วันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๒๘ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๘๒

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๒๒ กันยายนนั้นแล้ว ลายพระหัตถ์ฉบับนี้ทำให้หม่อมฉันเกิดความยินดี แปลกกับลายพระหัตถ์เวรฉบับก่อน ๆ อยู่บ้าง โดยปกติพวกไปรษณีย์เขาเคยเอาลายพระหัตถ์มาส่งวันจันทร์ เวลาเช้าราว ๙ นาฬิกา เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๕ เขาก็เอาเมล์มาส่งตามเวลาเช่นเคย แต่หนังสือที่เอามาส่งมีแต่หนังสือพิมพ์บางกอกไตม์ หามีลายพระหัตถ์เวรเช่นเคยไม่ จึงเกิดความรำคาญ ใจถึงออกปากแก่ลูกว่า “นี่อย่างไรเสด็จอาจึงไม่มีลายพระหัตถ์มาตามเคย” ไม่มีใครทายได้ หม่อมฉันก็ต้องทอดธุระ จนเวลาบ่ายพวกไปรษณีย์จึงเอาลายพระหัตถ์เวรมาส่ง ไม่มีรอยเปิดซอง ก็คิดเห็นเหตุว่าที่ส่งมาช้า คงเป็นเพราะหนังสือในเมล์มีมากด้วยกัน เขาพบลายพระหัตถ์ช้าไปไม่ทันส่งตอนเช้า ที่ไม่เปิดซองนั้นคงเป็นดังทรงพระดำริว่าเป็นเพราะเขายกให้เราเป็น “ปาปะมุติ” จดหมายหลานหม่อมฉันมีมาในคราวเมล์เดียวกันอีกฉบับ ๑ เขาก็ไม่เปิดซองเหมือนกัน

สนองลายพระหัตถ์

เรื่องที่ไทยเลิกจิ้มก้องเมืองจีนนั้น หม่อมฉันทราบเรื่องพอจะทูลได้ แต่จะต้องตั้งต้นย้อนไปกล่าวถึงประเพณีที่จีนรับชาวต่างประเทศ ณ เมืองกึงตั๋งเสียก่อน คือในการที่รัฐบาลจีนกำหนดให้ชาวต่างประเทศไปค้าขายแต่ที่เมืองกึงตั๋งยังมีข้อบังคับจุกจิกอีกหลายอย่าง เป็นต้นแต่ห้ามมิให้ชาวต่างประเทศซื้อขายกับราษฎร ในการนั้นรัฐบาลจีนตั้งพ่อค้าไว้ ๙ คน เรียกว่า “ก้าวห้าง” (ภายหลังเพิ่มขึ้นอีก ๒ คน แต่คงเรียกว่า “ก้าวห้าง” อย่างเดิม) ในเมืองเรามีรูปภาพจีนเขียนกระจกใส่กรอบ เป็นรูปเรือนหลายหลังเรียงกัน แต่ละหลังมีเสาชักธงต่างประเทศไว้ข้างหน้าเรือนนั่นคือรูป “ก้าวห้าง” ที่จีนเขียนบรรดาประเทศต่าง ๆ ที่ไปค้าขายต้องไปว่ากล่าวกับนายห้างคนใดคนหนึ่งในพวกเก้าห้างนั้นให้รับเป็นเจ้าจำนำ ชาวต่างประเทศเอาสินค้าไปขายต้องขายแก่นายห้างของตน นายห้างเป็นผู้ซื้อเอาไปจำหน่ายแก่ราษฎร สินค้าที่ชาวต่างประเทศใคร่จะซื้อมาจากเมืองจีนก็ต่องให้นายห้างของตนไปเที่ยวหาซื้อจากราษฎรมาขายให้ตามประสงค์ วิธีนี้เลยใช้ตลอดไปจนถึงการเมือง ดังเช่นทูตต่างประเทศไปถึงเมืองกึงตั๋งจะพูดจาตรงไปยังต๋งต๊ก (Viceroy) ภาคกว้างตุ้งไม่ได้ต้องให้นายจ้างเจ้าจำนำของประเทศนั้น ทำเรื่องราว Petition เสนอความต่อต๋งต๊กๆ ว่ากระไรต่อพวกทูตก็มีคำสั่งแก่นายห้างให้มาบอกทูต จนรัฐบาลจีนกรุงปักกิ่งสั่งลงมาว่า ให้รับทูลแล้วทูตจึงติดต่อกับรัฐบาลจีนแต่นั้นไป การที่มีหนังสือถึงกันในราชการระหว่างประเทศก็ต่องส่งหนังสือผ่านทางนายห้าง เช่นหนังสือของรัฐบาลจีน ต๋งต๊กก็มอบให้นายห้าง “ปุนกัง” ซึ่งเป็นเจ้าจำนำของไทยส่งมายังกรุงเทพฯ หนังสือของรัฐบาลไทยก็ส่งไปถึงนายห้างให้นำไปส่งต่อต๋งต๊ก

จะทูลอธิบายถึงเรื่องไทยเลิกจิ้มก้องต่อไป ในหนังสือพงศาวดารรัชกาลที่ ๔ มีว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ทูตไทยไปเมืองจีนครั้งแรกเมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๓๙๔ ซึ่งเสด็จเสวยราชย์นั้น เพื่อบอกข่าวเปลี่ยนรัชกาลและขอหองต่อพระเจ้ากรุงจีนตามอย่างแต่ก่อน กับทั้งให้ไปเซ่นพระศพพระเจ้ากรุงจีนเตากวางซึ่งสิ้นพระชนม์ในหมู่นั้นด้วย แต่ทูตไทยครั้งนั้นได้ไปแต่เพียงเมืองกึงตั๋ง เพราะพระเจ้ากรุงจีนฮำฮองมีรับสั่งมาว่าในราชสำนักกำลังไว้ทุกข์ไม่รับแขกเมือง ทูตก็ต้องกลับมา ต่อมาอีกปี ถึงปีชวด พ.ศ. ๒๓๙๕ ทูตไทยไปอีกครั้ง ๑ ครั้งนี้ได้ไปถึงกรุงปักกิ่งและได้เข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงจีนฮำฮอง สำเร็จกิจที่ไปแล้ว ขากลับเมื่อทูตเดินทางบกมาจากปักกิ่ง ถูกพวกโจรไต้เผ็งปล้นกลางทาง ฆ่าจีนหงผู้เป็นท่องสื่อใหญ่ตาย และชิงเอาเครื่องราชบรรณาการที่พระเจ้ากรุงจีนตอบแทนกับทั้งสมบัติพัสดุของพวกทูตไปหมด แต่นั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ก็มิได้โปรดให้ทูตไทยไปเมืองจีนอีก

ถึงปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๙๘ สมเด็จพระราชินิวิกตอเรียประเทศอังกฤษทรงตั้งให้เซอร์จอนเบาริงเป็นราชทูต เชิญพระราชสาส์นมาเจริญทางไมตรีกับไทย และทำหนังสือสัญญาอย่างในระหว่างประเทศที่เป็นอิสระมีศักดิ์เสมอกัน แล้วฝรั่งชาติอื่นก็มาทำทางไมตรีกับเมืองไทยเช่นนั้นอีกหลายประเทศ การที่ไทยทำทางไมตรีกับฝรั่งต่างชาติเช่นว่ามา ขัดกันกับประเพณีที่ขอหองพระเจ้ากรุงจีนเมื่อเปลี่ยนรัชกาลใหม่ในเมืองไทย และที่ไปจิ้มก้องพระเจ้ากรุงจีน ๓ ปีครั้งหนึ่ง อันตกเป็นฉายาประเทศราชมาแต่ก่อน แต่ในเวลานั้นก็ยังไม่มีปัญหาว่าควรจะแก้ไขอย่างไร เพราะจีนเกิดรบกับฝรั่งครั้งที่ ๒ จีนแพ้ ถึงเสียกรุงปักกิ่งแก่กองทัพอังกฤษและฝรั่งเศส เมื่อเสร็จสงครามกับฝรั่งแล้ว พวกโจรไต้เผ็งก็เป็นขบถแพร่หลายใหญ่โตถึงตั้งเมืองนำกิ่งเป็นราชธานีขึ้นอีกก๊ก ๑ รัฐบาลจึงต้องรบพุ่งปราบปรามพวกไต้เผ็งอยู่อีกหลายปีจึงสงบจลาจลในเมืองจีน

ถึงปีจอ พ.ศ. ๒๔๐๕ ต๋งต๊กกวางตุ้งให้ขุนนางจีนคน ๑ ชื่อเนี่ยมถิม เชิญพระราชสาส์นพระเจ้ากรุงจีนอาศัยเรือสำเภาเข้ามาถึงกรุงเทพฯ หนังสือสำคัญซึ่งจีนเนี่ยวถิมนำมาครั้งนั้นเป็นพระราชสาส์นของพระเจ้ากรุงจีนฮำฮองซึ่งสิ้นพระชนม์แล้วเขียนแต่เมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๔๐๒ ประกาศการกระทำซายิด ฉบับ ๑ เขียนเมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๔๐๒ ประกาศตั้งเจ้าไจสุนราชโอรสพระองค์เป็นรัชทายาท ฉบับ ๑

พระราชสาส์นของพระเจ้ากรุงจีนถ้องตี้ซึ่งได้รับรัชทายาท บอกข่าวพระเจ้าฮำฮองสิ้นพระชนม์และตั้งรัชกาลใช้ศักราชใหม่ฉบับ ๑ เป็นแต่พระราชสาส์นอย่างแถลงการณ์ทั้ง ๓ ฉบับ มีหนังสือต๋งต๊กกวางตุ้งเป็นแต่นำส่งพระราชสาส์นมายังเจ้าพระยาพระคลัง ๓ ฉบับ มีจดหมายนายห้างปุนกังซึ่งเป็นเจ้าจำนำของไทยมายังเจ้าพระยาพระคลังด้วย ๒ ฉบับ ฉบับ ๑ เป็นแต่ฝากฝังขุนนางจีน (ที่จริงก็จะเป็นอย่างกรมการคน ๑) ซึ่งเชิญพระราชสาส์นมา แต่อีกฉบับ ๑ ทวงก้องที่ไทยควรจะส่งแต่มิได้ส่งมา ๓ งวด และให้แต่งทูตไปเฝ้าพระเจ้ากรุงจีนถ้องตี้ตามประเพณี

หม่อมฉันเคยได้ยินท่านผู้ใหญ่เล่า (จะเป็นท่านผู้ใดลืมไปเสียแล้ว) ว่าขุนนางจีนที่เข้ามาครานั้นมาทำสิงหนาทอ้างว่าตัวเป็นราชทูตจำทูลพระราชสาส์น ถึงจะให้เปิดพระทวารกลางรับในวันเข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์น แต่ข้างฝ่ายไทยเราเป็นแต่ให้แห่พระราชสาส์นตามประเพณี ไม่ยอมรับขุนนางจีนคนนั้นเป็นราชทูต เป็นแต่ให้พระยาโชฎึกรับรองเลี้ยงดู การที่ปรึกษากันในรัฐบาลครั้งนั้น พิเคราะห์ดูเหมือนจะมีผู้เห็นว่าควรแต่งทูตไปจิ้มก้องจีนอย่างแต่ก่อนมา นอกจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จะไม่มีผู้อื่นอีกกี่คนนักที่เห็นว่า ถ้าไปจิ้มก้องจีนจะทำให้เสียฐานะของเมืองไทย ที่ประเทศอื่นๆ ยอมรับว่าเป็นอิสระเสมอกันทั่วไปแล้ว ที่สุดลงมติให้แต่พระยาโชฎึกมีจดหมายถึงนายห้างปุนกัง ให้ไปแจ้งความต่อต๋งต๊กว่า ได้แห่พระราชสาส์นและได้นำความในจดหมายของต๋งต๊กกราบบังคมทูลแล้ว ส่วนข้อที่นายห้างปุนกังทวงก้องนั้นพระยาโชฎึกตอบไปยังนายห้างว่าไม่ได้นำความกราบบังคมทูล เพราะเมื่อทูตไทยไปครั้งก่อนถูกโจรปล้น เจ้าเมืองกรมการก็จับโจรไม่ได้ ฟังข่าวต่อมาก็ได้ทราบว่าในเมืองจีนเกิดรบกับฝรั่ง และเกิดขบถใหญ่หลวง ถ้าให้ทูตไทยไปก็เห็นจะไปเป็นอันตรายในระหว่างทางจึงให้งดเสีย ถ้าเมืองจีนราบคาบเรียบร้อยเมื่อใด จึงจะคิดอ่านแต่งทูตให้ไปเจริญทางพระราชไมตรี แต่นั้นจีนก็มิได้ทวงก้องจนตลอดรัชกาลที่ ๔

ถึงรัชกาลที่ ๕ จะเป็นปีไหนไม่มีอะไรจะสอบที่นี่ แต่มีเค้าอยู่ว่าเป็นเวลาเมื่อวังหลวงกับวังหน้าดีกันแล้ว และมีเคาซิลออฟสะเตตอยู่ในเวลานั้น คงราวปีกุน พ.ศ. ๒๔๑๘ นายห้างปุนกังมีจดหมายมาถึงกระทรวงการต่างประเทศ ว่าต๋งต๊กภาคกวางตุ้ง (เห็นจะเป็นคนใหม่ที่เพิ่งมารับตำแหน่ง) สั่งให้ทวงก้อง คงจะอ้างว่าเมืองจีนเรียบร้อยราบคาบ แล้วตอบจดหมายพระยาโชฎึกที่มีไปในรัชกาลที่ ๔

หม่อมฉันเคยได้ยินคำเล่าเมื่อภายหลังว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปรึกษาตกลงกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์แล้วว่าจะทำอย่างไร แต่สมเด็จเจ้าพระยาฯ อยากจะลองดีพวกเคาซิลออฟสะเตต กราบทูลขอให้มีพระราชดำรัสปรึกษาเจ้านายผู้ใหญ่กับเคาซิลออฟสะเตต ให้ทำความเห็นถวายเฉพาะตัวทุกคน ว่าควรจะไปจิ้มก้องเมืองจีนตามประเพณีโบราณต่อไปหรือไม่ มีผู้รวมความเห็นที่กราบบังคมทูลสนองครั้งนั้นไว้ หม่อมฉันได้สำเนามาไว้ในหอพระสมุด ๒ ฉบับ เจ้านายมีกรมพระราชวังบวร พระองค์ ๑ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ พระองค์ ๑ เห็นไม่ควรไปจิ้มก้องทั้ง ๒ พระองค์ ความเห็นพวกเคาซิลฯ ต่างกันเป็น ๒ ฝ่าย เห็นควรไปจิ้มก้องฝ่าย ๑ เห็นไม่ควรไปจิ้มก้องฝ่าย ๑ แบ่งกันในพวกสมัยเก่ากับสมัยใหม่ มีน่าพิศวงอยู่ ๒ คน คือเจ้าพระยารัตนบดินทร เวลานั้นดูเหมือนจะยังเป็นพระยาราชวรานุกูล ซึ่งใครๆ เห็นว่าเป็นคนชั้นเก่า ออกความเห็นเป็นเด็ดขาดว่าไม่ควรไปจิ้มก้อง แต่เจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง เวลานั้นเห็นจะยังเป็นพระยาราชสุภาวดี ซึ่งวางตัวเป็นคนสมัยใหม่กลับเห็นว่าควรจะไปจิ้มก้อง เป็นเหตุให้ได้ชมคน ๑ ถูกติคน ๑ เพราะไม่มีใครคาดว่าจะเป็นเช่นนั้น

ครั้งนั้นยุติให้พระยาโชฎึกฯ มีจดหมายไปถึงนายห้างปุนกัง ให้บอกต๋งต๊กว่า ถ้าจะให้ทูตไทยไปเมืองจีนก็ต้องให้ไปขึ้นบกที่เมืองเทียนจิ๋นเหมือนทูตฝรั่งจึงจะไป แต่นั้นจีนก็ไม่ทวงก้องต่อมา

ต้องหยุดเขียนเพียงนี้ เพราะถึงวันพุธกำหนดจะต้องส่งไปรษณีย์ให้เขาตรวจทันส่งเมล์วันศุกร์ เรื่องอื่นจะทูลสนองต่อไปในจดหมายเวรฉบับหน้า

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ