วันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๑๙ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๒

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

บัดนี้ถึงวันอังคารที่ ๑๙ ธันวาคม แล้ว หม่อมฉันยังไม่ได้รับลายพระหัตถ์เวรซึ่งอาจจะมาในคราวเมล์วันพฤหัสบดีที่ ๑๔ หรือถ้าส่งตามเคยก็คงมาถึงเมื่อคราวเมล์วันอาทิตย์ที่ ๑๗ นี้ ครั้นจะรอการร่างจดหมายเวรของหม่อมฉันไว้ ก็เกรงจะดีดพิมพ์ไม่ทันส่งไปรษณีย์ในวันอังคารนี้ ให้เจ้าพนักงานเขาตรวจทันส่งไปกรุงเทพฯ ในคราวเมล์วันศุกร์ ที่ ๒๒ ธันวาคม จดหมายจากกรุงเทพฯ ในคราวเมล์มาเมื่อวันพฤหับดีทีล่วงแล้วมีจดหมายหญิงจงมาถึงหม่อมฉันฉบับ ๑ จดหมายหญิงมารยาตรมาถึงหญิงพูนฉบับ ๑ ซองจดหมายหญิงจงไม่มีรอยตัด มีแต่ตราตัวอักษรอนุญาตให้ส่งประทับเป็นสำคัญ ซองจดหมายของหญิงมารยาตรนั้นมีรอยตัดเปิดซอง และประทับตรามีตัวเลขอยู่ในเส้นขอบ จึงสันนิษฐานว่าตราตัวอักษรเห็นจะสำหรับประทับจดหมายที่เขาไม่เปิด ตราตัวเลขสำหรับประทับจดหมายที่ต้องเปิด

บรรเลง

เมื่อหม่อมฉันตรวจหาเรื่องโบราณคดีมอญสำหรับให้เจ้าภาพพิมพ์ในงานศพพระยาพิพิธมนตรี พบเรื่องข้องใจ ๓ เรื่องดังจะทูลต่อไปนี้ คือในนิทานต้นเรื่องเมืองหงสาวดี พระสุเมธมุนีวัดชนะสงครามแปลจากภาษามอญว่าอยู่ในอารัมภกถาคัมภีร์ธรรมเจดีย์มีเรื่อง “ตาร้อยปม” อ้างเป็นบิดาของวีรบรุษอย่างเดียวกันแต่พิสดารกว่าเรื่อง “ตาแสนปม” ที่อ้างว่าเป็นพระชนกของ พระเจ้าอู่ทอง ในหนังสือพระราชพงศาวดาร ฉบับพิมพ์ ๒ (เล่มสมุด ๒) คือในนิทานเรื่องตั้งเมืองหงสาวดีมีเรื่องนางนาคขึ้นมาสมจรกับมนุษย์มีลูกเป็นคนสำคัญ เช่นเดียวกับเรื่องกำเนิดพระร่วงในหนังสือพงศาวดารเหนือ ชวนให้หม่อมฉันคิดว่านิทานทั้ง ๒ เรื่องนี้เดิมน่าจะเป็นนิทานในอินเดีย พวกชาวอินเดียมาเล่าจึงรู้กันแพร่หลายในเมืองมอญและเมืองไทย

อีกเรื่อง ๑ สำคัญกว่านั้น ด้วยได้อธิบายไขข้อที่มัวอยู่ในเรื่องพงศาวดาร ให้กระจ่างแก่ใจหม่อมฉัน คือพบความแห่งหนึ่งในเรื่องราชาธิราช ตอนพระเจ้าหงสาวดีปิฎกธรธรรมเจดีย์เป็นไมตรีกับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ในหนังสือราชาธิราชเรียกแต่ว่าเจ้ากรุงศรีอยุธยา ว่าพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาส่งปัญหาไปถามพระเจ้าหงสาวดี ๆ แก้ได้ พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาทรงยกย่องพระปรีชาญาณของพระเจ้าหงสาวดีให้ทำสุพรรณบัฏจารึกถวายพระนามว่า “พระมหาธรรมราชา” มีคำอธิบายต่อไปว่า “เหมือนพระนามของพระเจ้าตา” ดังนี้

หม่อมฉันได้พยายามค้นเรื่องพงศาวดารตอนสมัยกรุงสุโขทัยต่อกับสมัยกรุงศรีอยุธยามาช้านาน ได้ความเป็นหลักฐานแล้วว่า พระเจ้าอู่ทองประกาศตั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นอิสระ เมื่อศักราชตรงกับรัชกาลพระมหาธรรมราชา พระยาลิไทยราชนัดดาของพระเจ้ารามคำแหงครองเมืองสุโขทัย แต่เมื่อพระเจ้าอู่ทองประกาศเป็นอิสระแล้ว พระมหาธรรมราชาทำอย่างไรไม่ปรากฏในหนังสือพงศาวดาร มาพบในกฎหมายลักษณะลักพาซึ่งตั้งในรัชกาลพระเจ้าอู่ทอง ปรารภเรื่องลักหาผู้คนหนีไปเมืองเหนือมีคำว่า “เมืองท่านเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว” จึงได้หลักฐานว่พระมหาธรรมราชาพระยาลิไทยไม่รบพุ่งปราบปราม ยอมเป็นไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาอย่างประเทศที่มีฐานะเสมอกัน และเป็นไมตรีกันมาตลอดรัชกาลพระเจ้าอู่ทอง และสันนิษฐานว่าตลอดรัชกาลพระมหาธรรมราชาพระยาลิไทยด้วย

ครั้นถึงรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พงั่ว) ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า กรุงศรีอยุธยาเกิดรบกับกรุงสุโขทัย ด้วยสมเด็จพระบรมราชาธิราชขึ้นไปตีเมืองเหนืออันเป็นราชอาณาเขตของพระมหาธรรมราชา (เห็นจะเป็นรัชทายาทของพระยาลิไทย) รบกันอยู่หลายปีแต่ที่สุดพระมหาธรรมราชายอมแพ้ สมเด็จพระบรมราชาธิราชจึงตัดกำลังเมืองเหนือด้วยแยกราชอาณาเขตกรุงสุโขทัยออกเป็น ๒ ภาค ภาคตะวันตก (ในหนังสือตำนานพระสิงห์ว่า) ให้พระยาญาณดิศครองเมืองกำแพงเพชรเป็นราชธานี ภาคตะวันออกให้พระยาธรรมราชา (น่าจะเป็นพระองค์ที่ ๓) ย้ายจากเมืองสุโขทัยไปครองเมืองพิษณุโลกเป็นราชธานี เป็นอย่างประเทศราชขึ้นกรุงศรีอยุธยาทั้ง ๒ ภาค เป็นเช่นนั้นมาจนถึงรัชกาลสมเด็จพระอินทราชาธิราชครองกรุงศรีอยุธยา ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า “พระมหาธรรมราชาเมืองพิษณุโลกสวรรคตเมืองเหนือเป็นจลาจล” สมเด็จพระอินทราชาธิราชเสด็จยกกองทัพหลวงขึ้นไปถึงเมืองพระบาง (อยู่ที่หลังตลาดปากน้ำโพ) และว่าครั้งนั้นพระยาบาลเมืองกับพระยาราม (คำแหง) คงเป็นเชื้อพระวงศ์พระร่วงทั้ง ๒ พระองค์ (ที่แย่งกันเป็นใหญ่ในเมืองเหนือ) ลงมาเฝ้าอ่อนน้อมโดยดี สมเด็จพระอินทราชาธิราชจะทรงจัดการเมืองเหนืออย่างไรในครั้งนั้น ไม่กล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดาร มีความปรากฏแต่ว่าโปรดให้พระเจ้าลูกเธอ เจ้าอ้ายพระยาครองเมืองสุพรรณ เจ้ายี่พระยาครองเมืองสรรค์ เจ้าสามพระยาครองเมืองชัยนาท ความที่ปรากฏในหนังสือราชาธิราชแสดงว่า เมื่อเจ้าสามพระยาครองเมืองชัยนาทนั้น ได้ราชธิดาของพระมหาธรรมราชาเมืองพิษณุโลกเป็นพระชายา เป็นเหตุให้เกี่ยวดองกับราชวงศ์พระร่วง เมื่อสมเด็จพระอินทราชาธิราชสวรรคต เจ้าสามพระยาได้รับรัชทายาททรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราช (พระองค์ที่ ๒) ครองกรุงศรีอยุธยา ทรงตั้งพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ เป็นพระราเมศวร ให้ขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก พิเคราะห์เรื่องตรงนี้ที่มัวอยู่แต่ก่อน ด้วยเมืองเหนือเคยเป็นราชมณฑลเดิม แม้รบแพ้พวกกรุงศรีอยุธยาก็ยังเป็นประเทศราช มีเจ้านายของตนเองปกครองมา ไม่เคยอยู่ในบังคับบัญชาสนิทสนมกับกรุงศรีอยุธยาเหมือนชาวเมืองใต้ เหตุไฉนสมเด็จพระบรมราชาธิราชจึงทรงตั้งรัชทายาทราชกุมารซึ่งยังหนุ่มให้ขึ้นปกครองเมืองพิษณุโลก เป็นครั้งแรกที่เจ้านายในกรุงศรีอยุธยาจะขึ้นไปครองเมืองเหนือ เมื่อเห็นความที่กล่าวในหนังสือราชาธิราชแล้ว ก็เข้าใจเหตุได้แจ่มแจ้ง ว่าเพราะพระราเมศวรเป็นราชนัดดาของพระมหาธรรมราชาทางฝ่ายพระชนนี คงปรากฏว่าพวกชาวเมืองเหนือนับถือว่าเป็นเชื้อราชวงศ์พระร่วงด้วย สมเด็จพระบรมราชาธิราชจึงโปรดให้ปกครองเมืองเหนือ เพื่อรวม ๒ อาณาเขตที่แยกไว้แต่ก่อนให้เป็นอาณาเขตอันเดียวกัน แล้วรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับกรุงศรีอยุธยา และยังมีสาเหตุต่อไปถึงเมื่อพระราเมศวรเสวยราชย์เป็นสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ตั้งแต่เกิดรบกับพระเจ้าติโลกราชเมืองเชียงใหม่ ก็เสด็จขึ้นไปประทับอยู่เมืองพิษณุโลก เอาเป็นราชธานีที่ประทับต่อมาและออกทรงผนวชที่นั่น แล้วเลยเสด็จอยู่จนสวรรคต ณ เมืองพิษณุโลก เพราะเหตุที่ทรงสนิทสนมกับทั้งเมืองเหนือและเมืองใต้ ผิดกับพระเจ้าแผ่นดินพระองค์อื่นที่ล่วงไปแล้ว

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ