วันที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๑๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๘๒

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๙ กันยายน นั้นแล้วจะทูลเรื่องเขาตรวจจดหมายเวรให้ทรงทราบเสียก่อน เมื่อเมล์คราววันพฤหัสบดีที่ ๗ กันยายนหญิงมารยาตรมีจดหมายมาถึงหม่อมฉันฉบับ ๑ เจ้าพนักงานเขาเอาไว้ตรวจวัน ๑ แล้วจึงส่งมาให้ต่อวันเสาร์แทนส่งมาวันศุกร์อย่างแต่ก่อน การที่เขาตรวจนั้นก็ไม่มีอะไรจะติได้ เพราะเขาได้ประกาศบอกไว้ก่อนแล้ว ลักษณะที่ตรวจนั้นเขาตัดริมซองเหมือนอย่างเราตัดกันเป็นสำคัญ เอาจดหมายออกอ่านแล้วก็กลับพับเอาลงซองอย่างเดิม ที่รอยตัดซองนั้นเขาปิดกระดาษไล้กาวอีกแผ่น ๑ มีอักษรพิมพ์ไว้ว่า “ตรวจแล้ว” ผนึกซองส่งมา หม่อมฉันต้องออกปากสรรเสริญว่าเปิดตรวจอย่างนี้ตรงไปตรงมา ไม่น่าเกลียดเหมือนอย่างลอบเอาไอร้อนรมให้กาวละลายลอบเปิดซองเอาหนังสือออกอ่านแล้วกลับได้กาวผนึกซองมิให้รู้ว่าเปิด เลยปลงใจว่าลายพระหัตถ์เวรที่มาคราวเมล์วันอาทิตย์ที่ ๑๐ นี้ คงไปติดตรวจวัน ๑ จะได้รับต่อวันอังคารแทนที่เคยรับวันจันทร์ แต่เมื่อถึงวันจันทร์พนักงานไปรษณีย์เอาลายพระหัตถ์มาส่งในเวลาเช้าตามเคยมาเหมือนแต่ก่อนก็ประหลาดใจ พิจารณาดูที่ซองลายพระหัตถ์ก็ไม่เห็นมีรอยเปิด มีแต่ประทับตรายางดวง ๑ บอกว่าพนักงานที่ปีนังได้ตรวจแล้ว อาจจะเป็นเพราะเขาเคยเห็นตราข้างหน้าซองมาจนชินตาและมีเขียนบอกว่าเป็นลายพระหัตถ์ของพระองค์ท่านข้างด้านหน้าซองด้วย หม่อมฉันได้ส่งซองจดหมายของคนอื่นที่มีมาถึงหญิงพิลัยในคราวเมล์เดียวกัน และถูกเปิดเหมือนจดหมายหญิงมารยาตรมาถวายทอดพระเนตรด้วย

สนองลายพระหัตถ์

เรื่องพระราชลัญจกรอักษรจีนที่ทรงสืบได้ความเพิ่มขึ้นดังพรรณนามาในลายพระหัตถ์ฉบับนี้นั้นทำให้สว่างขึ้นมาก เมื่ออ่านลายพระหัตถ์หม่อมฉันนึกขึ้นว่าได้เคยอ่านพระราชนิพนธ์ของทูลกระหม่อม เรื่องทูตไทยไปเมืองจีนแต่ก่อน นึกว่าบางทีจะมีกล่าวถึงพระราชลัญจกร จึงค้นดูพบในหนังสือ “ชุมนุมพระบรมราชาธิบายในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ซึ่งพิมพ์แจกในงานพระเมรุพระองค์เจ้าศรีนาคสวาดิ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ หน้า ๕๙ มีอธิบายเรื่องพระราชลัญจกรประทับพระราชสาส์นไปเมืองจีนได้ความรู้แปลกกระจ่างยิ่งขึ้นในทางที่ท่านทรงพระวินิจฉัย หม่อมฉันจึงคัดเนื้อความทูลเพิ่มมาในจดหมายเวรฉบับนี้

จะต้องกล่าวคำนำอันมิได้ปรากฏในพระราชนิพนธ์เสียก่อน คือแต่โบราณจีนถือว่าพระเจ้ากรุงจีนเป็นราชาธิราชอยู่เหนือเจ้าประเทศอื่นๆ ทั้งสิ้น จึงใช้คำเรียกแต่พระเจ้ากรุงจีนว่า “ฮ่องเต้” เรียกเจ้าประเทศอื่นแต่ว่า “อ๋อง” ทั้งนั้น ประเทศอื่นที่ไปค้าขายถึงเมืองจีน ก็ถือว่าเป็นประเทศราชขึ้นต่อเมืองจีน ต้องมีราชสาส์นและเครื่องบรรณาการถวายพระเจ้ากรุงจีนเรียกว่า “จิ้มก้อง” จีนจึงยอมให้เรือของประเทศนั้นไปค้าขายในเมืองจีน เรื่องนี้มีในพงศาวดารเป็นตัวอย่าง ครั้งหนึ่งพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษให้ (ดูเหมือนชื่อว่าลอร์ดมะคาดเน) เป็นราชทูตเชิญพระราชสาส์นกับเครื่องราชบรรณาการไปถวายเจริญทางพระราชไมตรีกับพระเจ้ากรุงจีน รัฐบาลจีนรับรองแห่แหนพระราชสาส์นกับทูตอังกฤษตั้งแต่เมืองกึงตั๋งไปถึงกรุงปักกิ่ง แต่กระบวนแห่นั้นมีผ้าแถบขึงติดปลายไม้ให้คนถือนำไปข้างหน้ามีตัวอักษรจีนเขียนไว้ว่า ทูตของอ๋องประเทศอังกฤษมาจิ้มก้องต่อพระเจ้าฮ่องเต้ เวลานั้นอังกฤษยังอ่านหนังสือจีนไม่ออกก็ไม่รู้ว่าถูกจีนดูหมิ่น มารู้ต่อภายหลัง ครั้นรบชนะจีนถึงบังคับให้ลงในหนังสือสัญญา ว่าจีนยอมว่าพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษมีพระเกียรติยศเสมอกับพระเจ้ากรุงจีน อีกประการหนึ่งแต่เดิมมาจีนยอมให้ชาวต่างประเทศไปเที่ยวค้าขาย ณ ที่ต่างๆ ตามประสงค์ มาเกิดเหตุขึ้นเมื่อพวกโปรตุเกสไปค้าขายถึงเมืองจีน ไปเที่ยวตั้งสอนศาสนาคริสตังค์มีพวกจีนเข้ารีตเกิดขึ้น รัฐบาลจีนจึงห้ามมิให้ชาวต่างประเทศไปค้าขายที่อื่นนอกจากที่เมืองกึงตั๋งในภาคกวางตุ้งแห่งเดียว เพราะฉะนั้นเรือทูตหรือเรือค้าขายที่ไปจากเมืองไทย จึงต้องไปที่เมืองกึงตั๋งก่อนที่อื่นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยามา

คราวนี้จะกล่าวเนื้อเรื่องในพระราชนิพนธ์ของทูลกระหม่อมต่อไป ทรงปรารภว่าการสมาคมในระหว่างไทยกับจีนนั้นมีความลำบากเป็นข้อสำคัญที่ทั้ง ๒ ฝ่ายไม่รู้ภาษากันและถือประเพณีต่างกัน ในเมืองจีนไม่รู้ภาษาและหนังสือไทยทีเดียว ในเมืองไทยมีจีนมาค้าขายตั้งภูมิลำเนาอยู่นาน หรือมาเกิดในเมืองไทย แม้รู้ทั้งภาษาจีนและภาษาไทยก็รู้เพียงพูดได้ ที่จะรู้เชี่ยวชาญทั้งหนังสือจีนและหนังสือไทยแทบไม่มี รัฐบาลจึงได้แต่เลือกหาผู้รู้มากกว่าเพื่อนมาเป็นผู้แปลพระราชสาส์น และหนังสือราชการที่มีไปมาในระหว่างรัฐบาลไทยกับจีน ผู้แปลๆ หนังสือจีนเป็นภาษาไทยว่ากระไร ไทยก็ไม่รู้พอจะสอบ หนังสือไทยที่แปลเป็นภาษาจีน ในเมืองจีนก็ไม่มีใครที่สามารถจะสอบทาน คำแปลจึงกลับกลายเป็นต้นหนังสือ แปลอย่างไรก็ต้องเชื่อว่าต้นหนังสือว่าอย่างนั้น ผู้แปลจึงอาจแปลสำนวนไปได้ตามใจ ทรงยกตัวอย่างคำภาษาไทยใช้ในพระราชสาส์นว่า “เจริญทางพระราชไมตรี” ผู้แปลใช้คำภาษาจีนว่า “กุ๋ย” อันหมายว่า “ลุกขึ้นยืนถวายคำนับ” ดังนี้ ผู้แปลมีแต่เจตนาจะให้รัฐบาลจีนชอบใจ เพื่อจะให้พวกจีนในเมืองไทยไปมาค้าขายโดยสะดวก จึงแต่งสำนวนอ่อนน้อมจนเกินการ ทรงพระราชปรารภต่อไปถึงพระราชลัญจกร ว่าตามประเพณีมีพระราชสาส์นไปยังต่างประเทศ ตัวพระราชสาส์นมีถวายเฉพาะพระองค์พระเจ้าแผ่นดิน เจ้าพระยาพระคลังมีศุภอักษรถึงเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ราชสาส์นและศุภอักษรมีไปเมืองจีนก็เช่นนั้น เจ้าพระยาพระคลังมีศุภอักษรถึง “ลิกูปาทั่ง” เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศฉบับ ๑ และต้องมีถึง “ต๋งต๊ก” ผู้สำเร็จราชการหัวเมืองภาคกวางตุ้ง ซึ่งเป็นที่รับทูตต่างประเทศด้วยอีกฉบับ ๑ รวมเป็น ๓ ฉบับทั้งพระราชสาส์น เพราะจีนถือคำแปลเป็นหลักจึงต้องประทับตราอันมีตัวอักษรจีนเป็นสำคัญทุกฉบับ ให้ผู้แปลคิดแบบพระราชลัญจกรมีอักษรจีนสำหรับประทับสำเนาพระราชสาส์นดวง ๑ ตราสำหรับประทับสำเนาศุภอักษรของเจ้าพระยาพระคลังด้วยดวง ๑ แต่อย่างไรผู้คิดแบบตราเจ้าพระยาพระคลังใช้อักษรจีนเป็นพระปรมาภิไธย ทั้งที่ประทับถึงลิกูปาทั่งที่เมืองปักกิ่งแลถึงต๋งต๊กที่ภาคกวางตุ้ง คนทั้งนั้นเข้าใจว่าเป็นพระราชสาส์นของพระเจ้าแผ่นดินมีถึงตน แต่ฝ่ายไทยเราก็ไม่รู้เหตุนั้น ครั้นนานมาเปลี่ยนตัวผู้แปลหนังสือไปมากับเมืองจีน ผู้ที่เป็นใหม่เป็นคนซื่อ ทักอักษรในดวงตราเจ้าพระยาพระคลังว่าเป็นพระปรมาภิไธย จึงโปรดให้แก้อักษรในตราให้ถูกต้องตามจริง แต่เมื่อประทับตราดวงใหม่ไปต๋งต๊กภาคกวางตุ้งโกรธ ไม่ยอมรับทูตไทยและไม่ส่งพระราชสาส์นไปกรุงปักกิ่ง อ้างว่าแต่ก่อนเสียมก๊กอ๋องเคยมีหนังสือไปถึงต๋งต๊กเอง เดี๋ยวนี้ให้คนรับใช้มีหนังสือไปเป็นการดูหมิ่น เมื่อเป็นเช่นนั้นก็เหมือนไทยถูก “บอยค๊อต” เพราะไม่ให้ไปค้าขายยังเมืองจีนขาดประโยชน์มาก จึงกลับใช้ตราดวงเดิมต่อมา เรื่องตามพระราชนิพนธ์นี้จะเป็นอธิบายข้อที่ท่านตรัสมาในลายพระหัตถ์ว่า ตราดวง ๑ มีตัวหนังสือ “เก่า-เม่ง” จะเป็นตราที่แก้แต่ต้องเลิกดอกกระมัง.

เขียนมาหมดเวลาเพียงนี้จะรีบส่งให้พนักงานเขาตรวจส่งทันคราวเมล์

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

  1. ๑. ทูลกระหม่อม หมายถึง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ