วันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๔๘๒

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ทราบฝ่าพระบาท

วันที่ ๒๓ ธันวาคม อันเป็นกำหนดเมล์วันเสาร์ ได้รับลายพระหัตถ์เวรตามเคย ซองบริสุทธิ์มีแต่ตราประทับสั่งผ่านสองดวงหน้ากับหลัง ความในลายพระหัตถ์ปรากฏว่าไม่ได้ทรงรับหนังสือเวร ซึ่งได้ส่งถวายมาตามเคย ดูเหมือนหนึ่งว่าจะเป็นหนังสือฉบับซึ่งลงวันที่ ๑๒ ธันวาคม อันมีความฝากถวายพระพรแด่พระองค์หญิงประเวศอยู่ในนั้น แต่ฉบับนั้นก็แน่ใจว่าได้ทรงรับแล้ว เพราะได้รับลายพระหัตถ์พระองค์หญิงประเวศตรัสขอบใจที่ถวายพระพรนั้นแล้ว อันหนังสือเวรนั้นจะได้จัดส่งมาถวายในวันอังคารเสมอไม่มียักย้าย ถ้าหากจะยักย้ายเป็นอย่างอื่นไปก็จะกราบทูลมาให้ทรงทราบตามคราว ข้อที่ตรัสบอกถึงหนังสือหญิงจงมีมาถวายไม่มีการตัดซอง แต่หญิงมารยาตรมีมาถึงหญิงพูนมีการตัดซองนั้น เป็นอันแสดงให้เห็นได้ว่า เขาเคารพและเชื่อในฝ่าพระบาท

สนองความในลายพระหัตถ์

เรื่องพระร่วงเป็นลูกนาคนั้น อ่านมาแต่ก่อนใจก็เฉยๆ กระทั่งไปอ่านหนังสือทางเขมร พบเขามีเรื่องผู้มีบุญลูกนาคเหมือนกัน จึงทำให้ฉุกใจได้คิดว่าจะเป็นเรื่องแบบที่มาแต่ไกล ตั้งแต่นั้นก็จับบทสังเกตมา จนได้เรื่องที่เขาเล่าไว้ในอินเดียถึงกษัตริย์วงศ์ปัลลวะ ว่าสืบมาแต่ผู้มีบุญลูกนาคก็สมคาดดังได้กราบทูลมาแล้ว แต่เรื่องท้าวแสนปมนั้นไม่เคยนึกเลยว่าจะเป็นนิทานแบบมาแต่ไกล นึกแต่เพียงว่ายากที่จะเป็นไปจริง ๆ ได้ จนมาได้ทราบความตามลายพระหัตถ์ว่าทางเมืองมอญเขาก็มี เล่นเอาสะดุ้งใจมาก ทำให้เชื่ออย่างกระแสพระดำริว่าจะเป็นเรื่องที่มีมาแต่อินเดียเหมือนกัน ให้เกิดอนาถใจว่ากระไรเลยหนอ เราช่างฮุบเอาเรื่องเก่าอันไม่ใช่ของเรามาเป็นของเราได้อย่างมั่นเหมาะ แต่เรื่องครองพิษณุโลกนั้นเป็นเรื่องของเราแท้ ขอถวายโมทนาที่ได้ทรงค้นพบหลักฐานอันมืดมัวอยู่ให้แจ่มแจ้งออกได้มาก

อันพระนามที่มีคำว่า ราม เช่น รามาธิบดี หรือ ราเมศวร รามราชาธิราช หรือพระยาราม อะไรเหล่านั้น เกล้ากระหม่อมสงสัยว่าไม่ใช่พระนามก่อน หากได้พระนามนั้นเมื่อได้เสด็จขึ้นครองกรุงศรีอยุธยาแล้ว ได้เห็นพระนามราเมศวรในบานแพนก ซึ่งทรงคัดประทานไปทำให้ลิงโลดในใจมาก เพราะปรากฏว่าเป็นพระนามพระเจ้าแผ่นดินอยุธยา เป็นองค์พยานอย่างหนึ่งว่าคิดถูก เช่นพระราเมศวรผู้เป็นรัชทายาทของพระเจ้าอู่ทองนั้น เมื่อเสด็จครองเมืองพบุรีอยู่ เห็นจะไม่ได้มีพระนามว่าราเมศวร คงได้รับพระนามนั้นต่อเมื่อได้เสด็จขึ้นครองกรุงศรีอยุธยาแล้ว แต่ผู้แต่งพงศาวดารไม่ทราบเรื่อง ได้พระนามภายหลังมาก็ยืนเอาว่าเป็นพระนามอย่างนั้น กราบทูลมาให้ทรงทราบตามวิถีจิต เพื่อได้ทรงพิจารณาเล่นสนุกๆ ตามประสาที่อยู่ว่างๆ

อันเมืองหลวงพระบางซึ่งชื่อว่าพระบางนั้น คิดว่าถ่ายอย่างเอาเมืองพระบางที่ปากน้ำโพไปให้ชื่อทีหลัง จะเป็นด้วยเมืองพระบางเวลานั้นจำเริญหนักหรืออย่างไรไม่ทราบ ตามที่ได้ตรัสบอกก็ว่าเมืองหลวงพระบางแต่ก่อนชื่อว่าเมืองชวา อันปรากฏอยู่ในหลักศิลาของพระเจ้ารามกำแหง ไม่ได้ชื่อว่าหลวงพระบาง แม้ที่ชื่อว่าเมืองชวานั้นก็เห็นจะถ่ายเอาชื่อเมืองที่รุ่งเรืองมาตั้งเป็นชื่ออย่างเดียวกัน เดิมจะไม่ได้มีชื่อว่าเมืองชวา ทางเราถนัดเอาชื่อเมืองที่รุ่งเรืองมาตั้งบ้าง เช่นเมืองหงสาวดีที่ได้ทูลถามมาก่อนนั้นเป็นตัวอย่างอยู่

ไขความที่ได้ทูลมาก่อนนี้

เรื่อง ร้านม้า ทั้งได้ทูลถามมาแล้วก็เกรงจะไม่ทรงทราบ จึงสืบทางอื่นประกอบอีก ได้ความพอเข้ารูปอันจะพึงสันนิษฐานได้ว่า การเผาศพนั้นแต่ก่อนใช้ฟืนมากๆ กองให้ใหญ่สูงกระทั่งเพียงอก แล้วเอาศพวางบนกองฟืนนั้น ถ้าเป็นศพเลวก็เอาแต่ศพตัวเปล่าวางบนกองฟืน ถ้าเป็นศพดีก็เอาศพทั้งโลงขึ้นวางแล้วจุดไฟเผา การทำโดยวิธีนี้ยังมีทำอยู่ในพายัพและอีสานจนเมื่อเร็วๆ นี้ การเผาก็ไหม้ไฟไปหมดทั้งฟืนทั้งศพกับทั้งโลงด้วย ในการทำอย่างนั้นเกรงว่ากองฟืนจะพัง จึงเอาหลักปักกันทางด้านยางด้านละสองหลัก ลางทีที่เป็นศพดีก็ใช้ไม้หลักให้ยาวเป็นเสาขึ้นไป แล้วดาดเพดานหรือทำหลังคากั้นศพตามแต่พอใจจะทำ การเผาก็คงเผาไหม้ไปหมดทั้งหลังคานั้นด้วย ทีหลังบ้านเมืองจำเริญขึ้น มีคนมากขึ้น มีศพจะต้องเผามากขึ้น แต่ฟืนหาได้ยากเข้า จึงเปลี่ยนแปลงเป็นเผาด้วยฟินแต่น้อยดุ้น เลิกฟืนกองใหญ่ แต่หลักที่ปักขึ้นกันฟืนนั้นคงไว้ ทำพื้นใส่เข้าบนหลักแทน หลังกองฟืนใช้เป็นที่ตั้งศพ จึงกลายเป็นร้านม้าที่ตั้งศพ ถ้าแปลตามคำแห่งชื่อก็เป็นร้านมีสี่ขาดุจม้า เติมตะเกียงฉะนั้น แล้วก็เผาศพบนร้านนั้นเสียด้วย ดังที่กล่าวไว้ในเรื่องขุนช้างขุนแผน อันเป็นแน่ว่าแต่งคำนั้นขึ้นภายหลังในเมื่อใช้ร้านม้าเป็นที่ตั้งศพเผาศพแล้ว ที่พรรณนาถึงเชิงร้านม้าว่าก่อเขา ก็เป็นการที่ศพอย่างดีผู้มีกำลังเขาทำมาแล้วแต่ก่อน ย่อมแต่งอุดร่องถุนแห่งร้านม้าให้วิจิตรพิสดารไปต่างๆ เคยได้ยินเขาเล่าว่าทางพายัพถ้าเป็นศพที่ทำอย่างดีแล้ว เขาต่อเป็นตะเฆ่ใหญ่แล้วกองฟืนบนนั้น และกองฟืนนั้นเขาก็ตกแต่งปกปิดเสียให้งามมีทำเป็นเขาเป็นต้น บนกองฟินนั้นผูกหุ่นเป็นรูปนกหัสดีลึงค์ บนหลังนกทำเป็นเรือนจะมียอดหรือไม่มีก็ตามแต่จะทำ แล้วตั้งหีบศพในเรือนนั้น อันนี้ก็คือที่ตังศพนั้นเอง เสร็จแล้วช่วยกันชักไปเข้าเมรุซึ่งปลูกไว้ในทุ่ง ทำบุญเสร็จแล้วก็จุดฟืน ไฟไหม้ไปหมดทั้งฟืนทั้งนกทั้งศพตลอดจนถึงเมรุ แล้วกวาดเอาขี้เถ้าเข้าบรรจุในพระเจดีย์หรืออะไรก็ตามแต่จะทำ ตามที่ว่านี้ความจริงจะมีเพียงไรก็อยู่แก่ผู้เล่า แต่ถ้าคิดตามที่ว่านั้นแล้ว คำว่า “ชักศพ” ก็หมายความว่าช่วยกันลากตะเฆ่ไปเข้าเมรุในทุ่ง ญาติทั้งหลายคงช่วยเข้าชักตะเฆ่นั้น ทีหลังจัดเป็นยศเป็นอย่างขึ้น จึงจัดให้ญาติขึ้นคานหามเป็นโปรยคนหนึ่งเป็นโยงคนหนึ่ง ญาติทั้งสองนั้นก็ชื่อว่าเป็นผู้แทนญาติทั้งหลายซึ่งจะช่วยกันชักศพกับสัตว์อันมีสังเค็ดยอดบนหลัง ใส่ผ้าไตรตั้งบนตะเฆ่ซึ่งมีในพระเมรุใหญ่นั้น เข้าใจว่าย่นย่อและคูณขึ้นจากที่ตั้งศพนั้นเอง เคยเห็นรูปฉายเขาว่าเป็นศพพระสมภารในเมืองมอญหรือเมืองพม่า ทำเป็นรูปช้างมีวอใส่ศพตั้งบนหลัง แต่ส่วนตอนล่างเห็นไม่ได้ด้วยมีคนมุงอยู่แน่น อันนี้ก็เป็นลักษณะอย่างเดียวกัน

การจุดไฟเผาศพนั้น เขาว่าทางพายัพใช้ดอกไม้ไฟติดล้อ เมื่อจุดแล้วแล่นเข้าไปสู่กองฟืนอันแต่งไว้ แต่ทางมอญเขาว่าจุดดอกไม้ให้แล่นไปตามสะพานสายเชือก อันขึงไว้เข้าไปสู่กองฟืน เราเรียกดอกไม้ไฟชนิดนั้นว่าลูกหนู ทั้งนี้ก็มาเข้ารูปเดียวกับการจุดฝักแคของเรา แต่การจุดฝักแคของเราเป็นทำตามยศ ผิดกันกับทางเขมร แม้พระศพพระเจ้าศรีสวัสดิ์ซึ่งจัดว่าใหญ่โตทีเดียวเขาก็แบ่งเป็นสองภาค คือการวางธูปเทียนภาคหนึ่ง เขาถือว่าเป็นการถวายขมาแล้วจุดฝักแคอีกภาคหนึ่ง เขาถือว่าเป็นการถวายพระเพลิง ออกจะเข้าทีอยู่มาก

ข่าวเบ็ดเตล็ดในกรุงเทพ ฯ

เวลานี้มีละครสัตว์เขาไปตั้งเล่นอยู่ที่สวนลุมพินี ชื่อบริษัทว่า “อิสาโก” เคยเข้าไปเล่นในกรุงเทพฯ มาครั้งหนึ่งแล้ว แม้ตั้งอยู่ใกล้บ้านเกล้ากระหม่อมก็ “เชื่อ” ไม่ได้ไปดู ไปดูกันแต่พวกเด็กๆ

ตามที่กราบทูลว่าหนาวค่อยคลายลงนั้น หมู่นี้กลับหนาวขึ้นอีก ได้ถามหม่อมเจิมว่าที่ปีนังหนาวหรือไม่ก็บอกว่าไม่หนาว เกล้ากระหม่อมก็เดาเอาว่าเพราะเป็นที่อยู่ใกล้กับทะเล อันทะเลนั้นเป็นสิ่งประเสริฐ หนาวก็ไม่หนาวนัก ร้อนก็ไม่ร้อนนัก ได้อากาศสบายเป็นยาอายุวัฒนะ

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ