วันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๖ ตุลาคม ๒๔๘๒

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์เวร ลงวันที่ ๒๘ กันยายน ได้รับแล้วตามเคยโดยมิได้มีบุบสลาย ต่างไปแต่ตราซึ่งประทับหมายผ่านการตรวจ แต่ก่อนเป็นดวงกลมมีอามกลางมีหนังสือรอบว่าผ่านการตรวจ คราวนี้เปลี่ยนไปเป็นตรารูปสี่เหลี่ยมรีไม่มีอาม มีแต่หนังสือบอกว่าผ่านการตรวจที่ ๔

ได้โปรดเข้าพระทัยไว้ ว่าหนังสือเวรซึ่งเกล้ากระหม่อมส่งมาถวายคงส่งเสมอไปไม่มีเวลาเว้น ถ้ามีเหตุจะต้องเว้นก็จะมีหนังสือฉบับเล็กมิของใครก็ของใครกราบทูลมาให้ทรงทราบเหตุ ถ้าไม่ได้ทรงรับหนังสืออย่างใดเลยโปรดเข้าพระทัยว่ามีการพลาดพลั้งที่นอกบ้าน ไม่ใช่เป็นไปจากบ้าน

สนองความในลายพระหัตถ์

ตามพระดำรัสชี้แจงเรื่องก้องเมืองจีนในลายพระหัตถ์คราวนี้ ทำความเข้าใจให้ติดต่อกันได้แจ่มแจ้งดีเต็มที ได้สติรู้สึกอะไรขึ้นเป็นหลายอย่าง ดังจะกราบทูลถวายต่อไปนี้

“สิบสามห้าง” ข้างวัดบวรนิเวศของเรา แปลออกขึ้นว่าเอาอย่างเก้าห้างเมืองจีนมาเรียกเป็นชื่อ รูปเก้าห้างในกรอบกระจกซึ่งทำมาแต่เมืองจีนนั้น ไม่เคยทราบเลยว่าเป็นอะไร เพราะไม่มีใครบอกให้เข้าใจ ห้าง “ปุนกัง” ก็เพิ่งเข้าใจว่าเหตุใดจึงแซกเข้ามาในเรื่องก้อง แต่ก่อนไม่เข้าใจว่ายื่นเข้ามาทำไม ไม่เห็นมีมูลเลย เข้าใจว่าในเมืองเราแต่ก่อน พ่อค้าต่างประเทศก็ซื้อสินค้าตรงจากราษฎรไม่ได้ ต้องให้พระคลังสินค้าซื้อให้ แต่การขายสินค้านั้นไม่ทราบ ทีจะเอาอย่างเมืองจีนมา

การจิ้มก้องขอหองเมืองจีนนั้น อยากทราบอยู่เหมือนกันว่าตั้งต้นมาแต่ครั้งไหน คงไม่ใช่ครั้งกรุงธนและกรุงรัตนโกสินทร์ คงประเดิมมาแต่ครั้งกรุงเก่าเรื่องพระเจ้ารามกำแหงไปเมืองจีน และเรื่องสมเด็จพระนเรศวรรับอาสาพระเจ้ากรุงจีนตียิดป๋อง (ญี่ปุ่น) ก็ได้พบ เว้นแต่ไม่อยากเชื่อ เราติดจะขึ้นปากเมืองจีนพระเจ้ากรุงจีนกันมาก มีนิทานที่แต่งกล่าวไปถึงอยู่มากมาย เห็นจะต้องการให้เรื่องแปลกเอาต่างภาษาเข้ามาแกม ชนิดเก้าทัพแห่งเรื่องพระอภัยฉะนั้น แต่การที่พระเจ้ากรุงจีนวางยศใหญ่เกินควรนั้นเป็นแน่ แม้เข้าเฝ้าก็ไม่ให้เงยหน้า จนเราแกล้งกล่าวกันว่า พระเจ้ากรุงจีนหน้าเป็นหมา ซ้ำผูกนิทานเรื่องศรีธนญชัยประกอบเข้าด้วย เป็นทำอุบายกินผักบุ้งไต่ราวหลอกเพื่อจะดูหน้า เหตุพระเจ้ากรุงจีนทำยศใหญ่เกินควรนั้นเอง จึงพาให้ข้าราชการทำยศใหญ่เกินควรไปด้วย มีจงต๊กเมืองกึงตั๋งเป็นต้น

พระราชลัญจกร “มหาโลโต” องค์ต้นซึ่งมีอยู่บัดนี้จะเป็นของที่จีนให้มาเมื่อไร คงไม่ใช่ชั้นกรุงเก่า เพราะของครั้งกรุงเก่าไม่ปรากฏว่าได้อะไรมาเลย นอกจากของเล็กน้อยซึ่งเก็บได้จากหัวเมืองที่ไม่ได้เสียแก่พม่า

พวกโจรไต้เผงนั้น เข้าใจว่าตรงกับที่ฝรั่งเรียกว่าพวก “บอกเซอ”

หนังสือความเห็น เคาซิลออฟสะเตต ในเรื่องก้องเมืองจีนตามที่ตรัสระบุว่ามีในหอสมุดนั้น เกล้ากระหม่อมได้ดู และยิ่งกว่านั้น ซ้ำได้คัดรายชื่อไว้ด้วย เพราะอยากทราบว่าใครเป็นบ้าง มีรายชื่ออยู่ ๑๕ คนด้วยกัน มีบันทึกท้ายชื่อว่าใครเห็นควรอย่างไร นอกจากควรไปและไม่ควรไปก็ยังมีเดินสายกลางอีกพวกหนึ่งเป็นรอ คือรอฟังคำขอที่จะไปขึ้นท่าเมืองเทียนจิ๋นว่าจีนจะตอบมาอย่างไร จะคัดบัญชีรายชื่อตามที่จดไว้ถวายในบัดนี้

๑. เจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ ไป
๒. เจ้าพระยาภาณุวงษ์มหาโกษาธิบดี ไป
๓. เจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง รอ
๔. พระยาอภัยรณฤทธิ รอ
๕. เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ ไม่
๖. พระยาราชวรานุกูล ไม่
๗. พระยากษาปน์กิจโกศล รอ
๘. พระยาเจริญราชไมตรี รอ
๙. พระยาราชโยธา รอ
๑๐. เจ้าพระยาภูธราภัย ไป
๑๑. กรมพระราชวังบวร ไม่
๑๒. พระยากลาโหมราชเสนา ไป
๑๓. สมเด็จกรมพระบำราบปรปักษ์ ไม่
๑๔. พระยาภาสกรวงศ์ ไม่
๑๕. พระยาธรรมจรรยานุกูลมนตรี ไม่

ตามบันทึกที่จดหมายไว้นั้นมีไป ๔ รอ ๕ ไม่ ๖ แต่เกล้ากระหม่อมอ่านข้อความตามหนังสือเห็นไปว่าจดบันทึกผิดอยู่ ๒ ชื่อ คือสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระบำราบปรปักษ์ กับพระยาธรรมจรรยานุกูลมนตรี จดไว้ว่าไม่แต่ดูข้อความเห็นเป็นว่าควรรอฟังดูก่อน ถ้าตามที่เกล้ากระหม่อมสังเกตเห็นก็เป็นว่า ไป ๔ ไม่ ๔ รอ ๗ ที่ลงควงไว้นั้นลงชื่อร่วมกันมาในฉบับเดียว

ให้นึกอยากทราบขึ้นมา ว่าคำ “จิ้มก้อง” จะแปลเอาความได้หนักเบาประการใด ครั้นพบพระเจนจึงถามดู ได้ความว่า “จิ้ม” แปลว่าให้ “ก้อง” แปลว่าของกำนัล ไม่มีหนักหนาอะไรอยู่ในคำนี้ ไปหนักหนาอยู่ในคำ “หอง” แปลว่าแต่งตั้ง เพราะฉะนั้นถ้าเป็นแต่จิ้มก้องก็ไม่เสียหายอะไร แต่ถ้าขอหองด้วยแล้วอาการหนัก ตกเป็นเมืองขึ้น เพราะเราไปขอหองเข้า จิ้มก้องจึงกลายเป็นบรร ณาการที่ ๓ ปีต้องส่งครั้งหนึ่งจนถึงทวงกัน “โลโต” แปลว่าอูฐ พระเจนบอกว่าเป็นสิ่งที่หมายเจ้ายศประเทศราช

เบ็ดเตล็ด

ตามที่ได้กราบทูลมา ว่าเขาห้ามไม่ให้ส่งหนังสือพิมพ์ซึ่งไม่ใช่ภาษาอังกฤษเข้ามาในประเทศมลายูนั้น บัดนี้ได้พบหนังสือพิมพ์ซึ่งพูดเรื่องนั้นเข้าอีก จึงได้ตัดส่งมาถวาย

ขอประทานโทษที่กราบทูลมาคราวก่อน ถึงผู้ที่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ส.ม. สามคนนั้น ผิดไปคนหนึ่ง คือ พระเวชยันต์รังสฤษดิ ที่ถูกเป็นพระยาอภิบาลราชไมตรี เหตุที่ทูลผิดก็เพราะไม่รู้จักตัวบุคคล ถามเขาเขาบอกอย่างไรก็ทูลมาอย่างนั้นบอกผิดจึงผิดไป

ตามที่กราบทูลมาก่อน ว่าข่าวรบฟังยากนั้น แต่ก็จำต้องฟังว่าเขาพูดว่ากระไรกัน การที่ทรงซื้อหนังสือพิมพ์เพิ่มขึ้นอีกฉบับหนึ่งนั้นก็ชอบแล้ว แต่ไม่จำเป็นต้องเชื่อข่าวในหนังสือพิมพ์นั้นไปหมดทุกอย่าง

บรรเลง

เมื่อได้กราบทูลถึงเรื่อง “ก้อง” กับนิทานอันเกี่ยวถึงเมืองจีน และพระเจ้ากรุงจีน ก็ทำให้คิดเฟื่องไปถึงเรื่องนางสร้อยดอกหมากและเรื่องพระนางเชิง ให้นึกรู้สึกขันในใจที่คาดคำ “พนัญเชิง” เป็น “พระนางเชิง” ไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการ ที่แท้คำ “พนัญเชิง” “พนังเชิง” “แพนงเชิง” เป็นคำเดียวกัน เป็นภาษาเขมร เห็นจะแปลว่า ไขว้ขา เช่นไก่แพนงก็ว่าไก่ไขว้ขา ที่ว่าทั้งนี้โดยอาศัยคำในมหาชาติคำหลวง ซึ่งมีว่า “ก็นั่งพับแพนงเชิง” คำแพนงเชิงเป็นแน่ ว่าหมายถึงพระพุทธรูปที่มีพระอาการนั่งขัดสมาธิ คำนี้ทำให้สงสัยไปถึงคำ “เลไลย” ว่าจะหมายถึงพระพุทธรูปชนิดมีพระอาการนั่งห้อยพระบาทอย่างนั่งเก้าอี้ อันเป็นของคู่กันกับนั่งขัดสมาธิเสียดอกกระมัง ที่เราเรียกกันว่า “พระป่าเลไลย” เกรงจะหมายเป็นว่าพระเลไลยอย่างที่วัดป่าเมืองสุพรรณ ชาวเมืองนั้นเขาเรียกวัดนั้นกันก็ว่าวัดป่าเท่านั้น หรือจะเป็นเรียกตัดก็ไม่ทราบแน่ แต่เมื่อเทียบกับเมืองเขมร ที่นั่นก็มีวัดเรียกว่าวัด “โลเลย” (อ่านเล สะกด ย แต่หนังสือเขียนเป็น เล ไลย) ไม่มีคำว่าป่า หรือ ปา นำ ที่มาเขียนกันเป็น ปาเลลัยก์ ว่ามาแต่ชื่อช้าง ปาลิลยก เกรงจะเป็นลากเอาเข้าเรื่อง พระนั่งห้อยพระบาทของเก่าๆ มีเป็นอันมาก ทั้งมีอยู่หลายปางด้วย แต่ก็ไม่เห็นมีรูปช้างอยู่ด้วยสักปางเดียว แม้ที่วัดป่าเมืองสุพรรณเดิมก็ไม่มีรูปช้าง เพิ่งทำเติมกันขึ้นใหม่ๆเอาไว้ที่เสาดูห่างเห็นเต็มที เกรงว่าที่ทำรูปช้างไว้ด้วยจะเป็นของใหม่ เมื่อลากเอาคำป่าเลไลย ไปเป็น ปาลิลยกเข้าแล้ว

คำซึ่งคาดผิดไปอย่างพระนางเชิงเช่นนี้มีอยู่มาก เช่นปราสาทพิมาย เกล้ากระหม่อมก็ทราบว่ามีตำนาน ครั้นไปถึงนั่นก็ติดตามมาดู แต่อ่านไปได้สองสามใบสมุดก็ลาเลิก เพราะเห็นเหลวเต็มที แต่ฝ่าพระบาททรงทราบตรัสบอกว่าคำพิมายนั้น เขาแปลว่าพี่มา เมื่อได้ปรารภกับสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ถึงชื่อปราสาทพิมายนั้นท่านเห็นว่าไม่มีที่สงสัยเลย คำพิมายนั้นเป็นพระนามพระพุทธเจ้าตรงทีเดียว คือวิมายาผู้ไม่มีมายา ตรงกับพระนามอะไรท่านบอกให้ตัวอย่าง แต่เกล้ากระหม่อมลืมเสียแล้ว

ยังมีอีกเรื่องหนึ่งในตำนาน พระชินราช พระชินสีห์ว่าพระอินทรแปลงเป็นตาปะขาวมาทำ ครั้นทำแล้วก็กลับไปหายตัวที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง บ้านหมู่นั้นจึงได้ชื่อว่าบ้านปะขาวหาย แล้วกลายเป็นบ้านเต่าหาย แต่ฝ่าพระบาทตรัสวินิจฉัยว่าเตาไหที่ตั้งเตาเผาไหในแขวงพิษณุโลก ขอถวายอนุโมทนาสาธุการอย่างล้นพ้น ได้ความใกล้กับคำเดิม ทั้งมีพยิงพยานประกอบอยู่ด้วย ที่ผูกเป็นว่าบ้านปะขาวหายนั้นไกลร้อยโยชน์แสนโยชน์

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ