วินิจฉัยพระยศเจ้านายที่เรียกว่า “กรมสมเด็จ” หรือ “สมเด็จกรม”

จะต้องตั้งต้นด้วยวินิจฉัยคำที่ว่า “สมเด็จ” คำว่า “เจ้าฟ้า” และคำว่า “กรม” ๓ คำนี้ก่อน คำทั้ง ๓ นี้มีหลักฐานพอชี้ได้ว่าเกิดแก่แหล่งต่างกัน ไทยเราเอามาใช้เป็นยศเจ้าชายในสมัยต่างกัน

คำว่า “สมเด็จ” ดูใช้ในที่หมายความว่า “เป็นอย่างยอด” ใช้ประกอบกับยศบุคคลชั้นสูงสุดหลายชนิด เช่นว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระชนนี สมเด็จพระอัครมเหสี สมเด็จพระเจ้าพี่นาง (และน้องนาง) เธอ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ สมเด็จเจ้าพระยา และสมเด็จพระราชาคณะ ล้วนหมายความว่าเป็นยอดในบุคคลชนิดนั้น คำ “สมเด็จ” มิใช่ภาษาไทย และไม่ปรากฏว่าไทยพวกอื่นใช้ นอกจากไทยกรุงศรีอยุธยา จึงสันนิษฐานว่าได้คำสมเด็จมาจากเขมร ปรากฏใช้นำหน้าพระนามพระเจ้าแผ่นดินในกฎหมายมาตั้งแต่รัชกาลพระเจ้าอู่ทอง

คำว่า “เจ้าฟ้า” ความหมายว่า “เทวดาจุติลงมาเกิด” เป็นคำภาษาไทยและชนชาติไทยใช้มาตั้งแต่ยังอยู่บ้านเมืองเดิม อันอยู่ในแดนจีนบัดนี้ เดิมเรียกแต่เจ้าครองเมืองว่า “เจ้าฟ้า” เมื่อพวกไทยใหญ่ยพยพไปตั้งบ้านเมืองต่อแผ่นดินพม่าก็เรียกเจ้าครองเมืองของตนว่า “เจ้าฟ้า” เมื่อตกเป็นประเทศราชขึ้นพม่า พม่าก็เรียกว่า “เจ้าฟ้า” สืบมาอย่างเดิม แต่ประหลาดอยู่ที่พวกไทยน้อยซึ่งลงมาตั้งบ้านเมืองต่างอาณาเขต เช่น ประเทศลานช้างก็ดี ลานนาก็ดี กรุงสุโขทัยก็ดี กรุงศรีอยุธยาก็ดี ไม่ใช้คำเจ้าฟ้ามาแต่เดิมเหมือนพวกไทยใหญ่ อาณาเขตไทยน้อยพวกอื่นจะยกไว้ กล่าวแต่เฉพาะกรุงศรีอยุธยาแต่เดิมมาเช่นในกฎหมายมนเทียรบาลเป็นต้น ก็หามียศเจ้าฟ้าปรากฏไม่ แรกปรากฏไปพบในหนังสือพงศาวดารพม่า ว่าพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองตั้งพระมหาธรรมราชาซึ่งครองเมืองพิษณุโลก (พระชนกของสมเด็จพระนเรศวร ฯ) เมื่อยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าหงสาวดีให้เป็น “เจ้าฟ้าสองแคว” (สองแควเป็นชื่อเดิมของเมืองพิษณุโลก) อย่างเดียวกับเจ้าฟ้าประเทศราชไทยใหญ่ เป็นแรกที่จะใช้ยศ “เจ้าฟ้า” ในไทยกรุงศรีอยุธยา ข้อนี้มีหลักฐานทางฝ่ายไทยรับรองอยู่ในกฎหมายลักษณกบถศึกบท ๑ ซึ่งสมเด็จพระเอกาทศรถทรงตั้งในบาญแพนก เรียกพระนามสมเด็จพระนเรศวรมหาราชว่า “สมเด็จบรมบาทบงกชลักษณอัครบุริโรดม บรมหน่อนราเจ้าฟ้านเรศวร์ เชษฐาธิบดี” ดังนี้ คงเป็นเพราะเคยมีคำ “เจ้าฟ้า” อยู่ในพระสุพรรณบัฏตามสร้อยพระนามสมเด็จพระบรมชนกนาถ และยังปรากฏต่อไปอีกอย่างหนึ่ง ว่าสมเด็จพระเอกาทศรถทรงเลิกคำเจ้าฟ้าไม่ใช้ในสร้อยพระนามพระเจ้าแผ่นดินต่อมา เอาคำเจ้าฟ้าลดลงมาใช้เป็นยศเจ้านายชั้นสูง ด้วยทรงตั้งพระราชโอรสผู้จะรับรัชทายาทให้เป็นเจ้าฟ้า ทรงพระนามว่า “เจ้าฟ้าสุทัศน์” เป็นพระองค์แรก แต่นั้นคำเจ้าฟ้าก็ใช้เป็นยศของพระเจ้าลูกเธอที่พระมารดาเป็นเจ้า ถ้าเป็นลูกพระมเหสีเรียกว่า “สมเด็จเจ้าฟ้า” ถ้ามิใช่ลูกพระมเหสีเรียกแต่ว่า “เจ้าฟ้า” และขยายต่อลงไปอีกชั้นหนึ่งถึงหลานเธอที่พระบิดามารดาเป็นเจ้าฟ้าด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่ายก็เป็นเจ้าฟ้า

คำว่า “กรม” นั้นเป็นแต่ชื่อสังกัดคนพวกหนึ่ง ซึ่งจัดเป็นพนักงานทำราชการอย่างใดอย่างหนึ่ง มีชื่อกรมต่างๆ ปรากฏอยู่ในกฎหมายทำเนียบศักดินาเป็นอันมาก ถ้าสังเกตในทำเนียบนั้นจะเห็นได้ว่าชื่อกรมกับชื่อเจ้ากรมต่างกัน ยกตัวอย่างดังเช่นกรมชื่อ “สรรพากรนอก” เจ้ากรมชื่อว่า “หลวงอินทรมนตรี” ดังนี้ ถึงตัวเจ้ากรมจะได้เลื่อนยศเป็นพระหรือเป็นพระยา ชื่อกรมก็คงเรียกว่า กรมสรรพากร อยู่เป็นนิจ

การตั้งกรมเจ้านายแรกเกิดขึ้นเมื่อรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มูลเหตุที่จะตั้งกรมพบในหนังสือฝรั่งแต่งในสมัยนั้นเรื่อง ๑ (จะเรียกว่าเรื่องอะไรเวลาที่เขียนนี้นึกไม่ออก) กล่าวว่าเมื่อพระอัครมเหสีของสมเด็จพระนารายณ์ ฯ ทิวงคต โปรดให้แบ่งพวกข้าคนของพระอัครมเหสีเป็น ๒ ภาค พระราชทานสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ (เจ้าฟ้าศรีสุพรรณ) ภาค ๑ พระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ (เจ้าฟ้าหญิงสุดาวดี) ภาค ๑ พิเคราะห์ดูสมกับความที่กล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดาร ว่าสมเด็จพระนารายณ์ทรงตั้งสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเป็นกรมหลวงโยธาเทพ และทรงตั้งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเป็นกรมหลวงโยธาเทพ แต่พึงเห็นได้ว่ากรมทั้ง ๒ นี้ไม่มีชื่อกรม เช่นว่ากรมสรรพากร มีแต่ชื่อเจ้ากรม คือหลวงโยธาทิพย์และหลวงโยธาเทพ เช่นชื่อหลวงอินทรมนตรีเจ้ากรมสรรพากร เพราะกรมทั้ง ๒ เป็น “ขอเฝ้า” สำหรับเจ้านาย พระองค์ทรงใช้สอยชั่วพระชนมายุ ถ้าสิ้นพระองค์เจ้านายเมื่อใดกรมนั้นก็เลิก คือเป็นกรมมีชั่วคราวมิใช่กรมประจำราชการ อันนี้เป็นมูลเหตุที่เรียกชื่อเจ้ากรมเป็นชื่อกรมด้วย เพราะไม่มีชื่ออื่นจะเรียกกรมทั้ง ๒ นั้น แล้วเลยออกนามกรมเรียกเจ้านายผู้เป็นเจ้าของกรมว่า “เจ้าฟ้า” (ของ) กรมหลวงโยธาทิพ และเจ้าฟ้า (ของ) กรมหลวงโยธาเทพ เป็นการเฉลิมพระยศว่าวิเศษกว่าเจ้านายที่ไม่มีกรม เช่นเจ้าฟ้าอภัยทศเป็นต้น มูลเดิมของการตั้งกรมเจ้านายมีมาอย่างนี้ หาได้ตั้งนามกรมเป็นพระนามของเจ้านายไม่

กรมเจ้านายชั้นแรกในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีแต่ “กรมหลวง” ต่อมาถึงรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา มี “กรมพระ” กับ “กรมขุน” เพิ่มขึ้น ถึงรัชกาลพระเจ้าบรมโกศมี “กรมหมื่น” เพิ่มขึ้น กรมของเจ้านายจึงยุติเป็น ๔ ชั้น

กรมพระ สำหรับแต่ พระมหาอุปราช กรมพระราชวังหลัง และสมเด็จพระชนนีพันปีหลวง

กรมหลวง สำหรับ พระมเหสี พระบัณฑูรน้อย สมเด็จพระเจ้าน้องเธอ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ

กรมขุน สำหรับ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ

กรมหมื่น สำหรับ พระองค์เจ้าลูกเธอ และเจ้าพระญาติตั้งเป็นพิเศษ แบบอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยามีมาดังนี้

ถึงรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อประดิษฐานพระบรมราชจักรีวงศ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงตั้งยศศักดิ์เจ้านายอนุโลมตามแบบอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยา เป็นแต่แก้ไขบ้างตามพฤติการณ์ จะว่าแต่พระยศชั้นกรมพระ อันเป็นท้องเรื่องวินิจฉัยนี้

๑) ชั้นกรมพระ ทรงตั้งสมเด็จพระอนุชาธิราช เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล และสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศ เป็นกรมพระราชวังบวรสถานภิมุข ตรงตามแบบเดิม แต่ครั้งนั้นไม่มีองค์สมเด็จพระชนนี และตามแบบเดิมก็ไม่เคยมีสมเด็จพระเจ้าพี่นาง จึงทรงตั้งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ ๒ พระองค์เป็นกรมพระ เทียบเสมอศักดิ์สมเด็จกรมพระเทพามาตย์ พระราชชนนีตามตำรา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดีพระองค์ ๑ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์พระองค์ ๑ เรียกโดยย่อว่า สมเด็จกรมพระเทพสุดาวดี และสมเด็จกรมพระศรีสุดารักษ์ คำสมเด็จหมายความว่าเป็นเจ้าฟ้า มิได้เกี่ยวกับนามกรม

มีความในหนังสือพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ แห่งหนึ่ง ว่าเมื่อศึกพม่าครั้งปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๒๘ “พระยาเทพสุดาวดี” เจ้ากรมของสมเด็จพระพี่นางพระองค์ใหญ่ เป็นผู้เชิญกระแสรับสั่งขึ้นไปเร่งกรมพระราชวังหลัง ซึ่งเป็นพระโอรสของสมเด็จพระพี่นางพระองค์นั้น ให้รีบตีทัพพม่าที่ยกเข้ามาในมณฑลนครสวรรค์ ชื่อพระยาเทพสุดาวดีที่ปรากฏในหนังสือพงศาวดารนั้น เป็นมูลเหตุที่พาให้คนภายหลังเข้าใจไปว่า สมเด็จพระพี่นางพระองค์ใหญ่เป็นกรมชั้นสูงกว่าสมเด็จพระพี่นางพระองค์น้อย เพราะเจ้ากรมเป็นพระยา ถึงเกิดเรียกพระนามกันในสมัยนี้ว่า “สมเด็จกรมพระยาเทพสุดาวดี” เป็นการเข้าใจผิด เพราะในรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลอื่นต่อมาจนตลอดรัชกาลที่ ๓ พระยศเจ้านายต่างกรม “กรมพระ” ยังเป็นชั้นสูงสุดเหมือนอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยา ที่เจ้ากรมเป็นพระยาเป็นส่วนตัวบุคคลต่างหาก เช่นว่า นาย “ก” ผู้เป็นที่พระเทพสุดาวดีเจ้ากรม มีความชอบพิเศษอาจจะโปรดให้เลื่อนยศเป็นพระยา แต่เมื่อสิ้นตัวนาย “ก” แล้ว นาย “ข” ได้เป็นเจ้ากรมก็ต้องเป็นพระเทพสุดาวดี การที่เจ้ากรมได้เป็นพระยาหาได้เลื่อนชั้นกรมด้วยไม่ ข้อนี้พึงเห็นได้ในหนังสือราชการแต่ก่อนเรียกพระนามว่า “สมเด็จกรมพระ” พระยศเสมอกันทั้ง ๒ พระองค์

การตั้งกรมเจ้านายในรัชกาลที่ ๑ ผิดกับครั้งกรุงศรีอยุธยาอย่าง ๑ ที่ไม่ได้ทรงตั้งพระมเหสีเป็นกรมหลวงเหมือนแต่ก่อน จึงเลยเป็นเยี่ยงอย่างมาในรัชกาลภายหลัง แต่ก็คงเรียกพระนามว่าสมเด็จพระพันวัสสาเหมือนอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยา

ถึงรัชกาลที่ ๒ เจ้านายที่เป็นกรมพระในรัชกาลที่ ๑ ล่วงลับไปแล้วทั้ง ๔ พระองค์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงสถาปนาสมเด็จพระชนนีเป็นกรมพระอมรินทรานุมาตย์ เทียบกับกรมพระเทพามาตย์แต่ปางก่อน แต่เห็นจะเรียกกันในรัชกาลที่ ๒ แต่โดยย่อว่า “สมเด็จพระพันปีหลวง” เพราะเรียกสมเด็จพระอัครมเหสีว่า “สมเด็จพระพันวัสสา”

ทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์พระบัณฑูรน้อย เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล

ในรัชกาลที่ ๒ มีกรมพระ ๒ พระองค์ด้วยกัน

ถึงรัชกาลที่ ๓ ทรงสถาปนาสมเด็จพระชนนี เป็นกรมพระศรีสุราลัย เทียบอย่างกรมพระเทพามาตย์ พระองค์ ๑ เมื่อต้นรัชกาลที่ ๓ มีสมเด็จขัติยนารี ๓ พระองค์ เห็นจะเรียกว่าสมเด็จพระอมรินทรฯ พระองค์ ๑ สมเด็จพระพันปี พระองค์ ๑ เพราะพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ไม่มีพระมเหสี สมเด็จพระพันวัสสาในรัชกาลที่ ๒ จึงคงดำรงพระยศ เรียกกันว่า สมเด็จพระพันวัสสาตามเดิมมาตลอดรัชกาลที่ ๓ พระองค์ ๑

ในรัชกาลที่ ๓ พระราชวงศ์มีเพิ่มขึ้นอีกชั้น ๑ คือ “พระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๓ ฐานะเป็นพระเจ้าอาเธอ” ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน แต่เจ้านายชั้นพระเจ้าอาเธอพระชันษาอ่อนกว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ โดยมาก มีแก่กว่าไม่กี่พระองค์ ถึงที่แก่กว่าก็เป็นอย่างรุ่นราวคราวเดียวกัน จึงไม่ทรงบัญญัติคำนำพระนามเจ้านายชั้นพระเจ้าอาเธอขึ้นใหม่ ให้คงใช้ว่าพระเจ้าน้องยาเธอเหมือนเมื่อรัชกาลที่ ๒ มาจนตลอดรัชกาลที่ ๓

ทรงสถาปนา พระเจ้าน้องยาเธอ (ชั้นพระเจ้าอา) กรมหมื่นศักดิพลเสพ เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระองค์ ๑

ในรัชกาลที่ ๓ จึงมีกรมพระ ๒ พระองค์เหมือนอย่างในรัชกาลที่ ๒

ถึงรัชกาลที่ ๔ มีกรณีหลายอย่างที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะต้องทรงจัดระเบียบยศศักดิ์เจ้านาย เป็นต้นแต่ทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรร ซึ่งอยู่ในฐานะจะเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล มีดวงพระชะตาต้องตำราว่า “จะต้องได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน” และองค์สมเด็จพระชนนีนาถ ซึ่งเป็นพระอัครมเหสีในรัชกาลที่ ๒ แต่เสด็จสวรรคตเมื่อรัชกาลที่ ๓ คนทั้งหลายยังเรียกพระนามว่าสมเด็จพระพันวัสสาอยู่อย่างเดิม นอกจากนั้นเจ้านายชั้นพระเจ้าอามีหลายพระองค์ล้วนพระชันษาแก่กว่าพระองค์มาก ไม่เหมือนเมื่อรัชกาลที่ ๓ แม้ชั้นพระเจ้าพี่เธอ อันไม่เคยมีทั้งในรัชกาลที่ ๒ และที่ ๓ ก็มีหลายพระองค์ ยังเจ้านายที่เป็นพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระราชภาคิไนยก็มีขึ้นอีกชั้นหนึ่ง ด้วยเหตุเหล่านี้เป็นต้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงบัญญัติแก้ไขระเบียบพระยศเจ้านายหลายอย่าง คือ

พระราชทานบวรราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรร เป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรงพระยศเหมือนอย่างพระเจ้าแผ่นดินอีกพระองค์ ๑ แทนที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นพิเศษเฉพาะพระองค์เดียวอย่าง ๑ ทรงบัญญัตินามชั้นต่างๆ ในพระญาติวงศ์ เช่นชั้นพระเจ้าอาให้เรียกว่า “พระเจ้าบรมวงศ์เธอ” และพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ เป็นต้น และยังมีชั้นอื่นๆ อีกอย่าง ๑

ทรงบัญญัติพระนามสำหรับเรียกพระอัฐิกรมพระราชวังบวรสถานมงคล รัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ และพระนามเรียกพระอัฐิสมเด็จพระบรมราชชนนี ทั้งพระนามเรียกพระอัฐิพระบรมวงศ์ซึ่งยังไม่มีบัญญัติในขัตติยยศมาแต่ก่อน เช่นพระชนนีของสมเด็จกรมพระอมรินทรามาตย์ ถวายพระนามว่าสมเด็จพระรูปศิริโสภาคมหานาคนารี เป็นต้น บางพระองค์ก็ถวายพระนามอย่างต่างกรม เช่นพระองค์เจ้าหญิงกุ พระเจ้าน้องนางเธอเมื่อรัชกาลที่ ๑” ซึ่งคนทั้งหลายเรียกกันว่า “เจ้าครอกวัดโพธิ” ถวายพระนามว่ากรมหลวงนรินทรเทวี ดังนี้เป็นต้น การตั้งกรมพระอัฐิมีขึ้นในรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมาอย่าง ๑

พระยศเจ้านายต่างกรม อันกรมพระเป็นชั้นสูงที่สุดมาแต่ก่อน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบัญญัติยศกรมพระพิเศษขึ้นใหม่อีกชั้นหนึ่งเรียกว่า “กรมสมเด็จพระ” (มีพระบรมราชาธิบายทรงพระราชนิพนธ์ไว้ ว่าถ้าเอาคำสมเด็จนำหน้าจะไปเหมือนอย่างพระราชาคณะ จึงเพิ่มคำสมเด็จลงข้างหลังคำกรม) ในรัชกาลที่ ๔ ทรงสถาปนาเจ้านายเป็นกรมสมเด็จพระ ๒ พระองค์ คือ

ถวายพระนามพระอัฐิสมเด็จพระบรมราชชนนีเป็น “กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์” พระองค์ ๑ ถวายมหาสมณุตมาภิเษกเลื่อน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนุชิตชิโนรส ซึ่งทรงผนวชอยู่เป็น “พระบรมวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส” พระองค์ ๑

เลื่อนพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมขุนเดชอดิศร เป็นพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมสมเด็จพระเดชาดิศร พระองค์ ๑ มีในประกาศเลื่อนกรมเฉพาะพระองค์นี้พระองค์เดียว ว่าให้ตั้งเจ้ากรมเป็นพระยาอีก ๒ พระองค์ เจ้ากรมเป็นพระ แต่ในพระสุพรรณบัฏที่ทรงตั้งเป็นส่วนพระองค์ เจ้านายทรงพระยศเป็น “กรมสมเด็จพระ” เหมือนกันทั้ง ๓ พระองค์ คือกรมพระชั้นพิเศษมิใช่กรมพระยา ยศพระยาเป็นแต่สำหรับตัวเจ้ากรมบางคน อย่างเดียวกับพระยาเทพสุดาวดีในรัชกาลที่ ๑

รองจากกรมสมเด็จพระทรงตั้งเจ้านายเป็น “กรมพระ” ชั้นสามัญ ๓ พระองค์ คือ

เลื่อนพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนรามอิศเรศ เป็นกรมพระรามอิศเรศ พระองค์ ๑

เลื่อนพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมขุนพิพิธภูเบนทร เป็นกรมพระพิพิธโภคภูเบนทร พระองค์ ๑ ในประกาศเลื่อนกรมเฉพาะพระองค์นี้ให้ทรงตั้งเจ้ากรมเป็นพระยา (ได้ยินว่าเพราะตัวผู้เป็นเจ้ากรมในเวลานั้นเป็นราชินิกุลสายบางช้าง) พึงเห็นได้ชัดว่าที่เจ้ากรมเป็นพระยา มิได้พาให้กรมเจ้านายเป็นกรมพระยาไปด้วย

เลื่อนพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นพิทักษเทเวศ เป็นกรมพระพิทักษเทเวศ พระองค์ ๑

การตั้งกรมเจ้านายตามระเบียบ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบัญญัติ ผิดกับระเบียบเก่าเป็นข้อสำคัญบางอย่าง คือ

๑) กรมพระ แต่ก่อนมีแต่พระมหาอุปราชกับสมเด็จพระพันปีหลวง และกรมพระราชวังหลัง ถึงรัชกาลที่ ๔ ทรงบัญญัติว่า พระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ที่พระชันษาแก่กว่าพระเจ้าแผ่นดินอาจเป็นกรมพระได้ แต่ที่พระชันษาอ่อนกว่าพระเจ้าแผ่นดิน เป็นได้แต่กรมหลวง จึงมีจำนวนกรมพระมากขึ้นตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ มา

๒) คำ “สมเด็จ” ที่ใช้ในพระนามเจ้านายแต่เดิมมา หมายความอย่างเดียวว่าเป็นเจ้าฟ้า เช่น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี หรือเรียกโดยย่อว่า “สมเด็จกรมพระเทพสุดาวดี” ตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ มา คำ “สมเด็จ” ในพระนามเจ้านายหมายความต่างกันได้ ๓ อย่าง หมายว่าเป็นเจ้าฟ้าอย่าง ๑ หมายว่าเป็นกรมพระชั้นพิเศษซึ่งไม่จำต้องเป็นเจ้าฟ้าอย่าง ๑ และหมายเป็นยศในพระราชญาติวงศ์ชั้นสูงไม่จำต้องเป็นเจ้าฟ้าอย่าง ๑ เขียนต่างกัน เช่นว่า สมเด็จกรมพระเทพสุดาวดี กรมสมเด็จพระเดชาดิศร และสมเด็จพระรูปศิริโสภาค ดังนี้ แต่คำเรียกด้วยวาจาคนพูดหมายแต่สะดวกปาก จึงเรียกสมเด็จเป็นอย่างเดียวกันว่า สมเด็จพระเทพสุดาวดี สมเด็จพระเดชาดิศร สมเด็จพระรูปฯ ดังนี้

ถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อแรกเสวยราชย์พระราชทานอุปราชาภิเษกพระเจ้าบวรวงศ์เธอ กรมหมื่นบวรวิชัยชาญ เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระองค์ ๑

สถาปนาพระนามพระอัฐิสมเด็จพระชนนี ซึ่งเสด็จสวรรคตล่วงไปก่อนแล้ว เป็นกรมสมเด็จพระเทพสิรินทรามาตย์ มีเจ้ากรมขอเฝ้าเป็นพระ พระองค์ ๑

ตั้งกรมพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองคเจ้าหญิง ลม่อม เป็นกรมพระสุดารัตนราชประยูร (เทียบที่กรมพระเทพามาตย์) พระองค์ ๑

ถึงปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖ เมื่อพระบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒ แล้ว

เลื่อนพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมพระสุดารัตนราชประยูร เป็นพระเจ้ามไหยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร เจ้ากรมเป็นพระยา พระองค์ ๑

เลื่อนสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมขุนบำราบปรปักษ์ เป็นกรมพระ พระองค์ ๑

เลื่อนพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงเทเวศวัชรินทร เป็นกรมพระ พระองค์ ๑

เลื่อนพระเจ้าบวรวงศ์เธอ กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธ์ ซึ่งทรงผนวช เป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ พระองค์ ๑

เลื่อนเจ้าฟ้ากรมพระบำราบปรปักษ์ เป็นกรมสมเด็จพระ เจ้ากรมเป็นพระยา พระองค์ ๑

ถวายมหาสมณุตมาภิเษก กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นกรมสมเด็จพระ เจ้ากรมเป็นพระยา พระองค์ ๑

บรรดาศักดิ์เจ้ากรมของกรมสมเด็จพระเป็นพระยาทุกคน ตั้งแต่เลื่อนกรมครั้งนี้เป็นต้นมา อนึ่ง ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบัญญัติไว้ ว่าพระเจ้าน้องยาเธอเป็นได้เพียงกรมหลวงเป็นอย่างสูงนั้น ในรัชกาลที่ ๕ ทรงอนุโลมตามแบบอย่างพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เคยทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษเทเวศ เป็นกรมพระราชวังบวรสถานภิมุขเป็นพิเศษ จึงทรง

เลื่อนสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรพรรดิพงศ์ เป็นกรมพระ พระองค์ ๑

เลื่อนสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงภาณุพันธุวงศ์วรเดช เป็นกรมพระ พระองค์ ๑

ในรัชกาลที่ ๕ (ถ้าไม่นับกรมพระราชวังบวรสถานมงคล) มีกรมสมเด็จพระ ๔ พระองค์ กรมพระ ๓ พระองค์

อนึ่ง ในรัชกาลที่ ๕ ทรงแก้ไขระเบียบพระยศสมเด็จพระมเหสีตั้งเป็นแบบใหม่ แบบเดิมแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา พระมเหสีเป็นกรมหลวง แต่คนทั้งหลายเรียกว่าสมเด็จพระพันวัสสา ถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ทรงงดการตั้งกรมสำหรับพระมเหสี คงแต่เรียกกันว่าสมเด็จพระพันวัสสามาตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอนุโลมตามแบบในกฎมนเทียรบาลครั้งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งกำหนดศักดิ์ “พระภรรยาเจ้า” (พระมเหสี) เป็น ๔ ชั้น คือ พระอัครมเหสี พระมเหสี พระราชเทวี และพระอัครชายา ทรงสถาปนา

สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี แล้วเลื่อนเป็นสมเด็จพระบรมราชินี เป็นพระอัครมเหสี เจ้ากรมเป็นพระยา พระองค์ ๑ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี เทียบเท่าพระมเหสี พระองค์ ๑ สมเด็จทั้ง ๒ พระองค์นี้มีกรม แต่ไม่ใช้คำ “กรม” ในพระนามดูเหมือนจะเป็นแรก

ในรัชกาลที่ ๕ เปลี่ยนพระยศเจ้านายจากประเพณีที่มีมาแต่ก่อนอีกอย่างหนึ่ง คือเลิกกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงตั้งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช มกุฎราชกุมาร อนุโลมตาม “สมเด็จหน่อพุทธเจ้า” ในกฎมนเทียรบาลครั้งกรุงศรีอยุธยา แทนที่พระมหาอุปราช ไม่ตั้งกรมต่างหาก

มูลเดิมของ “กรม” เจ้านายมามีการเปลี่ยนแปลงเป็นข้อสำคัญในรัชกาลที่ ๕ ด้วยตั้งแต่โบราณมา เจ้านายย่อมมีข้าคนเป็นบริวารทุกพระองค์ บริวารของเจ้านายที่ยังไม่ได้รับกรมมีจางวางเป็นหัวหน้าควบคุม ขึ้นอยู่ในกรมสนมพลเรือน เมื่อเจ้านายพระองค์ใดรับกรมก็แยกข้าคนของพระองค์นั้นออกไปตั้งเป็นกรม ๑ ต่างหาก มีเจ้ากรม ปลัดกรม และสมุห์บัญชีควบคุม ลดศักดิ์จางวางลงมาควบคุมหมวดในกรมนั้น ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อตั้งพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร ปล่อยพลเมืองจากสังกัดกรมต่างๆ ไปอยู่ในปกครองของเทศาภิบาลตามท้องที่ และให้บรรดาชายฉกรรจ์ต้องรับราชการทหารชั่วคราวเสมอหน้ากันทุกคน แทนขึ้นทะเบียนเป็น “เลก” สังกัดอยู่ในกรมต่างๆ อย่างแต่ก่อน ตามพระราชบัญญัตินี้เลิกกรมของเจ้านายหมด แต่นั้นมาคำ “กรม” ก็เป็นแต่ติดอยู่กับพระนามเจ้านาย ไม่มีตัวตน เจ้ากรม ปลัดกรม สมุห์บัญชี ก็กลายเป็นคนรับใช้ เหมือนอย่างฐานานุกรมของพระราชาคณะ จึงนับว่าเลิก “กรม” เจ้านายมาแต่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓

ถึงรัชกาลที่ ๖ ทรงแก้ไขระเบียบพระเกียรติยศเจ้านายหลายอย่าง เป็นต้นแต่แก้พระนามพระอัฐิเจ้านายต่างกรม คือ

๑) กรมพระราชวังบวรสถานมงคล รัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงบัญญัติให้เรียกว่า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พระองค์ ๑ กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ พระองค์ ๑ และกรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพ พระองค์ ๑ นั้น ให้เปลี่ยนคำ “กรมพระราชวังบวร” ที่นำพระนามเป็น “สมเด็จพระบวรราชเจ้า”

๒) สมเด็จพระชนนีพันปีหลวงซึ่งเป็น “กรมสมเด็จพระ” แต่ก่อนมา เปลี่ยนเป็นสมเด็จพระอมรินทร บรมราชินี พระองค์ ๑ สมเด็จพระศรีสุริเยนทรา บรมราชินี พระองค์ ๑ สมเด็จพระเทพสิรินทรา บรมราชินี พระองค์ ๑

๓) ถวายพระนามสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ องค์พระบรมราชชนนี เป็นสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงตั้งตำแหน่งต่าง ๆ ในราชเสวก เป็นทำเนียบข้าราชการในสมเด็จพระพันปีหลวงแทนเจ้ากรมปลัดกรมสมุห์บัญชีอย่างแต่ก่อน พึงเห็นได้ในบรรดาพระนามที่แก้ไขดังกล่าวมา พระนามใดที่เคยมีคำ “กรม” เปลื้องเอาคำ “กรม” ออกจากพระนามทั้งนั้น เอาแต่คำ “สมเด็จพระ” เป็นประธาน แต่คำ “กรม” แม้ไม่มีแก่นสารแล้วก็ยังทิ้งจากพระยศเจ้านายไม่ได้หมด ยังคงใช้ต่อมา เป็นแต่แก้ไขชั้น “กรมสมเด็จพระ” เป็น “สมเด็จฯกรมพระยา” กรมชั้นอื่นนอกนั้นคงอยู่ตามเดิม

การที่แก้ยศกรมสมเด็จพระเป็นสมเด็จกรมพระยานั้น เกิดแต่ต้นรัชกาลที่ ๖ เมื่อสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะถวายมหาสมณุตมาภิเษกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวชิรญาณวโรรส พระอุปัชฌาย์เป็นสมเด็จพระมหาสังฆปรินายก ตัวอย่างเจ้านายที่ได้รับมหาสมณุตมาภิเษกมาแต่ก่อนเป็น “กรมสมเด็จพระ” เหมือนกันทั้ง ๒ พระองค์ แต่ผิดกันที่ยศเจ้ากรมๆ ของกรมสมเด็จพระปรมานุชิต เป็นพระเจ้ากรมของกรมสมเด็จกรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์เป็นพระยา ปัญหาเรื่องกรมพระกับกรมพระยาเกิดขึ้น ด้วยยศเจ้ากรมเป็นพระยา ไม่ตรงกับกรมสมเด็จพระเหมือนเช่นกรมพระ กรมหลวง เป็นต้น สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้า อยู่หัว ตรัสปรึกษากับกรมหลวงวชิรญาณ ทรงกำหนดชั้นกรมเจ้านายให้เป็นระเบียบตรงกับชั้นยศขุนนาง ซึ่งเป็นเจ้ากรม คงตามแบบเดิมตั้งแต่กรมหมื่นขึ้นไปจนถึงกรมพระ ต่อนั้นทรงพระราชดำริจะให้มี “กรมพระยา” (ไม่มีคำสมเด็จ) ขึ้นอีกชั้น และแก้ยศกรมสมเด็จแบบเดิมเป็น “สมเด็จกรมพระยา” เทียบเท่าชั้นสมเด็จเจ้าพระยาทางยศขุนนาง อันนี้เป็นเค้าพระราชดำริ มีปัญหาต่อไปว่า คำ “สมเด็จ” จะเอาเข้าพระนามตรงไหน จะเป็น “พระเจ้าบรมวงศ์เธอ สมเด็จกรมพระยา” หรือ “สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์กรมพระยา” สมเด็จพระมหาสมณะทรงเห็นควรเป็นอย่างข้างหลัง และทรงพระดำริต่อไปว่า สมเด็จเจ้าพระยาได้เครื่องยศและมีกรมทนายเหมือนอย่างเจ้าต่างกรมฉันใด สมเด็จกรมพระยา (ที่มิได้เป็นเจ้าฟ้า) ก็ควรจะมีศักดิ์คล้ายเจ้าฟ้า (เคยได้ยินคำตรัสว่าเป็น “เจ้าฟ้ายก” เปรียบเช่นพระราชาคณะยก) เพราะฉะนั้นตามประเพณีเดิมพระองค์เจ้าต่างกรมทรงศักดินา ๑๕๐๐๐ เท่ากันทุกชั้น จึงเพิ่มศักดินาสมเด็จกรมพระยาเป็น ๓๕๐๐๐ ต่ำกว่าศักดินาเจ้าฟ้าต่างกรม ๕๐๐๐ และได้พระราชทานเครื่องยศลงยาราชาวดีเหมือนเจ้าฟ้า เมื่อเอาคำ “สมเด็จ” มาตั้งหน้าพระนามกรมพระยาเหมือนอย่างเจ้าฟ้า ก็ต้องแก้ทางระเบียบพระนามเจ้าฟ้าให้ผิดกัน จึงเอาคำ “เจ้าฟ้า” ลงไว้ข้างหน้านามกรม เช่นว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ฉะนี้ ให้ผิดกับสมเด็จกรมพระยาที่มิได้เป็นเจ้าฟ้า

ในรัชกาลที่ ๖ ทรงตั้งสมเด็จกรมพระยานอกจากสมเด็จพระมหาสมณะอีก ๒ พระองค์ กรมพระ ๘ พระองค์ คือ

เลื่อนสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช เป็นสมเด็จกรมพระยา พระองค์ ๑

เลื่อนพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระเทววงศ์วโรประการ เป็นสมเด็จกรมพระยา พระองค์ ๑

เลื่อนสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัติวงศ์ เป็นกรมพระ พระองค์ ๑

เฉลิมพระนามพระอัฐิสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย เป็นกรมพระเทพนารีรัตน พระองค์ ๑

เลื่อนพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนเรศวรฤทธิ์ เป็นกรมพระ พระองค์ ๑

เลื่อนพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสมมตอมรพันธ์ เป็นกรมพระ พระองค์ ๑

เลื่อนพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ เป็นกรมพระ พระองค์ ๑

เลื่อนพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เป็นกรมพระ พระองค์ ๑

เลื่อนพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสวัสดิวัฏนวิสิษฐ เป็นกรมพระ พระองค์ ๑

เลื่อนพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงจันทบุรีนฤนาท เป็นกรมพระ พระองค์ ๑

ในรัชกาลที่ ๖ ทรงเปลี่ยนคำานำพระนามตามชั้นพระราชวงศ์ ซึ่งบัญญัติขึ้นในรัชกาลที่ ๔ ด้วยอีกอย่าง ๑ เพราะตามแบบเก่าต้องแก้ทุกชั่วบุรุษ ทรงบัญญัติใหม่เพื่อมิให้ต้องแก้ คือ

๑) บรรดาพระราชบุตรและธิดา แต่ชั้นพระเจ้าอาขึ้นไป รวมทั้ง พระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ ๓ ให้ใช้คำนำพระนามว่า “พระเจ้าบรมวงศ์เธอ” เหมือนกันทุกชั้น

๒) พระราชบุตรและธิดาสมเด็จพระบวรราชเจ้า และพระเจ้าลูกเธอของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ให้ใช้คำนำพระนามว่า “พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ” แต่ลูกเธอของกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญเป็น “พระราชวรวงศ์เธอ”

เจ้านายชั้นพระเจ้าพี่ยาเธอ พระเจ้าน้องยาเธอ พระสัมพันธวงศ์เธอ พระวรวงศ์เธอ พระวงศ์เธอ คงอยู่ตามแบบเดิม

ถึงรัชกาลที่ ๗ ทรงสถาปนาหม่อมเจ้ารำไพพรรณี พระชายาเป็นสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี แต่การตั้งกรมเจ้านายพฤติการณ์ผิดกับรัชกาลที่ ๖ ด้วยได้เฉลิมพระยศสมเด็จพระบรมราชชนนีแต่ในรัชกาลนั้นแล้ว พระอุปัชฌาย์ก็ได้เฉลิมพระยศและสิ้นพระองค์ไปแล้ว แต่มีกรณีเป็นเหตุที่ทรงพระราชดำริเห็นสมควรแก้ไขแบบเดิมบ้าง การตั้งกรมเจ้านายในรัชกาลที่ ๗ จึงทรงเพิ่มพระยศสมเด็จพระภรรยาเจ้ารัชกาลที่ ๕ ซึ่งยังอยู่ ๓ พระองค์ คือ

ทรงสถาปนาสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวีพระมเหสีในรัชกาลที่ ๕ เป็นสมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวีพระพันวัสสามาตุฉาเจ้า เจ้ากรมเป็นพระยา เทียบที่กรมพระเทพามาตย์แต่โบราณ พระองค์ ๑

ทรงสถาปนาพระนางเจ้าสุขุมาลย์มารศรี พระราชเทวี เป็นสมเด็จพระปิตุฉาเจ้าสุขุมาลย์มารศรี พระอัครราชเทวี เจ้ากรมเป็นพระ พระองค์ ๑

เลื่อนพระยศพระอัครชายาเธอ กรมขุนสุธาสินีนาถ เป็นพระวิมาดาเธอ กรมพระ พระองค์ ๑

เพิ่มพระยศสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เป็นสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงศักดินา ๑๐๐๐๐๐๐ เสมอกับกรมพระราชวังบวรสถานมงคลแต่ก่อน พระองค์ ๑

เลื่อนสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิตเป็นกรมพระ พระองค์ ๑

เลื่อนพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพเป็นสมเด็จกรมพระยา พระองค์ ๑

เพิ่มพระยศพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัฏนวิสิษฐ เป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ พระองค์ ๑ (น่าจะนับว่าเป็นกรมพระพิเศษ เพราะมิได้เพิ่มศักดินาและเครื่องยศอย่างสมเด็จกรมพระยา)

เลื่อนพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงกำแพงเพชรอัครโยธินทรเป็นกรมพระ พระองค์ ๑

นอกจากสมเด็จพระพันวัสสา สมเด็จพระปิตุฉา และสมเด็จพระราชปิตุฉา ในรัชกาลที่ ๗ ทรงตั้งสมเด็จกรมพระยาพระองค์ ๑ สมเด็จกรมพระและกรมพระ ๔ พระองค์ เรื่องตำนานการตั้งกรมสมเด็จและกรมพระมีมาดังนี้

ที่จะเรียกว่า “สมเด็จกรม” หรือ “กรมสมเด็จ” นั้น หม่อมฉันเห็นว่าที่มิได้มีพระราชบัญญัติให้เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น ควรเรียกตามพระสุพรรณบัฏเป็นหลัก ชั้นก่อนรัชกาลที่ ๖ คงเรียกพระนามดังนี้ จะยกเป็นตัวอย่าง เช่น

สมเด็จ (พระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้า) กรมพระเทพสุดาวดี

กรมสมเด็จพระเดชาดิศร

สมเด็จ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า) กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์

เจ้านายพระองค์ใดที่ได้เป็นสมเด็จกรมพระยาตั้งแต่รัชกาลที่ ๖ มา จึงควรเรียกว่าสมเด็จกรมพระยา ที่เรียกกรมพระยาเลยขึ้นไปถึงก่อนรัชกาลที่ ๖ ไม่มีมูล และทำให้เกิดยุ่งด้วย เพราะกลายเป็นสมเด็จพระพี่นางองค์น้อยในรัชกาลที่ ๑ ดูเหมือนทรงพระยศต่ำกว่าพระองค์ใหญ่ และทำให้ดูเหมือนกรมสมเด็จพระปรมานุชิต ทรงพระยศต่ำกว่าสมเด็จพระเดชาดิศร หม่อมฉันคิดเห็นดังนี้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ