วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๘๒

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

ลายพระหัตถ์เวร ฉบับลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ มาถึงหม่อมฉันแล้วโดยเรียบร้อย คราวนี้ยิ่งส่งเร็วขึ้น คงช้ากว่าเมื่อก่อนเกิดสงครามเพียง ๓ ชั่วโมงเท่านั้น

สนองความในลายพระหัตถ์

ตรัสถึงยาอายุวัฒนะ หม่อมฉันนึกขึ้นได้ถึง “ยากวาว” ซึ่งเลื่องลืออื้อฉาวกันอยู่พักหนึ่งไม่ช้ามานัก ก็อยู่ในพวกยาอายุวัฒนะนั่นเอง ยากวาวนั้นเกิดขึ้นที่เมืองลำพูน เจ้าหลวงเมืองลำพูนเธอมีแก่ใจส่งมาให้หม่อมฉันขวด ๑ มีจดหมายกำกับพรรณนาคุณมายืดยาว หม่อมฉันก็ “เชื่อ” ไม่ได้ลองกินแต่ผู้อื่นที่กินด้วยความเลื่อมใส ดูเหมือนจะมีหลายคนได้ยินว่าเกิดอาการแปลกๆ ต่างๆ แต่ไม่เป็นคุณก็เลยเลิกกันไป

หนังสือสวดมหาชัยและอุณหิศวิชัยนั้น หม่อมฉันเคยอ่านทั้ง ๒ เรื่อง แต่ลืมความเสียแล้ว คงจำได้แต่เค้าว่าคำสวดมหาชัยนั้นเป็นแต่คำภาษิต ส่วนอุณหิศวิชัยมีเรื่องและมีนางเทพธิดาชื่อว่า เวสาตรี เป็นมูลที่เอาชื่อไปขนานเรือกำปั่นไฟพระที่นั่งเมื่อรัชกาลที่ ๕ กับเคยได้ยินอีกอย่างหนึ่งว่าเวลายกกองทัพ เมื่อพักแรมกลางคืนให้สวดมหาชัยและอุณหิศวิชัยในกองทัพทุกคืน ที่กรมหลวงวงศาฯให้นักสวดคฤหัสถ์ ๔ คนขึ้นนั่งเตียงสวดมหาชัยและอุณหิศวิชัย ในงานเฉลิมพระชันษาของท่านนั้น หม่อมฉันก็เคยทราบ อันประเพณีที่ให้นักสวดคฤหัสถ์ ๔ คนขึ้นนั่งเตียงสวดเห็นจะมีมาเก่าแก่ ด้วยตัวอย่างยังมีที่นักสวดพวกขุนทินบรรณาการสวดมหาชาติคำหลวงถวาย ทรงฟังที่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หม่อมฉันสันนิษฐานว่าประเพณีที่นักสวด ๔ คนขึ้นนั่งเตียงสวดนั้นจะเกิดขึ้นทางพระก่อน ด้วยจำนวน ๔ ครบเป็นสงฆ์ ขึ้นนั่งสังเค็ตหรือเตียงสวดพระธรรม เช่นสวดบาลีนำเทศนา หรือสวดพระปริตภาณวารและสวดพระอภิธรรมหน้าศพเป็นต้น พระสวดแต่พระธรรมที่เป็นตัวอัตถในภาษามคธ ถ้าสวดคำแปลพระบาลีเป็นภาษาพื้นเมือง เช่นสวดมหาชาติก็ดี ชาดกเรื่องอื่นก็ดี ตลอดจนเรื่องมาลัยให้คฤหัศถ์สวด เดิมน่าจะเป็นเช่นนี้ มาสวดไขว้กันไปบ้างต่อภายหลัง

การที่พระสงฆ์สาธยายสวดมนต์นั้น คิดดูตามทางโบราณคดีมีเค้าเงื่อนน่าพิศวง ด้วยตามวัดชั้นเก่าหรือแม้วัดสร้างใหม่ตามบ้านนอก กุฏิพระสงฆ์อยู่หมู่ ๑ หรือคณะ ๑ ย่อมมีหอสวดมนต์หลัง ๑ แม้จนที่คณะตำหนักกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ก็มีหอสำหรับพระสงฆ์สวดมนต์เช่นนั้น ตามประเพณีแต่ก่อนมา ซึ่งยังใช้อยู่ตามวัดบ้านนอกจนบัดนี้ ถึงเวลาเย็นพระสงฆ์ประชุมกันสวดมนต์ ณ หอสวดมนต์ทุกวัน เมื่อสวดจบให้ตีกลองแผ่ส่วนบุญด้วยเสียงกลองแก่ชาวบ้าน การลงโบสถ์เฉพาะแต่เพื่อไปทำสังฆกรรมเท่านั้น ประเพณีที่พระสงฆ์ลงไหว้พระสวดสาธยายมนต์ในโบสถ์ทุกวัน เข้าใจว่าทูลกระหม่อมทรงประดิษฐ์ขึ้นเมื่อทรงผนวช แต่มูลของประเพณีสวดสาธยายมนต์ ณ หอสวดมนต์ตามกุฏิเป็นประเพณีก่อนเก่า เกิดแต่เมื่อพระอริยสาวกทำปฐมสังคายนาพระธรรมวินัย แล้วตั้งประเพณีให้พระสงฆ์ท่องจำพระธรรมวินัยแล้วสวดสาธยายพร้อมๆ กันเนืองนิจเพื่อทรงจำไว้รักษาพระศาสนา การสวดมนต์เกิดแต่สาธยายพระธรรมวินัยด้วยเหตุดังกล่าวมา แม้ประเพณีเดิม “เรียวลง” โดยเวลาล่วงมาช้านาน และอาจจะเป็นเพราะมีหนังสือพระไตรปิฎกสำหรับถือเป็นหลักแทนความทรงจำ ยังมีข้อบังคับที่ตั้งไว้สำหรับการสาธยาย ใช้เป็นแบบกันตามวัดที่ยังถือธรรมเนียมเก่าว่าพระภิกษุบวชใหม่ในพรรษาแรกต้องท่องจำทำวัตรไหว้พระและพระธรรมสังคิณี พรรษาที่ ๒ ต้องท่องจำพระปริต ๗ ตำนานและ ๑๒ ตำนาน พรรษาที่ ๓ ต้องท่องจำพระปริตตลอดจตุภาณวาร หม่อมฉันเคยได้ยินพระสงฆ์ที่วัด (ดูเหมือนชื่อ “ชัยชุมพล”) เป็นวัดเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี ท่องจำได้จนตลอดจตุภาณวารสวดด้วยกันได้ทั้งวัด สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงฟัง ตรัสชมความศรัทธาอุตสาหะของพระวัดนั้น พระราชทานกับปิยมูลเป็นรางวัลชั่งหนึ่ง การสวดมนต์แต่ก่อนมาถือกันว่าสำคัญมาก แม้เราเองก็ได้เคยสำเหนียก ณ วัดบวรนิเวศน์ เมื่อกรมสมเด็จพระปวเรศฯ ทรงครองวัด ท่านคงถือการสาธยายสวดมนต์เป็นการสำคัญ แต่การสวดมนต์เรียวมาโดยลำดับแม้จนพระปริต ๗ ตำนาน ทุกวันนี้ก็ร่อยหรอเต็มทีแล้ว

เครื่องถ้วยจีนอย่างไม่เคลือบนั้น หม่อมฉันเคยเห็นของหลวงมีอยู่ในตู้ห้องแปะเต๋งหลายชิ้น ของกรมพงศาฯ ก็มี อนึ่งคำที่ฝรั่งเรียกเครื่องถ้วยของจีนว่า “ปอสะเลน” นั้น เขาว่าเป็นคำภาษาโปรตุเกสแปลว่าเปลือกหอย พวกโปรตุเกสแรกมาเห็นเครื่องถ้วยจีนก่อนฝรั่งชาติอื่น เรียกอย่างนั้น ฝรั่งชาติอื่นก็เรียกตามต่อไป คำที่เรียกเครื่องถ้วยจีนว่า “ไชนา” คงเป็นพวกอังกฤษเรียกก่อน

ความตอนท้ายลายพระหัตถ์ตรัสบอกมาถึงทำพระราชพิธีมาฆบูชา เป็นเหตุให้หม่อมฉันนึกถึงความหลังเรื่อง ๑ ควรจะทูลบรรเลงได้ เมื่อตอนต้นรัชกาลที่ ๖ ทำพระราชพิธีมาฆบูชาพระปฐมเจดีย์ครั้ง ๑ หม่อมฉันตามเสด็จไปฟังเทศน์ในงานนั้น สังเกตเห็นพระเถระผู้เทศน์ท่านพรรณนาถึงความอัศจรรย์ของจาตุรงคสันนิบาตเป็นประธานในเทศนา เมื่อกลับมากรุงเทพฯ ได้เฝ้าสมเด็จพระมหาสมณะ หม่อมฉันทูลท่านว่าหม่อมฉันเห็นความในโอวาทปาฏิโมกข์สำคัญกว่า จาตุรงคสันนิบาตมาก ท่านตรัสตอบว่าความจริงก็เป็นเช่นนั้น คาถาโอวาทปาฏิโมกข์นั้นพระพุทธองค์ทรงสอนพระอริยสาวกในการ (ซึ่งเป็นมิชชันนารี) เที่ยวประกาศพระศาสนาเป็นสำคัญ เพราะฉะนั้นพิธีมาฆะบูชาควรทำเป็นพิธีของพระยิ่งกว่าเป็นของคฤหัสถ์

ทูลข่าวทางปีนัง

เวลานี้ฤดูกาลที่ปีนังยังแล้งและร้อนเหมือนสัปดาหะก่อน แม้ลำธารในสวนน้ำตกก็มีแต่น้ำไหลรินๆ เพราะเขากักน้ำตกเอาไปลงถังประปาหมด คอยฝนก็ยังไม่เห็นมีวี่แวว บางวันเวลาบ่ายมีเมฆฝนตั้ง แต่ก็ตกอย่างหยิมๆ ไม่เป็นประโยชน์อันใด รอดที่กลางคืนตอนดึกมาจนเช้าอากาศยังเย็นพอนอนสบายทุกคืน

หญิงจงบอกมาว่า คุณท้าววรจันทร์ป่วยอาการหนักมาก หม่อมฉันก็ไม่รู้จะนึกอย่างไรนอกจากหวังว่าจะไม่มีทุกขเวทนานัก และเสียดายอยู่ที่อายุท่านจะหย่อน ๑๐๐ เพียงปีเดียว แต่ออกสงสารพระองค์ธานีฯ ด้วยเคยอยู่กับท่านมาแต่เกิด จะมาต้องพรากกันกับคุณย่าก็เห็นจะอาลัยมากอยู่

เมื่อหม่อมฉันขึ้นไปอยู่บนเขาอ่านหนังสือเรื่องหนึ่ง ซึ่งพระยาอนุมานราชธนกับพระสารประเสริฐใช้นามว่า เสฐียรโกเศศกับนาคประทีปช่วยกันแต่ง แต่งอย่าง “โนเวล” ฝรั่ง แต่ทำเป็นสูตรของลัทธิมหายานเรียกชื่อว่า “กามนิตสูตร” ตัวนิทานแต่งเป็นเรื่องในพุทธกาล มีพรรณนาถึงสวรรค์ชั้นสุขาวดีและพรหมโลก ดูเขาช่างประดิษฐน่าอ่านอยู่ ท่านได้เคยทรงอ่านแล้วหรือยัง ถ้ายังไม่เคยทรงขอให้ลองทรงอ่านดู

ปัญหา

หม่อมฉันสงสัยความของศัพท์ ๒ ศัพท์ ๑ คือ “เผด็จ” เห็นบางแห่งใช้หมายความว่า “ตัด” เช่น “เผด็จศก” และ “ป้อมเผด็จดัษกร” เลยมาจนคำ “เด็ดขาด” ก็เห็นจะมาแต่คำเผด็จนั้นเอง เห็นใช้เป็นคุณศัพท์สำหรับเรื่องหนังสือด้วย เช่นหนังสือแปลวิสุทธิมัคค์และแปลธรรมบท ฉบับที่ขุนโสภิตอักษรการ (แห) พิมพ์ เรียกว่าวิสุทธิมัคค์และธรรมบท “เผด็จ” หม่อมฉันเคยเห็นที่อื่นอีกในพวกหนังสือเก่า คำเผด็จในที่นี้จะหมายความว่ากระไร ดูไม่เข้ากับจะหมายความว่า “ตัด” หรือคำเด็จอันน่าจะเป็นภาษาเขมรหมายความว่า “สิ้น” ถ้าเช่นนั้นเอามาใช้กับหนังสือ ก็หมายความว่ามีจนสิ้นเรื่องไม่เฉพาะแต่บางตอน ความก็พอเข้ากับสิ้นข้าศึกและสิ้นปีได้

อีกคำ ๑ คือ “สำแดง” ตามเห็นโดยมากมักใช้เป็นกิริยา เช่น ว่าสำแดงฤทธิเดช แต่ไปมีใช้เรียกพระภิกษุว่า “สำแดง” ได้เคยเห็นในหนังสือเก่าเหมือนกัน มาเห็นเขาใช้ในหนังสือกามนิตสูตรเป็นคำพระพุทธองค์ ตรัสเรียกพระอานนท์ว่า “สำแดงอานนท์” จึงอยากรู้ความที่หมาย คำสำแดงคำนี้ก็เห็นจะเป็นภาษาเขมรอีก แต่หมายความว่ากระไรจึงใช้ได้ในคำที่ยกเป็นตัวอย่างทั้ง ๒ คำนั้น

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ