วันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๖ มกราคม ๒๔๘๒

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ทราบฝ่าพระบาท

วันเสาร์ที่แล้วมานี้ คือวันที่ ๑๓ มกราคม เป็นกำหนดเมล์ ได้รับลายพระหัตถ์เวรลงวันที่ ๑๐ มกราคม ตามกำหนด ซองบริสุทธ์ มีตราสั่งผ่านประทับหลังดวงหนึ่งตามเคย จะกราบทูลสนองความตามลายพระหัตถ์และไขข้อต่อไปนี้

สนองความในลายพระหัตถ์

เรื่องแม่ซื้อนั้นไม่กระจ่างเลย ตามที่กราบทูลว่าแม่ซื้อควรจะเป็นผู้รับร่อนนั้น ก็เพราะเห็นควรเป็นเช่นนั้น แต่ไม่แน่อะไรเลย

คำว่า ซื้อ เกล้ากระหม่อมก็ได้คิดว่าควรจะเป็นอะไรบ้าง มีตัวอย่างตัว ซ เป็น ช ได้ เช่น ซ่าง เป็น ช้าง พระเซื่อเมือง เป็น พระเชื้อเมือง ตามแนวนั้น ซื้อ อาจเป็น ชื่อ ได้ แต่ก็ไม่เข้ารูปที่ได้ความอย่างไรเลย

ตามพระดำริที่ว่าแม่มีสอง คือแม่ผีกับแม่คนนั้นถูกต้อง ให้นึกขันว่าผีนั้นป้องกันได้ง่าย และหลอกลวงก็ง่าย ผีนั้นติดจะโง่มาก

คนกลัวผีนั้นเป็นอยู่เหมือนกันทุกพวกทุกภาษา บรรดาพระเจ้าของพวกใดๆ ก็ล้วนแต่เป็นผีทั้งนั้น เว้นแต่พระพุทธเจ้าของเราเท่านั้นที่เป็นคน แม้กระนั้นก็อดไม่ได้ ต้องจัดการให้เป็นผีขึ้น เมื่อครั้งแรกที่เกล้ากระหม่อมคิดเขียนเรื่องพระเจ้าสิบชาติ เพื่อให้แก่ผู้ที่มารดน้ำสงกรานต์ ก็ได้คิดจะย่อเรื่องตีพิมพ์เป็นสมุดแจกไปกับรูปเหมือนกัน แต่ก็ให้นึกอึกอักประดักประเดิดใจว่าจะเขียนอย่างไรดี เรื่องต้นเป็นพระเตมีย์ จะเขียนเป็นว่าคิดโดยพระทัยด้วยพระองค์เองก็ได้ไม่ขัดข้อง แต่ตามท้องเรื่องจัดการให้เป็นผี มีเทวดาคือผีฟ้ามาทูลแนะนำ เป็นอันทรงปฏิบัติตามคำผีฟ้า ถ้าจะเขียนหนังสือไปให้เป็นคนก็ผิดจากท้องเรื่องไป พอดีกับที่มีเพื่อนช่างเขามาทักว่า ถ้าเขียนเรื่องตีพิมพ์เป็นสมุดแจกก็เป็นแจกหนังสือหาใช่แจกฝีพระหัตถ์ไม่ เห็นเป็นคำที่ดีเพราะคิดอึดอัดใจในการแต่งหนังสืออยู่แล้ว จึงเลยระงับเสียไม่แต่ง

สาเหตุที่หญิงพูนเข้าไปเกี่ยวข้องอยู่ที่ตำหนักพระวิมาดาเธอนั้นไม่ได้ทราบเรื่องเหลือแต่สงสัย แล้วก็ไม่ได้ทูลถาม จนกระทั่งตรัสบอกเรื่องไปในลายพระหัตถ์คราวนี้จึงเข้าใจ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเป็นเช่นเป็นมาแล้วนั้น

เรื่องดอกเตอร์พม่าสมัยนั้น จะยกไว้ไม่ทูลอะไร เพราะไม่มีใจข้องอยู่ที่ตัวเขา จะกราบทูลแต่ในสาขาอันเกี่ยวอยู่ในเรื่องแห่งบุคคลผู้นั้น ในการพิธีไหว้ผีปู่ย่าตายายเห็นจะเป็นพิธีทางมอญ ได้โดยตามเสด็จพระราชดำเนินไปดูนครเขื่อนขัณฑ์ครั้งหนึ่ง เข้าใจว่าฝ่าพระบาทก็ได้ตามเสด็จพระราชดำเนินด้วย ทางไทยเราไม่เห็นมีใครทำกัน ในทางปี่พาทย์ดนตรีและฟ้อนรำ เมื่อไปเที่ยวทางเมืองพม่าก็ตั้งใจสังเกตแต่ว่าเขามีอย่างไรบ้าง ไม่ได้ใฝ่ฝันไปถึงคนไทยแบบไทยเลย ประสบเรื่องไทยเข้าก็เป็นเรื่องบังเอิญเป็น เมื่อไปเมืองมัณฑเลนั้นพระองค์เจ้าสายเป็นผู้จัดการ ท่านรู้จักกับแขกก็ให้แขกเขารับ เขาให้อยู่ตึกหลังหนึ่ง จะเป็นตึกว่างเปล่า หรือเขาจะหอบที่นอนหมอนมุ้งย้ายหนีไปก็ไม่ทราบ เวลารัฐบาลเขาพาไปดูอะไรก็ไปกับเขา นอกจากนั้นเราก็เที่ยวไปซื้อของตามร้าน ทีแรกก็ลากเอาแขกเขาไปช่วยเป็นล่าม แต่ทีหลังเห็นเขาวุ่นอยู่ด้วยการค้าขาย จะลากเอาเขาไปก็เกรงใจว่าเขาจะเสียธุระไปเปล่าๆเพราะเรา จึงไปเที่ยวกันแต่พวกเราไทย ส่งภาษาใบ้ก็สำเร็จประโยชน์ได้เหมือนกัน วันหนึ่งกำลังส่งภาษาใบ้อยู่ก็มีพม่าเมืองเข้ามาคนหนึ่ง พูดเป็นภาษาไทยว่า “ท่านจะต้องการอะไรเจ้าขา ฉันจะช่วยพูดให้” เกล้ากระหม่อมก็ดีใจบอกความต้องการแก่เขา ครั้นเขาช่วยเป็นล่ามให้สำเร็จกิจแล้วก็เดินออกมาจากร้านด้วยกัน จึงได้ถามเขาว่าเคยเข้าไปอยู่กรุงเทพฯ หรือ เขาบอกว่า เปล่า ทำเอาประหลาดใจมาก จึงถามเขาว่าเช่นนั้นทำไมจึงพูดไทยได้ เขาบอกว่าภาษาของเขาอย่างนั้นเอง เล่นเอาประหลาดใจยิ่งขึ้น จึงซักเขาว่าเขาเป็นใครอยู่ที่ไหน เขาบอกว่า “ฉันเป็นเจ้าฟ้าหนองหมอน” จึงเข้าใจได้ว่าไทยด้วยกันนั่นเอง ชื่อบาโม ก็เคยได้ยินมาแต่เมื่อคราวไปเที่ยวเมืองพม่านั้นแล้ว แต่เข้าใจว่าเป็นภาษาพม่า ทีหลังจึงมาทราบที่พระยามหาอำมาตย์ (แสง) ว่า บาโม คือบ้านหม้อ เป็นภาษาไทยเรานี่เอง สิ้นเคราะห์ไปเถิด

บรรเลง

จะกราบทูลเรื่องศพโกศต่อไปอีก ได้ทราบความจากสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ ว่าท่านไปเคยเห็นศพสมภารวัดท่ามอญ ที่นครศรีธรรมราช ว่าอยู่ใกล้กับวัดท่าโพธิ์ เขาใส่ลุ้งตั้ง ทำรูปเป็นปีบสี่เหลี่ยมสูงบานบน มีต้นไม้ และฝาเป็นยอดอย่างมณฑป ทาน้ำมันเงาทั้งตัว เรียกว่า “หีบนั่ง” การทาน้ำมันเงาคงเป็นไปตามสมัยใหม่ แต่ก่อนคงทำประดับด้วยทองอังกฤษ อันนี้ก็ท่วงทีเห็นจะอย่างเดียวกันกับที่ใส่ศพสมภารวัดประดู่ ตามที่เคยตรัสบอก

อ่านหนังสือพิมพ์เขาลงกำเนิดไทย กล่าวท้าวถึงว่าเดิมไทยอยู่ที่ขอบทะเลคัสเปียน แล้วย้ายมาตั้งที่กวางสีเมืองจีน แล้วย้ายมาตั้งที่หนองแส แล้วย้ายมาตั้งในแหลมทอง (สุพรรณภูมิ) ลำดับนั้นจะไม่กราบทูลอะไรด้วยออกจะ “เชื่อ” จะกราบทูลแต่ที่มีจารึกสอบได้ ว่าพ่อขุนบางกลางท่าว มาครองนครไทย คือเมืองหล่มศักดิ์เก่า คงคิดกับพ่อขุนผาเมืองเจ้าเมืองราด (อยู่ที่ไหนก็ไม่ได้บอกไว้) พากันตีเมืองสุโขทัยของเขมรได้ จึงอภิเษกพ่อขุนบางกลางท่าวขึ้นครองเมืองสุโขทัยใน พ.ศ. ๑๘๐๐ ขนานพระนามว่าพระเจ้าศรีอินทราทิตย์ ในสุโขทัย ที่ว่าเป็นเมืองของเขมรนั้น ได้พบซากเขมรแต่ที่เรียกว่า “ศาลพระประแดง” ชิ้นเดียว

ข่าวกรุงเทพ ฯ

เมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม สำนักพระราชวังออกหมายบอกมาว่า คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สั่งให้จัดการพระราชทานน้ำสังข์ เนื่องในการสมรสพระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร กับนางสาวงามจิตต์ ที่มุขกระสันตะวันตก แห่งพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท กำหนด ณ วันที่ ๒๒ มกราคม เวลา ๑๐.๓๐ นาฬิกา โดยนัยนี้ก็ทราบได้ว่า ที่หญิงเล็กประภาวสิทธิบอกกำหนดให้รดน้ำเวลา๑๖.๑๕ นาฬิกานั้นก็ไม่ใช่ฤกษ์ และงานหญิงเพียรกำหนดว่า ๑๖.๓๐ นาฬิกานั้นก็ไม่ใช่ฤกษ์ เป็นกำหนดตามความสะดวกทั้งสองราย เพราะฉะนั้นจะผ่อนผันสั้นยาวไปอย่างไรก็ไม่ขัดข้องทั้งสองรายด้วยกัน

ในวันเดียวกับที่กล่าวมาแล้วนั้น ได้ไปเผาศพพระสาธุศีลสังวรที่วัดมกุฎกษัตริย์ เขาจัดที่เผาศพอย่างใหม่ ซึ่งควรจะกราบทูลให้ทรงทราบ คือเขาทำเหมือนที่ตั้งศพ มีชั้นสามชั้นตั้งหีบศพบนนั้น มีเครื่องตั้งประดับชั้นพร้อม ไม่มีปะรำดอกไม้สดอย่างเผาศพกันตามปกติ ที่ชั้นสามนั้นตัดช่องไว้ ทางด้านยาวตรงกลางเป็นที่ใส่ธูปเทียนเผา ตรงช่องเข้าไปเป็นกาบหยวกประกอบกับเสาเหล็ก เป็นที่ว่าตารางแต่เล็กกว่าหีบศพ ในการทอดธูปเทียนนั้นอยู่ข้างลำบาก ต้องล้วงลงไปวางกับพื้นที่ใต้กาบหยวกซึ่งเป็นพื้นไม้ เข้าใจว่าเป็นพื้นชั้นที่สองนับแต่ล่างขึ้นมา เห็นมีฟืนอยู่สามดุ้น วางสกัดตามช่องเสาเหล็ก คงจะมีสี่ดุ้นวางสกัดข้างด้านในด้วย แต่แลไม่เห็น ถึงเวลาเผาจริง เขาจะทำกันอย่างไรหาทราบไม่ การจัดเช่นนี้ต้องกับคำว่า เผาหลอก ซึ่งพูดกันอยู่ทุกวันนี้ ส่วนวิธีเก่าเรียกว่า “ปิดไฟเปิดไฟ” เป็นไปคนละอย่าง

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ