วันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๔๘๒

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

เมื่อฉันอังคารที่ ๑๙ ธันวาคม พอหม่อมฉันส่งจดหมายเวรฉบับลงวันที่ ๑๙ นั้นไปทิ้งที่ไปรษณีย์ได้สัก ๓ ชั่วโมง บุรุษไปรษณีย์ก็นำลายพระหัตถ์เวรลงวันที่ ๑๒ ธันวาคม มาส่ง พิจารณาดูซองก็ปิดเรียบร้อย มีดวงตราไปรษณีย์กรุงเทพ ฯ ประทับวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๑๑ นาฬิกาเช้า สันนิษฐานว่าคงส่งมาจากกรุงเทพฯ เมื่อวันพุธที่ ๑๓ นั้น และมาถึงปีนังเมื่อคราวเมล์วันพฤหัสบดีที่ ๑๔ เห็นจะไปหลงค้างอยู่ที่ปีนังนี้ถึง ๕ วันจึงมาถึงหม่อมฉัน ก็ชั่งเถิด

สนองความในลายพระหัตถ์

เรื่องพัดแฉกงานั้นหม่อมฉันได้นึกสงสัยมาแต่ไรๆ เช่นท่านทรงพระดำริว่า น่าที่ทูลกระหม่อมจะมีรับสั่งให้สร้างขึ้น แต่ยังไม่ได้เห็นประกาศรัชกาลที่ ๕ เป็นแต่ได้เคยฟังคนชั้นผู้ใหญ่เล่าหลายคน เป็นยุติต้องกันว่าเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (บุญศรี) เป็นผู้ประดิษฐ์พัดแฉกงานั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายทูลกระหม่อม แม้ในเรื่องประวัติเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีซึ่งหม่อมกรุงแต่งลงหนังสือพิมพ์ราชกิจจานุเบกษา เมื่อเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีถึงอสัญกรรมในปีจอ พ.ศ. ๒๔๑๗ ก็มีว่าได้ทำพัดแฉกงาถวาย ครั้นมาเห็นอ้างในประกาศก็จำต้องรับว่าพัดแฉกงานั้นเป็นของทูลกระหม่อมทรงพระดำริ และดำรัสสั่งให้สร้างขึ้น ถึงกระนั้นคิดดูก็ยังไม่หายฉงน จึงจะทูลข้อที่ฉงนบรรเลงถวาย

๑) อะไรเป็นมูลที่ทูลกระหม่อมทรงพระราชดำริให้สร้างพัดแฉกงานั้น จะว่าเพราะได้ทอดพระเนตร และทรงสังเกตเห็นในรายงานทูตลังกาที่มาขอคณะสงฆ์ไทย ครั้งรัชกาลพระเจ้าบรมโกศ ว่าสมเด็จพระสังฆราชมีพัดยศทั้งพัดแฉกตาดและพัดงาสาน จึงทรงประดิษฐ์พัดแฉกงาขึ้น หมายให้พัดทั้ง ๒ อย่างนั้นรวมกันอยู่ในเล่มเดียว ถ้าหากสร้างตอนต้นรัชกาล เหตุไฉนจึงไม่พระราชทานกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสซึ่งเป็นสังฆปรินายก เมื่อกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ สิ้นพระชนม์แล้ว ก็มิได้ทรงตั้งสมเด็จพระมหาสังฆปรินายกอีกจนตลอดรัชกาลที่ ๔ เพราะฉะนั้นยุติได้ว่าพัดแฉกงานั้นมิได้สร้างเป็นพัดยศสำหรับตำแหน่งสมเด็จพระมหาสังฆปรินายก

๒) เพราะเหตุใดทูลกระหม่อมจึงพระราชทานพัดแฉกงาแก่กรมสมเด็จพระปวเรศ ลองคิดว่าหรือจะทรงพระราชดำริว่า เมื่อยังดำรงพระยศเป็นพระองค์เจ้าฤกษอยู่ในรัชกาลที่ ๓ ได้เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญทรงถือพัดแฉกถมปัด (อันจะมีอธิบายต่อไปข้างหน้า) เป็นของเลวนักจึงโปรดให้ทำพัดแฉกงาพระราชทานให้ใช้แทนพัดแฉกถมปัด ฉะนี้ก็ขัดกับเรื่องประวัติการ ด้วยเมื่อถึงรัชกาลที่ ๔ ในปีกุน พ.ศ. ๒๓๙๔ ที่ทูลกระหม่อมเสวยราชย์นั้นเองทรงสถาปนากรมหมื่นนุชิตชิโนรส เป็นกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงสมณศักดิ์เป็นมหาสังฆปรินายก ทรงถือพัดแฉกตาด (ยังตั้งอยู่หน้าพระอัฐิที่วัดพระเชตุพนจนบัดนี้) และทรงสถาปนาพระองค์คฤกษเป็นกรมหมื่นบวรรังศรีสุริยพันธ์ มีสมณศักดิ์เป็นอนุนายกลอง แต่กรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ลงมา คงพระราชทานพัดแฉกตาด (อาจจะเป็นเล่มเดียวกับที่ทูลกระหม่อมเคยทรงถือก็เป็นได้) ไม่มีมูลที่สร้างพัดแฉกงาในครั้งนั้น ถึงต่อมาเมื่อกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ สิ้นพระชนม์แล้ว กรมหมื่นบวรรังศรีสุริยพันธ์ก็มิได้เลื่อนพระยศหรือเลื่อนสมณศักดิ์ ยังคงเป็นกรมหมื่นและเป็นอนุนายกมาจนตลอดรัชกาลที่ ๔ ดูก็ไม่มีเหตุที่จะสร้างพัดแฉกงาพระราชทาน

๓) ถ้าทูลกระหม่อมทรงพระราชดำริให้สร้างพัดแฉกงาขึ้น ไฉนจึงไม่โปรดให้คนสำคัญที่เคยรับราชการช่าง เช่นสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยก็ดี กรมขุนราชสีห์ก็ดี หรือแม้พระองค์เจ้าประดิษฐวรการก็ดี ทำพัดแฉกงาเล่มนั้น ไปทรงเลือกสรรเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (บุญศรี) ให้เป็นผู้ทำพัดแฉกงา หม่อมฉันพิจารณาดูในเรื่องประวัติของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (บุญศรี) ปรากฏว่าได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๑ แต่ถึงรัชกาลที่ ๒ หลีกเลี่ยงจากราชการเมื่อกรมหมื่นศรีสุเรนทรต้องโทษเพราะเป็นญาติสนิทกับกรมหมื่นศรีสุเรนทร ไปพึ่งพระบารมีอยู่กับพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อยังเป็นกรม ไปทำความชอบในพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดมาก เมื่อเสวยราชย์ทรงตั้งเป็นจ่ารงในกรมมหาดเล็กแล้ว เลื่อนเป็นจหมื่นไวยวรนาถ ต่อมาได้เป็นพระยาพิพัฒโกษาปลัดทูลฉลองกรมท่า แต่ยังทรงใช้ใกล้ชิดติดพระองค์มาเสมอจนได้เป็นผู้พยาบาลพระองค์คน ๑ เมื่อใกล้จะสวรรคต มีชื่ออยู่ในจดหมายเหตุครั้งนั้น ถึงรัชกาลที่ ๔ ได้เลื่อนที่เป็นพระยามหาอำมาตย์ รับราชการในกรมมหาดไทยแต่ปีกุน พ.ศ. ๒๓๙๔ มาจนปีระกา พ.ศ. ๒๔๐๔ ได้เลื่อนเป็นที่เจ้าพระยาธรรมาเสนาบดีกรมวัง (แต่เจ้าพระยาธรรมาในรัชกาลที่ ๔ ก็เป็นแต่อย่างเสนาบดีกิตติมศักดิ์ ด้วยสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ ทรงบัญชาการกระทรวงวัง) มาจนถึงรัชกาลที่ ๕ ปลดชรา เลื่อนเป็นเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีเมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖ อยู่ในตำแหน่งนั้นได้ปีเดียวก็ถึงอสัญกรรม พิเคราะห์ตามเรื่องประวัติเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีก็ไม่เคยอยู่ในกรมการช่าง และไม่เคยได้ยินว่าเป็นช่างทำสิ่งใดไว้ให้ปรากฏ นอกจากทำพัดแฉกงา กับสร้างวัดบูรณศิริมาตยารามด้วยบริจาคทรัพย์ จึงคิดไม่เห็นว่าด้วยเหตุใดทูลกระหม่อมจึงโปรดให้เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (บุญศรี) เป็นผู้ทำพัดแฉกงา

คิดอีกนัยหนึ่ง ว่าถ้าหากทูลกระหม่อมมิได้ตรัสใช้ แต่เจ้าพระยาสุธรรมมนตรีใคร่จะทำของอย่างใดอย่างหนึ่งทูลเกล้าฯ ถวายสนองพระเดชพระคุณ เปรียบว่าเมื่อทรงตั้งเป็นเจ้าพระยาเสนาบดี ถ้าตัวเองเคยหัดเป็นช่างแกะงามาแต่ก่อน หรือมีบริวารชนเป็นช่างแกะงาฝีมือดี จะทำของถวายด้วยงาก็น่าที่จะทำสิ่งซึ่งเป็นเครื่องราชูปโภค ไฉนจึงทำพัดแฉกงาอันเป็นเครื่องยศของพระเป็นของถวาย ข้อนี้ก็คิดไม่เห็นเหตุ จึงเป็นอันจนรอบข้าง แต่ยังมีตัวคนซึ่งควรจะรู้ความที่จริงเหลืออยู่คน ๑ คือพระยามหานิเวศนานุรักษ์ (กระจ่าง บุรณศิริ) ซึ่งเป็นหลานของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี และเกิดทันเวลาปู่ยังอยู่ ขอให้ทรงถามดู บางทีจะได้ความรู้ให้สิ้นวิมุติกังขาในเรื่องพัดแฉกงา

เรื่องพัดแฉกถมปัดนั้นชอบกลนักหนา หม่อมฉันได้ยินจากท่านผู้ที่ได้โดยเห็นเอง ดูเหมือนจะเป็นสมเด็จพระสังฆราชวัดราชประดิษฐ์เล่าว่าเมื่อกรมสมเด็จปวเรศเป็นพระราชาคณะในรัชกาลที่ ๓ นั้นทรงถือพัดแฉกถมปัด แต่หม่อมฉันนึกว่าล่วงเวลามาช้านาน พัดแฉกถมปัดนั้นคงสาปสูญไปแล้ว จึงเป็นแต่ทรงจำคำที่ได้ยินเล่าไว้ ครั้นถึงสมัยเมื่อหม่อมฉันจัดพิพิธภัณฑสถานในรัชกาลที่ ๗ เห็นของถมปัดที่เป็นเครื่องยศพระราชาคณะแต่ก่อนมีอยู่ในพิพิธภัณฑสถานมาแต่เดิมสักสองสามสิ่ง นึกปรารภว่าของถมปัดที่เป็นเครื่องยศพระเคยเห็นมีของต่างๆ หลายอย่าง แต่กระจัดกระจายไปเสียมาก เคยเห็นไปตกอยู่ตามวัดราษฎร์ก็มี หม่อมฉันอยากจะรวมของถมปัดเครื่องยศพระรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานให้ครบทุกสิ่งสักชุด ๑ จึงพูดกับเจ้าพระยาวรพงศ์ ๆ ให้พระศุภรัตน์ (คนอ้วนๆ ชื่อตัวแกว่ากระไรจำไม่ได้) ขนเครื่องยศถมปัดที่อยู่ในคลังศุภรัตน์มาให้หม่อมฉันดูที่พิพิธภัณฑสถาน ในของเหล่านั้นมีพัดแฉกถมปัดเล่ม ๑ ยังเหลือแต่ใบพัดกับแกนเหล็กยอดและด้ามงาหามีไม่ หม่อมฉันเห็นก็ดีใจจนเนื้อเต้น ด้วยมิได้คาดว่าจะยังอยู่ จึงขอพัดแฉกนั้นไว้และไปขอยอดและด้ามงาพัดแฉกที่กระทรวงธรรมการ ได้มาคุมกันเรียบร้อยให้ตั้งไว้ในพิพิธภัณฑสถานจะเสด็จไปทอดพระเนตรเมื่อใดก็ได้

หนังสือซึ่งพระยาทิพโกษาว่าหม่อมฉันแต่งต่อกรมพระสมมตอมรพันธ์นั้น เดิมเมื่อกรมพระสมมตฯ ทรงเป็นตำแหน่งนายกกรรมการหอพระสมุดตอนต้นรัชกาลที่ ๖ ทรงบัญชาการกรมอาลักษณ์อยู่ด้วย ท่านทรงรวบรวมสำเนาประกาศพระราชทานเกียรติยศอันมีอยู่ในกรมอาลักษณ์ หมายจะพิมพ์เป็นหนังสือ ๓ เรื่อง คือเรื่องตั้งเจ้านายเล่ม ๑ เรื่องตั้งเจ้าพระยาเล่ม ๑ และเรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่เล่ม ๑ ได้ทรงรวบรวมเรื่องตั้งเจ้านายสำเร็จและได้พิมพ์ในงานพระศพพระองค์เจ้าแม้นเขียนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ แต่อีก ๒ เรื่องยังไม่สำเร็จจนกรมพระสมมตฯ ประชวรหนัก ตรัสสั่งหม่อมฉันให้เอาเป็นธุระต่อมา หม่อมฉันจึงทำตามรับสั่งมาจนสำเร็จ เรื่องตั้งเจ้าพระยา เจ้าพระยาภาสกรวงศ์รับพิมพ์ในงานฉลองอายุครบ ๗๐ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑ เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่สมเด็จพระสังฆราชวัดราชบพิธ เมื่อยังดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ ทรงรับพิมพ์ในงานฉลองพระชนมายุครบ ๖๐ ปีเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑ ต่อนั้นมาเรื่องตั้งเจ้านายได้พิมพ์ซ้ำ ๒ ครั้งเพิ่มเป็น ๒ เล่ม มีพระรูปเจ้านายที่ทรงตั้งลงมาจนตลอดรัชกาลที่ ๗ เรื่องตั้งเจ้าพระยาก็ได้พิมพ์ซ้ำเป็นฉบับมีรูปและเพิ่มเรื่องจนตลอดรัชกาลที่ ๗ ยังไม่ได้พิมพ์เข้ารูปเดียวกันแต่เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ เมื่อพระมหาลำใยมาปีนังหม่อมฉันได้สั่งไปให้เรียนสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ว่าควรจะพิมพ์เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่อีกสักครั้ง ๒ เพิ่มเรื่องลงมาให้ถึงปัจจุบัน แต่จะสำเร็จหรืออย่างไรไม่ทราบ

ตรัสถามถึงเหตุที่เขียนกันว่า “กรมสมเด็จ” บ้าง และ “สมเด็จกรม” บ้างนั้น หม่อมฉันหาอธิบายได้แล้ว ดูอยู่ข้างประหลาดจะต้องเขียนวิสัชยาวสักหน่อย ขอประทานผัดไปทูลคราวจดหมายเวรฉบับหน้า

ที่ทรงปรารภเรื่องที่คนชอบแก้คำในหนังสือเก่าให้เสียหลักโบราณคดีนั้น หม่อมฉันบ่นอยู่แล้วเมื่อเร็วๆ นี้ ด้วยเห็นในหนังสือเรื่องราชาธิราชฉบับพิมพ์ที่โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจเมื่อ ร.ศ. ๑๒๑ มีถ้อยคำสำนวนคนภายหลังแก้ไขโดยหวังจะให้ไพเราะเพราะพริ้งยิ่งขึ้น จนบางแห่งแทบจะไม่รู้ความเดิม หม่อมฉันคัดแต่บานแพนกถวายมา ของเดิมเป็นหนังสือแต่งในราชการครั้งรัชกาลที่ ๑ จะทรงเห็นพระนาม “พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” อันเพิ่งมีต่อเมื่อรัชกาลที่ ๓ และคำ “พระบรมราชโองการ” อันเพิ่งเกิดในรัชกาลที่ ๔ และน่าจะมีคำอื่นแทรกแซงอยู่นั้นอีก ที่จริงทำด้วยตั้งใจจะให้ดี แต่เพราะขาดความรู้จึงเลยเป็นให้ร้ายไป

พรที่ประทานพระองค์หญิงประเวศวรสมัย เมื่อพระชันษาครบ ๖๐ ปีนั้น หม่อมฉันได้ทูลให้เธอทรงทราบแล้ว

เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๒ ธันวาคม พนักงานไปรษณีย์นำลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๑๙ ซึ่งมากับคราวเมล์วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ มาส่งเมื่อเวลาบ่าย หม่อมฉันจะรอไปทูลสนองต่อคราวเมล์หน้า

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ