วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๔๘๒

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์เวร ลงวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ได้รับแล้วตามกำหนดที่เคยได้รับ ลักษณะซองลายพระหัตถ์ก็เหมือนกับที่กราบทูลมาแล้วคราวก่อน สังเกตความตามลายพระหัตถ์ว่าได้ทรงรับหนังสือเวรต่อวันอังคาร แล้วลายพระหัตถ์ก็ตอบลงวันนั้น เห็นปรากฏว่าทรงรีบเร่งจะให้เขาตรวจส่งทันคราวเมล์เป็นการฉุกละหุกเต็มที ทางฝ่ายเกล้ากระหม่อมมีเวลาแต่งหนังสือเวรอยู่มาก จึงคิดจะแบ่งเวลามาถวาย ด้วยวิธีร่นการส่งหนังสือเข้ามาเสียในเมล์วันพุธ คงจะได้ทรงรับในวันเสาร์ มีเวลาที่จะทรงแต่งตอบส่งในวันอังคารได้ไม่ฉุกละหุก ได้พยายามที่จะทำตามที่กราบทูลมานี้ ตั้งแต่เมล์คราวนี้เป็นต้นไป

สนองความในลายพระหัตถ์

วัดราชผาติการาม คือวัดส้มเกลี้ยง ขยับจะเขียนไขในวงเล็บลงแล้ว แต่ยั้งเสีย ด้วยคิดเห็นว่าจะเป็นประมาทในพระญาณเกินไป อันชื่อวัดผาติการามนั้น ดูเหมือนจะเป็นชื่อเก่าแต่ไม่มีใครเรียก เพิ่งจะเอามาเรียกใช้กันขึ้นในเวลานี้ อันชื่อวัดจะให้สำคัญแล้ว ทีจะต้องเป็นภาษาบาลีจึงจะขึงขัง เช่นวัดท่าหลวงเมืองพิจิตรก็เปลี่ยนชื่อเป็นวัดราชดิตถาราม ให้สงสัยไปว่าจะขนานนามผิด ท่าหลวงทีเขาจะหมายความว่าท่าใหญ่ไม่ใช่ท่าพระราชา ดีมากที่ได้ทราบความตามพระอภิปรายว่าวัดแก้วฟ้า (เข้าใจว่าวัดแก้วฟ้าล่าง) เป็นวัดผาติกรรม ขอประทานทราบความต่อไปว่าวัดเก่าอยู่ที่ไหน ต้องการใช้ที่ทำอะไร จึงได้ประกอบการผาติกรรม หลากใจอยู่แล้วที่ชื่อวัดแก้วฟ้านั้นในกรุงเทพฯ มีอยู่ถึง ๒ วัด คือวัดแก้วฟ้าบนกับวัดแก้วฟ้าล่างซ้ำกัน ซ้ำในพระวินิจฉัยลายแทงก็มีความบ่งถึงสุนทรภู่ไปขุดวัดเจ้าฟ้าอากาศที่กรุงเก่า คิดว่าวัดนั้นก็จะมีชื่อว่าวัดแก้วฟ้าอากาศ แต่คนไม่เข้าใจความจึงโยกคำแก้วฟ้าไปเสียเป็นเจ้าฟ้า คำแก้วฟ้าติดจะลับ เกล้ากระหม่อมก็ไปทราบที่แบบฉันท์อันกล่าวไว้ว่า “รตนานภาลสุริเยศร์ประภาพราย” เป็นอันเข้าใจว่าชื่อวัดแก้วฟ้านั้นเป็นชื่อแบบอย่างวัดสว่างอารมณ์ ย่อมมีที่ไหนๆ อยู่มาก ที่เรียกวัดแก้วฟ้าอากาศนั้น คำอากาศทีจะเป็นคำต่อ แสดงว่าชื่อวัดแก้วฟ้ามีซ้ำกันหลายวัด คำอากาศที่ต่อเข้านั้น ก็แสดงให้เห็นว่าผู้รู้ทางบาลีต่อ เพราะทางบาลีคำว่าสวรรค์นั้น หมายถึงเมืองของเทวดา คำอากาศหมายถึงที่ว่างบนหัว ก็ย่อมสมแก่พระอาทิตย์อยู่ทีเดียว วัดแก้วฟ้าล่างที่กรุงเทพฯ ก็มีผู้แทรกคำว่าวัดแก้วฟ้าแจ่ม แต่ไม่มีใครใช้เรียกตามที่แทรก แต่ก่อนก็นึกประมาทว่าแทรกทำไม ความชัดอยู่แล้วๆ จึงมาเข้าใจทีหลังว่าแทรกเพื่อจะผลักคำบนล่างให้พ้นไปเสีย โดยชื่อผิดกันแล้ว ไปลงรอยที่ต่อคำแก้วฟ้าอากาศนั้น

พระอภิปรายเรื่องน้ำท่วมโลกนั้นดีเต็มที ทำให้มีความรู้กว้างออกไป เพิ่งจะได้ทราบเรื่องไบเบลคัมภีร์เก่าเป็นของแต่งใหม่ในครั้งเมืองบาบิโลน แม้กระนั้นก็เก่าเต็มทีแล้ว ตั้งแต่ครั้งเมืองบาบิโลนยังจำเริญอยู่จนสูญหายไปหมดแล้ว ผิดกันกับศาสนาพระพุทธกับศาสนาพราหมณ์ เพราะศาสนาทั้งสองนั้นยังมีอยู่ด้วยกันพอจะเทียบทานกันได้ แต่คติของพวกบาปิโลนนั้น สูญหายไปทีเดียวพร้อมด้วยชาติไม่อาจเอามาเทียบได้ เว้นแต่พวกนักปราชญ์ที่เขาสืบสวนได้ความมา เมื่อเร็วๆ นี้เองก็เห็นหนังสือพิมพ์เขาลง เล่าถึงไปพบชาวป่าในประเทศอเมริกาเข้าใหม่ คติของชาตินั้นก็อุตส่าห์มีเรื่องน้ำท่วมโลกอยู่ด้วย

เรื่องลายแทงซึ่งทรงแต่งพระวินิจฉัยประทานไปนั้น ในพระวินิจฉัยเป็นถูกต้องทุกอย่างไม่มีข้อคัดค้าน ดีอยู่ที่ลายแทงซึ่งประทานตัวอย่างไปนั้นกล่าวถึงแต่ทรัพย์ในป่า ไม่เหเข้าวัดอย่างที่ตรัสถึงสุนทรภู่ ทำให้คิดเห็นไปว่าลายแทงที่บ่งให้ไปหาทรัพย์ที่วัดนั้น น่าจะทำขึ้นตามใจคนที่ชอบไปขุดวัดกัน บรรดาคนซึ่งไปเที่ยวหาทรัพย์แผ่นดินนั้นย่อมมีโลภเป็นเจ้าเรือน พวกเล่นแร่แปรธาตุหาของวิเศษต่างๆ ตามที่ตรัสถึงนั้นได้พบมามาก แต่ที่สุดโดยมากก็ไปเสียทีแก่โจร ด้วยมาหลอกว่าทำอะไรให้เป็นอะไรได้ ด้วยความโลภก็รับเอาไว้เป็นมิตร ที่ถึงแก่ให้นอนค้างอ้างแรมอยู่ด้วยก็มี ที่สุดครูผู้นำนั้นฉวยอะไรได้ก็โกยเอาไปหมด สุดแต่โอกาสที่จะฉวยได้แล้วก็หลบหายสูญไป ใช่แต่พวกแปรธาตุ ไม่ว่าพวกใดๆ ถ้าหลงอะไรมากไปก็เป็นเหยื่อแก่โจรทั้งนั้น ถ้าจะว่าไปแล้วพวกโจรเป็นมีความคิดเยี่ยม

อ่านสำเนาคำในลายแทง แปลคำที่ทรงลงอินเตโรเกชั่นไว้ แต่ไม่มีคำไขนั้นออกได้หลายคำ คือ

๑) ในฉบับที่ ๒ หน้า ๑ “คางปลาออก” คือ ข้างปละออก

๒) “เทยนี” ในหน้า ๒ เห็นจะเป็น เทียน

๓) ในฉบับที่ ๔ หน้า “นาก หัวแหวนโหราเขียว” คำว่า “นาก” เห็นจะเป็น นากสวาดิ เดาเอาด้วยอาศัยคำ “เขียว” ซึ่งมีอยู่ข้างหลังคำว่า “โหรา” ไม่ใช่หมายว่าคนชนิดที่เราเรียกว่าโหร หมายถึงยาวิเศษ มาทางภาษาเขมร พบหนังสือทางเขมรเขาไขความว่าเป็นเห็ด เห็ดก็เป็นเครื่องยาอย่างหนึ่ง

๔) ในฉบับที่ ๕ หน้า ๓ “เท่าลูกหมาก ตุม” เห็นจะได้แก่ลูกมะตูม

๕) “ดับสารพัดโรค คโรคา” คือโรคโรคา พูดซ้อนคำ

ตามที่กราบทูลนี้ เป็นอ่านไปแล้วก็เห็นขึ้นทันควันเท่านั้น ไม่ได้ตริตรองที่บกพร่องอยู่ทุกคำ หากว่าได้ตริตรองแล้วจะคิดออกได้มากกว่านี้ แต่จะมีประโยชน์อะไรที่จะไปคิดคำในลายแทง ผิดกันมากกับที่ฝ่าพระบาททรงคิดคำจีนเรียกอะไรในเมืองไทย นั่นเป็นประโยชน์มากแก่พงศาวดาร ทำให้ได้ความกระจ่างแจ้งกว้างมากออกไปอีก อดไม่ได้ที่จะสังเกตกถาท้ายลายแทง เป็นกถาสำหรับเสกอันไม่เป็นภาษาตามเคย พิจารณาเห็นมีชื่อเทวดาพระอังคารและพระพรหมอยู่ในนั้น กับทั้งพระพุทธเจ้าคือ นโมพุทธายะ ด้วย

ถวายบรรเลง

เมื่อวานนี้ ไปรดน้ำแต่งงานสมรส ที่บ้านเจ้าจอมมารดาเลื่อน ถนนเพชรบุรี แต่งกันในระหว่างนายยุกต์ ลูกพระยาคทาทร กับนางสาวอรุณ สุวรรณมาลิก ไปพบใครต่อใครสนทนากัน ได้อะไรมากราบทูลบรรเลง ๒ อย่าง

๑) สนทนากับเจ้าพระยาธรรมา ท่านบอกว่าพระแท่นเศวตฉัตรประดับมุกในพระที่นั่งดุสิต กับตู้มณฑปในพระมณฑปวัดพระแก้วนั้น สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยเป็นผู้ทำ ถามว่าท่านได้ความมาแต่ไหน ท่านว่าเจ้าพระยาภาสบอก ทั้งนี้เกล้ากระหม่อมก็สันนิษฐานลงไป ว่าพระที่นั่งเศวตฉัตรมุกนั้น ไม่ใช่สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยทำทั้งหมด ดังได้กราบทูลแล้วว่าเป็นฝีมือครูตู้มุก รัชกาลที่ ๑ แต่ได้กราบทูลว่าพนักทำใหม่ในรัชกาลที่ ๓ ก็เป็นสมควรแล้วที่ว่าสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยทำแต่เพียงพนักเท่านั้น พระแท่นเตี้ยซึ่งตั้งอยู่หน้าพระแท่นเศวตฉัตรนั้น ท่านบอกว่าพระองค์ใยทำ ลงกันกับที่รู้มา ส่วนตู้มณฑปที่พระมณฑปวัดพระแก้วนั้น เกล้ากระหม่อมสังเกตได้ไว้ไม่ดี จะเป็นรัชกาลที่ ๑ หรือที่ ๓ อะไรแน่กราบทูลยืนยันไม่ได้ แต่ไม่ใช่ลายของครูตู้มุกนั้นเป็นแน่นอน ไม่จับตาจนถึงไหว้ถือเขาเป็นครูได้เลย

๒) สนทนากับพระยาพหล ถามถึงพระเจดีย์ ๓ องค์ ซึ่งท่านได้ไปเที่ยวถึงนั่นกลับมา ได้ความว่าเป็นพระเจดีย์มอญก่อด้วยหินทั้งก้อนไม่ได้ตกแต่ง ตั้งอยู่บนเนินในช่อง สูงจากระดับทะเล ๒๐๐ ฟิต หรือเมเตออะไรก็ฟังจับเอาไม่ได้ถนัด สองข้างเป็นเขาสูง แต่ลักษณะเหล่านี้คงไม่ประดับพระปัญญาบารมีอะไรแก่ฝ่าพระบาท

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ