วันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๒๗ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๒

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวร ฉบับลงวันที่ ๒๒ เมษายนนั้นแล้ว

ซึ่งท่านทรงพระดำริว่าชื่อ “ต้นโพธิ์” จะหมายความเพียงว่าต้นไม้ต้นที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ มิใช่ชื่อของพันธ์ไม้นั้นถูกต้องทีเดียว ข้อนี้มีอธิบายอยู่ในหนังสือ “อินเดียสมัยพระพุทธศาสนา” Buddhist India ของศาสตราจารย์ริดส์ เดวิดส์ ว่าพระพุทธเจ้าต่างพระองค์ตรัสรู้ในร่มพันธุ์ไม้ต่างกัน แต่ตรัสรู้ในร่มไม้พันธุ์ใดก็เรียกต้นไม้พันธุ์นั้นต่อมาว่า “โพธิ์” จนตลอดศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ยกตัวอย่างดังเช่นพระศากยมุนีพุทธเจ้าตรัสรู้ในใต้ต้นอัสสัตถะ Aassattha พันธุ์ไม้อัสสัตถะก็ได้นามว่าต้นโพธิ์ เรียกกันเป็นสามัญทั่วไปจนทุกวันนี้ ตัวอย่างที่อ้างนี้ก็ตรงกับคำผู้นำสงฆ์สวดบูชาพระพุทธคุณ ก่อนทำวัตรเวลาค่ำอันขึ้นต้นว่า “ยมมฺหโขมยํ” นั้น ต่อมามีว่า “อสฺสตฺถ โพธิรุกฺขมูเล” หม่อมฉันเปิดดูในหนังสือปฐมสมโพธิ (พระนิพนธ์สมเด็จกรมพระปรมานุชิต) ก็พบในพุทธบูชาบริเฉทว่า “เสด็จไปถึงที่ใกล้โพธิพฤกษมณฑลสถาน ก็เสด็จคมนาการกระทำประทักษิณทุมินทรอัสสัตถพฤกษสิ้นตติวาร” ดังนี้ รับถูกต้องกันหมด ต้นโพธิ์นั้นภาษาอังกฤษเรียกว่า Pippal บัญญัติเป็นภาษาลาตินว่า Figus Religiosa แต่ในหนังสือที่แต่งเรื่องพระพุทธศาสนาไม่เลือกว่าแต่งในภาษาใดๆ เรียกว่า “ต้นโพธิ์” Bo Tree ทั้งนั้น

พระพุทธเจ้าองค์อื่นๆ ตรัสรู้ในใต้ต้นไม้อะไร ๆ ดูเหมือนจะมีในหนังสือพุทธวงศ์หรือเรื่องอะไรหม่อมฉันจำไม่ได้แน่ แต่ที่จะอ้างได้นั้น คือ รูปภาพเขียนฝาผนังพระอุโบสถวัดชุมพลนิกายารามที่บางปะอิน ทูลกระหม่อมโปรดให้เขียนเรื่องประวัติพระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ มีพระวิปสฺสิเป็นอาทิ และมีศิลาจารึกเล่าเนื้อความติดไว้ที่เชิงผนังบอกชื่อต้นไม้ต่างๆ ที่ตรัสรู้ด้วย มีอีกแห่ง ๑ ที่วัดบวรสถานสุทธาวาศ ฝาผนังข้างเหนือแนวหน้าต่าง ทูลกระหม่อมก็โปรดให้เขียนเรื่องประวัติพระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์ มีพระพุทธตนฺหํกโร เป็นอาทิ อันสวดบูชาในพระปริต ๑๒ ตำนาน แต่ดูเหมือนไม่มีศิลาจารึก

จะทูลสนองพระปรารภบางข้อ ในเรื่องค้าสำเภาที่หม่อมฉันแปลถวายต่อไป

๑) ที่จีนเรียกสำเภาไทยว่า “เรือหัวขาว” นั้น หัวเรือสำเภาจีนแต้จิ๋วทาสีแดง เรือพวกฮกเกี้ยนทาสีเขียวเป็นตำรา เรือสำเภาไทยที่ได้เห็นตัวอย่างเช่นที่วัดยานนาวาก็ดี หรือที่เขียนรูปภาพไว้ตามวัดก็ดี เห็นหัวเป็นสีแดงทั้งนั้น ข้อนี้เข้าใจได้ว่าเพราะจีนในเมืองไทยโดยมากเป็นแต้จิ๋ว อะไรจะเป็นมูลที่เรียกว่า “เรือหัวขาว” หม่อมฉันคิดว่าเห็นจะเขียนสีขาวเป็นครีบหรืออะไรประกอบ พอให้สังเกตได้ว่าเป็นเรือเมืองไทย

๒) คำว่า “กัปตัน” นั้นดูในพจนานุกรมภาษาอังกฤษ หมายความแต่ว่า เป็นนายคนจำพวก ๑ เท่านั้น

หญิงโสฬศออกมาถึงเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๐ เมษายน ได้นำของที่ประทานฝากมาใช้แล้ว ขอขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง เดิมเธอจะกลับวันศุกร์ที่ ๒๘ แต่อยู่มารู้สึกว่าที่ปีนังสบายดี จะรอต่อไปอีกสัปดาห์หนึ่งจึงจะกลับ คราวเมล์นี้จะกลับแต่อบมารดาของชายดำ หม่อมฉันอยากจะฝากส้มจัฟฟาไปถวายอีก ถามคนจ่ายตลาดบอกว่าเห็นมีที่ร้านเจ้าจำนำอยู่สัก ๔ ผล ถึงวันพุธที่ ๒๖ ให้ไปค้นซื้อมาถวายอีกคราว ๑ กับฝากไปสนองคุณผู้อื่นคนละเล็กละน้อย เห็นจะสิ้นฤดูเพียงนี้

หม่อมฉันอยากจะให้ทรงช่วยถามพระสาธุศีลสังวรเอาความรู้สักข้อ ๑ ว่าภาษาที่สวดประกาศเทวดาพิธีตรุษนั้น เป็นภาษาสิงหฬแท้หรืออย่างไร ในตำราที่ได้มาจากเมืองนครศรีธรรมราชในรัชกาลที่ ๑ ว่าภาษาสันสกฤต หม่อมฉันไม่มีความรู้พอจะตัดสิน ถ้าท่านสาธุฯ ว่าเป็นภาษาสันสกฤตไซร้ ขอจงโปรดให้พราหมณ์สาสตรีพิจารณาดูด้วย ว่าตรงหรือผิดพลาดมาประการใด ประกาศนั้นมีอยู่ในหนังสือ “ประกาศพระราชพิธี” เล่ม ๑ หอพระสมุดฯ พิมพ์ในงานพระศพกรมพระสมมตฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ โปรดใช้ชายงั่วไปถามหาอธิบายก็จะได้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ