วันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๓๐ มกราคม ๒๔๘๒

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์เวร ลงวันที่ ๒๓ มกราคม พร้อมทั้งจดหมายเหตุในเรื่อง “สมเด็จกรม” และ “กรมสมเด็จ” ได้รับแล้วเมื่อวันเสาร์วันที่ ๒๗ มกราคม ตามคราวซึ่งรถไฟเข้าไปถึงทุกอย่าง เป็นไปโดยเรียบร้อยตามเคย

จะกราบทูลสนองความในลายพระหัตถ์นั้นแต่ลางข้อ กับทั้งจดหมายเหตุด้วย ดังต่อไปนี้

สนองความในลายพระหัตถ์

ในเรื่องเชื่อผี ตามพระดำรินั้นถูกต้องแล้ว และยังเห็นประหลาดในความเชื่อของมนุษย์แยกต่อออกไปอีก เช่นเชื่อว่าจะอยู่ได้ค้ำฟ้า วิ่งหายาอายุวัฒนกันให้เป็นจ้าระหวั่น ถ้าจะพูดขัดคอก็เห็นได้ทันที ว่าการอยู่ค้ำฟ้านั้นไม่ดีอะไรเลย อย่าหาว่าจะอยู่ค้ำฟ้าเลย เอาแต่อยู่ไปจนแก่เท่านั้นก็แคบเข้าไปทุกทีแล้ว เพราะคนที่รู้จักคุ้นเคยกันต่างก็ตายร่อยหรอไปทุกที แม้อยู่ค้ำฟ้าก็จะรู้จักกับใครเล่า ตกเป็นอยู่คนเดียว จะมีประโยชน์อะไร ในเรื่องขัดคอ ได้เคยคิดมาคราวหนึ่งว่าจะแต่งหนังสือพูดหัวเราะกันเล่น เป็นที่ว่าศาสนาพระศรีอาริย์มาถึงแล้วแต่ได้ยินเพียงคำคนที่รื่นรมย์โดยหวังใจจะใคร่ทันถึงศาสนาพระศรีอาริย์เขาพูดกัน ไม่เคยอ่านหนังสือพบ จึงสืบถามเขาว่ามีกล่าวถึงศาสนาพระศรีอาริย์อยู่ที่ไหน เขาบอกว่ามีในหนังสือมาลัย จึงไปหาหนังสือนั้นมาอ่าน อ่านก็พบคำเช่น “ทำบาปมดเท็จ หัวเป็นหัวเป็ด ตัวเป็นตัวไก่” อ่านไปก็เลยหลับ ไม่ถึงที่กล่าวด้วยศาสนาพระศรีอาริย์ก็เลยไม่ได้แต่ง

เรื่องนายนกนายเรืองเผาตัวนั้น ยังไม่เคยทราบว่าเข้าแบบอย่างอะไรของใคร จะตรัสอธิบายบอกให้ทราบเกล้าได้หรือไม่

เรื่องกำเนิดไทย ที่พวกนักปราชญ์เห็นว่าเดิมตั้งอยู่ในที่ดินแถวทะเลสาบคัสเบียน หากที่นั้นกลายเป็นทะเลทรายไปเสีย เพราะโลกเปลี่ยนทางโคจร ไม่มีที่ทำมาหากิน จึงพากันยกย้ายไปตั้งที่อื่นนั้นติดจะไม่เห็นด้วย โลกจะเปลี่ยนทางโคจรเอาที่กลับกลายไปทันทีนับด้วยชั่วโมงกระนั้นหรือ ถ้าเป็นดังนั้นก็ควรแล้ว แต่เชื่อว่าแม้โลกจะเปลี่ยนทางโคจรก็จะต้องค่อยเปลี่ยนไปทีละน้อย จะนับด้วยปีไม่ใช่นับด้วยชั่วโมง ถ้านับด้วยปีคนก็จะต้องค่อยๆ แตกฉานซ่านเซ็นหย่อยกันไป จะอพยพพากันไปตั้งเป็นตำบลหนแห่งที่ไหนใหม่เห็นจะเป็นไปด้วยยาก เหมือนหนึ่งเรื่องพระนครหลวง ว่าพระเจ้าชัยวรมันทรงสร้าง ความเห็นนักปราชญ์ว่าพระเจ้าชัยวรมันทรงนับถือพระพุทธศาสนา เพราะเหตุนั้นสิ่งซึ่งปรากฏอยู่ในพระนครหลวง จะต้องเป็นเครื่องหมายในทางพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น ข้อนี้ก็ไม่เห็นด้วย ตามความเห็นของนักปราชญ์ ดังได้เคยกราบทูลมาก่อนแล้ว เห็นว่านักปราชญ์ไม่ได้ให้ระยะเวลาความนานแห่งพระนครหลวงไว้บ้างเลย เอาเป็นมีอะไรทุกอย่างในครั้งแผ่นดินพระเจ้าชัยวรมันเสียหมดสิ้น จะป่วยกล่าวไปไย แม้แต่ปราสาทบายนก็เห็นปรากฏอยู่แล้วว่าทำต่อเติมแก้ไขกันมาเป็นหลายคราว

ตามที่ตรัสถึงที่เผาศพซึ่งทำยักย้ายกันไปก็ไม่จิรังนั้น เป็นการถูกต้องที่สุด ไม่แต่ที่เผาศพ ได้สังเกตมาแล้วในสิ่งที่เป็นทางช่าง พบสิ่งที่คิดทำแปลกๆ ไปก็มีเหมือนกัน แต่ก็มีอยู่แห่งเดียวเท่านั้น ไม่แพร่หลายไปมีที่อื่นด้วย จึงเป็นอันเข้าใจได้ว่า ไม่ว่าสิ่งไร คนย่อมคิดยักย้ายอยู่เสมอ แต่ถ้ายักย้ายไปดรคนก็ชอบจำอย่างเอาไปทำบ้าง ความแพร่หลายจึงตามมา ถ้าคิดยักย้ายไปไม่ดีขึ้นคนไม่ชอบก็ตายด้านอยู่เพียงเท่านั้น

ทีนี้จะกราบทูลถึงจดหมายเหตุ เรื่อง “สมเด็จกรม” และ “กรมสมเด็จ” อันได้ทรงรจนาประทานไปนั้น เป็นการผิดหวังไปมาก ที่ทรงพระอุตสาหะรจนาประทานอย่างยืดยาวเพื่อให้ได้ทราบเกล้าโดยละเอียด เป็นพระเดชพระคุณหาที่สุดมิได้ จดหมายอันได้ทรงรจนาขึ้นนั้น ถ้าจะแบ่งออกก็เป็น ๓ ภาค คือ ภาคต้นกล่าวด้วยคำอันใช้เป็นตำแหน่งยศเจ้า ภาคกลางกล่าวถึงความเป็นมาแห่งระเบียบยศ กับภาคหลังเป็นพระดำริในทางปฏิบัติ จะได้กราบทูลความเห็นตามลำดับดังต่อไปนี้

ภาคต้น ตามที่ตรัสระบุว่า คำที่ใช้เป็นยศมี ๓ อย่าง คือ “สมเด็จ” “เจ้าฟ้า” กับ “กรม” นั้นถูกต้องแล้ว แต่ขอประทานเสริมต่อไปอีกว่า คำกลาง คือ “เจ้าฟ้า” นั้นเป็น ๒ คำอยู่ ยังแยกออกไปได้อีกเป็น ๒ อย่าง เป็น “เจ้าฟ้า” ก็มี เป็น “เจ้า” เปล่าๆ ก็มี

ภาคกลาง ย่อมเป็นตามที่เป็นมา ไม่มีอะไรจะกราบทูลนอกจากเห็นขันที่คำว่า “กรม” แท้จริงไม่ใช่เนื้อยศของเจ้าเลย แต่ก่อนนี้ก็ยังเรียกกันอยู่ว่าเจ้ากรมนั่นกรมนี้ แสดงว่าเป็นเจ้าแห่งกรมนั้นๆ อีกนัยหนึ่งเรียกว่า “เจ้ามีกรม” คำนี้ส่ออยู่ในตัวว่ากรมไม่ใช่เป็นชื่อตัวเจ้า หากมาเข้าใจกันเลื่อนไปภายหลังว่าเป็นยศแห่งตัวเจ้า จะมีสันนิษฐานพุ่งถวายให้ขวางโลกทีเดียว กรมเจ้านั้น แรกคิดจะคิดสำหรับกับเจ้าหญิงดอกกระมัง เพราะผู้เจ้าชายตั้งเป็นราชาได้ เช่น พระอินทราชา พระบรมราชา เป็นต้น เจ้าผู้หญิงจะตั้งเป็นราชาไม่ได้จึงคิดให้เป็นเจ้ามีกรม ทีหลังจึงเลื่อนมาใช้แก่เจ้าผู้ชายด้วย

ภาคหลัง ที่ทรงพระดำริว่าควรเรียกตามพระสุพรรณบัฏนั้นชอบแล้ว เกล้ากระหม่อมก็ปฏิบัติอยู่เช่นนั้น ตามที่ได้สังเกตมาเห็นแก้กันไม่ว่าอะไร จะแก้คำพูดนั้นแก้ได้ แต่แก้ชื่อเห็นไม่ได้ เกล้ากระหม่อมไม่เล่นด้วยนานมาแล้ว ชื่อที่ตั้งไว้แต่ก่อนว่ากระไร เขียนอย่างไร ก็ต้องเรียกอย่างนั้น เขียนอย่างนั้น ที่ทูลถามมาก็เพราะไม่ทราบว่าเดิมเป็นอย่างไร

แม่หนุยเอาส้มจั๊ฟฟาซึ่งทรงพระเมตตาโปรดฝากเข้าไปประทานนั้นไปให้แล้ว กับหญิงแก้วก็กลับเข้าไปถึงแล้ว เอาผลองุ่นกับส้มซึ่งทรงพระเมตตาโปรดฝากไปประทานนั้น ส่งไปให้แล้วเหมือนกัน เป็นพระเดชพระคุณหาที่สุดมิได้ ขอถวายบังคมฝ่าพระบาท

ราชเลขานุการในพระองค์บอกมา ว่าชายประสบสุขกับหญิงเพียร ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจะออกมาเฝ้าฝ่าพระบาท โดยทางรถไฟกำหนด ณ วันที่ ๒๔ มกราคม แต่เมื่อวันที่ ๒๓ เธอทั้งสองพากันไปไหว้เกล้ากระหม่อม ได้ถามเธอดู บอกว่ายังจะไม่ออกไปตามกำหนดนั้น

ตามที่เสด็จจะแปรสถานขึ้นไปอยู่บนยอดเขานั้น เป็นการแปรสถานอย่างเตี้ยเต็มทีแต่เห็นจะได้ผลมาก เพราะอากาศที่บนยอดเขากับอากาศที่พื้นดินผิดกันมากเต็มที หวังว่าพระโรคอะไรที่มีมาจะเคลื่อนคลายหายไปหมด ให้นึกท้อใจแต่อ้ายรถเกรินที่พาขึ้นเขานั้นดูมันพิโยคพิเกนเต็มที ทั้งก็เดินเป็นเวลามีกำหนดเลิกเดินเสียแต่วันด้วย ถ้าขึ้นไปอยู่บนเขาแล้วไม่ลงมาเที่ยวข้างล่างก็ไม่เป็นไร ถ้าขึ้นไปอยู่แล้วลงมาเที่ยวข้างล่างด้วยเห็นจะลำบากเต็มที

ข่าวเบ็ดเตล็ดในกรุงเทพ ฯ

พระภักดีพิรัชภาคย์ (เจิม บุนนาค) ตายเสียแล้วเมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม และเผาศพแล้วเมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ที่วัดอนงคาราม เหตุว่าเขาเป็นนักเลงบิลเลียด หวังว่าฝ่าพระบาทคงจะทรงรู้จัก จึงกราบทูลมาให้ทรงทราบ

กับพระยาอนุทูตวาที (เข็ม แสงชูโต) ก็เสียเสียแล้วเมื่อวันที่ ๒๕ นี้ ไม่ได้เจ็บไข้อะไร หัวใจหยุดเสียเฉยๆ ลางทีฝ่าพระบาทจะไม่ทรงคุ้นเคย แต่เข็ดคราวหลวงขจร นึกว่าจะไม่ทรงรู้จักก็กลายเป็นคนที่คุ้นในฝ่าพระบาท จึงกราบทูลมาให้ทรงทราบไว้ด้วย

เมื่อวันที่ ๒๓ หญิงโหลกับหญิงเป้ามาลาไปเที่ยวไทรโยค ว่าจะไปกับคุณหญิงเสงี่ยมพระเสด็จ ในวันที่ ๒๕ เดือนนี้ เกล้ากระหม่อมก็อนุญาตให้ไปด้วยความหนักใจ กลัวไข้จะกิน แต่ก็เห็นว่าทีจะไม่เป็นไร เพราะเป็นเดือนกุมภาพันธ์ เธอว่าเขาว่าป่างามนัก เกล้ากระหม่อมก็รับรองว่างามจริง แต่แก่งมันมากนัก จะต้องขึ้นแก่งบ่อยๆ ถ้าไปด้วยเรือเล็กๆ อาจไปไกลได้ ถ้าไปเรือใหญ่แล้วทีจะไปไม่รอด เธอว่าไปไม่ได้ก็กลับ เมื่อมีความตั้งใจเพียงเท่านั้นก็เป็นได้กัน

ปัญหา

ขวดใหญ่ซึ่งเดี๋ยวนี้อยู่ที่วัดเบญจมบพิตร เดิมตั้งอยู่ที่ท้องพระโรงหน้า ณ เชิงอัฒจันทร์ ซึ่งลงมาจากพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เรียกกันว่าขวดบรรณาการ ฝ่าพระบาทได้ทรงทราบหรือไม่ว่าเป็นบรรณาการครั้งไหน ขวดคู่นั้นเดิมพื้นทางแดงตัวหนังสือปิดทองไว้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ขูดดูที จะใคร่ทรงทราบว่าเนื้อในจะเป็นอะไร จึงปรากฏว่าเนื้อในเป็นถ้อยซึ่งไม่ได้เคลือบ บัดนี้มาทราบว่ายังมีอีกคู่หนึ่งเหมือนกันนั้น เป็นถ้วยไม่ได้เคลือบไม่ได้ทาสี ทิ้งหมกอยู่ลับๆ เพิ่งจะไปพบกันเข้า ดูก็น่าประหลาดหนักหนา ถ้วยที่ไม่ได้เคลือบทางจีนไม่เคยพบเลย พบแต่ทางฝรั่งก็เป็นรูปตุ๊กตา แปลว่าตั้งใจทำเลียนตุ๊กตาหิน ขวดไม่เคลือบนี่จะแปลว่าตั้งใจทำเลียนขวดทำด้วยหินหรืออย่างไรไม่ทราบ

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ