วันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๕ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๘๒

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

ลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ มาถึงหม่อมฉันแล้วโดยเรียบร้อย คราวเมล์นี้สังเกตเห็นกิริยาที่เขาส่งโดยเคารพด้วย เมล์มาถึงวันพฤหัสบดีเวลาพลบค่ำ วันศุกร์เวลาเที่ยงบุรุษไปรษณีย์เชิญแต่ลายพระหัตถ์มาส่งที่ซินนามอนฮอลซองเดียว ต่อถึงบ่าย ๑๖ นาฬิกาเขาจึงเอาจดหมายซึ่งผู้อื่นมาถึงหม่อมฉันในคราวเมล์เดียวกันมาส่งอีก ๒ ซอง พร้อมกับหนังสือพิมพ์บางกอกไตม์ สังเกตดูซองจดหมาย ๒ ฉบับนั้นก็ไม่มีรอยเปิดตรวจ เหตุที่ส่งแต่ซองลายพระหัตถ์มาก่อนนั้น น่าจะเป็นด้วยเจ้าพนักงานเขาคงจำดวงตราที่ใบปกซองได้ทั้งตราของพระองค์ท่านและตราของหม่อมฉัน พอเห็นตราก็โยนเข้าในพวกจดหมายที่เขาปล่อยให้ส่งในทันที ส่วนจดหมายที่คนอื่นมีมาไม่มีเครื่องหมายที่เขาคุ้น ก็เอาไว้ในพวกที่ต้องตรวจชื่อผู้มีจดหมายเสียก่อนจึงส่งช้าไป

ทูลสนองความในลายพระหัตถ์

หม่อมฉันได้นึกอยู่แล้วว่า จดหมายเวรสัปดาหะนี้จะต้องทูลปรารภความสลดใจถึง ๓ เรื่องในลายพระหัตถ์ก็ทรงปรารภมาต้องกัน ที่คุณท้าววรจันทรถึงอสัญกรรม หม่อมฉันได้ทูลปรารภไปในจดหมายฉบับก่อนแต่เมื่อทราบว่าป่วยหนักแล้ว ที่หญิงสุมนมาลย์สิ้นชีพนั้นหญิงจงเธอบอกว่ามาว่าโจนน้ำตาย และได้เขียนจดหมายบอกไว้ว่าจะอยู่ไปก็เห็นแต่สำหรับให้ลำบาก เรื่องจริงจะเป็นอย่างไรก็ตามเมื่อหม่อมฉันหวนคิดถึงความหลังก็นึกสงสารมาก ส่วนเรื่องมรณะของพระยาราชวังสันนั้น รู้สึกอาลัยด้วยเป็นเพื่อนเก่าเคยคุ้นกันมาช้านาน มาได้ความแปลกออกไปในลายพระหัตถ์ว่าหม่อมหวลจักรพันธ์เจ็บมากก็เกิดวิตกด้วยหญิงหลุยก็ไม่ได้บอกมาให้หม่อมฉันทราบ เห็นจะกำลังตกใจและหมกมุ่นอยู่ในการรักษาพยาบาลแม่ อาการถ้าเป็นอย่างทรงพรรณนามาดูก็ยังไม่หมดหวังทีเดียว จึงว่าจะรอดได้

ข้อซึ่งทรงปรารภว่าพระพุทธศาสนาเช่นไทยเราถือ มีทั้งคติมหายานและหินยานปะปนกันนั้น หม่อมฉันได้เคยสังเกตก็เห็นเช่นทรงพระดำริ เห็นว่าคติหินยานที่เราได้มาจากลังกา มีคติมหายานปะปนมาแต่ลังกาแล้ว จะพ้นวิสัยที่จะสะสาง ในเรื่องพงศาวดารลังกา ก็ปรากฏว่าพระสงฆ์พวกถือคติมหายานได้เคยเป็นใหญ่อยู่ในลังกาหลายครั้ง ลัทธิที่ถือในเมืองไทยเราเอง เมื่อก่อนลัทธิลังกามาถึงก็ถืออย่างมหายาน เพราะฉะนั้นจึงถือลัทธิมหายานและหินยานปะปนกันทั้ง ๒ อย่างแยกกันไม่ออก แม้ไหว้พระสวด “สมฺพุทฺเธ” ด้วยภาษามคธก็เป็นมนต์มหายาน ยังสวดกันอยู่ ถึงกระนั้นก็ยังใกล้ลัทธิเดิมกว่าลัทธิที่พวกธิเบตและจีนถือกัน เพราะพวกลังกาและไทยเรายังถือพระไตรปิฎกภาษามคธเป็นหลัก

พระยาอรรคนิธินิยม (สมุย) นั้นหม่อมฉันนึกหน้าไม่ออก แต่รู้จักแน่เพราะจำได้ว่าเคยสังเกตที่ชื่อสมุย เหตุใดผู้ใหญ่จึงให้ชื่อว่าสมุยก็ตามแต่ชื่อนั้นมาแต่ชื่อเกาะสมุยเป็นแน่ เพราะคำว่าสมุยไม่มีใช้ในที่อื่นนอกจากเรียกเกาะนั้นอย่างเดียว แต่จะเป็นคำภาษาใดยังจับไม่ได้ มีหลักฐานที่สังเกตแต่ว่าหัวเมืองและถิ่นที่ในอาณาเขตประเทศไทยทางชายทะเลมีชื่อไม่รู้ว่าภาษาไทยอะไรยังมีอีกมาก จะชี้ตัวอย่างเพียงที่นึกได้ในเวลาร่างจดหมายนี้ ทางฝั่งตะวันออกเช่นชื่อ เมืองตราด เมืองขลุง เมืองแกลง เมืองระยอง ตลอดจนเกาะสีชัง และเกาะสำปะยื้อ เหล่านี้ก็ไม่รู้ว่าภาษาใด ทางฝั่งตะวันตก บ้านชะอำ เมืองกุย เมืองปราณ เมืองปทิว อำเภอสวี อำเภอพะโต๊ะ อำเภอพะชง (เมืองหลังสวน) เกาะสมุย เกาะพงัน เมืองพัทลุง เมืองสงขลา ทางทะเลตะวันตก เมืองระนอง เมืองถลาง เมืองพังงา เมืองตรัง ก็ล้วนเป็นชื่อภาษา “ไม่รู้” เช่นเกาะสมุย ทั้งนั้น ถ้าตรวจดูในประกาศพิธีตรุษเห็นจะพบอีกมาก สันนิษฐานว่าคงเปนชื่อมีมาก่อนเป็นอาณาเขตของไทย เป็นภาษาของคนในท้องถิ่นหรือชาวต่างประเทศ เช่น จีน หรืออาหรับ และชาวอินเดียที่แล่นเรือไปมาค้าขายแต่ดึกดำบรรพ์ขนานไว้ก็เรียกกันสืบมา

หนังสือเรื่อง “กามนิต” หรือ “กามิตสูตร” นั้นเรื่องเดียวกันนั่นเอง ฉบับที่หม่อมฉันอ่านเขารวมพิมพ์ตลอดทั้งเรื่องในเล่มเดียว หม่อมฉันเข้าใจว่าเป็นหนังสือพระยาอนุมานกับพระสารประเสริฐแต่งใหม่ อย่างเราว่า “ล้อ” สูตรมหายานมิใช่แปลตัวสูตรเดิม แต่เขาเก็บเอาเรื่องตามคติมหายานมาประสมกับเรื่องปฐมสมโพธิ แต่งประดิษฐ์ตัวนิทานตามพื้นที่อินเดียเช่นโนเวลฝรั่งความเลื่อมใสก็เป็นคติหินยาน เป็นแต่อ้างว่าเป็นสูตรมหายานเท่านั้น จึงน่าอ่าน

ทูลบรรเลง

เมื่อเร็วๆ นี้หม่อมฉันแก้สงสัยได้เรื่องหนึ่ง อาจจะเป็นเรื่องที่ท่านคงเอาพระทัยใส่อยู่บ้าง จึงจะมาเอามาทูลบรรเลง หม่อมฉันเคยคิดสงสัยมาช้านาน ว่าเหตุไฉนที่เตียงพระพิธีธรรมสวดท้องภาณจึงมีพัดแฉกพระราชาคณะตั้งผูกไว้กับหีบหนังสือด้วย เคยปรารภแก่ผู้อื่นบางคนเขาเห็นว่าเดิมพระราชาคณะที่นั่งปรกคงนั่งบนเตียงสวดที่ตรงพัดแฉกเข้าไป หม่อมฉันคิดดูไม่เห็นด้วยเพราะกิจที่นั่งปรกนั้น ถ้านั่งภาวนา อย่างเช่นพระราชาคณะสมถะนั่งปรกในพิธีตรุษ ก็ไม่มีสมาธิที่จะภาวนาเพราะพระสวดกรอกกระบอกหูอยู่ทั้ง ๒ ข้าง ถ้านั่งอ่านหนังสือทานคำพระสวดดูก็ไม่จำเป็น เพราะพระสวดมีตาอ่านหนังสืออยู่ ๘ ดวงแล้ว เพิ่มตาขึ้นอีก ๒ ดวงก็ไม่เห็นเป็นประโยชน์อันใดนัก ความสงสัยนั้นเพิ่งมาพบลูกกุญแจแก้หายด้วยเห็นในตำราพิธีตรุษเมืองนครศรีธรรมราชและตำราพิธีตรุษครั้งรัชกาลที่ ๑ กล่าวความต้องกัน ว่าในตอนพิธีตั้งน้ำวงด้าย พระราชาคณะสงฆ์วงสาย “มงคลสูตร” (สายสิญจน์) เริ่มด้วยวง “เตียงพระเจ้า” ๓ รอบก่อน แล้วชักโยงไปวงตู้เทียนชัย ๓ รอบ แล้วชักโยงไปวงเตียงพระสวด ๓ รอบ แล้วชักโยงไปวง “เตียงหนังสือ” ๓ รอบ ดังนี้ พระราชพิธีตรุษที่ทำชั้นหลังมาก็วงสายมงคลสูตรตรงตามที่พรรณนาในตำรา แต่ไม่มีเตียงหนังสือ และหนังสือย้ายไปตั้งอยู่บนเตียงพระสวด ที่กล่าวในตำราว่ามีเตียงหนังสืออยู่ต่างหากแสดงความให้เห็นชัดว่า เดิมพระพิธีธรรมสวดภาณวารปากเปล่า (หม่อมฉันเคยทูลไปแต่ก่อนแล้ว ว่าตามประเพณีเดิมพระภิกษุบวช ๓ พรรษาแล้ว ต้องท่องจำพระปริตได้ตลอดจตุภาณวาร) ที่ตู้หนังสือสวดตั้งอยู่อีกเตียง ๑ ต่างหาก แสดงความต่อไปว่าพระราชา คณะนั่งปรกอยู่ที่เตียงนั้น และมีหน้าที่อ่านหนังสือทานคำสวดของพระพิธีธรรม เช่นเดียวกันกับมีพระราชาคณะนั่งปรกอ่านหนังสือทานคำประกาศเทวดา ซึ่งพระราชาคณะอีกองค์หนึ่งว่าปากเปล่าในพิธีตรุษ พัดแฉกที่เตียงสวดก็คือพัดของท่านผู้นั่งปรก อาจจะผูกไว้ข้างหน้าหีบหนังสือมาแต่เดิม เพราะพระราชาคณะมีกิจต้องคอยพลิกใบสมุดหนังสือสวดอยู่เสมอ ต่อมาจะเป็นด้วยเหตุใดหรือเมื่อใดทราบไม่ได้ แต่คงเป็นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ มีการแก้ไขให้พระพิธีธรรมสวดด้วยอ่านหนังสือแทนสวดปากเปล่าอย่างแต่ก่อน จึงย้ายหนังสือเอาไปตั้งบนเตียงสวด พัดแฉกเคยผูกติดอยู่กับหีบใส่หนังสือก็เลยติดไปด้วย แต่เมื่อพระสวดด้วยอ่านหนังสือแล้ว ก็ไม่จำเป็นจะต้องมีพระนั่งปรกทานคำสวด ถึงที่พระราชาคณะประกาศเทวดาซึ่งเคยประกาศปากเปล่ามาเป็นแต่ก่อน เมื่อเปลี่ยนเป็นอ่านหนังสือประกาศแล้ว ก็เลิกการที่มีพระราชาคณะผู้ทานเช่นเดียวกัน เมื่อไม่จำเป็นต้องมีพระราชาคณะอ่านหนังสือทานคำสวดแล้ว พระราชาคณะที่นั่งปรกข้างเตียงสวดก็เปลี่ยนเป็นพระราชาคณะฝ่ายวิปัสสนาธุระ นั่งภาวนาเพิ่มกำลังพระราชพิธีอีกอย่าง ๑

มีวินิจฉัยที่จะกล่าวต่อไปถึงพระ ๔ องค์ซึ่งขึ้นนั่งสวดภาณวารที่บนเตียง ซึ่งทูลกระหม่อมทรงบัญญัติให้เรียกว่า “พระพิธีธรรม” นั้น ในตำราทั้ง ๒ ฉบับเรียกว่า “พระคู่สวด” อันความหมายว่า “สององค์ด้วยกัน” ไฉนจึงเรียกเช่นนั้น ข้อนี้พิจารณาเห็นเค้าเงื่อนสาวขึ้นไปได้อย่างว่า “จนต้นตอ” คือมาจากสวดกรรมวาจา เช่นสวดญัตติบวชนาคเป็นต้น ในเมืองพม่ามีวิธีสวดกรรมวาจา พระสวดองค์เดียว แต่ให้อ่านหนังสือป้องกันอักขระวิบัติ วิธีสวดกรรมวาจาในเมืองไทยสวดปากเปล่าแต่ให้สวด ๒ องค์ด้วยกัน เพื่อป้องกันอักขระวิบัติเหมือนกัน ที่เรียกว่า “คู่สวด” มาแต่พระสวดกรรมวาจาเป็นแน่ การพระราชพิธีตรุษถือว่าเป็นพิธีสำคัญจึงให้พระสวดท้องภาณและภาณยักษ์เป็นคู่ เพื่อป้องกันอักขระวิบัติเช่นเดียวกับสวดกรรมวาจา ข้อนี้พึงเห็นได้ด้วยพระพิธีธรรมนั้น ในสำรับ ๔ องคจัดกันเป็น ๒ คู่ แต่ละคู่มีแม่คู่องค์ ๑ ลูกคู่องค์หนึ่ง เวลาสวดก็สวดทีละคู่ ไม่สวดพร้อมกันทั้ง ๔ องค์ ที่ให้ขึ้นนั่งเตียงคราวละ ๒ คู่นั้นเพราะจะให้จำนวนพระครบ ๔ เป็นองค์สงฆ์เป็นสำคัญ

ยังมีวินิจฉัยต่อไปอีก ว่าพระครูฐานานุกรมที่เรียกว่า “พระครูคู่สวด” นั้นมีขึ้นสำหรับสวดอะไร พิเคราะห์ตามชื่อชวนให้เข้าใจว่าสำหรับสวดกรรมวาจา แต่เมื่อพิจารณาดูเห็นว่ามิใช่เช่นนั้น ด้วยในทำเนียบเดิมมีแต่ ๔ คู่ เป็นฐานานุกรมของพระสังฆราชองค์ละคู่ ของเจ้าคณะรององค์ละคู่ พระราชาคณะผู้ใหญ่นอกจากนั้นหามีพระครูคู่สวดไม่ (ที่มามีอย่างเดี๋ยวนี้เป็นของเพิ่มขึ้นประดับยศต่อเมื่อภายหลัง) กิจที่พระครูคู่สวดสวดกรรมวาจาก็เคยเห็นสวดแต่ในพิธีกฐินอย่างเดียว พิธีอื่นเช่นบวชนาคก็ดี หรือผูกพัทธสีมาก็ดี ชั้นพระเถระเป็นผู้สวดกรรมวาจา หาตกถึงพระครูคู่สวดไม่ แต่มีการสวดเป็นหน้าที่ประจำตำแหน่งพระครูคู่สวดทั้ง ๘ นั้นอยู่อย่าง ๑ คือสวดพระธรรมจักรกัปปวัตนสูตร และมหาสมัยสูตรในพระราชพิธีตรุษยังเป็นหน้าที่ของพระครูคู่สวดอยู่จนบัดนี้ จึงเห็นว่าตำแหน่งพระครูคู่สวดน่าจะตั้งขึ้นสำหรับสวดพิธีตรุษ เพราะพระธรรมจักรและมหาสมัยทั้ง ๒ พระสูตรนั้น ไม่ได้อยู่ในภาณวาร พระสงฆ์สามัญมิได้ท่องจำไว้ จึงต้องให้มีผู้ท่องจำสวด ๒ พระสูตรนั้นโดยเฉพาะ บางทีจะเป็นผู้ฝึกหัดพระพิธีธรรมด้วยจึงเรียกว่า “พระครู” ข้อนี้เมื่อหม่อมฉันไปเมืองเขมรเคยสืบถามพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงกัมพูชาถึงแบบพิธีสงฆ์ในเมืองเขมร ก็บอกอธิบายว่าพระธรรมจักรกับมหาสมัยสูตรนั้นสวดแต่ในพิธีตรุษอย่างเดียว หาสวดเป็นพระปริตตามบ้านเรือนไม่ ได้ความตามอธิบายก็ประกอบกัน การที่สวดเฉพาะสูตร เช่นพระธรรมจักรและมหาสมัยเป็นต้น เป็นพระปริตน่าจะเกิดขึ้นเมื่อในรัชกาลที่ ๔

ยังมีวินิจฉัยจะทูลไถลเลยไปถึงคนร้องละครที่เรียกกันว่า “ต้นบท” และ “ลูกคู่” คำเรียกว่าลูกคู่นั้นจะมีอะไรเป็นมูล ขอให้ทรงพิจารณาดู

ข่าวทางปีนัง

ในสัปดาหะที่ล่วงมานี้ที่เมืองปีนังก็ยังแล้งและร้อนอยู่ไม่หาย หม่อมฉันต้องอาบน้ำก่อนนอนมาหลายคืนแล้ว คนมาจากเมืองไทยเขาว่าเดียวนี้ในกรุงเทพฯ ก็ออกร้อนจัด ทำให้หม่อมฉันนึกถึงพระองค์ท่าน ว่าจะทรงแปรสถานไปเปลี่ยนอากาศที่ไหนบ้างหรืออย่างไร เคยโปรดเสด็จทางศรีราชาหรือมิฉะนั้นก็หัวหิน ทางศรีราชาหม่อมฉันไม่ทราบเบาะแส แต่ทางหัวหินนั้นตอนเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม ๒ เดือนนี้อากาศชื่นใจสบายดียิ่งกว่าเดือนอื่นๆ ผู้คนก็ยังไม่พลุกพล่านเหมือนเดือนเมษายน ถ้าจะเสด็จไปหัวหินขอให้ตรัสถามชายดิศดู ถ้าเรือนของหม่อมฉันว่างเชิญเสด็จไปประทับที่นั่น เชื่อว่าคงทรงสบายดี

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ