วันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๗ พฤศจิกายน พุกธศักราช ๒๔๘๒

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

ลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๓ พฤศจิกายน ผ่านพนักงานตรวจที่ ๑๕ มาถึงหม่อมฉันเมื่อวันอังคารที่ ๗ เวลาเช้า ช้ากว่าปกติวันหนึ่งแต่ซองเรียบร้อยดี

พูดเรื่องที่ค้างมา

หนังสือของพระพรหมมุนี เรื่องที่โปรดส่งมาทางไปรษณีย์ สมุดมาถึงแล้ว เล่ม ๑ เรียกชื่อว่า ผดุงชาติศาสนา แรกเห็นชื่อนั้นหม่อมฉันไม่เกิดเลื่อมใสเพราะเคย “เอือม” คำว่า “รักชาติศาสนาพระมหากษัตริย์” มาแต่ในรัชกาลที่ ๖ ยังไม่หายสนิท แต่เมื่อเปิดออกอ่านความในนั้นก็เห็นว่าแต่งดีอยู่ อีกเล่ม ๑ ว่าด้วยทำเนียบสมณศักดิ์แบบเวียงจันทน์นั้น หม่อมฉันลืมสนิททีเดียวว่าได้ขอให้ท่านแต่ง จำได้แต่ว่าเคยอ่าน ในหนังสือนั้นมีอธิบายดี ควรหอสมุดฯ จะพิมพ์ไว้ในพวกหนังสือ “ลัทธิธรรมเนียมต่าง ๆ” จะได้พิมพ์แล้วหรือยังก็จำไม่ได้ พระพรหมมุนีแต่งหนังสือ ๒ เรื่องนั้นท่านใช้ศัพท์ไทยอิสานน่าสังเกตหลายศัพท์ เข้าใจว่าพระองค์ท่านคงทรงสังเกตแล้ว

ที่หม่อมฉันได้ทูลไปในจดหมายเวรฉบับก่อนว่า กำลังแต่งวินิจฉัยเรื่อง “ลายแทงทรัพย์แผ่นดิน” จะส่งไปถวายคราวเมล์นี้ แต่แต่งยังไม่แล้ว เพราะในสัปดาห์ที่ล่วงมามีกิจทำบุญฉลองพระดิศเป็นกังวลไม่ใคร่มีสมาธิ ต้องทูดขอผลัดต่อไปอีกคราว ๑

ข่าวที่ปีนัง

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒ พฤศจิกายน พระดิศ กับพระมหาลำใยออกมาถึง หม่อมเจิมก็มาด้วยในรถไฟกระบวนนั้น หม่อมฉันลงไปรับพระที่ท่าเรือ พาไปส่งที่วัดศรีสว่างอารมณ์อันเป็นที่พัก รุ่งขึ้นวันศุกร์ที่ ๓ นิมนต์ทั้งพระประจำวัดแลอาคันตุกะรวม ๗ รูปมารับบิณฑบาต วันเสาร์ที่ ๔ สวดมนต์เลี้ยงพระฉลองพระดิศที่ซินนามอนฮอล วันอาทิตย์ที่ ๕ พระองค์หญิงประเวศทรงบาตรที่ตำหนัก วันจันทร์ที่ ๖ พระมหาลำใยกับพระดิศกลับไปกรุงเทพฯ หญิงจงซึ่งออกมาอยู่กับหม่อมฉันกว่าเดือนก็กลับไปในคราวรถนี้ แต่เธอจะไปแวะที่เมืองนครศรีธรรมราชและหัวหิน จะไปถึงกรุงเทพฯ แต่วันอังคารที่ ๑๔ พฤศจิกายน

สนองความในลายพระหัตถ์

มูลเหตุที่จีนตั้งอั้งยี่ในเมืองไทย หม่อมฉันได้เคยค้นและสืบสวนหาความรู้มาแต่ก่อน ได้ความว่าเริ่มมีขึ้นในรัชกาลที่ ๓ เพราะรัฐบาลจับฝิ่นเถื่อนอย่างกวดขัน พวกจีนที่ค้าฝิ่นเถื่อนจึงคบคิดกันเอาแบบอั้งยี่ในเมืองจีนมาตั้งเป็นสมาคมลับ ไทยเราเรียกว่า “ตั้วเฮีย” เพื่อค้าขายฝิ่นเถื่อน เป็นพวกเดียวแต่ได้ควบคุมกันต่อสู้เจ้าพนักงานจึงต้องรบพุ่งกันที่เมืองนครไชยศรีและเมืองฉะเชิงเทรา ฆ่าฟันกันมากจึงปราบลงได้ ถึงรัชกาลที่ ๔ ตั้งภาษีฝิ่นให้จีนสูบฝิ่นได้ พวกตั้วเฮียก็เลิกสูญไป แต่ถึงตอนปลายรัชกาลที่ ๔ และต่อมาในตอนต้นรัชกาลที่ ๕ พวกจีนคิดตั้งสมาคมลับตามแบบเก่าขึ้นอีก แต่ถึงชั้นนี้ไทยเราเรียกว่า “อั้งยี่” อั้งยี่ผิดกับตั้วเฮียเป็นข้อสำคัญที่พวกตั้วเฮียตั้งสำหรับค้าขายฝิ่นมิให้ถูกจับกุม จึงเป็นพวกเดียวกันทั้งนั้น แต่พวกอั้งยี่ตั้งเมื่อบ้านเมืองสมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์ รัฐบาลจัดการเก็บเงินแผ่นดินโดยวิธีให้มีผู้รับผูกขาดเป็นเจ้าภาษีนายอากร อันตกอยู่ในพวกจีนมีบรรดาศักดิ์โดยมาก นอกจากนั้นเกิดมีโรงจักรทำการต่างๆ อันต้องใช้กรรมกรมาก จีนจึงเกิดแย่งหาผลประโยชน์กันเอง ทั้งในการเก็บภาษีอากรและการหากรรมกรให้โรงจักร พวกรู้คิดจึงสมคบกันตั้งอั้งยี่เพื่อจะรับช่วงเก็บภาษีในท้องถิ่นต่างๆ และจะปกครองพวกกรรมกร ถ้าเจ้าภาษีหรือนายห้างไม่แบ่งผลประโยชน์ให้พวกอั้งยี่ก็พากันแกล้งเกะกะมิให้ทำการได้สะดวก เมื่อการหากินอย่างนั้นได้ผลดีก็มีจีนพวกอื่นตั้งอั้งยี่ขึ้นหาประโยชน์อย่างนั้นบ้าง เกิดแข่งขันกันกลายเป็นอั้งยี่หลายพวกมีลูกน้องมากบ้างน้อยบ้าง มักวิวาทตีรันฟันแทงกันจนเป็นความลำบากในการปกครอง แต่แรกรัฐบาลใช้วิธีเกลี้ยกล่อมเอาพวกหัวหน้ามาชุบเลี้ยงให้ควบคุมห้ามปรามพวกลูกน้องอย่าให้กำเริบ ใช้วิธีนั้นมาจนราว พ.ศ. ๒๔๓๓ อั้งยี่ ๒ พวก ดูเหมือนเรียกซื่อว่า “ตั้วกงสี” พวก ๑ “ชิวลิกือ” พวก ๑ เกิดวิวาทถึงตั้งสนามเพลาะรบกันที่บางรักในกรุงเทพฯ เรียกกันว่า “ปล่องเหลี่ยม” กระทรวงนครบาลไม่สามารถจะระงับโดยวิธีเก่าได้ จึงโปรดให้กรมยุทธนาธิการระงับด้วยกำลังทหหาร แต่นั้นพวกอั้งยี่ก็มิได้กำเริบต่อรัฐบาล การครั้งนั้นท่านทรงทราบอยู่แก่พระองค์แล้ว

พัดรองที่ทำเป็นลวดลายต่างๆ นั้น หม่อมฉันเข้าใจว่าพัดปักลายในเมืองไทยจะมีขึ้นภายหลังพัดอย่างทอเป็นลายมาแต่เมืองจีน หม่อมฉันเคยสืบว่าแรกมีขึ้นเมื่อใด ได้ความว่าแรกมีนั้นเป็นพัดรองของหลวง สั่งมาแต่เมืองจีน ลายเป็นอักษร “จ” ๓ ตัวอยู่ใต้พระเกี้ยวยอด พระราชทานในงานขึ้นพระที่นั่งวโรภาศพิมาน (เมื่อยังใช้นามว่า พระที่นั่งไอสวรรยทิพอาศน์) หม่อมฉันพยายามหาตัวอย่างไม่ได้ ว่าสูญเสียหมดแล้ว พัดรองต่อมาก็พัดเอราวัณ พระราชทานในงานบรมราชาภิเษก ปีระกา พ.ศ. ๒๔๐๖ ปักเมืองจีนเหมือนกัน พัดที่ปักในเมืองนี้ว่าเกิดขึ้นต่อภายหลังมาทั้งนั้น

พระบรมรูปทรงม้าหม่อมฉันมีขนาดเข้ากรอบเหมาะแล้ว เป็นรูปฉายทางข้าง ๆ เห็นตลอดหมด ไม่ต้องทรงประทานมาใหม่ ขอขอบพระคุณซึ่งทรงปรารภ

เรื่องพัดแฉกงา สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ ท่านให้พระดิศมาถาม หม่อมฉันได้เขียนบันทึกอธิบายให้ไปแล้ว

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ