วันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๔๘๒

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

หนังสือเวรฉบับนี้ มีเวลาว่างอยู่ก็เขียนไป เพราะเหตุดังนั้น เรื่องอื่นๆ จึงมาก่อนสนองลายพระหัตถ์เวรซึ่งยังไม่ได้รับและจะได้รับทันทูลสนองหรือไม่ก็สงสัย ด้วยได้ยินว่าน้ำท่วมทางรถไฟ อาจที่เมล์จะไม่มี เพราะรถไฟเดินไม่ได้ก็เป็นได้

เติมความที่กราบทูลมาก่อน

เรื่องพัดแฉกงา ได้พบหนังสือเข้าใหม่ “เป็นประกาศในในรัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๒๒ ว่าด้วยพระราชทานพัดแฉกปักทองทำใหม่ แด่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ข้อความในประกาศนั้น มีกล่าวบ้างถึงพัดแฉกงา ว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชดำริให้ช่างทำพัดแฉกงาพระราชทานมาครั้งหนึ่ง โดยคำอันกล่าวไว้ดั่งนี้ จึงสันนิษฐานติดต่อกันเข้าว่า เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (บุญศรี) คงเป็นผู้ดูแลให้ช่างทำพัดแฉกงานั้นโดยพระบรมราชโองการดำรัสสั่ง ไม่ใช่นึกเองทำเองถวายเป็นส่วนตัว ย่อมเห็นได้อยู่ว่านึกเอาโดยที่ปราศจากเหตุผลนั้นนึกยาก ทั้งพัดแฉกงาเล่าก็เป็นของใหม่ ถึงแม้จะทำเชื่อมติดต่อกันได้ก็ต้องต่อในที่ควร แต่ละชิ้นก็ต้องเป็นเนื้องากว้างใหญ่ ลำพังเอกชนในเวลาโน้นจะหางาที่แท่งใหญ่ก็เห็นจะหาได้ยาก นอกจากจะเบิกเอาของหลวงมาใช้

ประกาศนี้ได้จากสมุดเขาตีพิมพ์ใหม่ ชื่อว่า “ประวัติสมเด็จพระสังฆราช” มีกล่าวถึงผู้ทรงตำแหน่งพระสังฆราชในกรุงรัตนโกสินทร์ ๑๒ องค์ ใครส่งมาให้ก็ยังไม่ทราบ ในนั้นมีคำนำของพระยาทิพโกษา อ้างว่าฝ่าพระบาททรงเรียงต่อจากกรมพระสมมตอมรพันธ์อันได้ทรงเรียงค้างอยู่ สมเด็จพระสังฆราชเจ้าวัดราชบพิธ ทรงจัดการให้ตีพิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖ มีความเพียงจรดถึงพระองค์ท่าน ต่อจากนั้นพระยาทิพโกษาค้นคว้าหาความมาเรียบเรียงต่อไปถึงเวลานี้

ความในตอนประวัติสมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์นั้นมีว่าได้ทรงรับพัดแฉกถมปัดก่อนได้รับพัดแฉกงา พัดแฉกถมปัดนั้นไม่เคยเห็น และไม่เคยได้ยินเสียด้วยซ้ำ

คำประกาศซึ่งลงสำเนาตัวอย่างไว้ในสมุดนั้น ใช้คำ “สมเด็จกรม” ทำให้เกิดสงสัยใจขึ้นว่า คำ “สมเด็จกรม” นี้เกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๕ เมื่อทอดพระเนตรเห็นจดหมายความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวีเข้าแล้ว ต้องพระราชหฤทัยทรงพระราชดำริเห็นว่าถูกจึงตราใช้ต่อมา แต่ก่อนนั้นใช้ “กรมสมเด็จ” กลับกันอยู่ แต่ในสำเนาประกาศตัวอย่างที่ตีพิมพ์ไว้ใช้ “สมเด็จกรม” สิ้นทุกแห่ง ตั้งแต่ประกาศในรัชกาลที่ ๔ มาแล้ว สงสัยว่าจะแก้ให้ได้แก่คำที่ใช้อยู่ในสมัยหลัง ไม่ใช่คำตามต้นเดิม แม้ประกาศตั้งกรมหมื่นนุชิตชิโนรสแต่ปีแรกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นเถลิงราชสมบัติก็ใช้คำว่า ให้สถาปนาเป็นสมเด็จกรมพระยาปรมานุชิตชิโนรส ทั้งนี้ผิดสังเกตไปถึง ๒ อย่าง คือใช้คำ “สมเด็จกรม” นั้นอย่างหนึ่งกับเป็น “กรมพระยา” ผิดจากที่เคยได้ยินมาว่า “กรมสมเด็จพระ” และผิดจากที่ฝ่าพระบาทตรัสเรียกไว้ในที่ต่างๆ ด้วยอีกอย่างหนึ่ง จะเป็นอย่างไรแน่

อีกประการหนึ่ง บรรดาประกาศตั้งแต่ประกาศตั้งสมเด็จกรมพระยาปรมานุชิตชิโนรส อันเป็นฉบับแรกแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงราชสมบัติขึ้นไป ใช้คำ “พระพุทธว่าศักราช” ทั้งนั้น ต่อแต่นั้นมาจึงเป็น “พระพุทธศาสนกาล” ย่อมส่อให้เห็นได้ว่าที่เปลี่ยนไปให้เป็นถูกต้องนั้น มิใช่ใครอื่นนอกจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ศีล ๑๐ ของศาสนาคริสตัง ในองค์ที่ ๒ ห้ามการทำรูปนั้น ทำให้เกิดสะดุดใจขึ้นที่ตรงว่า พุทธศาสนาก็ดี ศาสนามะหะหมัดก็ดี ศาสนาคริสตังก็ดี ล้วนห้ามการทำรูปเหมือนกันหมด แต่เอาไว้ไม่อยู่ ศาสนามะหะหมัดเป็นเข้มงวดมากกว่าศาสนาอื่น เพราะวินัยทางศาสนามะหะหมัดเป็นกฎหมายบ้านเมืองด้วย จึงแผ่ไปทั่วแก่ผู้ซึ่งถือศาสนานั้น ส่วนทางศาสนาคริสตังคงเหลือแต่ไม่ทำรูปพระเจ้า แม้กระนั้นก็อดไม่ได้ยักย้ายทำเป็นรูปนกเรียกว่าพระวิญญาณ แต่ส่วนทางพุทธศาสนานั้นหละหลวมกว่าศาสนาทั้งสองนั้น เป็นอันว่าคฤหัสถ์เขาทำการห้ามทำรูปคงตกอยู่เป็นวินัยแก่พระภิกษุสงฆ์เท่านั้น ที่จริงอาสนบูชาดูก็พอแต่เยือกเย็นสำหรับคนทั่วไป วิหารต่างๆ เข้าใจว่าเดิมทีใช้เป็นที่บูชาพระบรมธาตุ เพราะเช่นนั้นพระเจดีย์จึงทำไว้หลังวิหารเสมอ เดิมทีวิหารคงไม่มีฝา ไม่มีพระพุทธรูป ครั้นเมื่อทำพระพุทธรูป ตั้งขึ้นในวิหารแล้วก็ต้องมีเครื่องบูชา เครื่องบูชานั้นมีค่า จึงต้องทำฝาวิหารมีหน้าต่างประตูปิดเพื่อกันโจร โบสถ์นั้นใช้ชั่วแต่การประชุมสงฆ์ทำสังฆกรรมย่อมจะทรงสังเกตมาได้แล้ว ว่าโบสถ์นั้นเป็นของไม่สำคัญเลย วัดเก่าๆ โบสถ์ไปอยู่ไหนๆ เพิ่งจะเอามาทำเป็นที่สำคัญแทนวิหารขึ้นในภายหลัง คงเป็นเหตุด้วยชาวบ้านไปทำบุญที่วัดอันเกี่ยวแก่สังฆกรรม มีทอดกฐินและบวชนาคเป็นต้น

สนองความในลายพระหัตถ์

ลายพระหัตถ์เวร ซึ่งลงวันที่ ๕ ธันวาคม อันควรจะได้รับในเมล์วันเสาร์ที่ ๙ ธันวาคม แต่ได้รับเอาวันอาทิตย์ช้าไปวันหนึ่ง เห็นข่าวเขาลงหนังสือพิมพ์ว่ารถไฟถึงกรุงเทพฯ ช้าไป ๓ ชั่วโมงครึ่ง เป็นอันเข้าใจได้ว่าช้าไปเพราะจ่ายหนังสือไม่ทัน ซองลายพระหัตถ์นั้นก็บริสุทธิ์ มีแต่ตราใหม่สั่งผ่านประทับมาหลังซองดวงเดียว

ข้อที่ตรัสทำนายถึงเรื่องน้ำท่วมกรุงเทพฯ ว่าจะไม่มีอีก เพราะที่สูงขึ้นนั้นทำให้นึกเรื่องขึ้นได้ ว่าเกล้ากระหม่อมต้องไปทำพระราชกิจอะไรอย่างหนึ่งที่วัดพระเชตุพน เห็นน้ำท่วมลานวัดต้องเอาอะไรต่ออะไรทอดเดิน จึงดุเอาขุนชำนิโยธา (สิน) ซึ่งแกเป็นพนักงานกรมโยธาไปทำการซ่อมวัดอยู่ที่นั่น ว่าช่างนิ่งเสียได้ไม่จัดการไขน้ำออกไปเสีย แกอธิบายว่าลานวัดต่ำกว่าพื้นท้องท่อถนนไขออกไปไม่ได้ ทีหลังมาเห็นลานวัดพระแก้วก็น้ำท่วม ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นอย่างเดียวกัน จึงถามเจ้าพระยาวรพงศ์ว่าทำอย่างไร ท่านบอกว่าเอาสูบๆ ออกไป รอดตัวที่มีเจ้าพระยาวรพงศ์เป็นผู้ใหญ่อยู่ ท่านกว้างขวางพอที่จะหยิบยืมเอาสูบน้ำมาใช้ได้ หาไม่ก็ต้องรอจนแห้งไปเอง

ขอได้โปรดตรัสบอกพระองค์หญิงประเวศ ในเวลาที่ได้ทรงพบกับเธอด้วยว่าเกล้ากระหม่อมมีความยินดีขอถวายพระพรให้มีพระชันษายืน ห่างจากพระโรคและภัยทุกประการ ทรงเสวยสุขสำราญทุกเมื่อเถิด

คำ “กงดิน” หมายความว่าขอบแผ่นดินซึ่งปกครองอยู่ จะเป็นคำไทยหรือคำญวนก็เป็นได้ คำไทยก็พ้องกับคำจีนอยู่มากคำ ด้วยไทยเรามาแต่เมืองจีน ย่อมได้คำจีนติดมามาก ส่วนทางญวนก็รับเอาคำจีนไปใช้มากเหมือนกัน เพราะฉะนั้นคำ “กงดิน” จะเป็นคำจีนหรือคำญวนคำไทยอะไรก็ไม่ขัดข้องเลย ในโคลงศรีปราชญ์ก็มี แต่จำไว้ไม่ได้มากกว่า “ถึงกง” หมายความว่าขอบแผ่นดินที่ปกครองอยู่เหมือนกัน

ข่าวเบ็ดเตล็ดในกรุงเทพ ฯ

ข่าวเบ็ดเตล็ดในกรุงเทพฯ ไม่มีอะไรที่ควรกราบทูล มีแต่ว่าขณะนี้หนาวนัก เพิ่งจะค่อยยังชั่วลงเมื่อสองสามวันมานี้ งานฉลองรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ไป ไม่ได้เห็นอะไรมาเล่าถวาย แต่หนังสือพิมพ์บางกอกไตมส์เขาลงถี่ถ้วน คงจะได้ทรงทราบข่าวในหนังสือพิมพ์นั้นดีแล้ว

เมื่อวานนี้ไปบ้านท่าช้าง ดูโรงแถวที่ให้ทำต่อเก่าโดยเทศบาลบอกขอให้ทำ กลับมาเห็นที่โรงแถวหัวสะพานถนนสาทรมีคนล้อมดูอะไรกันแน่น ไม่ทราบว่าดูอะไรกัน ทำให้นึกถึงพวกที่เขาไปเรียนเมืองนอกมาเล่าให้ฟังว่า เขากับเพื่อนได้เล่นไปยืนชี้ให้กันดูบนหลังคาเปล่าๆ เปลือยๆ ประเดี๋ยวเดียวก็มีคนมาล้อมดูกันแน่นจนรถเดินไม่ได้ต้องร้อนถึงโปลิศ คิดดูก็ขัน คนเรามันช่างอยากรู้อะไรกันเสียจริงๆ ไม่มีอะไรเลยก็มุงดูกันได้ จะพิจารณาไปอีกทางหนึ่ง คนเรานี้ก็เหมือนกับตัวแมลง เห็นไฟดำๆ แดงๆ เข้าที่ไหนไม่ได้ ต้องไปเบียดเสียดกันอยู่ที่นั่น แต่ยังมีพวกที่ฉลาดดีอยู่พวกหนึ่ง คือพวกเร่ของขาย เห็นไฟดำๆ แดงๆ เข้าที่ไหนก็ไปดักขายที่นั่น เห็นจะขายดีกว่าปกติมาก

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ