหลายชื่อ เช่นครูวัดเซิงหวาย นั่นได้ตู้ฝีมือท่านมา ด้วยสมเด็จพระวันรัตน (ฑิต) ให้ท่าน บอกว่าได้มาจากวัดเซิงหวายกรุงเก่า จึงได้เรียกชื่อว่าครูวัดเซิงหวาย อันฝีมือครูวัดเซิงหวายนี้ ฝ่าพระบาททรงรู้จักดีทรงจำได้แม่นยำทีเดียว นึกขันไปเห็นตู้ลายรดน้ำเข้าที่วัดระฆัง เป็นฝีมือครูตู้มุกเขียน ตั้งใจจะเขียนเอาอย่างครูวัดเซิงหวาย แต่ทำไปได้ประมาณ ๓๐ เซนติเมตรก็ต้องเลิก หันกลับไปทำตามฝีมือของท่านเอง นึกขันที่ว่าครูตู้มุกท่านแข็งเป็นกอง แม้กระนั้นก็ยังเลียนอย่างครูวัดเซิงหวายไม่ได้ ทั้งนี้เพราะได้แก่ตัวมาแล้ว ตั้งใจจะเขียนเลียนอย่างแต่ไม่เหมือนก็นึกว่าฝีมือเราอ่อน แต่ที่จริงท่วงทีการทำนั้นของใครก็ของใคร จะเลียนกันหาได้ไม่ นอกจากนี้ยังมีครูบานมุกอีก นั่นหมายถึงผู้ที่ให้ลายบานมุกที่วัดบรมพุทธาราม และวิหารพระชินราช นี่ว่าด้วยช่างเขียน ส่วนช่างปั้นก็มีอีกคนหนึ่งเกล้ากระหม่อมเรียกว่าครูดำ นั่นเพราะได้หัวโขนฝีมือท่านมา เป็นหัวทศกรรฐ์ เขาลงรักดำไว้ทั้งหัว ไม่ได้ปิดทองเขียนสี เพราะว่าเก่าจนใส่ไม่ได้แล้ว ซ่อมแซมปุปะตั้งไว้บูชาเป็นครูเท่านั้น ฝีมือครูดำนี้พบในที่อีกหลายแห่ง สันนิษฐานได้ว่าเป็นช่างครั้งรัชกาลที่ ๑ อีกมือหนึ่งเกล้ากระหม่อมเรียกว่าครูหน้ากาก เพราะได้ฝีมือของท่านมา เดิมเป็นหัวโขนทศกรรฐ์ แต่พังหมดแล้วยังเหลือแต่ใบหน้าดุจหน้ากาก มือนี้ไม่เห็นที่ไหนอีกเข้าใจว่าเป็นคนครั้งกรุงเก่า อีกมือหนึ่งเกล้ากระหม่อมเรียกว่าครูพิราพ เพราะท่านทำหัวโขนหัวพิราพไว้หลายตัว พบฝีมือท่านบ่อย ๆ นิษฐานว่าเป็นช่างครั้งรัชกาลที่ ๒ ต้องขออภัยโทษแก่ท่านผู้เป็นครูเหล่านี้ ที่ตั้งชื่อให้ท่านแต่พอเรียกเข้าใจ ด้วยไม่ทราบว่าท่านชื่อไรหรือเป็นที่อะไรจริง ๆ

การทำพนักพระแท่นเศวตฉัตรทั้งสององค์ใหม่ ซึ่งกราบทูลด้วยเห็นว่าเป็นรุ่นรัชกาลที่ ๓ นั้น จะทำเปลี่ยนเพราะพนักเก่าเตี้ยไปหรือสูงไป ไม่ใช่เพราะทิ้งให้ชำรุดเสียก็ได้เหมือนกัน

เฉลิมพระชนมพรรษา

ตามที่กราบทูลไว้ ว่าในการเฉลิมพระชนมพรรษา ถ้าเห็นอะไรละเอียดกว่าหมายกำหนดการใบพิมพ์ อันได้ส่งมาถวายแล้ว จะกราบทูลเพิ่มเติมมาให้ทรงทราบนั้น จึงจะกราบทูลต่อไปนี้เท่าที่ได้เห็นและทราบ

วันที่ ๑๙ กันยายน ในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงประเคนพระสุพรรณบัฏและหิรัญบัฏตั้งสมณศักดิ์ ๓ รูป คือ ตั้งสมเด็จพระสังฆราชรูปหนึ่ง ตามที่ได้ประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว กับตั้งพระพิมลธรรม วัดมหาธาตุเป็นสมเด็จพระวันรัตนอีกรูปหนึ่ง กับตั้งพระธรรมดิลก วัดอรุณราชวราราม เป็นพระพิมลธรรมอีกรูปหนึ่ง กับเมื่อเวลาพระสงฆ์สวดมนต์ มีการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อีกมาก จะกราบทูลจำเพาะแต่ผู้ซึ่งได้รับพระราชทาน ม.ส.ม. สองคน คือพระยาศักดาดุลยฤทธิ กับพระยาอภัยสงคราม

วันที่ ๒๐ กันยายน เวลาเพล เมื่อพระสงฆ์ฉันแล้ว มีการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่อไปอีก ผู้ซึ่งได้รับพระราชทาน ม.ส.ม. คนหนึ่ง คือพระเวชยันต์รังสฤษดิ์ เวลาบ่ายไม่ได้เข้าไป เพราะฟกด้วยเข้าไปเวลาเช้าแล้ว และอากาศก็ครึมเครือ กลัวจะเจ็บ แต่สืบทราบว่าการพระราชทานยศ มีหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร เป็นพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้า พระราชทานตรา มีพระองค์เจ้าวรรณไวทยากร ป.จ. นางพิบูลสงคราม กับนางประดิษฐ์มนูธรรม ท.จ.ว. กับเครื่องยศ หม่อมเจ้าเผ่าเพ็ญพัฒน์ หม่อมเจ้าคัสตาวัส บุตรเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน บุตรพระยาวิชิตชลธาร (เวศร) ๔ คน ต.จ.

อนึ่งเมื่อวันที่ ๒๐ นั้น หญิงอามเข้าไปเซ็นชื่อถวายพระพรเฉลิมพระชนมพรรษา อุตส่าห์ขออนุญาตเข้าไปท้องพระโรงหน้าแห่งพระที่นั่งจักรพรรดิ เพื่อดูพระราชลัญจกรซึ่งเขียนไว้ที่บานแผละพระทวารพระที่นั่งจักรพรรดิมาบอก แต่มาบอกว่าไม่มี เป็นแต่ทาแดงไว้เฉยๆ เกล้ากระหม่อมก็เข้าใจนึกเคืองตัวเองที่ว่าควรจะรู้ เพราะเมื่อรัชกาลที่ ๖ ได้รื้อทำซุ้มพระทวารเปลี่ยนแปลงใหม่ ตลอดถึงอัฒจันทร์ด้วยทั้งหมด ควรหรือเอาการเก่าครั้งพระเจ้าเหามาละเมออยู่ได้

ข่าวในกรุงเทพ ฯ

วันที่ ๒๑ กันยายน สำนักพระราชวังมีหมายมาบอกว่า พระองค์เจ้าพร้อมพงศ์อธิราช สิ้นพระชนม์ ณ วันที่ ๒๐ เวลา ๒๒.๑๕ น. ด้วยพระโรคพระวักกพิการ ชันษา ๗๒ กำหนดพระราชทานน้ำสรงพระศพ วันที่ ๒๑ เวลา ๑๗.๐๐ น. แล้วแต่งพระศพลงพระโกศ เชิญขึ้นประดิษฐานไว้ ณ ตำหนักที่บางจาก พระราชทานผ้าไตร ๑๐ สดับปกรณ์ เกล้ากระหม่อมได้ส่งแต่น้ำไปสรงพระศพ ตัวเองไปไม่รอด เพราะสำนักพระราชวังสั่งให้เข้าไปสวนศิวาลัย ในการอุทยานสโมสรงานเฉลิมพระชนมพรรษา รู้สึกว่าเธออยู่ได้ทนทานเป็นหนักหนา คนสมัยนี้เห็นจะไม่มีใครรู้สึกว่ามีพระองค์เจ้าพร้อมอยู่ในโลกนี้เลย

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ