วันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๑๓ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๒

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

ลายพระหัตถ์เวร ฉบับลงวันที่ ๑ เมษายน ซึ่งหม่อมฉันทูลว่าหายไปนั้น เพิ่งมาถึงปีนังเมื่อคราวเมล์วันพฤหัสบดีและพนักงานไปรษณีย์นำมาส่งวันศุกร์ที่ ๗ เมษายน เมื่อหม่อมฉันได้ส่งจดหมายเวรของหม่อมฉัน ฉบับที่ปรารภถึงลายพระหัตถ์หายไปแล้วในวันก่อน ยังประหลาดใจที่จดหมายของคนอื่นลงวันที่ ๑ เมษายนวันเดียวกัน หรือก่อนขึ้นไปจนถึง วันที่ ๓๐ มีนาคม ก็ค้างทางมาถึงด้วยกันในวันนั้น จึงสันนิษฐานว่าเห็นเป็นเพราะเวลาตรุษจีนนั่นเองเป็นเหตุ

ถึงวันจันทร์ที่ ๑๐ เมษายน หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวร ฉบับลงวันที่ ๘ เมษายน ตรงตามกำหนด แต่ซ้อนฉบับก่อนที่ยังมิได้ทูลตอบ จึงจะทูลสนองความทั้ง ๒ ฉบับรวมกันในจดหมายเวรฉบับนี้

ขอทูลขอบพระคุณที่ประทานพรปีใหม่ในลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑ เมษายนก่อน

พระดำริถึงเหตุที่เรียก “นครวัด” ตรงกับความคิดของหม่อมฉัน คำเรียกว่า “นคร” หมายว่าสร้างอย่างเมืองนครธม หมายความแต่ว่าเป็นเมืองใหญ่ ผู้แต่งโคลงยวนพ่ายเขารู้จักชื่อจึงว่า “ยังยะโสธรคล้ายเคลื่อนพล” แต่ชื่อสูญเสียในสมัยเมื่อเป็นเมืองร้าง จึงเรียกกันว่านครธม นครน้อยที่อยู่อีกแห่ง ๑ ไม่ร้างเพราะมีวัดพระสงฆ์อยู่ในบริเวณ จึงเรียกว่า “นครวัด” ให้ต่างกับนครธม

เรื่องคลองเตร็ดเชียงรากน้อยนั้น หม่อมฉันเชื่อว่ามีจริง แต่มันนมนานจนตื้นเขินเป็นห้วงเป็นตอนไปเสียแล้ว ชื่อจึงมีแต่ตอนปากคลอง ต้นเค้าของคลองเตร็ดมีองค์ ๒ องค์ที่ ๑ คือ สายน้ำฝนไหลลงจากที่ลุ่มไปหาที่ต่ำ น้ำไหลไปทางไหนเชี่ยวก็กัดแผ่นดินที่เป็นฝั่งให้พัง ถ้าฝั่งตรงไหนมีอะไรแข็งขัดสายน้ำก็แปรไปกัดฝั่งทางที่อ่อน จึงทำให้ลำน้ำคดค้อม องค์ที่ ๒ ล่วงเวลาช้านานมาลำน้ำบางแห่งคดค้อมหนักขึ้น ทำให้มนุษย์ลำบากในการใช้เรืออ้อมมากนัก มนุษย์ก็ขุดคลองลัด ต้นเหตุมันเท่านี้เอง

ลัดโพธิ์ที่จังหวัดพระประแดงนั้นมีเรื่องในพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ ว่าน้ำกัดลัดโพธิ์กว้างออกจนน้ำเค็มขึ้นมาถึงพระนคร จึงโปรดให้เกณฑ์กำลัง และเสด็จลงไปปิดลัดโพธิ์ด้วยกันกับกรมพระราชวังบวรจนสำเร็จ หม่อมฉันได้เคยไปดูที่ลัดโพธิ์ ลัดนั้นสั้นมาก ดูแต่ปากคลองข้างเหนือแลเห็นต้นไม้ริมฝั่งทางปากคลองข้างใต้ และเป็นคลองกว้างเห็นจะราวเท่าคลองเตร็ดน้อย การที่ปิดลัดโพธิ์จะยากอยู่ จึงถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ต้องเสด็จลงไปทรงอำนวยการกับกรมพระราชวังบวร ก้อนศิลาที่ถมยังแลเห็นได้อยู่ ส่วนคลองปากลัดบัดนี้ (บางทีจะเป็นคลองสำหรับชาวบ้านใช้เรือเล็กๆ อยู่แต่ก่อน) หม่อมฉันเข้าใจว่าขุดเมื่อรัชกาลที่ ๒ สมัยเมื่อเตรียมรบญวน ให้สร้างป้อมที่เมืองสมุทรปราการ และเมืองนครเขื่อนขันธ์ จึงให้ขุดคลองลัดขึ้นใหม่ สำหรับเป็นทางคมนาคมในเวลาทำสงคราม หม่อมฉันเคยได้อ่านในหนังสือฝรั่งแต่ง จะเป็นครอเฟิดหรือเบอรนีจำไม่ได้แน่ ว่าไทยไม่ยอมให้ชาวต่างประเทศไปทางคลองลัดนั้น ลัด “หลวง” ที่ขุดใหม่นี้อยู่ข้างเหนือปากลัดโพธิ์มาไม่ไกลนัก เป็นคลองยาวกว่าลัดโพธิ์มาก แคบกว่าลัดโพธิ์ด้วย ถึงกระนั้นน้ำเค็มก็ยังขึ้นได้เป็นแต่น้อยลง ถึงฤดูร้อนต้องถมดินปิดคลองลัดกันน้ำเค็มทุกปี จนถึงฤดูฝนน้ำเหนือหลากจึงเปิดทำนบคลองลัดให้ใช้เรือ จะเป็นเช่นนั้นมาแต่รัชกาลที่ ๒ หรือ ๓ หม่อมฉันไม่ทราบ ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อเจ้าพระยารัตนาธิเบศร (พุ่ม) แรกเป็นที่สมุหพระกลาโหมจะทำบุญได้บริจาคทรัพย์สร้างประตูน้ำที่ในคลองลัดเพื่อจะมิให้ต้องถมและรื้อทำนบทุกปี แต่ช่างผู้สร้างประตูน้ำนั้นหย่อนความรู้ สร้างแล้วไม่ช้าสายน้ำก็กัดดินโคลนไหลลอดใต้ประตูน้ำได้ ในไม่ช้าประตูน้ำนั้นก็พังกลับต้องใช้วิธีถมทำนบอย่างเดิม ปีหนึ่งในสมัยเมื่อเสด็จประชุมเสนาบดี ณ พระที่นั่งมุขมาตยสมาคมเสมอนั้น น้ำเค็มขึ้นมาถึงพระนคร มีพระราชดำรัสถามเสนาบดีกระทรวงนครบาล กราบบังคมทูลว่าได้มีตราตั้งกำชับพระขยันสงครามผู้รั้งเมืองนครเขื่อนขันธ์ไปแล้ว แต่ต่อมาน้ำในแม่น้ำที่กรุงเทพ ฯ ก็ยังไม่คลายเค็ม กรมหลวงประจักษ์อยากทราบความจริง เสด็จลงไปทอดพระเนตรที่ปากลัด เห็นทำทำนบไว้พอเป็นกิริยาบุญสำหรับหาผลประโยชน์ โดยอ้างว่าถ้าเรือใครจะข้ามทำนบพวกรักษาทำนบเรียกเอาเงินค่าช่วยเข็นข้ามทำนบ กรมหลวงประจักษ์นำความกลับมากราบทูล ดำรัสแก่เสนาบดีกระทรวงนครบาลว่า ถ้าน้ำในแม่น้ำไม่หายเค็มจะเฆี่ยนพระขยันสงคราม น้ำก็หายเค็มตามรับสั่ง พวกเราจึงพูดกันว่า “ปิดลัดด้วยหวาย” ท่านคงจะยังทรงจำได้ แต่นั้นพอถึงฤดูแล้งกรมหลวงประจักษ์ก็เลยถือเป็นหน้าที่เสด็จลงไปตรวจการปิดปากลัดทุกปี

แต่นี้จะทูลตอบลายพระหัตถ์เวร ฉบับลงวันที่ ๘ เมษายนติดต่อไป

ส้มจั๊ฟฟายังไม่สิ้นฤดู หม่อมฉันมีโอกาสที่จะฝากได้อีก จึงฝากมาในคราวส่งจดหมายฉบับนี้ด้วยอีกครั้ง การฝากของไปมาในระหว่างปีนังกับกรุงเทพฯ ดูชอบกล บางคาบไม่สามารถจะฝากได้หลายเดือน บางคาบก็มีโอกาสติดๆ กัน เวลานี้หม่อมฉันไม่ได้รับอาหารหรือสิ่งของส่งมาจากบ้านนานแล้ว เห็นจะได้ต่อเมื่อหญิงมารยาตรหรือหญิงใหญ่ออกมา

ที่กรมหลวงสิงห์ประชวรนั้น หม่อมฉันรำคาญใจมาก ใครๆ ก็รู้ว่าเธอเป็นคนมีโรคประจำตัวมาช้านานแล้ว อ้วนโตก็โตเสียเปล่า ไม่มีกำลังวังชาที่จะทนทรมานอย่างใดได้ เมื่อเธอออกมาอยู่ที่ปีนังก็ประชวรมา แต่ประหลาดที่มาถูกกับอากาศปีนัง ค่อยสบายขึ้นเป็นลำดับมา เป็นปกติไม่มีอาการประชวรมากว่า ๓ ปี ถึงพระองค์หญิงประเวศเมื่อแรกเสด็จมาดูก็ทรุดโทรม นั้นเป็นด้วยโรคประจำพระชันษา แต่เสด็จมาอยู่ได้สักสามสี่เดือนก็แจ่มใสขึ้นจนหายเป็นปกติ สบายตลอดเวลาหลายปีที่เธอเสด็จอยู่ปีนัง ตั้งแต่เสด็จกลับเข้าไปกรุงเทพฯ หม่อมฉันได้ข่าวแต่ว่าไม่ทรงสบายทั้ง ๒ พระองค์ เมื่อวันพุธที่ ๕ หม่อมฉันได้รับโทรเลขหลานชายทรงวุฒิไชยมีมา ว่ากรมหลวงสิงห์ประชวร ขอให้หม่อมฉันซื้อน้ำแร่ฝรั่งเศสอย่าง ๑ ซึ่งเธอเคยเสวยเมื่ออยู่ปีนังส่งเข้าไปทางรถด่วน รุ่งขึ้นหม่อมฉันให้ไปเที่ยวหา เจ้าจำนำผู้ขายน้ำแร่อย่างนั้นบอกว่าน้ำแร่อย่างนั้นคนอื่นไม่มีใครชอบกิน มีแต่กรมหลวงสิงห์พระองค์เดียว เมื่อเวลาเธอเสด็จอยู่ปีนังเขาจึงสั่งน้ำแร่อย่างนั้นมาสำรองไว้ขายกรมหลวงสิงห์ ครั้นกรมหลวงสิงห์เสด็จกลับกรุงเทพฯ แล้ว เขาก็เลิกมิได้สั่งน้ำแร่อย่างนั้นมาขายอีก ให้ไปลองเที่ยวไปหาตามร้านขายยาในปีนังนี้ก็ไม่มี จึงได้แต่โทรเลขตอบไปว่าให้คิดหาซื้อทางไซ่ง่อน ต่อมาหม่อมฉันได้รับจดหมายหญิงจงเล่าพระอาการกรมหลวงสิงห์มาให้ทราบ สังเกตดูจะเป็นโรค ๒ อย่างระคนกัน คือ อัมพาต อย่าง ๑ กับโรคในพระวักกะ ซึ่งเคยเป็นประจำพระองค์กำเริบขึ้น อย่าง ๑ จึงพาให้วิตกยิ่งขึ้น แต่ยังหวังว่าจะรักษาให้หายได้

หม่อมฉันได้ทูลไปในจดหมายฉบับก่อน ว่าจะแต่งอธิบายเรื่องค้าสำเภาส่งมาถวายประดับพระปรีชาญาณ แต่งเสร็จแล้วจึงส่งมาถวายพร้อมกับจดหมายฉบับนี้ ยังนึกขึ้นได้ถึงเรื่องพิธีตรุษอีกเรื่อง ๑ จะเขียนวินิจฉัยถวายต่อไปในคราวอื่น.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ