วันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๙ เมษายน ๒๔๘๒

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์เวร ลงวันที่ ๒๐ เมษายน ได้รับประทานแล้ว

พิธีตรุษเห็นจะมาไกล เคยได้ยินพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงตรัสเล่าว่า ที่เมืองชวาก็มีพิธียิงปืนเหมือนพิธีตรุษของเรา ซ้ำมีคนแต่งเป็นผีวิ่งหนีด้วย กับทั้งทูลกระหม่อมชายก็ประทานจดหมายเหตุซึ่งทรงเรียบเรียงขึ้น ในเรื่องเสด็จไปเที่ยวประเทศอินเดียนั้นด้วย ตรัสเล่าถึงพระธิเบตที่ดาชีลิงเล่นละครตรุษถวายทอดพระเนตร แต่งตัวเป็นแมงกะชอนอะไรไล่ผี ตรัสอ้างพระนามฝ่าพระบาทว่าได้ทูลแนะนำว่าควรทอดพระเนตรเรื่องเหล่านี้ ฝ่าพระบาทย่อมทรงทราบอยู่หมดแล้ว และคงจะทรงทราบอะไรมากไปกว่านั้นอีก หวังว่าจะไม่ทรงลืมบรรยายในเมื่อทรงเรียงเรื่องพิธีตรุษ ให้เห็นว่าพิธีของเราสืบมาแต่ไหนด้วย

เรื่องรดน้ำสาดน้ำสงกรานต์ได้ตริตรองแล้ว เห็นว่าจะมาแต่มูลอันเดียวกัน คือเวลาสงกรานต์เป็นเวลาร้อน อยากจะอาบน้ำด้วยกันสิ้น ทีแรกเห็นจะชวนกันไปลงอาบน้ำที่ตีนท่า เป็นธรรมดาคนแก่ย่อมทำอะไรได้น้อย คนหนุ่มสาวจึงได้ช่วยปฏิบัติคนแก่ นี่เป็นมูลแห่งการรดน้ำ แล้วพวกหนุ่มสาวนั้นก็เล่นเย้าหยอกกันเองโดยฐานคะนอง มีวักน้ำสาดกันเป็นต้น นี่เป็นมูลแห่งการสาดน้ำ เมื่อนึกเอาประเพณีมาเทียบก็นึกได้ดังนี้

๑. เคยได้ยินกรมขุนพิทยลาภตรัสเล่าว่า ที่เชียงใหม่ถึงเวลาสงกรานต์เจ้าเชียงใหม่ไปลงท่า แล้วขี่คานหามกลับเข้าวัง ตามทางนั้นชาวเมืองดักสาดน้ำกันตลอดทาง เปียกปอนกันหมดทั้งองค์เจ้าและบริพารกระทั่งถึงวัง นี่ได้แก่ประเพณีลงท่าเวลาสงกรานต์ และเห็นจะได้แก่พิธีลดแจตรซึ่งมีในกฎมนเทียรบาล (หน้า ๑๓๗) อ่านก็เอาความได้รัวเต็มที ได้ความเป็นอันว่าลงท่า มีพระสงฆ์ลงสรงด้วย ส่วนองค์พระเจ้าแผ่นดินนั้นปรากฏว่าสรง ๓ เพลา แล้วเสด็จกลับทางเรือ “ท้าวพระยาลูกขุนนุ่งผ้าลงน้ำมาทีเดียว” ดูเป็นทีท่านพวกเหล่านั้นจะเปียกปอนมาตามกัน หรือจะหมายความว่าลงเรือมาโดยทางน้ำตามเสด็จก็เข้าใจไม่ได้แน่ แต่ที่กรุงเก่ากลับทางเรือ ผิดกันกับทางเชียงใหม่กลับทางบกนั้น ก็เห็นได้ง่ายว่ากรุงเก่าเป็นที่ลุ่ม อาจขุดกลองใช้ต่างถนนก็ได้ เชียงใหม่เป็นที่ดอน จำต้องใช้ถนนการกลับทางเรือคงไม่ถูกสาดน้ำ เพราะคนจะบุกบั่นเข้าไปให้ใกล้พระองค์ไม่ถึง การสาดน้ำจึงได้เลิกไป อย่างเชียงใหม่คงเป็นประเพณีเก่า เราก็เคยอยู่ดอนมาก่อนเหมือนกัน แล้วย้ายมาอยู่ลุ่ม ประเพณีก็ย่อมเปลี่ยนไปตามภูมิประเทศ เป็นงดสาดน้ำเมื่อเสด็จกลับจากไปลงท่า

๒. การสรงน้ำพระก็เห็นจะมีมาช้านาน เราก็สรงกันอยู่จนบัดนี้ ทั้งพระพุทธรูปและพระสงฆ์ แต่การสรงพระพุทธรูปเห็นจะมีมาทีหลัง ด้วยใช้แต่น้ำอบประพรมพอเป็นพิธีเสียแล้ว เริ่มแรกเห็นจะทำแต่แก่พระสงฆ์อันเป็นคน ซึ่งย่อมรู้จักร้อนนั้นก่อน ก่อนนี้ก็นิมนต์ไปลงแช่น้ำที่ตีนท่า อย่างที่ปรากฏในกฎมนเทียรบาล ทีหลังจึงคิดทำแก้ไขไปด้วยความศิริวิลัย ในทางภาคอีสานทราบว่าเขาใช้ราง ใครอยากสรงน้ำพระก็ช่วยกันตักน้ำใส่ในราง พระสงฆ์สรงน้ำทางปลายราง ไม่ต้องลงไปแช่ในท้องน้ำ ในราชการทางกรุงเทพฯ เราเคยเห็นก็แต่นิมนต์พระไปสรงน้ำพุที่หน้าโรงกษาปน์เก่า เขาว่าแต่ก่อนใช้อ่างตั้งบนม้าสูงติดบัวลักน้ำให้พระสรง การตักน้ำใส่อ่างดูเหมือนเป็นหน้าที่รักษาพระองค์ทำ ไม่มีชาวบ้านมากลุ้มกล้ำเพราะเป็นการหลวง

๓. แม้การอาบน้ำจริงๆ ในฝ่ายคฤหัสถ์ก็ได้เคยเห็นคราวหนึ่ง ไปถวายน้ำสงกรานต์กรมพระนเรศรและรดน้ำเจ้าจอมมารดากลิ่น วันที่จะไปเป็นวันอะไรซึ่งเกี่ยวกับสงกรานต์นั้นจำไม่ได้ แต่เมื่อถวายน้ำกรมพระนเรศรแล้ว ตรัสเรียกให้ตามเสด็จไปเรือเจ้าจอมมารดากลิ่น ไปถึงที่นั้นเห็นหลาน ๆ ของท่านมาประชุมกันอยู่พร้อม ในกาลนั้นเจ้าจอบมารดากลิ่นก็ขึ้นเตียง กรมพระนเรศรกับพระโอรสของท่านก็ช่วยกันอาบน้ำให้ อาบน้ำอันแต่งไว้ในขันสาครอย่างรดซู่ๆ จริงๆ ตรัสเรียกให้เกล้ากระหม่อมช่วยอาบด้วย เกล้ากระหม่อมก็ได้เข้าช่วยอาบอย่างลูกหลานของท่านคนหนึ่ง แล้วก็ทาน้ำอบและให้ผ้าแก่ท่าน จึงมานึกว่าการรดน้ำสงกรานต์คงเป็นเช่นนี้มาก่อน การรดที่เอาน้ำอบไปหยดให้ในมือไม่ว่าเวลาไรนั้น เห็นจะเป็นการย่นย่อลงทีหลัง ตลอดถึงสรงน้ำพระพุทธรูปก็ทำไปอย่างเดียวกันด้วย การให้ผ้าก็คงจะเกิดทีหลังเหมือนกัน จะถือเอาอะไรเป็นเหตุก็เห็นจะต่างคนต่างคิด แล้วก็เลยเป็นธรรมเนียมไป

๔. การสาดน้ำแก่กันในฤดูสงกรานต์ ก็เห็นว่าจะเป็นมาอย่างกล่าวแล้วข้างต้นนั้น ตามธรรมดาคนย่อมชอบเล่น เล่นแล้วก็ยัวะ ยัวะเข้าแล้วก็ลืมความควรและมิควร สาดเสียไม่คำนึงว่าใครจะเล่นด้วยหรือจะไปธุระ แล้วเพียงแต่เปียกน้ำเท่านั้นก็ยังไม่สาแก่ใจ ต้องการให้เปื้อนเห็นปรากฏยิ่งขึ้นด้วย จึงเอาสิ่งที่เป็นมลทินใส่ลงไปในน้ำอีก แม้กระนั้นก็ยังไม่ถึงใจ ไปควักเอาก้นหม้อมาทากันแห้งๆ อีกซ้ำหนึ่ง จึงเกิดเป็นมอมสงกรานต์กันขึ้น ด้วยประการดังนี้

ทางสันนิษฐานแห่งการรดน้ำสาดน้ำสงกรานต์ ตามที่กล่าวมาแล้วนี้ สันนิษฐานไปแต่ในทางไทย ด้วยทราบประเพณีอยู่มาก ส่วนทางต่างประเทศนั้นไม่ได้กล่าวถึง ด้วยทราบประเพณีของเขาน้อย แต่อย่างไรก็ดี เชื่อว่าคงจะอาศัยมูลเหตุอย่างเดียวกัน และเอาอย่างกันบ้าง เพราะบ้านเมืองอยูใกล้ชิดติดต่อกัน แล้วมีอากาศร้อนเหมือนกัน เมืองที่มีอากาศหนาวจะมาเหมือนกันเข้าไม่ได้เลย

จะกราบทูลรายงานว่าได้ไปรดน้ำให้ท้าววรจันทร์ อันอยู่ที่บ้านพระองค์ธานี กับทั้งเจ้าจอมมารดาเขียน อันอยู่ที่วังพระนางลักษมี ท้าววรจันทร์นั้นมีอายุนับได้ ๙๘ แล้ว อาการแห่งร่างกายดูไม่สู้กระปลกกระเปลี้ยนัก แต่หูตึงมากอย่างได้ทราบฝ่าพระบาทอยู่แล้ว แต่ตาทีจะยังดี เห็นมีหนังสือพิมพ์วางอยู่ข้างตัวท่าน ทำให้เข้าใจว่ายังอ่านได้ ส่วนความจำเห็นมีน้อยลง ถามอะไรซ้ำๆ อยู่หลายครา ฝ่ายเจ้าจอมมารดาเขียนนั้นมีอายุนับได้ ๙๖ อ่อนกว่าท้าววรจันทร์ ๒ ปี แต่สังเกตอาการแห่งร่างกายท่านดูกะปลกกะเปลี้ยมากกว่าท้าววรจันทร์ ตานั้นเสียมากจนดูใครไม่ค่อยรู้จัก แต่หูไม่สู้กระไร ได้ยินอะไรพอใช้ พระนางลักษมีตรัสบอกว่าท่านหลงใหลไปมากแล้ว ประหลาดใจที่ไปพบเจ้านายเมืองที่นั่น เข้าไปกรุงเทพ ฯ ทำไมก็ไม่ทราบ ได้พูดกับเธอ เธอตอบก็ฟังไม่ได้ศัพท์ สุดที่จะทูลอะไรต่อไปได้

เมื่อวันที่ ๒๗ สำนักพระราชวังออกหมายวิสาขะบูชามา ได้ส่งหมายกำหนดการใบพิมพ์ มาให้ทราบฝ่าพระบาทในคราวนี้ด้วยแล้ว

เมื่อวันที่ ๒๘ ได้ทำบุญวันเกิด เลี้ยงพระที่คุ้นเคยและมีคุณเกื้อหนุนกันมา ๖ รูป แล้วแจกของเครื่องอุปโภคแก่ลูกหลาน (โดยตรง) กับทั้งคนใช้ทั่วกันด้วยความปีติ ขอถวายพระกุศล

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ