วินิจฉัย เรื่อง “จิ้มก้องกรุงจีนและหองของพระเจ้ากรุงจีน”

ข้อปัญหาที่ตรัสถามมาว่าไทยจะได้จิ้มก้องจีนมาแต่เมื่อใดนั้น หม่อมฉันเคยพิจารณาในหนังสือ “จดหมายเหตุเรื่องพระราชไมตรีในระหว่างกรุงสยามกับกรุงจีน” ซึ่งพระเจนจีนอักษร (ตันสุดใจ) แปลจากจดหมายเหตุจีนและหอพระสมุด ฯ พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ ประกอบกับหนังสือพงศาวดารจีน Imperial History of China ซึ่งดอกเตอรแมคเคาวันแปลเป็นภาษาอังกฤษ สอบกับอธิบายพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาที่หม่อมฉันแต่ง ได้ความเป็นหลักฐานว่าไทยไปจิ้มก้องพระเจ้ากรุงจีนตั้งแต่สมัยเมื่อพระเจ้ารามคำแหงมหาราชครองกรุงสุโขทัยปฐม และมีสืบมาตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้จึงได้เลิก

มูลเหตุที่จะจิ้มก้องนั้นตามเรื่องพงศาวดารจีน ว่าเมื่อสมัยราชวงศ์ซ้องครองกรุงจีน เกิดผู้วิเศษขึ้นในประเทศมงโคเลีย สามารถรวบรวมกำลังรี้พลได้มาก ตั้งตนเป็นราชาธิบดี ทรงนามว่า เยนฆิสขาน Genghis Khan เมื่อ พ.ศ. ๑๗๐๙ แล้ว เที่ยวรบพุ่งขยายอาณาเขตไปทางกลางอาเซียจนในดินแดนที่เป็นประเทศรุสเซียบัดนี้ แล้วบุกรุกเลยเข้าไปจนในยุโรปบางแห่ง ทางฝ่ายใต้ก็ตีได้เมืองมันจูเลีย และบ้านเมืองในแดนจีนทางฝ่ายเหนือต่อลงมา พวกจีนต้านทานไม่ไหวพระเจ้ากรุงจีนในราชวงศ์ซ้องต้องยอมเป็นไมตรีกับพวกมงโคลด้วยแบ่งอาณาเขตจีนทางฝ่ายเหนือให้เยนฆิสขานครอบครอง เมืองจีนจึงแยกเป็นอาณาเขตอยู่สมัยหนึ่ง พระเจ้าเยนฆิสขานสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๑๗๗๐ ราชบุตรองค์ ๑ ทรงนามว่า กุปไลขาน Kublai Khan ได้รับรัชทายาทครองอาณาเขตที่ได้ไว้ในเมืองจีน กุปไลขานแผ่อาณาเขตรุกแดนจีนต่อลงมาจนได้เมืองจีนทั้งหมด และสูญสิ้นราชวงศ์ซ้องแต่นั้น เมื่อกุปไลขานได้ครองแผ่นดินจีนทั้งหมดก็รับขนบธรรมเนียมใช้เพื่อความสะดวกแก่การปกครอง ประกาศตั้งราชวงศ์ “หงวน” Juan เมื่อ พ.ศ. ๑๘๒๓ ใช้พระนามเป็นภาษาจีนว่า “พระเจ้าหงวนสี่โจ๊วฮ่องเต้” พระเจ้าหงวนสี่โจ๊วฮ่องเต้จัดการปกครองราชอาณาเขตมาทางตะวันตกถึงปลายแดน เกิดรบกับพม่า เป็นเหตุให้จีนตีได้เมืองพม่าและเมืองญวนก็ต้องยอมเป็นเมืองขึ้นจีน แต่ในสมัยนั้นพวกขอมยังมีกำลังมาก จีนตีเมืองเขมรหาได้ไม่ คงเป็นเพราะจีนสามารถตีเมืองต่างประเทศที่ใกล้เคียงได้ครั้งนั้น พระเจ้าหงวนสี่โจ๊วฮ่องเต้ จึงแต่งราชทูตไปเกลี้ยกล่อมประเทศที่อยู่ห่างอันทางไปมาต้องข้ามทะเลให้ไปอ่อมน้อมต่อกรุงจีน ญี่ปุ่นไม่ยอมไปอ่อนน้อมถึงเกิดรบพุ่งกัน แต่จีนตีเมืองญี่ปุ่นไม่ได้เพราะกองทัพเรือไปถูกพายุแตกฉาน เรื่องพงศาวดารประสบกับความในจดหมายเหตุจีนที่พระเจน ฯ แปล ว่า

เมื่อ พ.ศ. ๑๘๒๕ พระเจ้ากรุงจีนหงวนสี่โจ๊วฮ่องเต้ (คือกุปไลขานครองกรุงจีนได้ ๓ ปี) ตรัสสั่งให้ขุนนางชื่อหอจูจี่เป็นทูตมาเกลี้ยกล่อม “เสียมก๊ก” คือกรุงสุโขทัย (กับ “หลอฮกก๊ก” คือกรุงละโว้ ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นอิสระแก่กัน ยังมิได้รวมเป็น “เสียมหลอฮกก๊ก” ข้อนี้พึงเห็นได้ตามรายการที่กล่าวในจดหมายเหตุให้ไปอ่อนน้อมต่อกรุงจีน เทียบศักราชปีที่ทูตจีนมากับศักราชที่ปรากฏในศิลาจารึกสุโขทัย ได้ความว่า ทูตจีนมาก่อนพระเจ้ารามคำแหงตั้งแบบหนังสือไทยปี ๑ จึงรู้ได้แน่ว่าทูตจีนเข้ามาเกลี้ยกล่อมเสียมก๊ก เมื่อรัชกาลพระเจ้ารามคำแหงมหาราช แต่ส่วนหลอฮกก๊กที่ว่ายังเป็นอิสระอยู่นั้น มีเค้าอยู่ที่ในจารึกของพระเจ้ารามคำแหงมิได้ออกชื่อ อ้างว่าเมืองละโว้และเมืองอื่นๆ อันอยู่ทางฝ่ายตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่เมืองโคราฆบุรี (นครราชสีมา) ลงไปจนแดนเขมร เป็นเมืองขึ้นในราชอาณาเขตสุโขทัยเหมือนอย่างทางทิศอื่น ในจดหมายเหตุจีนเรียงลำดับเหตุการณ์ไว้ดังนี้

พ.ศ. ๑๘๒๕ ทูตจีนมาเกลี้ยกล่อมเสียมก๊ก (และหลอฮกก๊ก)

พ.ศ. ๑๘๓๒ หลอฮกก๊ก (พระเจ้ากรุงละโว้) ให้ราชทูตเชิญสุพรรณบัฏพระราชสาส์นกับเครื่องราชบรรณาการไปถวายพระเจ้ากรุงจีน (แต่นี้ในจดหมายเหตุจีนก็มิได้กล่าวถึงหลอฮกก๊กอีก)

พ.ศ. ๑๘๓๖ พระเจ้ากรุงจีนหงวนสี่โจ๊วฮ่องเต้ให้ราชทูตไปทำทางพระราชไมตรีด้วยพระเจ้าเสียมก๊ก (ความตอนนี้ส่อข้อสำคัญชวนให้คิดเห็นว่าเมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๔ พระเจ้ารามคำแหง ฯ คงตีเมืองละโว้ พระเจ้าละโว้แต่งราชทูตไปขอให้พระเจ้ากรุงจีนช่วย พระเจ้ากรุงจีนจึงแต่งราชทูตให้ออกมาว่ากล่าวห้ามปราม แต่ทูตจีนมาถึงเมื่อพระเจ้ารามคำแหงตีได้เมืองละโว้เสียแล้ว ทูตจีนถือรับสั่งพระเจ้ากรุงจีนไปต่อว่าพระเจ้ารามคำแหง ๆ เกรงจีนจะยกกองทัพมาช่วยกู้เมืองละโว้ แล้วเลยย่ำยีต่อขึ้นไปถึงกรุงสุโขทัย จึงยอมทำทางไมตรีรับจิ้มก้องจีนแต่นั้นมา)

พ.ศ. ๑๘๓๗ พระเจ้าหงวนสี่โจ๊วฮ่องเต้สิ้นพระชนม์ พระเจ้าหงวนเสงจงฮ่องเต้ขึ้นเสวยราชย์ เสียมก๊กอ๋อง “กังมินตึ๋ง” (คือพระเจ้ารามคำแหง) ไปเฝ้าพระเจ้ากรุงจีนองค์ใหม่ ความตอนนี้ส่อให้เห็นว่าพอตกลงทำทางไมตรีกับจีนแล้ว กรุงสุโขทัยก็เป็นไมตรีสนิทสนมกับจีนสืบต่อมาจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา ก็ปรากฏในจดหมายเหตุจีนว่าแต่งทูตไปจิ้มก้องเสมอ

การจิ้มก้องนั้น ในเมืองจีนกับเมืองต่างประเทศเข้าใจผิดกัน ในเมืองจีนเข้าใจว่าต่างประเทศที่ไปจิ้มก้องเป็นประเทศราช ไปแสดงความสามิภักดิ์ต่อพระเจ้ากรุงจีน แต่เมืองต่างประเทศถือว่าเป็นไมตรีกับจีนอย่าง “บ้านพี่เมืองน้อง” แสดงความเคารพต่อพระเจ้ากรุงจีนเหมือนอย่างว่าเป็นพี่ ที่ไม่รังเกียจการจิ้มก้อง หรือจะว่าชอบไปจิ้มก้องก็ว่าได้นั้น เพราะเรือทูตที่ไปจิ้มก้องจะบรรทุกสินค้าอันใดไปขาย ก็ไม่ต้องเสียภาษีอากร สินค้าที่พวกทูตซื้อมาจากเมืองจีนก็ไม่ต้องเสียภาษีอากร ทั้งราชบรรณาการที่พระเจ้ากรุงจีนตอบแทนก็เป็นของดีมีราคามากกว่าของที่ส่งไปถวาย การจิ้มก้องได้กำไรแก่ต่างประเทศมาก จึงพากันชอบไปจิ้มก้อง ไม่แต่เมืองไทยเท่านั้น จนถึงรัฐบาลจีนรำคาญ ข้อนี้มีในจดหมายเหตุที่พระเจนแปลแห่ง ๑ ว่าพระเจ้าไถ่โจ๊วฮ่องเต้ทรงปรารภว่าประเทศต่างๆที่อยู่ไกล คือ เจียมเสีย (จำปา) งังน่าง (ญวน) ซีเอี้ยง (โปรตุเกส) ซอลี้ (สันนิษฐานว่าสเปญ) เอี่ยวอกา (ชวา) เสียมหลอฮกก๊ก (เมืองไทย) ปะหนี (ปัตตานี) กำฟัดฉิ (กัมพูชา) เคยไปจิ้มก้องทุกปี ฝ่ายจีนสิ้นเปลืองมากนัก ดำรัสสั่งให้มีราชสาส์นห้ามมิให้ไปทุกปี (ให้ไปต่อ ๓ ปีครั้ง ๑) จึงเป็นกำหนดเช่นนั้นสืบมา ที่กล่าวมานี้เป็นแต่ด้วยเรื่องจิ้มก้อง

เรื่อง “หอง” นั้นมีเค้ามูลอยู่ในจดหมายเหตุจีนที่พระเจนแปลพ้องกับเรื่องพงศาวดารไทยชอบกล คือ เมื่อพระเจ้าอู่ทองตั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นอิสระ แล้วไม่ช้าทางเมืองจีนก็เปลี่ยนราชวงศ์หงวนเป็นราชวงศ์ใต้เหม็ง พระเจ้าไถ่โจ๊วฮ่องเต้ปปฐมวงศ์เสวยราชย์เมื่อ พ.ศ. ๑๙๑๑ ใช้นามแผ่นดินว่า “หงบู๊” ในรัชกาลพระเจ้าอู่ทองก็มีเค้าว่าไปจิ้มก้องเมืองจีน แต่ไม่มีรายการปรากฏ มาเริ่มมีรายการต่อในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พงั่ว) ในจดหมายเหตุจีนกล่าวว่า

เมื่อ พ.ศ. ๑๙๑๔ เสียมหลอก๊กอ๋อง (คือสมเด็จพระบรมราชาธิราช พงั่ว) พอเสวยราชย์แล้วก็มีพระราชสาส์นให้ทูตเชิญไปเมืองจีน ว่า “อ๋อง” พระองค์ก่อน (คือสมเด็จพระราเมศวร) ไม่ทรงปรีชาสามารถ ชาวเสียมหลอฮกก๊กจึงเชิญพระองค์ผู้เป็นพระเจ้าลุงขึ้นครองราชสมบัติ พระเจ้ากรุงจีนทรงรับทูตตามประเพณี แต่ไม่ปรากฏในจดหมายเหตุว่ามีพระราชสาสนตอบมาว่าอย่างไร

ต่อมาอีก ๒ ปี เมื่อ พ.ศ. ๑๙๑๖ “เซียนเสียะซือสิง” พระภคินีของเสียมหลอก๊กอ๋อง (คือพระชนนีของสมเด็จพระราเมศวร ซึ่งกลับไปครองเมืองลพบุรีอยู่ในเวลานั้น เห็นจะเคยคุ้นกับราชสำนักจีนมาแต่เมื่อเป็นมเหสีพระเจ้าอู่ทอง) ให้ทูตเชิญราชสาส์นกับเครื่องราชบรรณาการไปถวายพระเจ้ากรุงจีนกับพระมเหสี พระเจ้ากรุงจีนเป็นแต่เลี้ยงดูทูต ไม่ยอมรับราชสาส์นและเครื่องบรรณาการ

ต่อมาอีกปี ๑ ถึง พ.ศ. ๑๙๑๗ เจ้านครอินทร จีนเรียกว่า “เจี่ยวลักควานอิน” และว่าเป็นโอรสผู้จะรับทายาทของ “ซูมันบังอ๋อง” (เจ้าผู้ครองเมืองสุพรรณ) ให้ทูตถือสาส์นกับเครื่องบรรณาการไปถวายฮ่องไทจือ (พระยุพราช) พระเจ้ากรุงจีนให้รับบรรณาการ และประทานของตอบแทนมายังเจ้านครอินทร ความตอนนี้ขยายคดีอันมิได้ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดาร ว่าเมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราชพงั่วเสด็จเข้ามาครองกรุงศรีอยุธยานั้น ทรงตั้งพระเจ้าน้องยาเธอ องค์ ๑ ให้ครองเมืองสุพรรณ ที่จีนเรียกว่า ซูมันบังอ๋อง และน้องยาเธอองค์นั้นเป็นพระชนกของพระเจ้านครอินทร ซึ่งเห็นจะได้ครองเมืองอินทรและต่อมาได้เข้าครองกรุงศรีอยุธยา เรียกพระนามในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า “สมเด็จพระอินทราชาธิราช” และว่าเป็นราชนัดดาของสมเด็จพระบรมราชาพงั่ว

ต่อมาอีกปี ๑ ถึง พ.ศ. ๑๙๑๘ เจ้าองค์ ๑ คนเรียกว่า “เจียวปะล่อกะยก” เป็นสี่จื้อ (ทายาท) ของอ๋ององค์เก่า (คือราชบุตรของสมเด็จพระราเมศวร) ให้ทูตถือสาส์นคุมเครื่องบรรณาการไปถวายฮ่องไทจือ และพระเจ้ากรุงจีนก็โปรดให้รับและประทานของตอบแทนเหมือนอย่างเจ้านครอินทร เจ้าองค์นี้คือพระรามที่ได้เสวยราชย์ต่อรัชกาลครั้งหลังของสมเด็จพระราเมศวร ทรงพระนามว่าสมเด็จพระรามราชาธิราช ความตอนนี้ส่อให้เห็นว่าาในสมัยนั้นเจ้านครอินทร กับพระราม อยู่ในฐานะเป็นคู่แข่ง “ประมูล”” กันรับรัชทายาทครองกรุงศรีอยุธยาในวันหน้า

ต่อมาใน พ.ศ. ๑๙๑๘ ปีเดียวกันนั้นเอง ซูมันบังอ๋องให้เจ้านครอินทรออกไปเฝ้าพระเจ้ากรุงจีน และว่าเมื่อเจ้านครอินทรจะกลับ พระเจ้ากรุงจีนให้เชิญลัญจกรมาประทานสมเด็จพระบรมราชาธิราชพงั่วด้วยดวง ๑ ลายเป็นอักษรจีน “เสียมหลอก๊กอ๋องจืออิน” (แปลว่าตราของเสียมหลอก๊กอ๋อง) แต่นั้นจีนก็ตัดคำฮกออกจากนามประเทศ เรียกว่า เสียมหลอก๊กตามอักษรในลัญจกรนั้นสืบมา ในจดหมายเหตุจีนกล่าวถึงไทยไปจิ้มก้อง ศักราชตรงในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราช พงั่ว และในรัชกาลสมเด็จพระราเมศวรอีกหลายครั้ง

ถึง พ.ศ. ๑๙๓๘ ตรงในรัชกาลสมเด็จพระราเมศวรครั้งหลัง เจ้านครอินทรให้ทูตถือสาส์นไปทูลพระเจ้ากรุงจีนว่า “ซูมันบังอ๋อง” พระบิดาสิ้นพระชนม์ พระเจ้ากรุงจีนทรงแต่งทูตมาเยี่ยมพระศพและทรงตั้งเจ้านครอินทรเป็นซูมันบังอ๋องแทนพระบิดา

ต่อมาถึงรัชกาลสมเด็จพระรามราชาธิราช ก็ปรากฏในจดหมายเหตุว่าให้ไปจิ้มก้องเมืองจีนหลายครั้ง เมื่อสมเด็จพระรามราชาธิราชถูกปลงจากราชสมบัติแล้ว สมเด็จพระอินทรราชาธิราช (เจ้านครอินทร) ได้ครองกรุงศรีอยุธยา ปรากฏในจดหมายเหตุจีนว่าเมื่อ พ.ศ. ๑๙๔๖ เสียมหลอก๊กอ๋องให้ไปจิ้มก้อง พระเจ้าเสงโจ๊วฮ่องเต้ดำรัสให้ทำลัญจกรด้วยเงินกาไหล่ทอง ยอดทำเป็นรูปอูฐให้ราชทูต ( จะเป็นจีนหรือไทยไม่ปรากฏ) เชิญมาประทานก๊กอ๋อง “เจี่ยวลกควานอินตอล่อทีล้า” (เจ้านครอินทราธิราช) ดังนี้ เรื่องที่กล่าวมาดูเป็นมูลเหตุที่เกิดประเพณีที่พระเจ้ากรุงจีน “หอง” และประทานพระราชลัญจกรแก่พระเจ้าแผ่นดินไทย เพราะหาอำนาจจีนอุดหนุนแข่งกันในระหว่างเจ้านายราชวงศ์สุพรรณ กับ ราชวงศ์เชียงราย เป็นเดิม แล้วเลยเป็นธรรมเนียมสืบมาแม้มิได้มีเหตุแข่งขัน ดังปรากฏในจดหมายเหตุจีนว่าเมื่อสมเด็จพระอินทราสวรรคต สมเด็จพระบรมราชาธิราช (สามพระยา) ได้ครองกรุงศรีอยุธยา แต่งทูตเชิญพระราชสาส์นไปเมืองจีน แถลงการที่เปลี่ยนรัชกาลใหม่เมื่อ พ.ศ. ๑๙๕๙ พระเจ้ากรุงจีนก็ให้ราชทูตมาเยี่ยมพระบรมศพและ “ยกย่องอ๋องจือเป็นก๊กอ๋อง” การหองจึงเป็นประเพณีมีมาเก่าแก่แต่ต้นกรุงศรีอยุธยา ด้วยประการฉะนี้ ค้นหนังสือเสียหลายวันจึงได้ความดังทูลมา.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ