วันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๔๘๒

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ทราบฝ่าพระบาท

ซ่อม

พบรูปคนทาเนื้อสีเขียวอ่อนเข้า เหมือนกับม้ามารประจญที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตน์ ซึ่งได้ทูลถวายมาคราวก่อน จึงทำให้เว้นไม่ได้ต้องตัดรูปนั้นส่งมาถวาย ทำให้เข้าใจขึ้นได้ ว่าที่เปลี่ยนสีม้าเป็นทาเขียวนั้น ประสงค์จะทำผันแปรไปให้ทันสมัย เพราะฉะนั้นจึงดูของรู้ได้ว่าทำครั้งไหน เช่นรูปมารประจญในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้น เมื่อดูทั้งหมดก็รู้ได้ว่าเป็นของเขียนมาเก่า แต่เมื่อเห็นสีม้าก็รู้ได้ว่าได้ซ่อมใหม่ ที่จริงการทาหน้าคนเป็นสีต่างๆ นั้นไม่ใช่ของใหม่ พระราม พระลักษณ์ พระพรต พระสตรุ ก็ทาเนื้อเป็นสี เขียว เหลือง แดง ม่วง มาแล้ว สีเขียวสีม่วงหมายความว่าผิวดำ สีเหลืองหมายความว่าผิวขาวเหลือง สีแดงหมายความว่าเลือดขึ้นด้วยมีอนามัยดี เจ้าสาวแขกจะแต่งงานก็ต้องย้อมฝ่ามือให้แดง ซึ่งเรียกว่ายอมเทียน เพราะเอาใบเทียน (กิ่ง) มาตำพอก ประสงค์จะให้เห็นว่าเป็นผู้มีอนามัยดีเหมือนกัน ที่ย้อมแต่มือนั้นลดน้อยลงเสียแล้วอีก ในตำราว่าแดง ๗ แห่งเป็นดี คือเท้าคู่หนึ่ง มือคู่หนึ่ง หัวตาคู่หนึ่ง กับปาก เรื่องพระเจ้าตรัสบอกพระอานนน์ว่าถ้าตามเสด็จไปจะได้เห็นนางฟ้าตีนแดงดุจนกพิราบ ก็ได้แก่ตำราที่ว่านี้หรือหญิงสมัยนี้ที่ทาปากแดงอย่างสากลก็มาเข้าตำรานี้ รูปที่ตัดมาถวายทาหน้าสีเขียวก็หมายความว่าหน้าลับเงาดำ

การซ่อมสิ่งต่างๆ นั้นทำได้หลายทาง การซ่อมให้คงเห็นเป็นของเก่านั้นทำยาก ดังได้กราบทูลเรื่องกรมหมื่นวรวัฒน์ซ่อมรูปเขียนในพระอุโบสถวัดราชบูรณะมาแล้ว เกล้ากระหม่อมเองก็เคยลำบาก ทำการซ่อมเตียงเก่าของแม่อันมีลายฉลักโปรงอยู่มาก ที่หักเนื้อหายไปฉลักไม้เชื่อมเข้านั้นไม่ยาก แต่พอถึงปิดทองก็ทำพิษ ด้วยทองเก่ากับทองใหม่ไม่เข้ากัน ดูต่างน่าเกลียดต้องแก้ไขทำทองใหม่ให้เห็นเป็นเก่าไปอีกด้วย นั่นอยู่ในอำนาจที่จะพึงทำได้ ทีนี้ถึงการประดับกระจก เอากระจกใหม่ตัดใส่เข้าไปไม่เข้ากัน เพราะกระจกเก่ากับใหม่ไม่เหมือนกัน นั่นอยู่นอกอำนาจที่จะแก้ไขได้ ต้องไปขะโมยคัดเอากระจกเก่าที่อื่นมาประจุเข้าจึงไปด้วยกันได้ ทำเช่นนี้หากแต่เป็นงานเล็กน้อยจึงทำได้ ถ้ามากมายก็ทำไม่ได้ ต้องที่ปิดทองใหม่ และคัดกระจกออกประดับกระจกใหม่แทน และถ้าจะฟังเสียงคนทั่วไป จะชอบอย่างที่ซ่อมให้เห็นเป็นของใหม่ มากกว่าที่จะซ่อมให้คงเห็นเป็นไปตามเก่าเป็นไหนๆ เพราะฉะนั้นจึงได้กราบทูลว่าการซ่อมให้ของเก่าเป็นเก่านั้น เป็นการฝืนโลก

มีการซ่อมที่ยังแปลไม่ออกอยู่อย่างหนึ่ง พระปรางค์องค์หน้าวัดพระศรีรัตน์ ทำไว้เดิมประดับกระเบื้องเคลือบสีต่างๆ เป็นพื้น แล้วปั้นลายปิดทองทับข้างบน ถึงคราวซ่อมเมื่อ ๑๕๐ ปี ปั้นซ่อมลายที่แตกตกแล้วปิดทองใหม่หมด นั่นควรแล้ว แต่ที่หว่างลายนั้นแยงสีทับกระเบื้องเก่าเสียสิ้น จะมีเจตนาว่าให้ทำง่ายไม่ต้องเสียแรงชำระกระเบื้อง หรือเจตนาจะให้ดูงามขึ้นกว่าเก่าก็ยังหาเข้าใจไม่ สีที่แยงลงไปนั้นสดใสว่าสีกระเบื้อง เพราะเป็นสีที่ทำโดยทางวิทยาศาสตร์

ลายพระหัตถ์

ลายพระหัตถ์เวร ซึ่งลงวันที่ ๑๑ ตุลาคม อันควรจะได้รับในเมล์วันที่ ๑๔ แต่คลาดไป ได้รับเอาเมล์วันที่ ๑๗ เป็นแน่ ว่าเป็นด้วยการตรวจ แต่ลายพระหัตถ์ฉบับนั้นก็เรียบร้อยไม่มีบุบสลาย มีแต่ตรารูปสี่เหลี่ยมรีประทับผ่านการตรวจกองที่ ๑๑ ซึ่งผิดกองไปจากคราวที่กราบทูลมาก่อนเท่านั้น

อาจกราบทูลได้ว่าปราสาทวิหารสมเด็จเป็นอย่างไร เพราะได้คุ้ยค้นเข้าใจว่าเหมือนกันกับสรรเพชญปราสาท ด้วยลักษณะดูเหมือนกัน มีมุขหน้ายาวมุขหลังสั้น พื้นลาดปูน ส่วนมุขข้างนั้นยกนิดเดียว ติดอยู่ในองค์ประธาน ในประธานไม่มีพื้น มีตอหม้อก่อด้วยอิฐ ๔ เส้าในแนวผนังเข้าไป และในนั้นเต็มไปด้วยอิฐหักทับถมอยู่มาก เมื่อคุ้ยดูก็พบพระชานุพระแก้วขาวขนาดเล็กตกอยู่ในกองอิฐ ก็ได้ความเข้าใจว่าในประธานเป็นพื้นไม้ยกสูง บนนั้นตั้งพระพุทธรูปจะตั้งบนอะไรก็ได้ ตามพระราชานุกิจในกฎมนเทียรบาลว่าเสด็จขึ้นหอพระนั้น เข้าใจว่าขึ้นทรงบูชาพระในประธานปราสาทนั้นเองนับว่าเป็นหอพระ อีกประการหนึ่งพันบุตรศรีเทพซึ่งเป็นผู้ชายเป็นผู้เฝ้าหอพระ สมว่าหอพระนั้นจะต้องอยู่ในสถานข้างหน้าต่อข้างใน จึงเห็นว่าพระประธานปราสาทเป็นหอพระนั้นควรอยู่แล้ว เมื่อทรงบูชาพระแล้วก็ไขพระบัญชรเสด็จเยี่ยมออกขุนนางที่มุขหน้า เหมือนที่มีรูปอยู่ในหนังสือของมองซิเออลาลอร์แบ กับทั้งเห็นซากปราสาทที่ลพบุรีเป็นอย่างอยู่ ที่หน้ามุขด้านหน้าแห่งปราสาทมีฐานเล็กติดซ้อนหน้า จะมีหลังคาเป็นมุขเด็จหรือไม่มีไม่ทราบ แต่เป็นที่เสด็จออกกลางแจ้งนั้นแน่นอน ปราสาททั้งสององค์นั้น ถึงจะเป็นจตุรมุขก็เหมือนเป็นเรือนยาวเฉยๆ เพราะมุขข้างย่ออยู่ในตัว สังเกตฝีมือว่าทีจะก่อในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ ด้วยเห็นคล้ายคลึงกับปราสาทที่ลพบุรีมาก เดิมคงจะมีอยู่เป็นปราสาททำด้วยไม้

พระที่นั่งสุริยาอมรินทร์ เห็นมีแต่ผนังตั้งสูงอยู่ที่รักแร้อันเดียว ผนังนั้นก่อด้วยอิฐคั่นกับศิลาแลงเป็นชั้นๆ เป็นอย่างฝรั่ง ทำให้เข้าใจว่าสร้างแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์เหมือนกัน แต่จะมีลักษณะเป็นอย่างไรกราบทูลไม่ถูก เพราะไม่ได้คุ้ยดู แต่ประหลาดที่ปราสาทองค์นั้นไม่มีรอยก่อฐานเป็นบัว อาจเป็นเรือนสองชั้นก็เป็นได้

พระที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์นั้น เหมือนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทแต่พื้นต่ำกว่ามาก

ในการที่เสด็จประทับอยู่ปราสาทนั้น นึกไม่ออกว่าจะอยู่อย่างไรกัน เว้นแต่จะทำปราสาทขึ้นสำหรับเป็นเรือนอยู่ก็อยู่ได้ พระที่นั่งวิหารสมเด็จและพระที่นั่งสรรเพชญปราสาทนั้นอยู่ไม่ได้แน่

พระที่นั่งอินทราภิเศกหรือพระที่นั่งดุสิต แม้จะทำอย่างปราสาทองค์ใดในกรุงเก่าก็ทำเป็นที่เสด็จออกเท่านั้น จะเป็นที่ประทับอยู่หาได้ไม่ ที่ประทับจะต้องเป็นพระที่นั่งพิมานรัถยา

เครื่องราชูปโภคประดับมุก ตั้งแต่พระแท่นเศวตฉัตรประดับมุกลงไปจะมีพร้อมไม่ได้อยู่เองเหมือนที่ทรงพระดำริ ต้องเป็นของทำขึ้นภายหลัง ในการที่ทำขึ้นเกล้ากระหม่อมเดาว่าเพราะหัดช่างมุกขึ้นมากนั้นสั้นไป ที่แท้ก็จะเป็นแต่เหตุส่วนหนึ่งเท่านั้น ส่วนใหญ่นั้นเอาอย่างการทำมุกครั้งกรุงเก่า ตู้มุกซึ่งประกอบด้วยบานเก่าเท่าที่เห็นมากี่ใบก็ล้วนแต่เอาบานวัดบรมพุทธารามตัดที่เสียทิ้ง เอาแต่ที่ยังดีประจุเข้าทั้งนั้น

จะกราบทูลรายงานว่าบานมุกที่ช่องแกล หน้าหอพระมนเทียรธรรมนั้น เขาได้เอาปรับเข้าที่เสร็จแล้วดูพอดี แต่ที่ซ่อมที่เสียในตอนล่างนั้นเต็มทน ไฟไหม้วัดบรมพุทธารามนั้น สันนิษฐานว่าจะไหม้แต่เล็กน้อย คือหญ้าขึ้นที่พื้นไม่มีใครเอื้อ เพราะวัดร้างแล้ว หญ้าไหม้ไฟป่าก็เผาเอาบานตอนล่างเสียไปเท่านั้น ไม่ใช่ไหม้ถึงท่วมหลังคา ถ้าไหม้ใหญ่เช่นนั้นจะไม่มีบานเหลืออยู่เลย เพราะรักเป็นยางไม้ ถูกร้อนเพียงเล็กน้อยก็ละลายไหลมุกตกหมด บานมุกที่พระวิหารยอดนั้น มีหนังสือทำไว้เช่นเดียวกันกับที่วิหารพระชินราช แต่ได้อ่านนานแล้ว จำไม่ได้ว่าทำสำหรับที่ไหน จะตรวจกราบทูลมาเที่ยวนี้ก็ไม่ทัน จึงจะกราบทูลมาเที่ยวหลัง เป็นบานครั้งแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ ไม่ใช่ครั้งแผ่นดินพระเพทราชาซึ่งอยู่ที่วัดบรมพุทธาราม จึงยังดีไม่มีรอยไฟไหม้

ที่ทรงพระดำริว่า ช่างแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ จะจำอย่างลายบานของเก่านั้นถูกแล้ว ทางดำเนินของช่างต้องจำเก่าทั้งนั้น เข้าใจว่าเขาส่ายหามานมนานว่าอย่างไรจะดี เมื่อพบแล้วก็ทำยืนอยู่ ช่างภายหลังก็ต้องดำเนินตามท่านแต่ก่อนไปทั้งนั้น จะคิดประกอบขึ้นเป็นของตัวเอง ก็ชั่วแต่ดอกใบ อันจะประจุเข้าไปเท่านั้น จะกราบทูลถวายเป็นตัวอย่างพอเข้าพระทัย เช่นที่ควรจะทำเป็นกลีบบัวก็ต้องทำเป็นกลีบบัว แต่ในการที่จะหยักกลีบบัวเป็นอย่างไรนั้นแหละ อยู่ที่ความคิดของผู้ทำจะยักย้ายไป ถ้ายักย้ายจนผิดทางไปเช่นเอาลายก้านขดเข้าไปใส่ในที่ควรเป็นกลีบบัวแล้วก็เปิ่น ไม่ใช่แต่เปิ่นเปล่าๆ เท่านั้น ดูไม่ดีเห็นขวางไปกว่าทำเป็นกลีบบัวจริงๆ ด้วย

อันชื่อลายในภาษาช่างก็ไม่มีทุกอย่างไป จะพูดกันในพวกช่างก็เอาแต่ความเข้าใจซึ่งกันและกัน ต้องคิดผูกขึ้นเรียกเหมือนกัน เช่นลายชนิดเป็นดวงกลมๆ ที่ตรัสเรียกว่าลายช่องนั้น เกล้ากระหม่อมเรียกว่าลายอีแปะ เกล้ากระหม่อมก็คิดผูกเรียกเอาตามใจเหมือนกัน

หนังสือพิมพ์ซึ่งตัดประทานไป เป็นข้อแนะนำสำหรับการมีหนังสือเข้าออกนั้น อ่านดูเห็นว่ามีข้อที่เกี่ยวถึงหนังสือเวรอยู่ ๒ ข้อ ซึ่งเราก็ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามนั้นอยู่เสร็จแล้ว นอกนั้นก็ไม่เห็นมีอะไรที่จะมาเกี่ยวข้องอีก

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ