วันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๑๐ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๘๒

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

ทูลความที่ค้างมาแต่จดหมายเวรฉบับก่อน

เรื่องของประดับมุกที่ท่านกับหม่อมฉันได้คิดวินิจฉัยกันมาในจดหมายเวรหลายฉบับแล้ว หม่อมฉันยังคิดค้นสอบกับพงศาวดารต่อมาได้ความรู้เพิ่มเติมขึ้น จึงจะเขียนวินิจฉัยถวายต่อไปอีก

เครื่องประดับมุกของเก่าอันนับว่าเป็น “ชิ้น” สำคัญที่จริงยังมีปรากฏอยู่ไม่มากเท่าใดนักพอนับถ้วน ส่วนฝีมือที่ทำก็พอรู้ได้ว่าทำเมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาหรือในสมัยรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ และมีสิ่งซึ่งอาจจะรู้เรื่องประวัติได้ก็มาก แต่จะทูลอธิบายเป็นรายสิ่ง หม่อมฉันลำบากใจอยู่อย่างหนึ่งด้วยไม่สามารถจะเรียกชื่อลายให้ถูกตามภาษาช่าง จะต้องเรียกเอาตามใจว่า “ลายกระหนก” คือที่เป็นลายเต็มทั้งผืนอย่าง ๑ เรียกว่า “ลายช่อง” คือที่ทำเป็นช่องมีรูปภาพอยู่ปลายกระหนกที่กลางช่องอย่าง ๑

ของประดับมุกที่ทำครั้งกรุงศรีอยุธยา พบที่วัดศาลาปูน กรุงศรีอยุธยา ๓ สิ่ง คือ บานประตูใหญ่คู่ ๑ ตู้หนังสือบานประดับมุก ๒ ใบ รู้กันในวัดนั้นสืบมาว่าพระธรรมราชาเจ้าอาวาสองค์ ๑ (เห็นจะเป็นพระธรรมราชา คุ้ม ในรัชกาลที่ ๓) เอาไปจาก “วัดบรมพุทธาราม” และของเหล่านั้นบางชิ้นมีรอยไฟไหม้ และบางชิ้นเห็นได้ว่าดัดแปลงมาจากของอื่น จึงยุติได้ว่า เดิมคงเป็นบานประตู หน้าต่าง พระอุโบสถ วัดบรมพุทธาราม ซึ่งสร้างขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชาธิราช ในระหว่าง พ.ศ. ๒๒๒๕ จนถึง พ.ศ. ๒๒๓๒ ต่อมาในกาลครั้งหนึ่งเกิดไฟไหม้พระอุโบสถ บานประตูหน้าต่างประดับมุกถูกไฟไหม้สูญไปเสียโดยมาก แต่ยังเหลืออยู่บ้าง พระธรรมราชาเจ้าคณะใหญ่อยู่วัดศาลาปูน จึงไปเก็บเอาบานมุกที่รอดไฟไหม้มาบูรณปฏิสังขรณ์ไว้ยังวัดศาลาปูน ของประดับมุกที่อยู่วัดศาลาปูนนั้นต่อมามีเรื่องประวัติต่างกันทุกชิ้น

๑) บานประตูใหญ่คู่ ๑ ประดับมุกเป็นลายกระหนก ไม่ถูกไฟไหม้ยังดีทั้ง ๒ แผ่น เป็นแต่มุกที่ประดับร่วงหายไปบ้าง เอามาทำบานหน้าต่างใหญ่ซุ้มยอดปราสาทซึ่งเป็นช่องกลางข้างหน้าพระอุโบสวัดศาลาปูน (เหมือนอย่างเคยอยู่ที่วัดบรมพุทธาราม) บานมุกคู่นี้ปลดเอาลงมากรุงเทพ ฯ ในรัชกาลที่ ๕ แต่ยังไม่ได้ซ่อมแซมและไม่ปรากฏว่าจะเอาไปใช้ที่ไหน ตกอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานมาจนรัชกาลที่ ๗ วันหนึ่งหม่อมฉันไปยังหอมนเทียรธรรมในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งได้ให้เอาตู้มุกบรรดามีในหอพระสมุดไปรวมจัดตั้งไว้ในหอนั้น เมื่อกำลังปฏิสังขรณ์วัด หม่อมฉันไปสังเกตเห็นช่องหน้าต่างใหญ่ข้างด้านหน้าหอพระมนเทียรธรรมดูจะพอได้ขนาดกับบานมุกคู่ที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์สถาน หม่อมฉันบอกเจ้าพระยาวรพงศ์ว่า ถ้าเอาบานมุกคู่นั้นมาใช้เป็นบานหน้าหอพระมนเทียรธรรมเห็นจะดี เจ้าพระยาวรพงศ์เห็นชอบด้วยรับเอาไป หม่อมฉันเคยเห็นกำลังซ่อมแซมอยู่ที่ในหอพระมนเทียรธรรม ป่านนี้เห็นจะตั้งที่แล้ว

๒) ตู้บานเดียวประดับมุกเป็นลายกระหนก หม่อมฉัน (และเข้าใจว่าพระองค์ท่านด้วย) แรกได้เห็นเป็นกระดานประดับมุกแขวนติดฝาแต่งเรือนแห่ง ๑ ออกประหลาดใจแต่ยังไม่ทราบว่าจะเป็นอะไรอยู่ก่อน ต่อมาภายหลังไปเห็นโครงตู้ของเก่าขาดบานทิ้งอยู่ในสำนักงานกรมศิลปากร จึงเข้าใจว่าแผ่นกระดานประดับมุกเดิมจะเป็นบานตู้นั้นเอง จึงเป็นเหตุให้สันนิษฐานว่า บานตู้ใบนั้นเดิมเห็นจะเป็นบานประตูพระอุโบสถวัดบรมพุทธาราม ถูกไฟไหม้เหลืออยู่แต่เพียงเท่านั้น จึงเอาตัดแต่งทำเป็นบานตู้ใส่พระไตรปิฏกเป็นบานแผ่นเดียวเต็มหน้าตู้ และเลยสันนิษฐานต่อไปว่าพระธรรมราชา (อาจ) คงถวายมาจากวัดศาลาปูนด้วยกันกับบานประตูคู่ใหญ่ที่กล่าวแล้วในสมัยเมื่อสร้างวัดเบญจมบพิตรและหอพุทธศาสนสังคหะ

๓) ตู้หนังสือ ๒ บานประดับมุกเป็น “ลายช่อง” สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระนครสวรรค์วรพินิตได้มาจากวัดศาลาปูน ใบ ๑ (เดี๋ยวนี้อยู่ในพิพิธภัณฑ์สถาน) บานมุกตู้ใบนี้เห็นชัดว่าเอาบานประตูที่ถูกไฟไหม้ชำรุดมาตัดแต่งต่อทำเป็นบานตู้ ลายคลาดกันอยู่หลายแห่ง

นอกจากที่วัดศาลาปูน ยังมีบานมุกทำเมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาปรากฏอยู่อีก ๒ แห่ง คือ

๑) บานประตูวิหารยอดในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ประดับเป็นลายช่องยังบริบูรณ์ดีคู่ จะได้มาแต่ไหนหาทราบไม่ น่าเดาว่าเดิมเป็นบานประตูพระอุโบสถวัดบรมพุทธาราม ซึ่งรอดไฟไหม้ได้ พระธรรมราชา (คุ้ม) ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เมื่อครั้งปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในรัชกาลที่ ๓

๒) บานประตูวิหารพระพุทธชินราช ณ เมืองพิษณุโลก ประดับเป็นลายช่องและมีอักษรประดับมุกที่ขอบบานบอกศักราชไว้ด้วยว่า พระเจ้าบรมโกศโปรดให้สร้างบานคู่นั้นขึ้นสำหรับวิหารพระพุทธชินราช ในหนังสือพระราชพงศาวดารก็ปรากฏว่าพระเจ้าบรมโกศได้เสด็จขึ้นไปเมืองเหนือเมื่อ พ.ศ. ๒๒๘๓ และยังมีเจดีย์สถานที่พระเจ้าบรมโกศทรงบูรณปฏิสังขรณ์ที่เมืองเหนือปรากฏอยู่หลายแห่ง ทั้งที่เมืองพิษณุโลก เมืองฝาง (สว่างคบุรี) และเมืองทุ่งยั้ง

มีบานประตูคู่ ๑ ใช้เป็นบานประตูวิหารพระแท่นศิลาอาสน์อยู่แต่ก่อน เดี๋ยวนี้ไฟไหม้เสียแล้ว แต่เมื่อหม่อมฉันไปทันได้เห็น และเข้าใจว่าพระองค์ท่านก็ได้เคยทอดพระเนตรเห็นด้วย บานประตูคู่นั้นเก่าก่อนสมัยพระเจ้าบรมโกศ เป็นบานไม้ปิดทองประสารสีจำหลักลวดลายลอยตัวออกมา ทำนองบานประตูวิหารพระศรีสักยมุนีที่วัดสุทัศน์ในกรุงเทพฯ แต่ทำแม่ลายเป็นกระหนกมีรูปภาพเรียงกันเป็นวงๆ ขึ้นไปตลอดบาน เค้าเดียวกับลายช่องของบานประดับมุกที่วิหารพระพุทธชินราช ชวนให้เข้าใจว่า บานไม้จำหลักคู่นั้นจะเป็นบานเดิมของวิหารพระพุทธชินราช พระเจ้าบรมโกศทำบานมุกถวายใหม่จึงโปรดให้ปลดบานไม้ของเดิมไปใช้เป็นบานประตูวิหารพระแท่นศิลาอาสน์ ถ้าเช่นนั้นจะเอาเค้าลายบานไม้ของเดิมมาผูกลายบานมุกที่ทำใหม่ คือที่หม่อมฉันเรียกว่า “ลายช่อง” ลายช่องจะเกิดขึ้นในรัชกาลพระเจ้าบรมโกศดอกกระมัง ของประดับมุกในสมัยกรุงศรีอยุธยาว่าตามที่จำได้มีปรากฏอยู่จนบัดนี้ ๕ สิ่งดังพรรณนามา

ของประดับมุกซึ่งสร้างในกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ มีบานประตูพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ประดับเป็นลายช่อง ๖ คู่ บานประตูพระมณฑปพระพุทธบาทดูเหมือนประดับเป็นลายกระหนก ๔ คู่ บานประตูมณฑปในวัดพระศรีรัตนศาสดารามประดับเป็นลายช่อง ๔ คู่ สังเกตดูบานประตูประดับมุกที่ทำในรัชกาลที่ ๑ ดูเหมือนจะทำลายตามแบบอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยาทั้งนั้น ต่อรัชกาลภายหลังมาจึงทำเป็นลายอื่น ของประดับมุกทำในรัชกาลที่ ๑ ที่คิดลายใหม่ ดูเหมือนจะเป็นตู้มณฑปสำหรับไว้พระไตรปิฎก ที่ในพระมณฑปใหญ่ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม คิดผูกลายงามหาที่เปรียบมิได้ ต่อนั้นก็เครื่องราชูปโภคประดับมุก คือ พระแท่นเศวตฉัตร องค์ ๑ พระแท่นบรรทม องค์ ๑ พระกระดานพิง องค์ ๑ ตู้พระสมุด ๒ ใบ ตู้พระภูษาใบ ๑ เครื่องราชูปโภคประดับมุก ๖ ชิ้นนั้น หม่อมฉันพิจารณาในเรื่องพงศาดารรัชกาลที่ ๑ ดูเหมือนจะเห็นเค้าเงื่อนของเหตุที่ทำและเหตุที่แบ่งเอาไปถวายเป็นพุทธบูชา ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ดังจะทูลต่อไปนี้

เมื่อเดือนเมษายน ปีกุน พ.ศ. ๒๓๒๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จผ่านพิภพ ในเดือนเมษายนนั้นเองก็โปรดให้เริ่มสร้างพระนครอมรรัตนโกสินทร์ พอถึงเดือนมิถุนายนก็เสด็จข้ามฟากจากกรุงธนบุรี มาประทับพระราชวังใหม่ (คือพระบรมมหาราชวังบัดนี้) และทำพระราชพิธีปราบดาภิเษกเมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายนนั้น ตามระยะเวลาที่ปรากฏในพงศาวดารเห็นได้ว่า พระราชมนเทียรสถานที่เสด็จมาประทับแต่แรกนั้นคงสร้างอย่างรีบเร่ง ล้วนเป็นเครื่องไม้สำหรับประทับเพียงชั่วคราว และการพิธีปราบดาภิเษกและพิธีเฉลิมพระราชมนเทียรก็คงทำเป็นอย่างสังเขป ตั้งแต่ปลายปีขาลนั้นต่อมา ๓ ปีจนปลายปีมะโรงพ.ศ. ๒๓๒๗ เป็นระยะเวลาที่ทำการสร้างพระนครและพระราชวังทั้งปราสาทราชมนเทียร (จะตัดความว่าแต่ที่เนื่องกับเครื่องราชูประโภคประดับมุก) คือมหามนเทียรที่เสด็จประทับแห่ง ๑ มหาปราสาทสำหรับทำการพระราชพิธีแห่ง ๑ มีเค้าที่จะสันนิษฐานว่าปราสาทราชมนเทียรที่สร้างขึ้นยังเป็นเครื่องไม้ (หม่อมฉันนึกว่าพระราชมนเทียรที่สร้างครั้งนั้น น่าจะไม่ใหญ่โตกว่าพระราชมนเทียรที่กรุงธนบุรีสักเท่าใดนัก มาขยายใหญ่โตต่อเมื่อสร้างใหม่ด้วยก่ออิฐถือปูน) ส่วนปราสาทนั้นมีอธิบายในหนังสือพงศาวดารว่า ถ่ายแบบพระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาทที่พระนครศรีอยุธยามาสร้าง ก็พระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาทนั้นแผนผังยังอยู่จนบัดนี้ พอจะคาดได้ว่าแผนผังพระที่นั่งอินทราภิเษกมหาปราสาทซึ่งสร้างครั้งนั้นจะเป็นอย่างไร คงเป็นปราสาท ๒ มุข ตอนตรงยอดปราสาทลงมาเป็นที่ตั้งพระแท่นเศวตฉัตร มุขหน้าเป็นที่เฝ้าของข้าราชการฝ่ายหน้า มุขหลังเป็นที่เฝ้าของข้าราชการฝ่ายใน หามีห้องที่บรรทมในพระที่นั่งอินทราภิเษกมหาปราสาทไม่

ถึงปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๒๘ ทำการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเต็มตำรา ณ พระที่นั่งอินทราภิเษกมหาปราสาท มีการเสด็จออกประทับบนพระที่นั่งเศวตฉัตรเมื่อรับราชสมบัติ ข้อนี้ส่อว่าพระแท่นเศวตฉัตรองค์จำหลักปิดทองที่เอามาไว้ในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ต้องสร้างสำหรับตั้งในพระที่นั่งอินทราภิเษกฯ เมื่องานราชาภิเษกครั้งนั้น ไม่มีเหตุอื่นในเรื่องพงศาวดารที่จะสร้างพระแท่นเศวตฉัตรองค์นั้นเลย อีกประการ ๑ พระที่นั่งอินทราภิเษกฯ ไม่มีห้องบรรทมก็ไม่มีเหตุที่จะต้องทำพระแท่นที่บรรทมหรือตู้พระภูษาและตู้พระสมุดสำหรับพระที่นั่งอินทราภิเษกนั้น เห็นได้ว่าเครื่องราชูปโภคประดับมุกมิได้ทำสำหรับใช้ในพระที่นั่งอินทราภิเษก เป็นของทำขึ้นต่อภายหลังงานบรมราชาภิเษกครั้งปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๒๘

ในเรื่องพงศาวดารมีเค้าเงื่อนให้เห็นว่าเครื่องราชูปโภคประดับมุกเหล่านั้นสร้างเมื่อไร ด้วยปรากฏว่าเมื่อทำพิธีบรมราชาภิเษกแล้วต่อมาอีก ๔ ปีถึงปีระกา พ.ศ. ๒๓๓๒ ไฟไหม้หอมนเทียรธรรม โปรดให้สร้างพระมณฑปเป็นที่ไว้พระไตรปิฎกในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม คือถึงสมัยทำตู้มณฑปประดับมุกปรากฏความสามารถของช่างมุกขึ้น และในปีระกานั้นเองเกิดไฟไหม้พระที่นั่งอินทราภิเษกมหาปราสาทหมดทั้งหลัง (ในหนังสือพงศาวดารฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ว่า ยกพระที่นั่งเศวตฉัตรประดับมุกหนีไฟออกมาได้ ท่านเข้าใจผิด ที่จริงคือองค์สลักปิดทองที่เอามาไว้ในพระที่นั่งอมรินทร องค์ประดับมุกจะกล่าวอธิบายต่อไปข้างหน้า) จึงโปรดให้สร้างพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทขึ้นแทน

เรื่องสร้างพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท หม่อมฉันคิดเห็นข้อวินิจฉัยหลายอย่างดังจะทูลต่อไปนี้ คือ

๑) เมื่อสร้างพระที่นั่งอินทราภิเษกฯ สร้างพร้อมกับพระนครอันจะให้เป็นราชธานีที่มั่นแทนพระนครศรีอยุธยา การสร้างเป็นอย่างรีบเร่ง ด้วยคาดว่าอาจจะมีศึกพม่าเข้ามาประชิดติดพระนครในไม่ช้า แต่เมื่อสร้างพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเป็นสมัยเมื่อสิ้นห่วงศึกพม่าแล้วไม่จำต้องเร่งรีบ จึงก่อสร้างให้เป็นอย่างมั่นคงและทำโดยฝีมืออย่างประณีต มิให้เลวกว่าปราสาทราชมนเทียรครั้งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเรียกกันว่าเป็นของ “ครั้งบ้านเมืองดี”

๒) แผนผังพระที่นั่งอินทราภิเษกมหาปราสาทสร้างตามแบบพระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท อันมีแต่ที่เสด็จออกกับที่ราชบริพารเฝ้าที่มุขหน้าและมุขหลัง ไม่มีห้องที่บรรทม เมื่อสร้างพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เปลี่ยนกระบวนแผนผังให้เป็นพระราชมนเทียรที่ประทับอีกบริเวณ ๑ คือย้ายที่สร้างพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทอันเป็นที่ทำการพระราชพิธีและเสด็จออกแขกเมืองออกไปอยู่ฝ่ายหน้า ทางฝ่ายในสร้างพระที่นั่งพิมานรัถยาขึ้นอีกองค์ ๑ เป็นที่สำหรับเสด็จอยู่ มีพระปรัศว์เรือนจันทร์พร้อมทั้งหมู่ เมื่อคิดดูว่าเหตุใดจึงสร้างพระที่นั่งพิมานรัถยา เห็นว่าน่าจะเป็นเพราะจะรื้อพระมหามนเทียรที่เป็นเครื่องไม้มาแต่เดิม ก่อสร้างใหม่โดยประณีตและขยายให้ใหญ่อย่างเช่นเห็นอยู่ทุกวันนี้ แต่เวลาก่อสร้างพระมหามนเทียรนั้นจะต้องเสด็จไปประทับ ณ ที่อื่น จึงโปรดให้สร้างพระที่นั่งพิมานรัถยาเป็นที่ประทับในเวลาสร้างพระมหามนเทียร การเหมือนเช่นว่านี้ยังมีต่อมาในรัชกาลที่ ๓ เมื่อบูรณะปฏิสังขรณ์พระมหามนเทียร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จย้ายไปประทับอยู่ ณ พระที่นั่งพิมานรัถยาอย่างเดียวกัน

การสร้างพระที่นั่งพิมานรัถยาเป็นที่ประทับจำเป็นต้องมีเครื่องแต่ง เช่น พระแท่นที่บรรทมเป็นต้น ก็ครั้งนั้นประสงค์จะสร้างปราสาทราชมนเทียรหมู่นี้อย่างประณีตดังกล่าวมาแล้ว เวลานั้นฝีมือช่างมุกกำลังเชี่ยวชาญและเจ้าพระยาอัครมหาเสนา (ต้นสกุล บุนนาค) เมื่อยังเป็นที่พระอายุไทยธรรม เป็นผู้บังคับการกรมช่างมุก จะเป็นด้วยพระราชดำรัสสั่งก็ได้ หรือเจ้าพระยาอัครมหาเสนารับอาสาก็ได้ จึงโปรดให้สร้างเครื่องราชูปโภคประดับมุกขึ้นสำหรับพระที่นั่งพิมานรัถยา และสร้างพระแท่นเศวตฉัตรประดับมุกตั้งในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทด้วย เพราะเป็นพระราชมนเทียรหมู่เดียวกันกับพระที่นั่งพิมานรัถยา

เหตุใดต่อมาจึงถวายเครื่องราชูปโภคประดับมุกเหล่านั้นนอกจากพระแท่นเศวตฉัตร เป็นพุทธบูชา ก็มีเค้าเงื่อนที่จะคิดเห็นได้ ด้วยเมื่อต้นรัชกาลที่ ๑ แล้ว ถึงรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดให้สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพวดีเสด็จไปประทับอยู่ ณ พระที่นั่งพิมานรัถยา คนทั้งหลายเรียกกันว่า “ทูลกระหม่อมปราสาท” เหมือนอย่างสมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูรเสด็จประทับแห่งเดียวกันเมื่อรัชกาลที่ ๕ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพคงไม่ยอมใช้เครื่องราชูปโภคที่อยู่ในพระที่นั่งรัถยา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงถวายเป็นพุทธบูชา แต่พระที่นั่งเศวตฉัตรประดับมุกอยู่ข้างฝ่ายหน้า ไม่เนื่องกับที่ประทับของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพวดีจึงคงอยู่ตามเดิมสืบมา วินิจฉัยเรื่องเครื่องประดับมุกของโบราณหมดเรื่องเท่านี้

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๖ ตุลาคม อันมาถึงปีนังเมื่อคราวเมล์วันอาทิตย์ที่ ๘ มาถึงหม่อมฉันต่อวันอังคารที่ ๑๐ เวลาบ่ายช้ากว่าฉบับก่อนทั้งลายพระหัตถ์เวรฉบับนี้ถูกเปิดตรวจในกองที่ ๑๑ ด้วย สันนิษฐานว่าแต่ก่อนมาพนักงานตรวจเห็นจะมีน้อย เขาจึงไม่เปิดซองจดหมายของผู้ซึ่งเขารู้ว่าเป็นปาปะมุติ เดี๋ยวนี้มีพนักงานตรวจมากขึ้นแบ่งเป็นหลายกองออกไป อาจจะตรวจได้ถ้วนถี่เขาจึงเปิดซองจดหมายไม่ละเว้นเหมือนแต่ก่อน เมื่อคราวเมล์ก่อนขึ้นไปหญิงมารยาตรมีจดหมายมาถึงหม่อมฉันฉบับ ๑ ถูกเปิดซองด้วย และซ้ำถูกเอาตะไกรตัดจดหมายออกเสียด้วย ๕ บรรทัด หม่อมฉันก็คิดไม่เห็นว่าเธอจะเขียนความคอขาดบาดตายอย่างไร จึงตัดเอาออกเสีย แต่เขาทำตามหน้าที่และความเห็นของเขา เราก็ได้แต่ถือเป็นอุเบกขา

หม่อมฉันได้คาดอยู่แล้วว่าลายพระหัตถ์เวรคงจะมาถึงช้า มีเวลาเขียนตอบน้อยอย่างฉบับก่อน จึงได้เขียนวินิจฉัยเรื่องเครื่องประดับมุกในวันว่างเตรียมไว้พอทันส่งมาถวายกับจดหมายเวรฉบับนี้

สนองลายพระหัตถ์

ในเศษหนังสือพิมพ์ซึ่งตัดประทานมา ว่ากรมรถไฟในมลายูจำกัด ให้กรมรถไฟเมืองไทยรับมาแต่หนังสือพิมพ์ข่าวภาษาอังกฤษนั้นเข้าใจผิด ต้องเป็นคำสั่งของกรมไปรษณีย์ต่อกรมไปรษณีย์ กรมรถไฟเป็นแต่พนักงานสำหรับขนถุงเมล์อันมีตราผูกปากถุง หามีหน้าที่เกี่ยวถึงหนังสือซึ่งอยู่ในถุงเมล์ไม่ แต่เรื่องห้ามหนังสือพิมพ์ภาษาไทยนี้ประหลาดอยู่ ด้วยหนังสือพิมพ์ในปีนังก็มิได้กล่าวถึง พวกชาวปีนังนอกจากไทยดูก็ไม่มีใครรู้ หม่อมฉันเองแรกทราบก็ด้วยเห็นในหนังสือพิมพ์บางกอกไตม์กล่าวย่อๆ เพียงว่า “ไปรษณีย์จะส่งแต่หนังสือพิมพ์ข่าวภาษาอังกฤษจากกรุงเทพฯ ไปมลายู” ทางปีนังนี้เขาว่าเป็นคำสั่งห้ามของรัฐบาลไทย แต่หม่อมฉันก็คิดไม่เห็นว่าเหตุใดรัฐบาลไทยจะสั่งห้าม แต่ความจริงคงมีใครห้ามทางฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จึงไม่มีหนังสือพิมพ์ไทยส่งมาทางไปรษณีย์จนบัดนี้ แต่หม่อมฉันก็ไม่เดือดร้อนเพราะไม่ได้อ่านเอง เป็นแต่ลูกเต้าเขาอ่านเห็นมีข่าวอะไรแปลกก็มาเล่าให้ฟัง แต่ข่าวเมืองไทยที่เป็นสาระก็มักมีในหนังสือบางกอกไตม์ ไม่ได้อ่านหนังสือพิมพ์ภาษาไทยจึงไม่เดือดร้อน ที่ทูลไปว่าหม่อมฉันรับหนังสือพิมพ์เวลาเย็นที่ปีนังเพิ่มขึ้นเพื่อจะรู้ข่าวสงครามในยุโรปนั้น รับอยู่ไม่กี่วันก็หยุดเพราะได้ข่าวแปลกกับหนังสือพิมพ์เวลาเช้าแต่เล็กน้อยไม่คุ้มกับเสียเวลาอ่าน

โบราณคดีเรื่องอื่นที่ตรัสมาในลายพระหัตถ์เวรฉบับนี้ หม่อมฉันตั้งใจจะทูลสนองหลายเรื่อง แต่ไม่มีเวลาพอจะเขียนให้ทันคราวเมล์นี้ได้ จะรอไว้เขียนในเวลาว่างให้ทันถวายในคราวเมล์หน้า

เรื่องเบ็ดเตล็ดที่เมืองปีนัง

เมื่อเดือนกันยายนเกิดความไข้รากสาด Typhoid Fever เป็นระบาดในเมืองปีนัง มีจำนวนคนเจ็บด้วยโรคนั้น ๔๔๕ คน ตาย ๖๖ คน ประหลาดที่พวกเด็กหญิงตามโรงเรียนจีนเป็นขึ้นก่อนหลายโรงเรียน พวกพนักงานเขาสงสัยว่าจะเป็นเพราะกินของแสลงที่คนชอบเอาไปเร่ขายตามโรงเรียน ตรวจชัณสูตรพบเชื้อโรคมีอยู่ในไอสครีม และในโลหิตของคนที่เที่ยวเร่ขายของที่เนื่องกับน้ำแข็งโดยเฉพาะ เขาบังคับให้เด็กนักเรียนฉีดยาป้องกันเป็นจำนวนกว่า ๒๐,๐๐๐ คน รวมลูกชายหยดและหลานของหม่อมฉันด้วยทุกคน แต่ผู้อื่นแล้วแต่ใจสมัคร หม่อมฉันให้ไปปรึกษาหมอสำหรับบ้าน แกว่าที่เราอยู่ห่างไกลและมิได้ไปปะปนกับคนในที่เกิดโรคยังไม่จำเป็นต้องฉีด

การที่เจ้าพนักงานกำจัดไข้รากสาดเลยเนื่องไปถึงการเมือง ด้วยตั้งข้อบังคับคนเร่ขายของต้องให้ไปตรวจอนามัยและรับใบอนุญาตของเจ้าพนักงานก่อนทุกคน ก็คนเร่ขายของ hawkers มีขายของหลายอย่างและคนหลายชาติ พากันเดือดร้อนหยุดงานประมาณ ๓,.๐๐๐ คน ทำเรื่องราวยื่นร้องทุกข์ต่อกรมสาธารณสุข กำลังว่ากล่าวไกล่เกลี่ยกันอยู่

หม่อมฉันได้เห็นในหนังสือพิมพ์เช้าวันนี้ เขาบอกข้อบังคับการเขียนหนังสือส่งไปต่างประเทศ การที่ส่งหนังสือเข้ามาเขาก็คงถือเป็นทำนองเดียวกัน หม่อมฉันจึงตัดหนังสือพิมพ์ตรงข้อบังคับนั้นส่งมาถวายด้วย จดหมายเวรของเราไม่เข้าข้อห้ามอย่างไร เพราะพูดกันแต่ถึงเรื่องที่ล่วงมากว่าร้อยปีแล้วแทบทั้งนั้น ความลำบากจะมีอยู่ที่ผู้ตรวจจะอ่านไม่เข้าใจความเท่านั้น

ถึงเวลาเที่ยงวันพุธต้องหยุดเขียนเพียงนี้ เพื่อจะได้ดีดพิมพ์ทันส่งไปรษณีย์

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ